SCB EIC คาดเศรษฐกิจ CLMV ขยายตัวต่อเนื่องจากแรงส่งการบริโภคและภาคการท่องเที่ยว แม้มีปัจจัยกดดันจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว และความเสี่ยงเฉพาะประเทศ

โดย ปัณณ์ พัฒนศิริ และ ดร.ฐิติมา ชูเชิด จากศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC)

SCB EIC คาดเศรษฐกิจ CLMV มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องในปี 2023

โดยประเมินว่า เศรษฐกิจกัมพูชาจะขยายตัว 5.9% สปป.ลาว 4.0% เมียนมา 3.0% และเวียดนาม 5.0% ตามลำดับ จากภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวต่อเนื่องหลังการเปิดประเทศของจีน ทั้งด้านจำนวนนักท่องเที่ยวและค่าใช้จ่ายต่อคน ตลอดจนการบริโภคภายในประเทศที่ปรับดีขึ้นตามตลาดแรงงานและแรงกดดันเงินเฟ้อที่ลดลง ทั้งนี้เศรษฐกิจ CLMV จะขยายตัวค่อยเป็นค่อยไปและยังต่ำกว่าอัตราการเติบโตเฉลี่ยช่วงก่อน COVID-19 ในปีนี้ ส่วนหนึ่งจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ทยอยฟื้นตัวแต่ยังต่ำกว่าระดับก่อน COVID-19 การส่งออกและการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศที่ค่อนข้างซบเซาตามเศรษฐกิจโลกที่ขยายตัวชะลอลง และปัจจัยกดดันเฉพาะประเทศ

.

ปัจจัยกดดันเฉพาะประเทศทำให้ทิศทางการฟื้นตัวรายประเทศไม่เหมือนกัน

ประเทศที่พึ่งพานักท่องเที่ยวต่างชาติสูง เช่น กัมพูชา มีแนวโน้มฟื้นตัวแข็งแกร่งขึ้นในปีนี้ ช่วยลดทอนผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่ขยายตัวชะลอลงต่อการส่งออกได้ ขณะที่สปป.ลาวได้ประโยชน์จากโครงการโลจิสติกส์ต่าง ๆ อาทิ รถไฟความเร็วสูงจีน – สปป.ลาว และจุดเปลี่ยนถ่ายสินค้าท่าแห้งท่านาแล้ง จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการท่องเที่ยวและการขนส่งภายในภูมิภาค แม้อัตราเงินเฟ้อสูงยังเป็นปัจจัยกดดันเศรษฐกิจอยู่ สำหรับเศรษฐกิจเวียดนามมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลงมาก เนื่องจากพึ่งพาการส่งออกและการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศสูง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่มีแนวโน้มซบเซาในปีนี้ อีกทั้ง ยังเผชิญภาวะการเงินในประเทศตึงตัวขึ้นมาก ส่งผลให้ธุรกิจบางกลุ่ม โดยเฉพาะภาคอสังหาฯ ระดมทุนได้ยาก ส่งผลกระทบความเชื่อมั่นและการลงทุนภาคเอกชนไประยะหนึ่ง

.

ความเปราะบางเชิงโครงสร้างกดดันให้เศรษฐกิจ CLMV บางประเทศขยายตัวต่ำกว่าอดีต

ในระยะปานกลาง SCB EIC คาดว่า กัมพูชาและเวียดนามจะสามารถกลับมาขยายตัวใกล้ค่าเฉลี่ยในอดีต เนื่องจากปัจจัยกดดันเศรษฐกิจในปีนี้เป็นปัจจัยชั่วคราวและคาดว่าจะทยอยคลี่คลายได้ แต่สปป.ลาวและเมียนมามีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตไปอีกระยะ ซึ่งเป็นผลจากปัจจัยเชิงโครงสร้าง โดยสปป.ลาวมีความเสี่ยงด้านเสถียรภาพภาคต่างประเทศและภาคการคลัง จากระดับทุนสำรองระหว่างประเทศที่ไม่สูงนักในภาวะเงินกีบอ่อนค่าเร็ว และหนี้สาธารณะสูง ส่งผลให้ภาครัฐต้องใช้นโยบายการเงินและนโยบายการคลังตึงตัวมากขึ้น เพื่อรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินและอาจพิจารณาเจรจาปรับโครงสร้างหนี้สาธารณะ ซึ่งจะกระทบต่อความสามารถในการใช้จ่ายลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของภาครัฐ สำหรับเมียนมาความไม่สงบทางการเมืองที่ยังไม่คลี่คลายยังเป็นปัจจัยกดดันเศรษฐกิจ ส่งผลให้ฟื้นความเชี่อมั่นของนักลงทุนและผู้บริโภคได้ยาก ขณะที่ชาติตะวันตกขยายมาตรการคว่ำบาตรให้ครอบคลุมบุคคลและนิติบุคคลเพิ่มเติม ส่งผลให้สภาพแวดล้อมการทำธุรกิจในเมียนมาไม่เอื้อต่อการลงทุน และกดดันให้เศรษฐกิจเมียนมาขยายตัวต่ำในระยะปานกลาง

.

แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อของ CLMV

แม้อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลงต่อเนื่อง ทิศทางนโยบายการเงินยังขึ้นกับบริบทเศรษฐกิจรายประเทศ อัตราเงินเฟ้อทยอยชะลอตัวในทุกประเทศตามราคาสินค้าโภคภัณฑ์โลกที่ลดลง แต่ทิศทางนโยบายการเงินจะคำนึงถึงบริบทเศรษฐกิจการเงินในประเทศนั้น ๆ เช่น เวียดนามปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและออกมาตรการสนับสนุนสภาพคล่องในตลาดการเงินเพื่อบรรเทาอุปสรรคการระดมทุนของภาคธุรกิจที่ตึงตัวขึ้นมาก โดย SCB EIC คาดว่านโยบายการเงินเวียดนามจะผ่อนคลายต่อไป เนื่องจากเศรษฐกิจมีแนวโน้มซบเซาในปีนี้ และภาคอสังหาฯ ยังคงอ่อนแอคาดว่าต้องใช้เวลาอีกระยะก่อนจะทยอยฟื้นตัวได้ ขณะที่นโยบายการเงินสปป.ลาวมีแนวโน้มตึงตัวต่อไป เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อยังสูงแม้จะเริ่มชะลอลงบ้าง ซึ่งเป็นผลจากเงินกีบอ่อนค่า ทำให้ราคาสินค้านำเข้าสูงขึ้นมาก ธนาคารกลางสปป.ลาวจึงต้องเน้นดูแลเสถียรภาพด้านราคาในปีนี้

.

แนวโน้มการค้าและการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศระหว่างไทยกับ CLMV

แนวโน้มการค้าและการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศระหว่างไทยกับ CLMV ยังคงซบเซาในปีนี้ สอดคล้องกับการชะลอตัวของการค้าภายในภูมิภาคและความต้องการสินค้าอุตสาหกรรมที่ลดลง อย่างไรก็ดี คาดว่าการส่งออกไทยไป CLMV จะฟื้นตัวได้ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ เนื่องจากเศรษฐกิจ CLMV จะทยอยฟื้นตัวดีขึ้นและฐานส่งออกปีก่อนต่ำกว่าช่วงครึ่งแรกของปี สำหรับการลงทุนโดยตรงจากไทยไป CLMV ยังคงมีแนวโน้มซบเซาจากหลายปัจจัย อาทิ ต้นทุนการระดมทุนในประเทศสูงขึ้น เศรษฐกิจ CLMV ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ และสภาพแวดล้อมการทำธุรกิจในบางประเทศไม่เอื้อต่อการลงทุนและขยายกิจการ ในระยะต่อไป SCB EIC ยังมีมุมมองเชิงบวกต่อเศรษฐกิจ CLMV โดยมองว่า ยังเป็นตลาดสำคัญของธุรกิจไทย เนื่องจากมีความได้เปรียบด้านจำนวนแรงงานและค่าแรง ตลาดในประเทศเติบโตต่อเนื่อง การเข้าร่วมสนธิสัญญาการค้าเสรีต่าง ๆ และทำเลที่ตั้งซึ่งสามารถเชื่อมไทยไปยังตลาดสำคัญในภูมิภาคได้

ที่มา : https://www.scbeic.com/th/detail/product/clmv-190723

‘ผู้ค้าปลีกเวียดนาม’ กลับมาฟื้นตัว

บริษัทหลักทรัพย์ เอส เอส ไอ (SSI) คาดการณ์ว่าธุรกิจจะกลับมาทำกำไรเติบโตได้อย่างแข็งแกร่งในไตรมาสที่ 4 และในปี 2567 เนื่องจากการเร่งเบิกจ่ายเงินให้สินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคและการปรับตัวดีขึ้นของภาวะเศรษฐกิจ ในขณะที่ผู้ค้าปลีกเวียดนามมีแนวโน้มที่จะหันไปสู่การค้าสมัยใหม่ รวมไปถึงการระดมเงินทุน แต่ในความเป็นจริงแล้ว สถานการณ์ของผู้ค้าปลีกในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ เผชิญกับอุปสรรคหลายประการ อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญมองว่าธุรกิจค้าปลีกได้ผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากที่สุดมาแล้ว

ทั้งนี้ จากรายงานของสำนักงานสถิติของเวียดนาม (GSO) ระบุว่ารายได้รวมจากการค้าปลีกสินค้าอุปโภคบริโภคและบริการในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้น 10.9% เมื่อเทียบเป็นรายปี มูลค่ากว่า 3.01 ล้านล้านด่อง

ในขณะเดียวกันจากผลการสำรวจของ ‘Infocus’ พบว่าความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเวียดนาม ลดลงมาอยู่ที่ 54 จุด ในเดือน มิ.ย.66 จากเดือน ก.ค.65 อยู่ที่ 63 จุด

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/domestic-retailers-on-path-to-recovery/259465.vnp

‘เวียดนาม’ มุ่งพัฒนาอุตสาหกรรมมะพร้าวอย่างยั่งยืน

อุตสาหกรรมมะพร้าวมีบทบาทสำคัญอย่างมากต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของเวียดนาม และควรได้รับพิจารณาให้เป็นส่วนสำคัญของแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาของประเทศ อย่างไรก็ดี อุตสาหกรรมมะพร้าวในปัจจุบันมีปัญหาในการจัดหาเงินทุน เพื่อที่จะยกระดับเทคโนโลยี ด้วยเหตุนี้ จึงจำเป็นที่จะต้องเร่งผลักดันให้มะพร้าวเป็นพืชอุตสาหกรรมหลักของเวียดนามภายในปี 2573 ทั้งนี้ เวียดนามมีพื้นที่เพาะปลูกมะพร้าวมากกว่า 188,000 เฮกตาร์ คิดเป็น 1.67% ของพื้นที่ทั่วโลก ในขณะที่ต้นมะพร้าวนับเป็นแหล่งรายได้สำคัญของเกษตรกรกว่า 389,530 ครัวเรือน และทำรายได้จากการส่งออกผลิตภัณฑ์จากมะพร้าวสูงถึง 900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ ในปัจจุบันมีผู้ประกอบการที่มีความเชี่ยวชาญด้านการผลิตและแปรรูปมะพร้าว จำนวน 854 ราย และอีกกว่า 90 บริษัทที่ส่งออกผลิตภัณฑ์จากมะพร้าวไปทั่วโลก รวมถึงมีการจ้างแรงงานมากกว่า 15,000 คน

ที่มา : https://en.nhandan.vn/vietnam-eyes-sustainable-development-for-coconut-industry-post127536.html

กัมพูชาหวัง RCEP-FTA กระตุ้นภาคการส่งออก

กัมพูชาตั้งความหวังไว้กับข้อตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) และข้อตกลงการค้าเสรีทวิภาคี (FTA) ในการกระตุ้นการส่งออกสินค้ากลุ่มเครื่องนุ่งห่ม รองเท้า และสินค้าเพื่อการเดินทาง (GFT) กล่าวโดย Ly Khun Thai ประธานสมาคมรองเท้ากัมพูชา หลังการส่งออกรองเท้าไปยังจีนและเกาหลีใต้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญนับตั้งแต่กัมพูชาลงนามในข้อตกลก RCEP และ FTA ทวิภาคีของกัมพูชากับจีน รวมถึงเกาหลีใต้เมื่อปีที่แล้ว ซึ่งกล่าวเสริมว่าตลาดหลักในปัจจุบันสำหรับสินค้ากลุ่ม GFT ของกัมพูชา ได้แก่ ยุโรป สหรัฐฯ และแคนาดา โดยได้มีการส่งออกสินค้ากลุ่มดังกล่าวไปแล้วมูลค่ารวมกว่า 5.26 พันล้านดอลลาร์ นับตั้งแต่ช่วงเดือนมกราคมถึงมิถุนายนปีนี้ ลดลงที่ร้อยละ 18.7 จากมูลค่าการส่งออกที่ 6.47 พันล้านดอลลาร์ ในช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว ตามการรายงานของกรมศุลกากรและสรรพสามิต ซึ่งอุตสาหกรรมสินค้ากลุ่ม GFT ถือเป็นแรงหลักของภาคการส่งออกกัมพูชา โดยมีผู้ประกอบด้วยโรงงานประมาณ 1,100 แห่ง สร้างการจ้างงานถึงประมาณ 750,000 คน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501325280/cambodia-hopes-rcep-bilateral-ftas-to-boost-exports-of-garment-footwear-travel-goods/

Q1 FDI กัมพูชาขยายตัวกว่า 9% คิดเป็นมูลค่ากว่า 45.8 พันล้านดอลลาร์

การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในกัมพูชา ในช่วงไตรมาสแรกของปีมีมูลค่าแตะ 45.8 พันล้านดอลลาร์ ตามการรายงานของธนาคารแห่งชาติกัมพูชา (NBC) คิดเป็นการเพิ่มขึ้นร้อยละ 9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยแหล่งเงินทุนหลักมาจากจีน เกาหลีใต้ สิงคโปร์ ญี่ปุ่น เวียดนาม มาเลเซีย ไทย และสหราชอาณาจักร ด้าน NBC กล่าวเสริมว่า การไหลเข้าของการลงทุนส่วนใหญ่ไหลไปยังภาคส่วนหลักๆ ของระบบเศรษฐกิจ ซึ่งรวมถึงอุตสาหกรรมทางด้านการเงิน อุตสาหกรรมการผลิต ภาคอสังหาริมทรัพย์ เกษตรกรรม โรงไฟฟ้าพลังน้ำ และอุตสาหกรรมการก่อสร้างเป็นสำคัญ โดยการเพิ่มขึ้นของ FDI สะท้อนถึงเสถียรภาพทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมในกัมพูชา

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501324528/fdi-in-cambodia-increases-by-9-percent-in-q1-to-45-8-billion/

‘CIEM’ คาดเศรษฐกิจเวียดนามปีนี้ โต 6.46% และเงินเฟ้อ 4.39%

จากงานสัมมนาที่จัดขึ้นโดยหน่วยงาน Centre Institute for Economic Management (CIEM) ได้ประเมินสถานการณ์ทางเศรษฐกิจเวียดนาม ภายใต้ 3 สถานการณ์ ดังนี้

สถานการณ์แรก มองว่าหากเศรษฐกิจโลกยังคงดำเนินต่อไปได้ และเวียดนามจะยังคงใช้นโยบายในลักษณะแบบเดิมในช่วงครึ่งหลังของปี 2564-2565 ด้วยเหตุนี้ คาดว่าเศรษฐกิจเวียดนามจะขยายตัว 5.34% ในปีนี้ แต่การส่งออกจะหดตัวลง 5.64% และดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) จะเพิ่มขึ้น 3.43%

ในขณะที่สถานการณ์ที่สอง ตั้งสมมติฐานเหมือนกัยสถานการณ์แรก แต่จะมีการปรับนโยบายการเงินผ่อนคลายที่เกี่ยวข้องกับการลดอัตราดอกเบี้ยและสถานการณ์ทางการคลังที่เป็นบวกมากขึ้นในเวียดนาม ด้วยเหตุนี้ คาดว่าเศรษฐกิจเวียดนามจะขยายตัว 5.72% ในปีนี้ แต่การส่งออกจะหดตัวลง 3.66% และดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) จะเพิ่มขึ้น 3.87%

และสถานกาณณ์ที่สาม ตั้งสมมติฐานในเชิงบวกมากขึ้นท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัว ด้วยเหตุนี้ คาดว่าเศรษฐกิจเวียดนามจะขยายตัว 6.46% ในปีนี้ แต่การส่งออกจะหดตัวลง 2.17% และดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) จะสูงถึง 4.39%

ที่มา : https://en.sggp.org.vn/vietnams-economic-growth-forecast-at-646-percent-inflation-439-percent-post103486.html

‘สื่ออังกฤษ’ ตีบทความ โอกาสครั้งสำคัญของเศรษฐกิจเวียดนาม

สื่ออังกฤษด้านธุรกิจและการเงิน ‘Financial Times’ ลงบทความที่ทำการประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจเวียดนามในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาที่นำไปสู่การผลักดันให้สัญญาต่างๆ และในโอกาสครั้งสำคัญของเศรษฐกิจเวียดนามที่จะไปสู่การเติบโตสูงสุด และการใช้ความได้เปรียบทางด้านการผลิต เพื่อการส่งเสริมประเทศในระยะยาว ทั้งนี้ การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ไหลเข้ามาในประเทศสูงที่สุดในรอบทศวรรษที่ผ่านมา มูลค่ากว่า 20 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ มีทั้งบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลกที่เข้ามาลงทุน อาทิเช่น เดลล์ (Dell), กูเกิล (Google), ไมโครซอฟท์ (Microsoft) และ แอปเปิล (Apple) บริษัททั้งหมดในข้างต้นทำการย้ายฐานการผลิตบางส่วนไปยังเวียดนามในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา และมองหาโอกาสที่จะพัฒนามากขึ้นในอนาคตข้างหน้า นอกจากนี้ เวียดนามจำเป็นที่จะต้องยกระดับขีดความสามารถในการผลิตให้ดีขึ้น เพื่อตอบสนอบความต้องการที่เพิ่มขึ้น

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/vietnams-economic-moment-has-arrived-financial-times/256097.vnp

อัตราเงินเฟ้อกัมพูชาลดลงต่ำสุดในรอบ 9 ปี แตะ 0.48%

ธนาคารแห่งชาติกัมพูชา (NBC) รายงานถึงอัตราเงินเฟ้อ ในช่วงเดือนพฤษภาคมปีนี้ ลดลงอย่างมากเหลือร้อยละ 0.48 ซึ่งเป็นอัตราที่ต่ำที่สุดในรอบ 9 ปีที่ผ่านมา หลังจากเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 1.1 ในช่วงเดือนเมษายน และจากร้อยละ 0.7 ในเดือนมีนาคม แสดงให้เห็นว่าราคาเฉลี่ยของสินค้าและบริการ 6 ใน 10 รายการ มีการปรับตัวลดลงในช่วงเดือนพฤษภาคม โดยเฉพาะด้านการขนส่งและร้านอาหาร ขณะที่ที่อยู่อาศัย น้ำ ไฟฟ้า ก๊าซ และเชื้อเพลิงอื่นๆ ก็ปรับตัวลดลงเช่นเดียวกัน ซึ่งรัฐบาลกัมพูชามีความพยายามเป็นอย่างมาก ที่จะรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ รวมถึงการควบคุมอัตราเงินเฟ้อ การรักษากำลังซื้อของประชาชน เป็นสำคัญ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501321914/inflation-drops-lowest-to-0-48-says-nbc/

กระทรวงฯ พร้อมหนุน SMEs เพื่อความยั่งยืน

วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ในกัมพูชา ถือมีบทบาทสำคัญอย่างมากในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ด้านกระทรวงอุตสาหกรรม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (MISTI) จึงเล็งเห็นถึงความจำเป็นในการส่งเสริมให้ SMEs ด้วยหลักการของความยั่งยืนให้เป็นหลักในการดำเนินธุรกิจ ผ่านกลยุทธ์ IBeeC ซึ่งได้หารือกันในระหว่างการประชุม Sustainable Business Forum ที่จัดโดย Oxfam and Young Entrepreneurs Association of Cambodia (YEAC) เพื่อเสริมความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP) ร่วมกับภาคองค์กรพัฒนาเอกชนจะสามารถช่วยให้ SME/MSMEs ใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดได้อย่างมีประสิทธิภาพเพื่อความยั่งยืนในอนาคต ในขณะเดียวกัน Credit Guarantee Corporation of Cambodia (CGCC) พร้อมสนับสนุนผู้ประกอบการโดยในช่วงที่ผ่านมาองค์กรได้ค้ำประกันสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการไปแล้วมูลค่ากว่า 113.6 ล้านดอลลาร์ ในไตรมาสแรกของปีนี้ กระจายไปยังภาคธุรกิจต่างๆ เกือบ 1,300 แห่ง ทั่วประเทศ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501321304/ministry-urges-smes-to-embrace-sustainability-inclusiveness/

‘เศรษฐกิจเวียดนาม’ แนวโน้มกลับมาฟื้นตัวในครึ่งปีหลัง

นายทิม ลีฬหะพันธุ์ นักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด ประจำประเทศไทยและเวียดนาม กล่าวว่าแนวโน้มเศรษฐกิจระยะกลางของเวียดนามมีทิศทางที่สดใส สาเหตุสำคัญมาจากการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของนักท่องเที่ยว การเปิดกว้างทางเศรษฐกิจและความมีเสถียรภาพเศรษฐกิจมหภาค โดยคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจเวียดนามจะขยายตัว 7% ในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อในปีนี้ คาดว่าจะลดลงเหลือ 2.8% ต่ำกว่าตัวเลขที่คาดการณ์ไว้ที่ 4.3% อย่างไรก็ตาม กิจกรรมการค้ายังคงซบเซา ซึ่งเป็นความท้าทายต่อภาคการผลิตของประเทศ ถึงแม้ว่าเวียดนามจะเกินดุลการค้ามากขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 2 แต่ว่าภาพรวมของภาคการส่งออกกลับลดลงในปี 2565

ที่มา : https://english.thesaigontimes.vn/vietnams-economy-set-to-rebound-in-h2-report/