ผลกระทบช่วงการ LOCKDOWN กรกฎาคม -สิงหาคม 2564

สถาบันยุทธศาสตร์การค้า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เผยผลสำรวจผลกระทบช่วงการ Lockdown กรกฎาคม -สิงหาคม 2564 จากกลุ่มตัวอย่างหอการค้าจังหวัดทั่วประเทศ จำนวน 284 ราย และกลุ่มตัวอย่างภาคประชาชนจำนวน 1,164 ราย ผลการศึกษา ดังนี้

1. ผลการสำรวจกลุ่มตัวอย่างหอการค้าจังหวัดทั่วประเทศ พบว่า ได้รับผลกระทบทางลบมากถึงร้อยละ 74.16 โดยที่ระหว่างการ Lockdown กับการเปิดให้ดำเนินการธุรกิจ/เศรษฐกิจ ส่วนใหญ่เห็นว่า ควรเปิดให้ดำเนินการธุรกิจ/เศรษฐกิจ ร้อยละ 77.32 มาตรการที่รัฐบาลออกมาช่วยเหลือประชาชนในช่วง COVID 19 พบว่าอยู่ในระดับไม่เพียงพอ ร้อยละ 48.22% และมีความพึงพอใจในมาตรการอยู่ในระดับน้อย ร้อยละ 46.50 ด้านทัศนะต่อการผ่อนคลายมาตรการ Lockdown พบว่า เห็นด้วยกับการผ่อนคลายมาตรการ Lockdown อยู่ในระดับมาก ร้อยละ 61.24 โดยมีความพอใจอยู่ในระดับปานกลาง ร้อยละ 54.08 ส่วนผลกระทบจากการผ่อนคลายมาตรการ Lockdown พบว่าได้รับผลกระทบทางบวกถึง ร้อยละ 64.2 ด้านมุมมองต่อการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนในจังหวัด พบว่า เพิ่มขึ้นเล็กน้อย ร้อยละ 50.00 ส่วนรูปแบบการจ้างงานในจังหวัด ส่วนใหญ่ร้อยละ 47.31 เป็นการจ้างงานไม่เต็มเวลา/ถูกลดชั่วโมงการทำงานลง หลังการผ่อนคลายมาตรการ มองว่าธุรกิจกลับมาดำเนินได้ปกติ เหมือนกับช่วงก่อน COVID 19  ภายในเดือนตุลาคม ร้อยละ 32.63 ส่วนมุมมองต่อภาวะเศรษฐกิจของจังหวัดเมื่อเทียบกับปีก่อน ส่วนใหญ่ ร้อยละ 73.40 เติบโตน้อยกว่า 0.0 และมุมมองต่อภาวะเศรษฐกิจไทยเมื่อเทียบกับปีก่อน ส่วนใหญ่ ร้อยละ 76.09 เติบโตน้อยกว่า 0.0 เช่นกัน ขณะที่ข้อเสนอแนะต่อรัฐบาล คือ ควรจัดหาวัคซีนให้เพียงพอเพื่อนำมาฉีดให้ประชาชนในประเทศให้เร็วและทั่วถึงที่สุด ควรกำหนดมาตรการฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจที่ชัดเจนทั้งในระยะสั้นและระยะยาว และผ่อนคลายมาตรการการกักกันโรค (Lockdown) เพื่ออำนวยความสะดวกในการดาเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เป็นต้น

2. ผลการสำรวจกลุ่มตัวอย่างภาคประชาชน พบว่า ได้รับผลกระทบทางลบมากถึงร้อยละ 72.7 โดยที่ระหว่างการ Lockdown กับการเปิดให้ดำเนินการธุรกิจ/เศรษฐกิจ ส่วนใหญ่เห็นว่า ควรเปิดให้ดำเนินการธุรกิจ/เศรษฐกิจ ร้อยละ 59.2 ด้านมาตรการที่รัฐบาลออกมาช่วยเหลือประชาชนในช่วง COVID 19 พบว่าอยู่ในระดับน้อย ร้อยละ 33.5% โดยมีความพึงพอใจในมาตรการอยู่ในระดับปานกลาง ร้อยละ 48.6 ด้านทัศนะต่อการผ่อนคลายมาตรการ Lockdown พบว่า เห็นด้วยกับการผ่อนคลายมาตรการ Lockdown อยู่ในระดับปานกลาง ร้อยละ 51.1 มีความพอใจอยู่ในระดับปานกลาง ร้อยละ 51.4 ส่วนผลกระทบจากการผ่อนคลายมาตรการ Lockdown พบว่าได้รับผลกระทบทางบวกถึง ร้อยละ 44.7 ด้านรูปแบบการจ้างงาน ส่วนใหญ่ร้อยละ 57.9 ยังทำงานเป็นปกติ ส่วนมุมมองหลังการผ่อนคลายมาตรการ มองว่าธุรกิจกลับมาดำเนินได้ปกติ เหมือนกับช่วงก่อน COVID 19  ภายในเดือนพฤศจิกายน ร้อยละ 42.5 ขณะที่ข้อเสนอแนะต่อรัฐบาล ได้แก่ เพิ่มมาตรการช่วยเหลือและเยียวยา ให้ครอบคลุมทุกกลุ่มทุกพื้นที่ ปรับปรุงและพัฒนาการบริหารจัดการสถานการณ์ COVID 19 ให้ได้ดีกว่านี้ และกำหนดแผนพัฒนาระบบเศรษฐกิจที่สามารถนำมาปรับใช้ได้จริงในสถานการณ์ปัจจุบัน เป็นต้น

ที่มา: สถาบันยุทธศาสตร์การค้า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

อะไรทำให้ ‘เวียดนาม’ เนื้อหอม ดึงดูดนักลงทุน ก้าวสู่ฐานการผลิตโลก สวนทาง ‘ไทย’ ที่กำลังโดนทิ้ง

โดย รุ่งนภา พิมมะศรี I กองบรรณาธิการสายเศรษฐกิจ ไทยรัฐพลัส

ความสามารถในการแข่งขันของไทยลด และกำลังโดนทิ้ง

ความกังวลที่ว่านักลงทุนรายใหม่จะไม่เข้ามา และนักลงทุนรายเดิมจะหนีไป เกิดขึ้นจริงแล้ว ดังที่มีข่าว ข้อมูล และตัวเลขต่างๆ-บริษัทต่างชาติปิดบริษัท บริษัทต่างชาติย้ายฐานการผลิต แรงงานร่ำไห้หน้าโรงงานในวันทำงานวันสุดท้าย คือเหตุการณ์ที่ปรากฏให้เห็นเป็นข่าวอยู่เรื่อยมา และข้อเท็จจริงอันหนึ่งที่อาจจะฟังดูเศร้าๆ คือ บริษัทสัญชาติไทยเองก็ไปลงทุนตั้งฐานการผลิตในเวียดนาม

ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็ไม่ใช่ว่าไม่มีนักลงทุนรายใหม่เข้ามาลงทุนในไทยเลย เพียงแต่ตัวเลขจำนวนโครงการและมูลค่าการลงทุนใน 3 ปีหลังลดลง และมูลค่าไม่สูงเท่าประเทศคู่แข่งรายสำคัญอย่างเวียดนาม

เมื่อช่วงกลางปี 2564 ที่เพิ่งผ่านมา มีข่าวอันลือลั่นจากรายงานของ KKP Research ที่ว่าโลกกำลังจะทิ้งไทย ซึ่งข้อมูลในรายงานบอกว่า เมื่อเทียบการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศใน 5 ประเทศอาเซียน ได้แก่ ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียดนาม และฟิลิปปินส์ พบว่าสัดส่วนของไทยลดลงอย่างต่อเนื่อง จากที่เคยมีสัดส่วนอยู่มากกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ ในช่วงปี 2547-2550 แต่ในช่วงปี 2559-2562 ลดเหลือประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ซึ่งเป็นผลมาจากเศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญกับปัญหาเชิงโครงสร้างที่ทำให้ความสามารถในการแข่งขันอ่อนแอลง

ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ว่าสถิติการยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนของโครงการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมาเป็นอย่างไรบ้าง

เวียดนามดึงดูดนักลงทุนเก่ง สวนทางกับไทย

กราฟเทียบมูลค่าการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ของไทยกับเวียดนาม จากคลังข้อมูลของธนาคารโลก (World Bank) ช่วยให้เห็นภาพความสามารถในการดึงดูดนักลงทุนของเวียดนามชัดขึ้น

ปี 2563 ข้อมูลจากกระทรวงการวางแผนและการลงทุน ประเทศเวียดนาม ระบุว่า 11 เดือนแรกของปี 2563 การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในเวียดนามมีมูลค่า 17,200 ล้านดอลลาร์ โดยภาคการผลิตและการแปรรูปดึงดูดการลงทุนมากที่สุด ส่วนประเทศที่เข้าไปลงทุน 5 อันดับแรก ได้แก่ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ไต้หวัน และฮ่องกง

“ยังมีนักลงทุนต่างชาติให้ความสนใจ ไว้วางใจ และมีความจำเป็นต้องลงทุนในเวียดนามเป็นจำนวนมาก แต่เนื่องจากผลกระทบของโควิด-19 ทำให้การเดินทางของนักลงทุน ตลอดจนการตัดสินใจลงทุนครั้งใหม่ และการขยายขนาดโครงการโดยตรงจากต่างประเทศยังคงได้รับผลกระทบ” ข้อมูลจากทางการเวียดนาม

และในปี 2564 นี้ นับถึงวันที่ 20 มิถุนายน 2564 มูลค่าเงินทุนจากโครงการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในเวียดนาม อยู่ที่ประมาณ 9,240 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 306,832 ล้านบาท มากกว่าของไทยในช่วงเวลาเดียวกันที่มีมูลค่า 278,658 ล้านบาท) เพิ่มขึ้น 6.8 เปอร์เซ็นต์จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

ปัจจัยเด่นของเวียดนามที่โดนใจบริษัทต่างชาติ

เป็นเรื่องที่น่าสนใจว่าอะไรเป็นเหตุผล เป็นปัจจัยสนับสนุนที่ทำให้บริษัทต่างชาตินิยมเลือกเวียดนามเป็นฐานการผลิต? ไม่ว่าจะสำหรับการขยายฐานการผลิตเพิ่มเติม หรือย้ายฐานการผลิตมาจากประเทศอื่น

ศูนย์พัฒนาการค้าและธุรกิจไทยในอาเซียน สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ นครโฮจิมินห์ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เคยวิเคราะห์ปัจจัยที่ดึงดูดนักลงทุนต่างชาติเข้าไปลงทุนในเวียดนาม ว่ามี 6 ปัจจัย ดังนี้

  1. ความมีเสถียรภาพของรัฐบาล

เวียดนามปกครองด้วยระบอบสังคมนิยม มีพรรคการเมืองเพียงพรรคเดียว คือพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม ซึ่งมีบทบาทในการกำหนดแนวทางการบริหารประเทศทุกด้าน ทําให้การบริหารประเทศเป็นไปอย่างราบรื่น และนโยบายต่างๆ ได้รับการปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันผู้นำประเทศมีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนในการบริหารประเทศ และมีความมุ่งมั่นในการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างจริงจัง ซึ่งช่วยสร้างความมั่นใจให้แก่นักลงทุนต่างชาติที่สนใจเข้ามาลงทุนในเวียดนาม

  1. ทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์

เวียดนามมีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ โดยเฉพาะพลังงาน และแร่ธาตุ เช่น มีแหล่งน้ำมันดิบกระจายอยู่ทั่วทุกภาค เป็นประเทศผู้ส่งออกน้ำมันดิบรายสำคัญอันดับ 3 ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รองจากมาเลเซีย และอินโดนีเซีย, มีปริมาณเชื้อเพลิงสำรอง เช่น ก๊าซธรรมชาติ ปิโตรเลียม และถ่านหินอยู่มาก รวมทั้งแร่ธาตุสําคัญ คือ บอกไซต์ โปแตสเซียม และเหล็ก นอกจากนี้ ยังมีป่าไม้ มีทรัพยากรดินและน้ำอย่างเพียงพอทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพเอื้อต่อการเพาะปลูก

  1. เป็นตลาดขนาดใหญ่ที่มีศักยภาพ

เวียดนามมีประชากรมากถึง 90 ล้านคน ชาวเวียดนามเริ่มมีกำลังซื้อมากขึ้นตามการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และชาวเวียดนามโพ้นทะเลหรือที่เรียกว่า ‘เวียดกิว’ ซึ่งมีประมาณ 3 ล้านคน โอนเงินกลับประเทศปีละประมาณ 3,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ชาวเวียดนามส่วนใหญ่ต้องการสินค้าอุปโภคบริโภคที่มีคุณภาพดีจำนวนมากและเพิ่มขึ้นทุกปี

  1. เน้นนโยบายเป็นมิตรกับทุกประเทศ

เวียดนามให้ความสำคัญกับมิตรประเทศ รวมถึงนโยบายด้านความปลอดภัย ทําให้เวียดนามไม่เคยตกเป็นเป้าหมายของการก่อการร้าย และแทบไม่มีปัญหาอาชญากรรมขั้นร้ายแรง ประกอบกับเวียดนามมีกฎหมายที่เข้มงวดและมีบทลงโทษรุนแรง ส่งผลให้เวียดนามเป็นประเทศที่มีความปลอดภัยสูงแห่งหนึ่งของโลก ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้นักลงทุนเกิดความเชื่อมั่นและตัดสินใจเข้าไปลงทุน

  1. เวียดนามให้ความสำคัญกับการพัฒนาเส้นทางคมนาคมขนส่ง

มีการพัฒนาเส้นทางคมนาคมขนส่ง ทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ ตลอดจน สาธารณูปโภคต่างๆ ให้มีความสะดวกและทันสมัยยิ่งขึ้น เพื่อรองรับการขยายตัวของเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการพัฒนาเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจแนวตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor: EWEC)

  1. ความได้เปรียบด้านแรงงาน

ชาวเวียดนาม 48 ล้านคน หรือคิดเป็น 55 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนประชากรเวียดนามทั้งหมดอยู่ในวัยทำงาน มีอายุระหว่าง 15-64 ปี และอัตราการรู้หนังสือของชาวเวียดนามสูงกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ของประชากร ทำให้เวียดนามมีแรงงานคุณภาพจำนวนมาก อัตราค่าจ้างแรงงานต่ำ และยังสามารถหาแรงงานได้ง่าย นายจ้างสามารถรับสมัครแรงงานได้โดยตรง ไม่ต้องผ่านกระทรวงแรงงานของเวียดนาม ในขณะเดียวกัน ชาวเวียดนามก็มีความสนใจสมัครงานโดยเฉพาะกับบริษัทต่างชาติ ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นจุดแข็งของตลาดแรงงานในเวียดนาม

อ่านต่อ : https://plus.thairath.co.th/topic/money/100479

พัฒนาระบบรางไทยเชื่อมต่อ EEC กับแดนมังกร ผ่านรถไฟลาว-จีน

โดย ปุญญภพ ตันติปิฎก I Economic Intelligence Center I ธนาคารไทยพาณิชย์

ในวันที่ 2 ธันวาคม 2021 สปป. ลาว เตรียมเปิดให้บริการโครงการรถไฟลาว-จีน ในฝั่งลาวเชื่อมต่อนครหลวงเวียงจันทน์กับนครคุนหมิงของจีน หลังใช้เวลาก่อสร้างราว 5 ปี โครงการนี้ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผน Belt and Road Initiative ของจีน จะช่วยให้การขนส่งผู้โดยสารและสินค้าระหว่างลาวกับจีนและภายในลาวเอง สะดวกรวดเร็ว ต้นทุนลดลง และดึงดูดการค้าการลงทุนเพิ่มขึ้น

การเปิดให้บริการโครงการนี้ เป็นโอกาสของไทยในการพัฒนาระบบรางฝั่งไทยให้เชื่อมต่อไปถึงจีนโดยเฉพาะเส้นทางขนส่งสินค้ากับ EEC ซึ่งเป็นฐานการค้าที่สำคัญระหว่างไทยกับจีน โดยเฉพาะในสินค้าส่งออกสำคัญ เช่น อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า และสินค้าเกษตรกรรม เช่น ทุเรียน ลำไย มังคุด อีกทั้ง ยังสามารถรองรับการค้าผ่านแดนไทย-จีนที่กำลังขยายตัวสูง 60%YTD ในช่วงครึ่งแรกของปี 2021 ปัจจุบัน การขนส่งสินค้าระหว่าง EEC กับจีนพึ่งพิงทางทะเลและถนนเป็นหลัก ขณะที่ทางรางยังมีการใช้งานจำกัด เนื่องจากเส้นทางส่วนใหญ่ยังเป็นรถไฟทางเดี่ยว อีกทั้ง การพัฒนารถไฟทางคู่ยังติดปัญหาก่อสร้างในช่วงคลองขนาดจิตร-จิระ อยู่ระหว่างศึกษากับเตรียมประมูลช่วงขอนแก่น-หนองคาย-เวียงจันทน์ และสรรหาเอกชนเดินรถช่วงแหลมฉบัง-หนองคาย ซึ่งคาดว่าจะเปิดให้บริการปี 2026 ส่วนโครงการรถไฟความเร็วสูงยังอยู่ระหว่างก่อสร้างช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมาและอยู่ระหว่างศึกษากับออกแบบช่วงนครราชสีมา-หนองคาย-เวียงจันทน์ โดยคาดว่าจะเปิดให้บริการตลอดเส้นทางได้ในช่วงปี 2029-2032 ทำให้ในช่วงนี้จำเป็นต้องเน้นเพิ่มการใช้งานระบบรางที่มีอยู่ก่อน

การเชื่อมต่อระบบรางระหว่าง EEC กับจีนจะก่อให้เกิดประโยชน์และเพิ่มศักยภาพการค้าการลงทุนของไทยในหลายมิติ กล่าวคือ

1. ลดต้นทุนโลจิสติกส์ ทั้งนี้ รายงานของ World Bank ปี 2020 พบว่า การขนส่งสินค้าระหว่างท่าเรือแหลมฉบังถึงคุนหมิงผ่านรถไฟลาว-จีนเมื่อเทียบกับทางถนนทั้งเส้นทาง ลดต้นทุนขนส่งต่อตันได้ตั้งแต่ 32% ถึง มากกว่า 50% ขึ้นอยู่กับรูปแบบการขนส่งในฝั่งไทย โดยถ้าในฝั่งไทยขนส่งด้วยรถบรรทุกต้นทุนจะลดลง 32% ขณะที่รถไฟทางเดี่ยว-คู่จะลดลงมากกว่า 40% และรถไฟความเร็วสูงซึ่งเป็นรางขนาดเดียวกันจะลดลงมากกว่า 50% นอกจากนี้ การขนส่งทางรางยังใช้เวลาเพียง 0.5-1.5 วัน ซึ่งเร็วกว่าทางถนนที่ใช้เวลา 2-3 วัน และทางทะเลที่ใช้เวลา 5-7 วัน

2. เพิ่มทางเลือกรูปแบบการขนส่งสินค้าไปยังจีนและต่อเนื่องไปถึงยุโรปผ่านเส้นทางสายไหมใหม่จีน-ยุโรปที่กำลังขยายตัวสูงด้วยระยะเวลาขนส่งที่น้อยกว่าทางทะเลมากกว่าเท่าตัวเหลือเพียงราว 15 วัน โดยเวียดนามเริ่มให้บริการเส้นทางฮานอย-เบลเยี่ยมผ่านเส้นทางนี้แล้ว อีกทั้ง การขนส่งทางรางจะช่วยกระจายความเสี่ยงจากทางทะเลดังเช่นในปัจจุบันที่การแพร่ระบาด COVID-19 ส่งผลให้การขนส่งทางทะเลติดขัดล่าช้าและค่าขนส่งเฉลี่ยเพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่าตัว

3. ดึงดูดให้เกิดการลงทุนใน EEC เพิ่มขึ้นจากการเพิ่มศักยภาพการขนส่ง โดยเฉพาะจากเทรนด์การปรับตัวของ supply chain โลก ที่ทำให้นักลงทุนทั้งชาวจีนและชาวต่างชาติมีแนวโน้มกระจายความเสี่ยงการลงทุนออกจากจีนไปยังประเทศใกล้เคียงที่ขนส่งสินค้ากับจีนได้สะดวกรวดเร็วภายใต้ต้นทุนต่ำ

ดังนั้น ภาครัฐควรเร่งส่งเสริมให้เกิดการใช้งานระบบรางในไทยเชื่อมต่อรถไฟลาว-จีนมากขึ้น ควบคู่กับการเร่งพัฒนาโครงการรถไฟที่เกี่ยวข้องให้เปิดดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว โดยในระยะสั้น ควรสนับสนุนให้เกิดการใช้งานรถไฟทางเดี่ยว-คู่ภายใต้โครงข่ายปัจจุบันมากยิ่งขึ้น ทั้งการเพิ่มประสิทธิภาพบริการ การพัฒนาระบบพิธีการศุลกากรอิเล็กทรอนิกส์ที่เชื่อมโยงกับต่างประเทศ รวมถึงการแก้ไขปัญหาคอขวดด้วยการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกด้านโลจิสติกส์ เช่น สะพานข้ามพรมแดน ท่าเรือบก ระบบขนส่งแบบควบคุมอุณหภูมิสำหรับผัก-ผลไม้ เป็นต้น ส่วนในระยะกลาง-ยาว ควรเร่งพัฒนาโครงการรถไฟทางคู่ควบคู่กับรถไฟความเร็วสูงให้ดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพและสอดประสานกันภายใต้ขั้นตอนที่โปร่งใส่กับงบประมาณที่กำหนด การพัฒนาระบบรางนี้จะมีส่วนช่วยผลักดันให้ไทยกลายเป็นฮับโลจิสติกส์ของอาเซียนได้

ที่มา : https://www.scbeic.com/th/detail/product/7795

7 หุ้น โรงไฟฟ้าใหญ่ไทย กำลังเติบโตในเวียดนาม

โดย Maratronman I Wealthy Thai

เวียดนามเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในทุกๆ เพราะขนาดเศรษฐกิจของประเทศกำลังขยายใหญ่โตขึ้น ซึ่งจะเห็นได้จากประชากรที่เพิ่มตัวขึ้นปีละหลายล้านคน รวมถึงประชากรกำลังอยู่ในวัยคนหนุ่มสาว ซึ่งเป็นวัยที่มีส่วนจะช่วยผลักดันความก้าวหน้าของประเทศ

การลงทุนจากต่างประเทศทยอยการลงทุนเข้ามาในประเทศเวียดนามอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะเห็นได้จากผู้ประกอบการค่ายโทรศัพท์มือถือยักษ์ใหญ่อย่างซัมซุงใช้ประเทศเวียดนามเป็นฐานการผลิตโทรศัพท์มือถือ รวมถึงนักลงทุนจากสหรัฐที่ย้ายฐานการผลิตจากจีนมายังเวียดนาม

ซึ่งนั่นก็หมายความว่าเวียดนามเองนั้นมีความจำเป็นที่จะต้องรังสรรค์โครงสร้างพื้นฐานประเทศไว้รองรับสิ่งใหม่ๆที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อให้ประเทศ และเศรษฐกิจเดินหน้าต่อแบบไม่ชะงัก แม้จะต้องเผชิญกับปัญหาการระบาดของโควิด-19 แต่เวียดนามก็ไม่หวั่นตั้งเป้าปี 64 จีดีพีจะกลับมาเติบโตในระดับ 6.5% จากในปี 63 ที่โตแบบสะดุด

สำหรับโครงสร้างพื้นฐานส่วนหนึ่งที่มีความสำคัญ เพื่อรองรับการเติบโต และอุตสาหกรรมที่กำลังรุ่งเรืองคงจะหนีไม่พ้นโครงสร้างพื้นฐานด้านไฟฟ้า ซึ่งกระแสไฟฟ้ามีส่วนช่วยผลักดันเศรษฐกิจให้เดินหน้าได้อย่างต่อเนื่อง โดยเวียดนามคาดการณ์ว่าจะมีการผลิตพลังงานไฟฟ้าเพิ่มขึ้นมากถึง 80,000 เมกะวัตต์ ในปี 2573

โดยแหล่งพลังงานหลักยังคงเป็นถ่านหิน และก๊าซธรรมชาติ ซึ่งคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีก 30,000 เมกะวัตต์ ขณะเดียวกัน โรงไฟฟ้าพลังงานลมในพื้นที่ชายฝั่งและพลังงานลมก็คาดว่าจะมีการขยายเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 50,000 เมกะวัตต์ ซึ่งอัตราการเติบโตของการใช้พลังงานในปี 2021-2030 ยังอยู่ในระดับสูง จาก 8.6 % ในปี 2021-2025 และ 7.2 % ในปี 2026-2030 แผนพัฒนาพลังงานของเวียดนามคาดการณ์ว่าจะมีการใช้พลังงานสูงสุด 138,000 เมกะวัตต์ ในปี 2030 และ 302,000 เมกะวัตต์ ในปี 2045

เมื่อเห็นแผนการพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศเวียดนามแบบนี้แล้ว นักลงทุนคงจะพอเดากันได้แล้วใช่มั้ยว่า มีบริษัทหลักทรัพย์ของไทยที่ไหนบ้าง ถ้าเดาไม่ออก งั้น Wealthy Thai จะเล่าให้ฟัง มีบริษัทในตลาดหุ้นไทยที่ประกอบธุรกิจโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่เข้าไปลงทุน มีทั้งสิ้น 7 บริษัท ประกอบด้วย

1.บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF

2.บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BGRIM

3.บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ RATCH

4.บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BPP

5.บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) หรือ BCPG

6.บริษัท ซุปเปอร์ เอนเนอร์ยี คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SUPER

7.บริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ GUNKUL

ที่มา : https://www.wealthythai.com/en/updates/stock/stock-of-the-day/1496

วิเคราะห์ก้าวแรกของการพัฒนา CBDC ในภูมิภาค CLMVT

โดย ดร.ปพน เกียรติสกุลเดชา ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์

ในปัจจุบัน การคิดค้นเทคโนโลยีกระจายศูนย์ข้อมูล (Distributed Ledger Technology: DLT) ที่มีความรวดเร็ว ปลอดภัย และสามารถสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้ใช้งานในด้านการชำระเงิน ได้นำไปสู่การพัฒนาสกุลเงินคริปโตเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) อย่างแพร่หลายในภาคเอกชนทั่วโลก เช่นเดียวกับภาคเอกชน ธนาคารกลางต่าง ๆ ทั่วโลกก็ได้เร่งริเริ่มที่จะนำนวัตกรรมเหล่านี้มาใช้ในระบบสถาบันการเงินในประเทศจนเกิดการพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลของธนาคารกลาง (Central Bank Digital Currency: CBDC)

จุดมุ่งหมายของการพัฒนา CBDC โลกที่ผ่านมาเป็นอย่างไร และคาดว่าจะส่งกระทบอย่างไรต่อระบบเศรษฐกิจ?

การพัฒนา CBDC โดยธนาคารกลางต่าง ๆ ปัจจุบันนั้น สามารถแบ่งตามการใช้งานได้เป็น 2 ระดับ ได้แก่

1.ระดับธุรกรรมระหว่างสถาบันการเงิน (Wholesale CBDC) : การสร้างเครือข่ายการโอนทรัพย์สินระหว่างสถาบันการเงินทั้งในและระหว่างประเทศ

2.ระดับธุรกรรมรายย่อย (Retail CBDC) : การใช้สกุลเงินดิจิทัลแทนเงินสดในการทำธุรกรรมระหว่างประชาชนและธุรกิจรายย่อย

ในภาพรวม ทั้ง Wholesale CBDC และ Retail CBDC ได้ถูกพัฒนาขึ้นมา โดยมีเป้าหมายส่งเสริมการทำธุรกรรมทางการเงินให้รวดเร็วและปลอดภัยมากขึ้น ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นประโยชน์หลักที่ได้จากการนำ DLT (โดยเฉพาะในรูปแบบบล็อกเชน) มาใช้โดยธนาคารกลาง ที่จะทำให้สามารถลดต้นทุนในการประมวลผลธุรกรรมทางการเงินลงได้อย่างมีนัย รวมทั้งยังสามารถตรวจสอบตัวตนของคู่สัญญาธุรกรรมต่าง ๆ ได้อย่างรัดกุมมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ CBDC ทั้งสองประเภท หากถูกพัฒนาร่วมกันโดยกลุ่มประเทศในภูมิภาค ยังจะมีแนวโน้มนำไปสู่การเชื่อมโยงแพลตฟอร์ม และสนับสนุนให้ธุรกรรมระหว่างประเทศ (Cross-border Transactions) เป็นไปได้อย่างรวดเร็วมากยิ่งขึ้นและด้วยต้นทุนที่ต่ำลงอีกด้วยเช่นกัน

แต่ทว่าหากมองลึกลงไปกว่าประสิทธิภาพของระบบสถาบันการเงินที่เพิ่มขึ้นนั้น การพัฒนาในระดับ Retail CBDC จะสามารถสร้างประโยชน์เพิ่มเติมได้ในอีกหลายด้าน โดยจะเป็นก้าวสำคัญต่อการสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ ได้แก่

1. การเข้าถึงสถาบันการเงิน (Financial Inclusion) จะเพิ่มมากขึ้น ตามระบบ Retail CBDC ที่จะสามารถเข้าใช้งานได้ง่ายและรวดเร็วเพียงผ่านโทรศัพท์มือถือโดยไม่จำเป็นต้องผูกติดกับบัญชีธนาคาร ซึ่งข้อดีในจุดนี้ โดยเฉพาะสำหรับในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา จะช่วยให้กลุ่มประชาชนที่ไม่สามารถเข้าถึงสถาบันการเงินได้มาก่อนนั้น มีโอกาสหันมาเลือกใช้ Retail CBDC ที่สะดวกกว่าการถือเงินสดเพิ่มมากขึ้น

2. ช่องทางการดำเนินนโยบายทางการคลัง (Fiscal Policy) ของภาครัฐที่จะมีประสิทธิภาพมากขึ้นหลังมีการใช้ CBDC แทนเงินสดอย่างแพร่หลาย ตัวอย่างเช่น ภาครัฐสามารถออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่าน CBDC โดยประชากรสามารถนำเงินช่วยเหลือในรูปแบบดิจิทัลออกมาจับจ่ายใช้สอยได้ทันทีโดยไม่จำเป็นต้องผ่านขั้นตอนการเปิดบัญชีธนาคารหรือเบิกจ่ายกับหน่วยงานของรัฐ นอกจากนี้ ภาครัฐยังสามารถเข้าถึงข้อมูลการจับจ่ายใช้สอยของประชากรในแต่ละกลุ่มสังคมเศรษฐกิจ (socioeconomic group) ซึ่งอาจต้องการความช่วยเหลือที่แตกต่างกัน การมี Retail CBDC platform จะช่วยให้ภาครัฐสามารถเลือกกลุ่มเป้าหมายและตั้งเงื่อนไขของมาตรการช่วยเหลือได้อย่างตรงจุดมากยิ่งขึ้น

3. การเพิ่มประสิทธิภาพของธนาคารกลางในการดำเนินนโยบายทางการเงิน (Monetary Policy) โดยการใช้ Retail CBDC แทนเงินสดนั้น จะช่วยให้ธนาคารกลางสามารถเก็บรวบรวมข้อมูลปริมาณและการไหลเวียนของเงินในระบบได้อย่างแม่นยำมากขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการวางแผนนโยบายการเงินที่เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจ นอกจากนี้ ยังมี CBDC อีกประเภทที่มีการจ่ายอัตราดอกเบี้ยในการถือครอง ซึ่งอาจเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่ธนาคารกลางใช้ส่งผ่านผลของอัตราดอกเบี้ยนโยบายได้โดยตรง

สถานะการพัฒนา CBDC โลกเป็นอย่างไรและภูมิภาค CLMVT อยู่ตรงจุดไหน?

ผลสำรวจล่าสุดโดย Bank of International Settlement พบว่า 86% ของธนาคารทั่วโลกกำลังดำเนินงานวิจัยเทคโนโลยี CBDC โดย 60% อยู่ในขั้นทดสอบระบบ ขณะที่เพียง 14% ได้เริ่มมีการทดลองใช้จริงในกลุ่มประชากรตัวอย่าง แม้ว่ากลุ่มประเทศที่มีการทดลองใช้ CBDC จริงแล้วประกอบด้วยกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลักในโลก เช่น จีน ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร และ สหภาพยุโรป แต่เป็นที่น่าจับตามองอย่างยิ่งว่าภูมิภาค CLMVT อยู่ในจุดที่ล้ำหน้ากว่าหลายชาติอื่นในโลกด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะไทยและกัมพูชา ซึ่งถูกจัดอันดับโดย PwC ว่าอยู่ในอันดับต้น ๆ ของโลกในด้านการพัฒนา Wholesale CBDC และ Retail CBDC ตามลำดับ

สำหรับไทยนั้น โครงการอินทนนท์ซึ่งเป็น Wholesale CBDC ได้ถูกพัฒนาโดยธนาคารแห่งประเทศไทยตั้งแต่ปี 2561 จนถึงในปี 2563 ได้พัฒนาไปถึงจุดที่มีการทดสอบการทำธุรกรรมข้ามพรมแดนโดยเชื่อมต่อกับ Project LionRock ของฮ่องกงได้สำเร็จ นอกจากนี้ ล่าสุดในปีนี้ ทาง ธปท. ยังได้เริ่มทำการศึกษาวิจัยต่อยอดไปสู่การทำ Retail CBDC แล้วเช่นกัน โดยมีเป้าหมายเบื้องต้นว่าจะมีการทดสอบใช้จริงในช่วงไตรมาสที่ 2 ปี 2565

แนวโน้มการพัฒนา Retail CBDC สำหรับประเทศ LMVT (สปป.ลาว, เมียนมา, เวียดนาม และไทย) จะเป็นอย่างไร? บทเรียนล่าสุดที่ได้จากกัมพูชาคือ ประเทศกำลังพัฒนาที่มีการเข้าถึงสถาบันการเงินในระดับต่ำ แต่มีโครงสร้างประชากรที่พร้อมตอบรับเทคโนโลยีใหม่ นับได้ว่าเป็นจุดตั้งต้นที่สำคัญต่อการพัฒนาเงินดิจิทัลให้เข้ามาทดแทนเงินสดและดึงประชากรส่วนมากเข้าสู่ระบบสถาบันการเงินมากขึ้น สำหรับปัจจัยเหล่านี้ทั้ง สปป.ลาว เมียนมา และ เวียดนาม ล้วนมีประชากรน้อยกว่า 30% ที่เข้าถึงบัญชีธนาคาร ในขณะที่ประชากรส่วนใหญ่ยังมีอายุน้อย (ค่ามัธยฐานต่ำกว่า 30 ปี) แต่มีการเข้าถึงบริการโทรศัพท์มือถือในระดับที่สูง (เฉลี่ยมากกว่า 1 เบอร์โทรศัพท์ต่อคน) ด้วยปัจจัยแวดล้อมด้านประชากรที่คล้ายคลึงกับกัมพูชา ทำให้คาดได้ว่าการพัฒนา  Retail CBDC จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับประเทศเหล่านี้เช่นกัน และมีศักยภาพที่จะตามทันกัมพูชามาได้ในเวลาไม่ช้า

ที่มา : https://www.scbeic.com/th/detail/product/7775

ถอดบทเรียนโลกสู้วิกฤตโควิดสู่มาตรการเศรษฐกิจไทย

โดย วิจัยกรุงศรี I ธนาคารกรุงศรีอยุธยา

การระบาดของโควิดระลอกที่ 3 มีแนวโน้มสูงกว่าที่คาด โดยตัวเลขการคาดการณ์ผู้ติดเชื้อรายวันเข้าสู่กรณีเลวร้าย จากทั้งประสิทธิภาพของมาตรการล็อกดาวน์และประสิทธิภาพของวัคซีนในการป้องกันสายพันธุ์เดลตาต่ำกว่าที่คาด ทำให้มาตรการควบคุมการระบาดมีแนวโน้มลากยาวไปอย่างน้อยจนถึงสิ้นปี 2564 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวม โดยค่าเฉลี่ยของการประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2564 จาก 31 สำนักวิจัยลดลงจาก 3.4% (มีนาคม 2564) อยู่ที่ 1.8% (สิงหาคม 2564)

การชะลอตัวของเศรษฐกิจไทยส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจและครัวเรือนในวงกว้าง จากตัวเลขของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า และข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนพบว่า มีธุรกิจจำนวน 754,870 รายอยู่ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดหรืออยู่ใน 9 อุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบสูง คิดเป็น 93.9% ของจำนวนธุรกิจทั้งหมด ซึ่งมีการจ้างงานถึง 24.8 ล้านคน คิดเป็น 65% ของแรงงานทั้งหมด และในจำนวนนี้มีแรงงานประมาณ 13.7 ล้านคนเป็นผู้มีรายได้น้อยถึงปานกลาง

จากวิกฤตโควิดที่มีความรุนแรงและยาวนาน รวมถึงมีผู้ได้รับผลกระทบเป็นวงกว้าง มาตรการเยียวยาจึงมีความจำเป็นเพื่อควบคุมการระบาดและประคองให้ภาคธุรกิจและครัวเรือนไทยอยู่รอดต่อไปได้

วิจัยกรุงศรีจึงศึกษาเปรียบเทียบการออกมาตรการบรรเทาผลกระทบจากโควิดในประเทศต่างๆ พบว่า

  • มาตรการให้เงินสำหรับผู้ที่ติดเชื้อหรือผู้ที่ต้องกักตัว: เน้นการสร้างแรงจูงใจและข้อบังคับเพื่อให้คนที่มีความเสี่ยงยอมกักตัวอยู่บ้านเพื่อควบคุมการระบาด
  • มาตรการรักษาระดับการจ้างงาน: เป็นมาตรการจ่ายเงินช่วยเหลือแรงงานผ่านภาคธุรกิจ เพื่อช่วยลดภาระต้นทุนของธุรกิจและรักษาระดับการจ้างงาน เน้นการช่วยเหลือธุรกิจและแรงงานที่มีรายได้น้อย
  • มาตรการให้เงินช่วยเหลือโดยตรงสำหรับภาคธุรกิจ: เป็นมาตรการให้เงินช่วยเหลือครั้งเดียวเพื่อบรรเทาปัญหาสภาพคล่อง โดยจำนวนเงินช่วยเหลือขึ้นกับผลกระทบและความอ่อนไหวของธุรกิจ
  • มาตรการลดค่าใช้จ่ายสำหรับภาคครัวเรือน: รวมถึงการลดค่าใช้จ่ายด้านภาษี ด้านอุปกรณ์ป้องกันโรค ด้านที่อยู่ และด้านรายจ่ายจำเป็นอื่นๆ เช่น ค่าสาธารณูปโภค ค่าอาหาร และค่าการศึกษา เป็นต้น
  • มาตรการลดค่าใช้จ่ายสำหรับภาคธุรกิจ: รวมถึงการลดต้นทุนค่าเช่าอสังหาริมทรัพย์และต้นทุนค่าธรรมเนียมภาษี
  • มาตรการให้เงินช่วยเหลือโดยตรงสำหรับภาคครัวเรือน: เน้นไปที่กลุ่มที่เข้าถึงความช่วยเหลือค่อนข้างยาก ได้แก่ กลุ่มเปราะบางและแรงงานนอกระบบ

อย่างไรก็ตาม มาตรการเยียวยาทั้ง 6 มาตรการที่ทำการศึกษาจะช่วยให้ศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยสามารถประคองตัวอยู่ที่ 3.25% โดยทั้ง 6 มาตรการมีวงเงินรวมกันประมาณ 7 แสนล้านบาทในช่วง 6 เดือนข้างหน้า การใช้มาตรการเหล่านี้จะช่วยให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ดีขึ้น และสามารถสร้างรายได้ถึง 8.6 แสนล้านบาทในช่วง 5 ปีข้างหน้า หรือระหว่างปี 2564-2568

ที่มา : https://www.krungsri.com/th/research/research-intelligence/Covid19-Response-Policy-2021

เมื่อไทยเริ่มไม่ใช่จุดสนใจของโลก ส่งออกไม่ดี ไม่มีเทคชั้นสูง ได้แค่รับจ้างผลิต นักลงทุนไทยยังหนี

โดยกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP Research)

บทวิเคราะห์ของ KKP Research เกียรตินาคินภัทร จับสัญญาณว่าประเทศไทยกำลังได้รับความสนใจลดลงในหลายมิติ

มิติแรก “การลงทุนในสินทรัพย์ทางการเงิน” เช่น

  • ตลาดหุ้น ที่นักลงทุนต่างชาติมีสัญญาณขายสุทธิอย่างต่อเนื่อง
  • นักลงทุนในไทยก็เริ่มออกไปลงทุนต่างประเทศมากขึ้นเรื่อย ๆ

ในปี 2021 รับเพียงในไตรมาส 1 นักลงทุนไทยออกไปลงทุนในต่างชาติแล้วกว่า 3 แสนล้านบาท

มิติที่สองคือ “การลงทุนทางตรงจากต่างประเทศ” เช่น

  • ในปัจจุบันต่างชาติเข้ามาลงทุนในไทยลดลงเรื่อย ๆ เมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่งในภูมิภาค
  • ในขณะที่บริษัทไทยก็เริ่มออกไปลงทุนในต่างประเทศมากขึ้นเช่นกัน

มิติที่สามคือ “การสูญเสียความสามารถในการแข่งขันด้านการส่งออก” ดังนี้

  • ในปี 2021 การส่งออกทั่วภูมิภาคขยายตัวอย่างแข็งแกร่งตามเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวได้เร็ว
  • แต่สัญญาณที่เราเห็นคือ การส่งออกของไทยฟื้นตัวได้ช้ากว่าหลายประเทศในโลก
  • โดยเฉพาะอย่างยิ่งไทยมีสัดส่วนของสินค้าส่งออกที่ใช้เทคโนโลยีต่ำกว่าประเทศคู่แข่ง ซึ่งสะท้อนว่าไทยมีคู่แข่งที่น่ากลัวเพิ่มขึ้นและต่างชาติกำลังมีความต้องการสินค้าไทยลดน้อยลง

ความสามารถในการแข่งขันที่ลดลงมาจากปัญหาเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจไทยที่ซ้อนกันอยู่เป็นชั้นๆ ดังต่อไปนี้ สาเหตุในชั้นแรก เกิดจากสินค้าส่งออกหลักของไทยปัจจุบันกำลังเผชิญความท้าทายใหม่ ๆ โดยสินค้าใน 5 กลุ่มหลัก ได้แก่ อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า รถยนต์ สินค้าเกษตรและปิโตรเคมี

สาเหตุในชั้นที่สอง ไทยไม่มีสินค้าเทคโนโลยีขั้นสูง และทำหน้าที่เพียงรับจ้างผลิต เมื่อพิจารณาโครงสร้างการเติบโตของสินค้าส่งออกไทยในช่วงกว่า 25 ปีที่ผ่านมา พบว่ามีการเติบโตในกลุ่มสินค้าเทคโนโลยีขั้นกลางเฉพาะรถยนต์

ในขณะที่ไม่มีทิศทางการพัฒนาไปสู่การส่งออกในกลุ่มสินค้าเทคโนโลยีขั้นสูงที่ชัดเจน

  • เมื่อเทียบกับต่างประเทศไทยมีสัดส่วนการส่งออกสินค้าเทคโนโลยีขั้นสูงที่น้อยกว่าภูมิภาค คือ 19%
  • เมื่อเทียบกับการส่งออกทั้งหมดเท่านั้นในปี 2019 เทียบกับเวียดนามที่ 28% และเอเชียที่ 26%
  • ยิ่งไปกว่านั้นยังมีการเติบโตเฉลี่ยในช่วงปี 2010-2019 ในกลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์เพียง 2.2% ในขณะที่เอเชียโตเฉลี่ยถึง 6.6%

โครงสร้างการส่งออกที่ยังเป็นสินค้าแบบเก่า ทำให้ในช่วงที่ผ่านมาการส่งออกไทยฟื้นตัวได้ช้ากว่าหลายประเทศในภูมิภาค

อีกประเด็นที่น่ากังวลคือ ประเทศไทยทำหน้าที่เป็นเพียงผู้รับจ้างผลิตสินค้าและไม่ได้เป็นเจ้าของเทคโนโลยี เมื่อพิจารณามูลค่าเพิ่มจากการผลิต (Value added) ที่บริษัทไทยสร้างได้ พบว่าอยู่ในสัดส่วนคงที่มาโดยตลอด สะท้อนว่าในช่วงที่ผ่านมายังไม่เกิดกระบวนการถ่ายโอนเทคโนโลยีใหม่ๆ มาสู่ประเทศไทย

สาเหตุในชั้นสุดท้าย นโยบายของรัฐยังไม่สนับสนุนให้เกิดการพัฒนาระยะยาว เมื่อพิจารณาจากดัชนีความสามารถในการแข่งขันที่จัดทำโดย IMD (World Competitiveness Index) ไทยอยู่ในลำดับที่ 40 ในปี 2019 ซึ่งแม้ไทยไม่อยู่ในลำดับที่แย่มาก แต่มีอุปสรรคใหญ่ที่ไม่สามารถแก้ไขได้ในระยะเวลาสั้น ๆ และส่งผลไปถึงโครงสร้างเศรษฐกิจที่ไม่สามารถพัฒนาไปตามเทรนด์โลกทั้งในช่วงที่ผ่านมาและต่อเนื่องถึงอนาคต ไม่ว่าจะเป็นการผูกขาดของตลาดสินค้าในประเทศจากปัญหาการคอร์รัปชั่น การเอื้อประโยชน์พวกพ้องทำให้ไม่เกิดการลงทุนในสินค้ากลุ่มใหม่ ๆ เพราะไม่คุ้มค่าสำหรับบริษัท ปัญหาด้านคุณภาพแรงงาน  ที่แรงงานยังไม่ถูกพัฒนาไปเป็นแรงงานที่มีทักษะสูง และไม่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดและท้าทายของเศรษฐกิจระยะยาว ปัญหาด้านโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐในไทยยังไม่ให้ความสำคัญในการมีโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัล และการปฏิรูปกฎระเบียบที่เหมาะสมพร้อมดึงดูดการลงทุน

จุดเปลี่ยนประเทศไทย

ปัญหาความสามารถในการแข่งขันอาจกำลังผลักให้เศรษฐกิจไทยก้าวเข้าสู่จุดเปลี่ยนในอย่างน้อยสองประเด็นสำคัญ คือ

  1. เศรษฐกิจไทยในอดีตที่พึ่งพาการส่งออกและการท่องเที่ยวอาจไม่ได้ผลอีกต่อไปในอนาคต
  2. ดุลการค้าของไทยอาจจะเกินดุลลดลงและสร้างความเสี่ยงกับฐานะการเงินระหว่างในระยะยาว

ข้อเสนอของ KKP Research

สินค้าส่งออกไทยยังมีข้อได้เปรียบในแง่ความซับซ้อนของสินค้าที่อยู่ในระดับค่อนข้างดีและสามารถต่อยอดสู่สินค้าใหม่ ๆ ได้ แนวทางการพัฒนาสินค้าของไทยยังสามารถต่อยอดจากสินค้ากลุ่มเดิมทั้งจากการเร่งให้เกิดการถ่ายโอนเทค​โนโลยีมาสู่ผู้ประกอบการไทย และการขยายการผลิตสินค้าไปในกลุ่มที่ใช้เทคโนโลยีใกล้เคียงเดิม โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้ายานยนต์และอุปกรณ์ขนส่ง เครื่องจักร และเคมีภัณฑ์

KKP Research โดยเกียรตินาคินภัทร ประเมินว่าเพื่อให้ประเทศไทยสามารถพัฒนาเศรษฐกิจและเทคโนโลยีได้ ภาคเอกชนมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาความสามารถในการแข่งขัน และรัฐก็มีบทบาทสำคัญในการกำหนดทิศทาง ส่งเสริม และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญใน 4 ด้าน คือ

  1. การพัฒนาคุณภาพปัจจัยการผลิต ลดกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการทำธุรกิจ พัฒนาการศึกษาและคุณภาพแรงงานให้มีทักษะที่ภาคอุตสาหกรรมต้องการ
  2. การเข้าถึงตลาดและเพิ่มขนาดของตลาด เพื่อขายสินค้าผ่านการทำข้อตกลงการค้าเสรี อย่างไรก็ตามไทยยังต้องพัฒนาเศรษฐกิจและสินค้าในประเทศให้ตรงกับความต้องการของตลาดโลก
  3. โครงสร้างพื้นฐานและปัจจัยทางภูมิศาสตร์ที่ทันสมัย เช่น การขนส่ง การปรับปรุงกฎระเบียบด้านภาษีและการใช้สิทธิทางภาษีให้วางแผนและเข้าใจง่าย การเตรียมความพร้อมด้าน ICT และ High Speed Broadband
  4. สถาบันเศรษฐกิจที่มีคุณภาพ โดยเฉพาะการส่งเสริมการแข่งขันที่เสรี ปราศจากการคอร์รัปชัน ซึ่งจะเป็นแรงจูงใจให้เกิดการลงทุนในสินค้ากลุ่มใหม่ ๆ ได้

ที่มา :

/1 บทวิเคราะห์โดย KKP Research โดยกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร

/2 https://brandinside.asia/turing-point-of-thai-export-kkp-research/

ปี 64 เศรษฐกิจเมียนมาเจอมรสุมหนัก! คาด หดตัว 8.5%

โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย

ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่กำลังฟื้นตัวดี เศรษฐกิจเมียนมากลับเผชิญมรสุมทางการเมืองอย่างหนัก ภาพลักษณ์ของเมียนมาในสายตาชาติตะวันตกกำลังมีบทบาทลดน้อยลง จากการที่สหรัฐฯ ประกาศระงับความตกลงการค้าและการลงทุนกับเมียนมาที่มีมาตั้งแต่ปี 2556 ทำให้มียนมาต้องสูญเสียสิทธิพิเศษทางภาษีเป็นการทั่วไป (GSP) ของสหรัฐฯ และมีความเสี่ยงที่สหภาพยุโรปจะตัดสิทธิพิเศษทางการค้า EBA รวมถึงนานาชาติจะเพิ่มแรงกดดันด้านต่าง ๆ อันเป็นอุปสรรค์ต่อการทำธุรกิจในอนาคต

ตั้งแต่กองทัพเมียนมาเข้ายึดอำนาจเมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2564 ได้มีการแสดงอารยะขัดขืนเป็นวงกว้างและทวีความรุนแรงขึ้น ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจชะงักงัน เครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจทุกตัวชะลอตัวลงมากกว่าคาด ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดเศรษฐกิจเมียนมาปี 2564 อาจจะหดตัวลึกขึ้นมาอยู่ที่ราว -8.5% (กรอบประมาณการ -9.8% ถึง -7.2%) หากการประท้วงไม่ขยายวงกว้างกว่านี้และทางการสามารถควบคุมสถานการณ์เศรษฐกิจและการเมืองช่วงครึ่งปีหลังให้ดีขึ้นได้ เศรษฐกิจเมียนมาปี 2564 คาดว่าจะโน้มเอียงสู่กรอบบนประมาณการที่ -7.2% แต่หากความขัดแย้งรุนแรงลากยาวตลอดปี เศรษฐกิจอาจทรุดตัวเข้าใกล้กรอบล่างที่ -9.8%

การส่งออกผ่านชายแดนจากไทยไปเมียนมาเดือนก.พ. 2564 กลับมาหดตัวสูงที่ -21.4% ส่วนหนึ่งเพราะโควิด-19 ลุกลามอีกครั้ง และบางส่วนเพราะความไม่สงบในเมียนมาทำให้สินค้าส่วนใหญ่เริ่มหดตัวชัดเจน ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าแม้ความไม่สงบในเมียนมาอาจส่งผลมายังช่องทางการค้าบริเวณพรมแดน แต่ไม่กระทบการขนส่งสินค้าข้ามแดนมากนักเพราะเมียนมาต้องพึ่งสินค้าไทยหลายชนิด ขณะเดียวกันความกังวลต่อความไม่สงบในช่วงแรกทำให้มีการเร่งกักตุนสินค้าจากไทยค่อนข้างมาก แต่ในช่วงที่เหลือของปีด้วยกำลังซื้อและภาวะเศรษฐกิจที่จะอ่อนแรงลงเรื่อยๆ คงฉุดให้การส่งออกชายแดนไทยไปเมียนมาปีนี้หดตัวต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 ที่ -6.0% มูลค่าการส่งออก 81,890 ล้านบาท (กรอบประมาณการหดตัวที่ -8.0% หากเศรษฐกิจเมียนมาทรุดตัวตลอดปี ถึงหดตัวที่ -2.9% หากครึ่งปีหลังหลังสามารถควบคุมสถานการณ์ให้กลับมาดีขึ้นได้)​

ที่มา : https://www.kasikornresearch.com/th/analysis/k-social-media/Pages/Myanmar-Eco-23-04-2021.aspx

การค้าชายแดนปี’ 64 มีลุ้นเติบโต 4.3% จับตาการค้าข้ามแดนไปประเทศที่ 3

โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย (KResearch)

การค้าชายแดนและผ่านแดนของไทยในปีที่ผ่านมาเผชิญความท้าทายอย่างมากจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ทั่วโลกต้องประสบเป็นปีแรกไม่เพียงทำให้กำลังซื้อของคู่ค้าชะลอตัว ยังทำให้พรมแดนระหว่างประเทศจำเป็นต้องจำกัดจุดผ่านแดนเหลือเพียงเฉพาะช่องทางที่สำคัญเท่านั้น รวมทั้งเพิ่มมาตรการเข้มงวดในการตรวจปล่อยรถขนส่งสินค้า สิ่งเหล่านี้กดดันการส่งออกชายแดนและผ่านแดนของไทยในภาพรวมให้หดตัวร้อยละ 2.16 มีมูลค่า 766,314 ล้านบาท ในปี 2563

สำหรับปี 2564 เป็นอีกปีที่โควิด-19 ยังไม่คลี่คลาย แต่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าของไทยเริ่มปรับตัวดีขึ้นกว่าเดิม มีทั้งปัจจัยด้านราคาน้ำมันที่เข้ามาช่วยเสริมให้ตัวเลขการค้าชายแดนพลิกฟื้นกลับมา ขณะที่โครงสร้างการส่งออกสินค้าของไทยที่พึ่งพาตลาดประเทศที่มีพรมแดนติดกับไทยเกินกว่าครึ่ง (เมียนมา สปป.ลาว กัมพูชาและมาเลเซีย) กลายเป็นจุดอ่อนสำคัญที่ฉุดการส่งออกชายแดนในภาพรวมลดลงตลอด 3 ปีที่ผ่านมา โดยคาดว่าในปี 2564 การส่งออกชายแดนไปตลาดเหล่านี้จะยังมีทิศทางเติบโตเชื่องช้าต่อไปขยายตัวเพียงร้อยละ 1.3 มีมูลค่าการส่งออก 454,005 ล้านบาท ดังนี้

  • การส่งออกชายแดนของไทยเริ่มมีปัญหามีมูลค่าการค้าลดลงเรื่อยมา ด้วยข้อจำกัดด้านกำลังซื้อและจำนวนประชากรของคู่ค้า จึงทำให้ทิศทางการส่งออกไปยังตลาดเหล่านี้เติบโตได้อย่างจำกัด โดยเฉพาะประเทศที่มีพรมแดนติดกับไทยอย่าง สปป.ลาว และกัมพูชา
  • โครงสร้างการส่งออกสินค้าแบบเดิมของไทยตอบโจทย์ตลาดคู่ค้าได้น้อยลง

จะเห็นได้ว่าโครงสร้างการส่งออกของไทยไม่เอื้อต่อการส่งออกไปยังตลาดชายแดนหลักของไทยดังเช่นในอดีต ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ตลาดดาวรุ่งที่จะมาสนับสนุนการค้าชายแดนของไทยอยู่ที่การส่งสินค้าผ่านแดนไปประเทศที่ 3 (สิงคโปร์ จีน เวียดนาม และประเทศอื่นๆ) ซึ่งเริ่มมีสัญญาณเติบโตมาระยะหนึ่ง โดยสัดส่วนการส่งออกไปตลาดนี้เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 43 ของการส่งออกชายแดนและผ่านแดน (จากที่เคยมีสัดส่วนร้อยละ 37 ในปี 2561) อีกทั้งสินค้าไทยที่ไปตลาดนี้มีศักยภาพโดดเด่นจึงน่าจะเติบโตได้ดีกว่าตลาดอื่นๆ โดยคาดว่าปี 2564 จะเติบโตที่ร้อยละ 8.5 มีมูลค่าส่งออกราว 345,191 ล้านบาท

โดยสรุป ด้วยการฟื้นตัวของเศรษฐกิจคู่ค้าที่น่าจะปรับตัวดีขึ้นจากปีก่อน ซึ่งได้ผ่านพ้นสถานการณ์โควิด-19 มาได้อีกปีหนึ่ง ซึ่งแน่นอนว่าหลายประเทศยังต้องพึ่งพาการบริโภคสินค้าจากไทย รวมถึงสินค้าในกลุ่ม IT มีสัญญาณเร่งตัวตามกระแสโลกอย่างต่อเนื่องยิ่งผลักดันการส่งออกสินค้าผ่านแดนไปประเทศที่ 3 ให้มีบทบาทสำคัญ ด้วยแรงขับเคลื่อนดังกล่าว

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า การส่งออกชายแดนและผ่านแดนของไทยปี 2564 จะพลิกกลับมาขยายตัวที่ร้อยละ 4.3 มีมูลค่าการส่งออก 799,195 ล้านบาท (กรอบประมาณการเติบโตที่ร้อยละ 3.3-5.5 มีมูลค่าการส่งออก 791,602-808,461 ล้านบาท) โดยขึ้นอยู่กับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจคู่ค้าในการรับมือกับการระบาดของโควิด-19 ได้ดีเพียงใด การส่งออกไปตลาดส่วนใหญ่กลับมาขยายตัวยกเว้นบางประเทศที่หดตัวจากปัจจัยเฉพาะ อาทิ เมียนมาที่มีปัญหาการเมืองในประเทศฉุดเศรษฐกิจ และโรคระบาดในสุกรที่กัมพูชาทำให้ฐานปีก่อนสูงผิดปกติอย่างมาก

นอกจากนี้ สิ่งที่ต้องจับตาในระยะต่อไป ต้องยอมรับว่าโครงสร้างการผลิตและส่งออกของไทยในปัจจุบันไม่เอื้อให้ค้าชายแดนไทยเติบโตได้อย่างมั่งคงนัก เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นสินค้ามีมูลค่าเพิ่มน้อยในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค อาหารและเครื่องดื่ม ขนาดตลาดมีจำกัดจึงไม่สามารถผลักดันค้าชายแดนให้เร่งตัวได้มาก ทำได้เพียงแค่ประคองการเติบโตไปตามภาวะเศรษฐกิจของคู่ค้าเป็นหลัก ขณะที่สินค้าที่ใช้วัตถุดิบในไทยอย่างยางพารากับผลไม้เมืองร้อน ซึ่งมีศักยภาพโดดเด่นในตัวเองมีส่วนช่วยขับเคลื่อนค้าชายแดนไทยไปยังประเทศจีนและเวียดนามได้อย่างต่อเนื่องและยังคงมีช่องทางอันสดใส แต่สินค้าที่สร้างมูลค่าเพิ่มสูงในกลุ่มยานยนต์ เทคโนโลยีโดยเฉพาะสินค้า IT ที่อยู่ในกระแสความต้องการของตลาดโลกยังมีโอกาสเติบโตได้อย่างไม่หยุดยั้ง นับว่ามีบทบาทสำคัญในการกระตุ้นการค้าชายแดนของไทยนับจากนี้ไป แต่สินค้าเหล่านี้จะยังคงเป็นแรงส่งให้แก่ไทยได้อีกนานแค่ไหนนั้นคงขึ้นอยู่กับการตัดสินใจลงทุนของต่างชาติว่าจะเลือกลงทุนในไทยหรือย้ายไปตั้งฐานการผลิตที่อื่น ดังนั้น การกระตุ้นการค้าชายแดนซึ่งก็เป็นส่วนหนึ่งของการค้าในภาพรวมของไทยก็คงต้องเริ่มจาการแก้ปัญหาโครงสร้างการผลิตของไทยให้ยกระดับไปอีกขั้น จนสินค้าไทยเกิดความโดดเด่นเป็นที่ต้องการของคู่ค้าเหนือคู่แข่งชาติอื่นๆ

ที่มา :

/1 https://kasikornresearch.com/th/analysis/k-econ/business/Pages/Border-Trade-z3191.aspx

/2 https://www.moneyandbanking.co.th/article/news/kresearch-frontier-19022021

คาดการณ์เศรษฐกิจเมียนมาปี 64 หดตัว (-)0.5% ถึง (-)2.5% หลังกองทัพเมียนมายึดอำนาจรัฐบาล ส่งผลให้การค้าชายแดนไทย-เมียนมาหดตัวอีกเป็นปีที่ 5

โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

ความสัมพันธ์ระหว่างเมียนมากับประเทศกับมหาอำนาจชาติตะวันตกที่มีพลวัตรที่ดีขึ้นเป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจเมียนมาให้เติบโตได้ในระดับสูงตลอดช่วงที่ผ่านมา โดยการลงทุนจากต่างประเทศเป็นปัจจัยผลักดันให้เกิดการส่งออก และเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจเมียนมาจากสังคมเกษตร เข้าสู่สังคมอุตสาหกรรม พร้อมทั้งก่อให้เกิดการจ้างงานและยกระดับกำลังซื้อของภาคประชาชนอย่างมหาศาล ดังนั้น การเข้ายึดอำนาจรัฐบาลของกองทัพเมียนมาในครั้งนี้ ย่อมก่อให้เกิดความชะงักงันในความสัมพันธ์กับมหาอำนาจชาติตะวันตก และอาจนำไปสู่การคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ

ในด้านการค้า นับตั้งแต่เมียนมาได้รับสิทธิพิเศษทางการค้าจากสหภาพยุโรป การส่งออกของเมียนมาไปสหภาพยุโรปก็เติบโตมากกว่า 10 เท่าในช่วงเวลาเพียง 6 ปี ส่วนการส่งออกของเมียนมาไปสหรัฐ ฯ ก็เติบโตขึ้น 5 เท่าภายใน 3 ปี จะเห็นได้ว่าสิทธิพิเศษทางการค้าทำให้การส่งออกของเมียนมาไปยังสหภาพยุโรป (EU) และสหรัฐ ฯ เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงเวลาที่ผ่านมา

ในด้านการลงทุน การเข้ายึดอำนาจของกองทัพเมียนมาไม่ได้ส่งผลกระทบเชิงลบต่อการส่งออกเพียงเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศอีกด้วย หลังจากกองทัพของเมียนมาเข้ายึดอำนาจรัฐบาล เหตุการณ์นี้ได้ทำเกิดความไม่แน่นอนทางการเมือง และความเสี่ยงที่จะถูกถอดถอนสิทธิประโยชน์ทางการค้าจากทั้งสหภาพยุโรป และสหรัฐฯ ปัจจัยเหล่านี้อาจส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติเลือกที่จะชะลอหรือยุติการลงทุนในเมียนมา และทำให้เม็ดเงินลงทุนในภาคอุตสาหกรรมมีแนวโน้มหดตัวลงในระยะยาว

ในด้านภาพรวมทางเศรษฐกิจเมียนมา การเข้ายึดอำนาจของกองทัพเมียนมาจะทำให้เกิดความไม่แน่นอนทางการเมือง และเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ตลอดจน ฐานะทางการเงินของภาครัฐ รวมทั้งยังส่งผลกระทบต่อการควบคุมการระบาดของโควิด เช่น ทำให้เกิดความล่าช้าในการแจกจ่ายวัคซีน ประกอบกับความเสี่ยงในการสูญเสียสิทธิพิเศษทางการค้าระหว่างเมียนมา กับ EU และสหรัฐ ฯ ที่อาจจะเกิดขึ้นและส่งผลเป็นวงกว้าง ครอบคลุมถึงการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรม ที่มีการจ้างงานกว่า 1 ล้านตำแหน่งในอุตสาหกรรมสิ่งทอ และตัดเย็บเสื้อผ้า ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจของเมียนมาจะอยู่ในกรอบ (-)0.5% ถึง (-)2.5% ในปี 2564

สำหรับผลกระทบต่อประเทศไทย จะเกิดขึ้นผ่านทาง 2 ช่องทางหลัก ได้แก่ การค้าชายแดน และ การเคลื่อนย้ายแรงงานเมียนมาเข้ามาในประเทศไทย โดยการเข้ายึดอำนาจทำให้เกิดความไม่แน่นอนเชิงนโยบาย ซึ่งอาจทำให้มีมาตรการตรวจสอบคนหรือสินค้าข้ามพรมแดนที่เข้มงวดขึ้นจากเดิม สุดท้ายนี้ อุปสรรคในการเคลื่อนย้ายแรงงานเมียนมาข้ามพรมแดนอาจทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนแรงงานต่างด้าวที่ถูกกฎหมายในภาคธุรกิจต่าง ๆ

อ่านเพิ่มเติมได้ที่ : https://www.kasikornresearch.com/th/analysis/k-econ/economy/Pages/Myanmar-z3186.aspx