“ธนาคารโลก” ชี้เวียดนามต้องการแรงงานมีทักษะ ขับเคลื่อนศก.รายได้ปานกลาง-สูง ปี 2578

ตามรายงานของธนาคารโลก (World Bank) เปิดเผยว่าเวียดนามต้องการแรงงานที่มีทักษะในศตวรรษที่ 21 ในขณะที่ปัจจุบันเศรษฐกิจขับเคลื่อนจากแรงงานที่มีทักษะต่ำและค่าแรงงานที่ต่ำทั้งด้านการผลิตและบริการ ไปสู่นวัตกรรมมากขึ้น ซึ่งสร้างขึ้นมาจากอุตสาหกรรมและบริการที่มีมูลค่าเพิ่ม แรงงานของเวียดนามจะต้องได้รับทักษะในระดับที่สูงขึ้นและมีทักษะที่หลากหลาย โดยยุทธศาสตร์การพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจของรัฐบาลเวียดนาม ปี 2564-2573 มีเป้าหมายที่จะนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรมและการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล รวมถึงส่งเสริมทรัพยากรมนุษย์ เพื่อเป็นแรงขับเคลื่อนหลักทางด้านผลผลิตและการเติบโตทางเศรษฐกิจในอนาคต อย่างไรก็ดีเวียดนามจำเป็นต้องปฏิรูประบบการศึกษาและเพิ่มทักษะที่จำเป็นแก่ประชาชน

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/vietnam-business-news-august-9-2047767.html

“ธนาคารโลก” คาดการณ์การเติบโตเศรษฐกิจเวียดนามปี 65 โต 7.5%

ตามรายงานของธนาคารโลก (World Bank) เผยแพร่เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2022 ได้คาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจเวียดนามปี 2565 ขยายตัว 7.5% ส่วนปี 2566 อยู่ที่ 6.7% สืบเนื่องจากภาคอุตสาหกรรมการผลิตที่ยืดหยุ่นและการฟื้นตัวของภาคบริการ ซึ่งเป็นแรงขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัว โดยเศรษฐกิจเวียดนามในไตรมาสที่ 4/64 ขยายตัว 5.2% และอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยคาดว่าจะอยู่ที่ 3.8% ต่อปี

ทั้งนี้ นางแคโรลีน เติร์ก ผู้อำนวยการธนาคารโลกสาขาเวียดนาม เผยว่าข้อเสนอเชิงนโยบายของรายงานฉบับนี้จะช่วยลดความเสี่ยงทางเศรษฐกิจและทำให้เศรษฐกิจมีความยืดหยุ่นมากขึ้นในอนาคต

นอกจากนี้ คุณ Dorsati Madani ผู้ร่วมเขียน กล่าวว่าในขณะที่การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของเวียดนามค่อนข้างคงที่ แต่ก็ไม่ใช่ทุกภาคส่วนที่อยู่ในสถานการณ์ปกติ อย่างเรื่องผลกระทบต่อแรงงานและภาคครัวเรือนในช่วงวิกฤตินั้น ประมาณ 45% รายได้ลดลงในเดือนธ.ค. 64 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ตลอดจนลกระทบของการแพร่ระบาดเชื้อโรคที่ยังคงมีอยู่ในธุรกิจต่างๆ และปัญหาการขาดแคลนแรงงานอีกด้วย

ที่มา : https://vietnamtimes.org.vn/wb-forecasts-vietnams-economic-growth-at-75-in-2022-45747.html

สื่อดังเยอรมัน ยกย่องเศรษฐกิจเวียดนามฟื้นตัวแข็งแกร่ง

หนังสือพิมพ์สัญชาติเยอรมัน “Junge Welt” เผยแพร่ข่าวที่เป็นประเด็นน่าสนใจเกี่ยวกับการกลับมาฟื้นตัวได้อย่างแข็งแกร่งของเศรษฐกิจเวียดนาม หลังจากใข้ระยะเวลากว่า 2 ปี ในการรับมือการแพร่ระบาดของโควิด-19

ทางฝั่งบทความของนาย Gerhard Feldbauer รายงานว่าในขณะที่เศรษฐกิจจากประเทศตะวันตก เริ่มแสดงสัญญาณของภาวะถดถอย แต่เศรษฐกิจเวียดนามกำลังอยู่ในช่วงเร่งฟื้นตัวอย่างเต็มที่ และยังได้อ้างข้อมูลที่รวบรวมมาจากสำนักงานสถิติแห่งชาติของเวียดนาม (GSO) ระบุว่าเมื่อสอบถามกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ 85% มองทิศทางเศรษฐกิจอยู่ในเชิงบวกในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ผลิตอุตสาหกรรม 6,500 ราย และธุรกิจก่อสร้าง 6,800 รายที่เป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของการสำรวจครั้งนี้ ตลอดจนราว 20% จะจ้างแรงงานมากขึ้นในไตรมาส 3

นอกจากนี้ ธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้แบงกิ้ง คอร์ปอเรชั่น จำกัด (HSBC) ยังได้รายงานเมื่อเร็วๆ นี้ว่า เวียดนามเป็นหนึ่งในประเทศที่มีเศรษฐกิจเติบโตเร็วที่สุดในภูมิภาคภายในระยะเวลา 2 ปีติดต่อกันนับตั้งแต่เริ่มมีการระบาดของโควิด-19

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/junge-welt-hails-strong-vietnamese-economic-recovery-post960574.vov

แรงงานย้ายถิ่นสปป.ลาว ส่งเงินกลับบ้านราวหลายล้านดอลลาร์สหรัฐในปีนี้

ในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ ชาวลาวที่ทำงานในต่างประเทศได้ส่งเงินจำนวนหลายล้านดอลลาร์สหรัฐไปยังประเทศบ้านเกิด โดยเงินส่วนใหญ่จะส่งไปให้ครอบครัว การส่งเงินข้างต้นคาดว่าจะมีมูลค่าราว 4.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน จากนั้นจะใช้ไปกับการซื้อสินค้าและบริการในประเทศ นับว่าเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจที่สำคัญ

ทั้งนี้ รองอธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมของสปป.ลาว กล่าวว่าการจ้างงานชาวลาวในต่างประเทศ มีข้อดีหลายประการทั้งคนงานเองและประเทศสปป.ลาว แต่ในขณะเดียวกันก็ทำให้สปป.ลาวขาดแคลนแรงงานในบางภาคส่วนของเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม เดือนมิ.ย. ชาวลาวจำนวนมากกว่า 13,000 คน เดินทางไปเกาหลี ไทยและญี่ปุ่น เพื่อที่จะหางานทำหลังจากผ่านการทดสอบความสามารถในสปป.ลาว

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten147_Lao_migrant_y22.php

NBC คาดปีนี้ GDP กัมพูชาโต 5.3%

การฟื้นตัวของเศรษฐกิจทั่วโลกและการกลับมาดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจอีกครั้ง จะเป็นตัวผลักดันให้เศรษฐกิจของกัมพูชากลับมาเติบโตในปีนี้ ตามการรายงานของธนาคารแห่งชาติกัมพูชา (NBC) โดยคาดว่าการเติบโตจะได้รับแรงสนับสนุนจากอุตสาหกรรมตัดเย็บเสื้อผ้า การท่องเที่ยว เกษตรกรรม และการก่อสร้าง ซึ่ง NBC คาดว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจของกัมพูชาจะอยู่ที่ร้อยละ 5.3 ในปีนี้ ซึ่งสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 3 ในช่วงปี 2021 แต่ถึงอย่างไรก็ตามยังคงต้องคอยติดตามสถานการณ์สงครามระหว่าง รัสเซีย-ยูเครน ที่เป็นผลทำให้เกิดเงินเฟ้อกับสินค้าหรือบริการที่เกี่ยวข้องกับน้ำมัน ในขณะที่อัตราการฉีดวัคซีนของกัมพูชาปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 94 ของประชากรทั้งหมด 16 ล้านคน ผลักดันให้รัฐบาลเร่งเปิดพรมแดนของประเทศอีกครั้ง รวมถึงได้ทำการยกเลิกมาตรการด้านสาธารณสุขสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ได้รับวัคซีนครบโดส โดยในช่วงครึ่งแรกของปีกัมพูชาส่งออกสินค้ามูลค่ารวม 11,317 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 31 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่การนำเข้าปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 4 หรือคิดเป็นมูลค่า 15,400 ล้านดอลลาร์

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501123527/nbc-sees-cambodias-gdp-growth-at-5-3-in-2022/

เจ้าหน้าที่ IMF มองเวียดนามถูกทางในการผลักดันการปฏิรูปเศรษฐกิจ

สำนักข่าวเวียดนาม (VNA) อ้างผู้เชี่ยวชาญจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ว่าเวียดนามมาถูกทางในการเร่งปฏิรูปเศรษฐกิจ แต่จำเป็นต้องปรับปรุงเพื่อให้สอดคล้องกับการดำเนินงานของรัฐบาลที่มุ่งเน้นไปที่การเติบโตอย่างยั่งยืน ครอบคลุมและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้ คุณ Era Dabla-Norris หัวหน้านโยบายเศรษฐกิจการเงินขององค์กร IMF ประจำภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก เปิดเผยว่าหนึ่งในความท้าทายสำคัญในการจัดสรรทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ คือความแตกต่างของเศรษฐกิจ ธุรกิจ ภาคส่วนและแรงงาน โดยการแก้ไขปัญหาข้างต้นนั้น จำเป็นต้องมีการปฏิรูปโครงสร้างเพื่อปรับปรุงสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและยกระดับศักยภาพ รวมถึงนโยบายเพื่อสร้างความมั่นใจในการแข่งขัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs)

ที่มา : https://www.zawya.com/en/world/china-and-asia-pacific/vietnam-on-right-track-in-pushing-economic-reform-imf-official-hcaaps13

“ADB” คงประมาณการการขยายตัวของเศรษฐกิจเวียดนาม

รายงานการวิเคราะห์แนวโน้มเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียประจำปี 2565 (Asian Development Outlook 2022 : ADO 2022) ของธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) เปิดเผยว่าคงประมาณการการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเวียดนามของปี 2565 อยู่ที่ 6.5% และในปีหน้า 6.7% โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของการค้าอย่างต่อเนื่อง การฟื้นตัวของภาคการผลิต การเดินทางในประเทศและการลงทุนของภาครัฐ ในขณะเดียวกัน ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่พุ่งสูงขึ้น โดยเฉพาะราคาน้ำมันในตลาดโลก อย่างไรก็ตาม อุปทานอาหารในประเทศยังคงเพียงพอและจะช่วยบรรเทาภาวะเงินเฟ้อในปีนี้

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/adb-maintains-growth-forecast-for-vietnam/234137.vnp

“เมืองก่าเมา” มั่นใจบรรลุเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจ

ตามข้อมูลของสำนักงานสถิติเมืองก่าเมา (Ca Mau) แสดงให้เห็นว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ อยู่ที่ 4.23% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ภาคเกษตร อุตสาหกรรมและบริการ ขยายตัว 6.41%, 0.61% และ 7.03% ตามลำดับ ในขณเะที่การส่งออกขยายตัว 53% คิดเป็นมูลค่า 728 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ทั้งนี้ คุณ Huynh Quoc Viet ประธานคณะกรรมการประชาชนของจังหวัด กล่าวถึงแนวทางการส่งเสริมเพื่อจะบรรลุเป้าหมายของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมภายในปีนี้และการศึกษาแผนการดำเนินงาน รวมถึงตั้งเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจ อยู่ที่ 7% นอกจากนี้ ยังส่งเสริมอุตสาหกรรมการผลิตและการค้า ตลอดจนส่งเสริมการส่งออกไปยังตลาดที่เวียดนามลงนามข้อตกลงการค้าเสรีไว้

อย่างไรก็ดี ได้มีการขอความร่วมมือทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำการปรับปรุงสภาพแวดล้อมการลงทุนของจังหวัด วางตำแหน่งอันดับของดัชนีการบริหารงานภาครัฐ (PAPI) และดัชนีการปฏิรูประเบียบราชการ (PAR-index)

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1269649/ca-mau-confident-of-achieving-economic-growth-targets.html

AMRO ชี้ “ศก.เวียดนามเติบโตได้ดี”

สำนักงานวิจัยเศรษฐกิจมหภาคของภูมิภาคอาเซียน+3 (AMRO) รายงานภาวะเศรษฐกิจไตรมาส คาดการณ์ว่าตัวเลขการเติบโต GDP ของเวียดนามสูงเป็นอันดับ 2 ในอาเซียน รองจากฟิลิปปินส์ ปี 2565 และจะสูงเป็นอันดับที่ 1 ในปีหน้า ทั้งนี้ เศรษฐกิจเวียดนามมีแนวโน้มที่จะขยายตัว 6.3% ในปีนี้ และ 6.5% ในปีหน้า ซึ่งสูงกว่าตัวเลขอัตราการเติบโตของกลุ่มประเทศในภูมิภาคที่อยู่ประมาณ 4.3% และ 4.9% ตามลำดับ

นอกจากนี้ เวียดนามถือเป็นประเทศที่เปิดกว้างทางด้านเศรษฐกิจอย่างมาก โดยเฉพาะเศรษฐกิจสหรัฐฯ และจีน แต่อย่างไรก็ดี ยังเผชิญกับความเสี่ยงจากความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครนที่ได้สร้างแรงกดดันต่อราคาสินค้าโภคภัณฑ์และเงินเฟ้อทั่วโลก ส่งผลให้เงินเฟ้อในภูมิภาคเพิ่มสูงขึ้น 5.2% ในปีนี้ โดยเวียดนามยังมีฐานะทางการคลังที่แข็งแกร่ง ในขณะเดียวกันยังใช้นโยบายการคลัง เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจได้ รวมถึงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/vietnamese-economy-to-perform-well-amro-post955081.vov

CDC ให้การสนับสนุนภาคธุรกิจมาเลเซียในกัมพูชา

สภาเพื่อการพัฒนากัมพูชา (CDC) พร้อมที่จะให้บริการและสนับสนุนแก่นักลงทุนชาวมาเลเซียในกัมพูชา เพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศมายังกัมพูชามากขึ้น ด้าน Sok Chenda Sophea เลขาธิการสภาเพื่อการพัฒนากัมพูชา กล่าวในการประชุม ‘การเจรจาระดับสูงอาเซียน-อิตาลีว่าด้วยความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ’ ครั้งที่ 6 ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย โดยเลขาธิการ CDC กล่าวว่า ปัจจุบันกัมพูชาได้ออกกฎหมายด้านการลงทุนฉบับใหม่ เพื่อเป็นการสนับสนุนนักลงทุนและเป็นการสร้างแรงจูงใจแก่นักลงทุนมากขึ้น ในการเข้ามาลงทุนยังกัมพูชา ด้าน Lim Heng รองประธานหอการค้ากัมพูชา กล่าวว่า ในเดือนมิถุนายนกัมพูชาจะสามารถดึงดูดนักลงทุนต่างชาติจากมาเลเซียและประเทศอื่น ๆ ได้มากขึ้น อันเนื่องมาจากข้อตกลงทางการค้า อาทิเช่น EBA, GSP, FTA กัมพูชา-จีน และ RCEP ที่ถือเป็นปัจจัยที่นักลงทุนต่างชาติสนใจ โดยในช่วง มกราคม-พฤษภาคม ปีนี้ การค้าทวิภาคีระหว่างกัมพูชาและมาเลเซียอยู่ที่ 244 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 28.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามข้อมูลของกรมศุลกากรและสรรพสามิต ซึ่งคิดเป็นการส่งออกของกัมพูชามูลค่า 44 ล้านดอลลาร์ ไปยังมาเลเซีย เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.3 จากปีก่อน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501108010/cdc-offers-support-for-malaysian-businesses-in-cambodia/