กัมพูชารายงานถึงโครงการลงทุนมูลค่ารวม 1.716 พันล้านดอลลาร์

หลังจากทางการกัมพูชากำหนดกฎหมายด้านการลงทุนฉบับใหม่ ซึ่งถือเป็นสิ่งจูงใจสำคัญอย่างนึงให้กับนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนยังกัมพูชา รวมถึงปัจจุบันกัมพูชาได้เข้าร่วมกลุ่ม RCEP และได้ทำการลงนามข้อตกลงการค้า FTA ร่วมกับจีน ตลอดจนได้รับสิทธิพิเศษ EBA จากสหภาพยุโรป และ GSP จากสหรัฐฯ ซึ่งถือเป็นปัจจัยที่จะดึงดูดการลงทุนใหม่จากนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศมากขึ้น โดยกระทรวงเศรษฐกิจและการคลังกัมพูชา พบว่าปัจจุบันมีโครงการลงทุนนอกเขตเศรษฐกิจพิเศษทั้งหมด 107 โครงการ ในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2021 ลดลง 34 โครงการเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งการลงทุนทั้งหมดมีมูลค่า 1.716 พันล้านดอลลาร์ ลดลงร้อยละ 72.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยคาดว่าโครงการดังกล่าวจะสร้างงานใหม่ให้กับคนในประเทศประมาณ 89,000 ตำแหน่ง

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501004396/investment-projects-worth-1-716-billion-registered-in-january-november/

เรื่องที่ SME ไทยควรรู้ เมื่อ RCEP มีผลบังคับใช้เป็นทางการ

เมื่อวันที่ 1 ม.ค. ที่ผ่านมา เป็นดีเดย์ที่ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership : RCEP) หรือ ‘อาร์เซ็ป’ ซึ่งเป็นความตกลงการค้าเสรี (FTA) ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกจะเริ่มมีผลบังคับใช้ด้วย

ซึ่ง 15 ประเทศที่ร่วมลงนามความตกลง RCEP ประกอบด้วย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์  ไทย บรูไน เวียดนาม ลาว เมียนมา กัมพูชา จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์

จุดมุ่งหมายของความตกลงดังกล่าว คือสลายอุปสรรคทางการค้าและส่งเสริมการลงทุน เพื่อช่วยให้ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ก้าวทันประเทศอื่นในโลก ความตกลง RCEP เป็นความตกลงที่ทันสมัย ครอบคลุม คุณภาพสูง และได้รับผลประโยชน์ร่วมกันจากการเปิดเสรีการค้าสินค้า การค้าบริการ และการลงทุน อีกทั้งมีการเพิ่มความร่วมมือในด้านต่างๆ ที่เข้มข้นมากยิ่งขึ้นจากเอฟทีเอของอาเซียนกับคู่เจรจาที่มีอยู่ก่อนหน้า

 

สินค้าประเทศไทยที่ได้รับประโยชน์จาก RCEP

1.หมวดสินค้าเกษตร เช่น แป้งมันสำปะหลัง สับปะรด สินค้าประมง เป็นต้น

2.หมวดอาหาร ผักผลไม้แปรรูป น้ำส้ม น้ำมะพร้าว รวมทั้งอาหารแปรรูปอื่น ๆ

3.หมวดสินค้าอุตสาหกรรมอุปกรณ์ไฟฟ้า พลาสติก กระดาษ เคมีภัณฑ์ชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องแต่งกาย รวมทั้งจักรยานยนต์

4.หมวดบริการ หมวดการก่อสร้าง ธุรกิจด้านสุขภาพ ธุรกิจด้านภาพยนตร์ บันเทิง แอนิเมชัน

5.การค้าปลีก

 

โดยสมาชิก RCEP จะยกเลิกภาษีนำเข้าที่เก็บกับสินค้าไทย จำนวน 39,366 รายการ โดยลดภาษีเหลือ 0% ทันที จำนวน 29,891 รายการ เช่น ผลไม้สดและแปรรูป สินค้าประมง ยางพารา ผลิตภัณฑ์ยางรถยนต์และส่วนประกอบ พลาสติก เคมีภัณฑ์ ชิ้นส่วนอุปกรณ์ไฟฟ้า คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ เป็นต้น

 

ผู้ประกอบการไทยควรเตรียมตัวอย่างไร?

สิ่งที่ผู้ประกอบการ SME ควรให้ความสำคัญในการทำการค้าระหว่างประเทศในปัจจุบันก็คือ การสร้างโอกาสและแต้มต่อจากการใช้สิทธิประโยชน์จาก FTA รวมถึงความตกลง RCEP ที่จะมีผลบังคับใช้ โดยผู้ประกอบการควรเร่งเตรียมความพร้อมเรียนรู้ทำความเข้าใจกฎเกณฑ์ทางการค้าต่างๆ ของความตกลง RCEP อาทิ การเปิดตลาดการค้าสินค้า อัตราภาษีศุลกากร กฎเกณฑ์ถิ่นกำเนิดสินค้า และสิทธิประโยชน์ รวมทั้งศึกษาพฤติกรรมของผู้บริโภคในตลาดประเทศสมาชิก RCEP

เพื่อเตรียมวางแผนกลยุทธ์ทางธุรกิจและพัฒนาสินค้าให้สามารถตอบสนองความต้องการของตลาดที่เปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 ซึ่งผู้บริโภคจะให้ความสำคัญกับเรื่องมาตรฐาน คุณภาพ ความปลอดภัยของสินค้าและบริการมากขึ้น จึงจำเป็นที่ผู้ประกอบการต้องปรับตัวให้ สอดรับกับสถานการณ์ใหม่แบบ New Normal’ สร้างความเชื่อมั่น – ภาพลักษณ์ที่ดีให้กับสินค้าและบริการ ของตน ตลอดจนเตรียมพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต

ที่มา : https://www.bangkokbanksme.com/en/sme-thai-should-know-rcep

แหล่งอ้างอิง : สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม

1 ม.ค.2565 เปิดเสรี RCEP…. สร้างบรรยากาศการค้า การลงทุนในภูมิภาค แต่ไทยยังต้องเจอการแข่งขันดึงดูดการลงทุนที่มากขึ้น

โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP) นับเป็นการเปิดเสรีการค้ากับกลุ่มการค้าที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก โดยจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2565 นี้ หลังเจรจามายาวนานถึงเกือบทศวรรษ ซึ่งการเปิดเสรีการค้ากับ 15 ชาติสมาชิกจะช่วยให้การค้าระหว่างชาติสมาชิกมีความสะดวกมากขึ้นไม่ว่าจะเป็นระยะเวลาตรวจปล่อยสินค้าที่สั้นลงเหลือ 6-48 ชั่วโมง มีการนำระบบดิจิทัลเข้ามาช่วยลดความซ้ำซ้อนด้านพิธีการศุลกากร โดยการเปิดตลาดยังเสริมให้ RCEP มีความน่าสนใจ

 

การเปิดตลาดสินค้าของ RCEP มีจุดน่าสนใจอยู่ที่การลดภาษีสินค้าในกลุ่มที่ไม่เคยลดภาษีใน FTA ฉบับอื่นมาก่อน เปิดโอกาสให้สินค้าไทยเป็นที่ต้องการมากขึ้นทั้งทางตรงและทางอ้อม

 

อานิสงส์ทางตรง: การลดอัตราภาษีนำเข้าสินค้าอ่อนไหว/อ่อนไหวสูงของประเทศจีน ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ล้วนเปิดโอกาสให้แก่สินค้าศักยภาพของไทย ซึ่งก่อนหน้านี้สินค้ากลุ่มดังกล่าวยังคงมีการจัดเก็บภาษีนำเข้าอยู่แม้จะมี FTA ระหว่างอาเซียนกับคู่ภาคีหรือ Plus 5 (ประกอบด้วยอาเซียน-จีน อาเซียน-ญี่ปุ่น อาเซียน-เกาหลีใต้ อาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์) ที่ได้ลดภาษีสินค้าส่วนใหญ่ไปตั้งแต่ปี 2553 แต่นับจากวันที่ 1 มกราคม 2565 ภายใต้กรอบ RCEP ภาษีนำเข้าในสินค้าดังกล่าวจำนวนมากจะลดอัตราเหลือ 0 ทันที ในขณะที่ยังมีหลายรายการที่จะทยอยลดภาษีจนเหลือร้อยละ 0 ในปีที่ 10 และปีที่ 20 และบางรายการก็ไม่ลดภาษี

 

ดังนั้น ผู้ส่งออกอาจต้องพิจารณาเลือกใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีจากความตกลงที่ให้ประโยชน์คุ้มค่ากว่าระหว่าง FTA อาเซียนกับ Plus 5 หรือ RCEP 1) สินค้าไทยมีโอกาสทำตลาดในจีนและเกาหลีใต้ได้มากขึ้น โดยมีสินค้าอ่อนไหวหลายรายการได้ประโยชน์จาก RCEP ด้วยการลดภาษีที่มากกว่า FTA อาเซียน-จีน และ FTA อาเซียน-เกาหลีใต้ ตลาดจีน ได้แก่ สับปะรดแปรรูป ลำไยกระป๋อง น้ำมะพร้าว ยาสูบ เม็ดพลาสติก ยางสังเคราะห์ เครื่องเสียง และอุปกรณ์ไฟสำหรับรถยนต์ เป็นต้น ตลาดเกาหลีใต้ ได้แก่ ยางสังเคราะห์ อาหารทะเลสด/แปรรูป เนื้อไก่ เนื้อหมู ไม้พาติเคิลบอร์ด และข้าวโพดหวาน เป็นต้น 2) สินค้าไทยได้ประโยชน์จากการเปิดตลาดญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ค่อนข้างจำกัด เนื่องจากตลาดญี่ปุ่น ไทยมีความตกลง FTA ไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) นับว่ามีการลดภาษีให้สินค้าไทยมากที่สุด ดังตัวอย่างการส่งออกกล้วยของไทยได้โควตาปลอดภาษี เมื่อเทียบกับ FTA อาเซียน-ญี่ปุ่นที่ยังมีอัตราภาษีสูงกว่า และ RCEP ยังคงอัตราภาษีไว้ที่ระดับปกติร้อยละ 20 อย่างไรก็ดี อาหารทะเลสดและหนังดิบของไทยก็อัตราภาษีต่ำลงจากความตกลง RCEP ขณะที่ตลาดออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ได้ลดภาษีสินค้าไปทั้งหมดตั้งแต่เปิดเสรี FTA อาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ การเปิดเสรี RCEP ครั้งนี้จึงไม่มีอะไรต่างไปจากเดิม

 

อานิสงส์ทางอ้อม: การรวมตัวเป็น RCEP ในอีกด้านหนึ่งทำให้ประเทศ Plus 5 ที่ไม่เคยมี FTA ต่อกัน ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และนิวซีแลนด์ ได้มี FTA ร่วมกันเป็นครั้งแรก ส่งผลให้สินค้าขั้นกลางของไทยที่ทำตลาดได้ดีอยู่แล้วมีโอกาสขยายตัว อาทิ ยานยนต์และชิ้นส่วน เม็ดพลาสติกและผลิตภัณฑ์พลาสติก เคมีภัณฑ์ ยางพาราและผลิตภัณฑ์ยาง ชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อย่างไรก็ดี การที่ Plus 5 มีแนวโน้มค้าขายกันเองจากการลดกำแพงภาษีระหว่างกันครั้งนี้คงไม่ส่งผลให้เกิดการแย่งชิงตลาดกับสินค้าอาเซียนและสินค้าไทยที่ทำตลาดอยู่เพราะเป็นสินค้าคนละประเภทกัน

 

ปฏิเสธไม่ได้ว่าในเวลานี้ RCEP กลายเป็นความตกลงทางการค้าแบบพหุภาคีที่ใหญ่ที่สุดในโลก และใหญ่กว่าความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Comprehensive and Progressive Agreement for Trans-Pacific Partnership: CPTPP) ที่ปัจจุบันมีสมาชิก 12 ประเทศ ด้วยหลายปัจจัยบวกยิ่งทำให้ RCEP มีความพร้อมรอบด้านกลายเป็นแหล่งการลงทุนที่น่าดึงดูดที่สุดแห่งหนึ่งของโลกในฟากฝั่งเอเชีย ดังนี้

 

กฎแหล่งกำเนิดสินค้า (Rule of Origins: ROOs) ที่รวมทั้ง 15 ประเทศเข้าไว้ด้วยกันเป็นข้อได้เปรียบที่เสริมให้ RCEP เชื่อมโยงห่วงโซ่การผลิตของภูมิภาคเข้าเป็นหนึ่งเดียว นักลงทุนในประเทศสมาชิก RCEP สามารถนำเข้าปัจจัยการผลิตที่มีมูลค่าสูงจากประเทศสมาชิกผู้พัฒนาเทคโนโลยีได้สะดวกกว่า FTA อาเซียนกับ Plus 5

 

RCEP เป็น FTA ที่มีความพร้อมด้านการผลิตอย่างครบวงจรที่ประกอบด้วยกลุ่มประเทศผลิตสินค้าต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำเข้าไว้ด้วยกัน โดยความพิเศษอีกอย่างของ RCEP คือเป็นครั้งแรกที่ประเทศเจ้าของเทคโนโลยีการผลิตฝั่งเอเชียอย่างจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีได้เข้ามาอยู่ร่วมใน FTA เดียวกัน จึงมีความพร้อมในด้านการผลิตในฟากฝั่งเอเชีย

 

โดยสรุป ในเวลานี้ RCEP เป็นตลาดส่งออกสำคัญที่สุดของไทยมีมูลค่าถึง 132,704 ล้านดอลลาร์ฯ (11 เดือนแรกปี 2564) คิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 53.3 ของการส่งออกทั้งหมดของไทย ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาการส่งออกของไทยไปตลาดดังกล่าวมีสัญญาณการฟื้นตัวค่อนข้างชัดเจนขยายตัวร้อยละ 18 (YoY) นำโดยการเติบโตของตลาดเกาหลีใต้ จีน และญี่ปุ่นขยายตัวร้อยละ 38.8(YoY) ร้อยละ 25.9(YoY) และร้อยละ 10.4(YoY) ตามลำดับ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ในเชิงการค้าระหว่างประเทศนั้น ประโยชน์ส่วนเพิ่มจากการลดภาษีนำเข้าภายใต้กรอบการเปิดเสรี RCEP ส่งผลบวกต่อไทยค่อนข้างจำกัดเนื่องจากสินค้าส่วนใหญ่ได้เปิดเสรีไปแล้วตามความตกลง FTA อาเซียนกับคู่ภาคี Plus 5 ดังนั้น ผลบวกทางตรงที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจนจะอยู่ที่การส่งออกไปยังตลาดจีนและเกาหลีใต้ และเป็นสินค้าเกษตร อาหาร และสินค้าอุตสาหกรรมบางรายการที่ไทยส่งออกไม่มากนัก ขณะที่ผลบวกทางอ้อมจากการเปิดเสรีการค้าหว่างกันเป็นครั้งแรกของ Plus 5 ก็อยู่ในกลุ่มสินค้าที่ไทยอยู่ในห่วงโซ่การผลิตเดิมที่ส่งออกไปยัง Plus 5 อาทิ ยานยนต์และชิ้นส่วน เม็ดพลาสติกและผลิตภัณฑ์พลาสติก เคมีภัณฑ์ ยางพาราและผลิตภัณฑ์ยาง ชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

 

ในเชิงการลงทุน RCEP เป็นกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศขนาดใหญ่ที่มีความครอบคลุม ซึ่งช่วยให้ไทยเกาะติดไปกับห่วงโซ่การผลิตโลกในฝั่งเอเชีย แต่อานิสงส์ที่จะได้รับเม็ดเงินลงทุนยังต้องขึ้นกับการแข่งขันช่วงชิงเม็ดเงินลงทุนใหม่กับประเทศในอาเซียนด้วยกัน โดยเฉพาะกับเวียดนามและอินโดนีเซียที่ต่างก็ได้อานิสงส์นี้เหมือนกัน

ที่มา : https://kasikornresearch.com/th/analysis/k-econ/economy/Pages/RCEP-z3298.aspx

ผัก-ผลไม้ไทยครองจีน พาณิชย์ชี้ FTA สร้างความได้เปรียบ

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์เปิดเผยสถิติการค้าสินค้าผักและผลไม้ไทยของไทยในจีน พบว่าช่วง 10 เดือนของปี 2564 (ม.ค.-ต.ค.) จีนนำเข้าผักและผลไม้จากไทยสูงเป็นอันดับ 1 โดยไทยครองส่วนแบ่งสูงถึง 45% ของการนำเข้าทั้งหมดของจีน ส่วนชิลีเป็นอันดับ 2 มีส่วนแบ่ง 14.01% และเวียดนามอันดับ 3 มีส่วนแบ่ง 6.45%  ฯลฯ โดยตัวเลขล่าสุด 11 เดือนของปี 2564 (ม.ค.-พ.ย.) มีการส่งออกมูลค่า 6,013.03 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 81% และนำเข้ามูลค่า 832.04 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 6.2% เกินดุลการค้า 5,180.99 ล้านเหรียญสหรัฐเพิ่มขึ้น 105% โดยเครื่องมือที่สร้างความได้เปรียบคือ ความตกลงการค้าเสรีระหว่างอาเซียนกับจีน (ACFTA) เพราะจีนได้ยกเลิกเก็บภาษีนำเข้าผักและผลไม้จากไทยทุกรายการตั้งแต่ปี 2546 ส่งผลให้การส่งออกเติบโตอย่างมาก
ที่มา: https://www.naewna.com/business/624782

‘เวียดนาม’ เล็งเห็นศักยภาพของตลาดฮาลาลโลก

นาย Nguyen Quoc Dung รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศเวียดนาม กล่าวว่าเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียใต้และประเทศในแถบแปซิฟิกใต้ ถือเป็นตลาดที่มีศักยภาพด้วยจำนวนผู้บริโภคชาวมุสลิมมากเกือบ 860 ล้านคน (66% ของประชากรมุสลิมทั่วโลก) โดยเวียดนามมีจุดแข็งและสภาพแวดล้อมที่เหมาะกับเศรษฐกิจฮาลาลโลก รวมถึงอาหาร การท่องเที่ยว สิ่งทอ เภสัชกรรมและสื่อ
อีกทั้ง เวียดนามยังมีบทบาทสำคัญที่สามารถเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจกับประเทศในระดับภูมิภาคและข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) 17 ฉบับ ตลอดจนข้อตกลงการค้าฉบับใหม่ เช่น EVFTA และ RCEP โดยเฉพาะสินค้าที่มีข้อได้เปรียบ ได้แก่ ข้าว พริกไทย เม็ดมะม่วงหิมพานต์และเมล็ดกาแฟ
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาถึงการใช้จ่ายสำหรับอาหารฮาลาล คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 3.1% จาก 1.4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐในปี 63 มาอยู่ที่ 1.9 ล้านล้านเหรียญสหรัฐในปี 2567 นอกจากนี้ ความต้องการสินค้าฮาลาลยังเพิ่มขึ้นจากตลาดในประเทศ เนื่องจากชาวมุสลิมต่างชาติเดินทางมาเวียดนาม เพื่อมาทำงานและศึกษาเพิ่มขึ้น ทำให้ชุมชนชาวมุสลิมในเวียดนามก็เพิ่มขึ้นสูงตามไปด้วย
ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1108848/viet-nam-sees-great-potential-in-global-halal-market.html

พาณิชย์ดันใช้ประโยชน์ FTA ส่งอาหาร-เกษตรแปรรูปบุกจีน

พาณิชย์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดโครงการ DTN Business Plan Award 2021″ชี้ช่องโอกาส บุกตลาดด้วย FTA” ว่า การดำเนินโครงการครั้งนี้ เป็นโอกาสดีที่เกษตรกรและผู้ประกอบการสินค้าอาหารและเกษตรแปรรูปของไทย จะใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี (FTA) เพื่อเพิ่มแต้มต่อทางการค้าบุกตลาดต่างประเทศ ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของกระทรวงพาณิชย์ที่เล็งเห็นถึงความสำคัญของการเพิ่มศักยภาพผู้ประกอบการไทยให้สามารถขยายส่งออกสินค้าไปตลาดโลก โดยเฉพาะตลาดคู่ FTA ของไทย ทั้งนี้โครงการดังกล่าวได้ดำเนินการต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 โดยในปี 2564 นี้ ได้ย้ำให้กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ มุ่งเน้นให้ความรู้และส่งเสริมผู้ประกอบการใช้ประโยชน์จาก FTA เพื่อเพิ่มแต้มต่อทางการค้าและโอกาสขยายส่งออกไปตลาดคู่ FTA ของไทย โดยเฉพาะตลาดจีน ซึ่งสามารถใช้ประโยชน์จาก FTA อาเซียน-จีนที่จีนได้ลดเลิกการเก็บภาษีนำเข้าส่วนใหญ่ให้กับสินค้าส่งออกจากไทยแล้ว เช่น อาหาร เกษตร และเกษตรแปรรูป เป็นต้น รวมถึงใช้ประโยชน์จากความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ที่กำลังจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2565 ขยายส่งออกสินค้าของไทยไปกลุ่มประเทศสมาชิก RCEP ด้วย

ที่มา : https://www.naewna.com/business/618221

ข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างจีน-กัมพูชา มีผลบังคับ 1 ม.ค. 2022

ข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) ที่ลงนามระหว่างจีนและกัมพูชาจะมีผลในวันที่ 1 มกราคม 2022 ตามรายงานของกระทรวงพาณิชย์ (MOC) โดยข้อตกลงซึ่งลงนามอย่างเป็นทางการไปเมื่อวันที่ 12 ต.ค. 2020 ที่ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์ในการค้าสินค้าระหว่างจีนและประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพิ่มขึ้นเป็นมากกว่าร้อยละ 90 สำหรับทั้งสองประเทศ ขณะเดียวกัน ทั้งสองฝ่ายยังตกลงที่จะกระชับความร่วมมือในการลงทุนอย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้น ตามแผนริเริ่ม the Belt and Road Initiative, อีคอมเมิร์ซ และภาคเศรษฐกิจโดยรวม ตามกระทรวงพาณิชย์กล่าว

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50975664/china-cambodia-fta-to-take-effect-on-jan-1-2022/

อาเซียน-แคนาดา ลุยทำเอฟทีเออย่างเป็นทางการ

ไทยเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน-แคนาดา ครั้งที่ 10 โดยอาเซียน-แคนาดาประกาศเริ่มต้นการเจรจาจัดทำ FTA อย่างเป็นทางการ มอบเจ้าหน้าที่เร่งจัดทำแผนเจรจา และเริ่มประชุมรอบแรกโดยเร็ว “สินิตย์” เผยเป็นการจัดทำ FTA อาเซียน-แคนาดาจะช่วยขยายโอกาสการค้า การลงทุน และสร้างความเชื่อมโยงของห่วงโซ่การผลิตไปยังภูมิภาคอเมริกาเหนือ ซึ่งไทยยังไม่เคยมี FTA มาก่อน รวมทั้งเป็นโอกาสดีที่ผู้ประกอบการไทยจะส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมได้เพิ่มขึ้น

ที่มา : https://www.bangkokbiznews.com/business/972597

FTA อาเซียน-แคนาดา “พาณิชย์” เดินหน้าเจรจาอย่างเป็นทางการ

นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน-แคนาดา ครั้งที่ 10 โดยที่ประชุมได้ประกาศเดินหน้าเจรจาจัดทำ FTA อาเซียน-แคนาดา พร้อมทั้งติดตามความคืบหน้าความร่วมมือด้านการค้าการลงทุนระหว่างอาเซียน-แคนาดา รวมทั้งหารือแนวทางฟื้นฟูเศรษฐกิจจากผลกระทบของโควิด-19 และพบภาคเอกชนสภาธุรกิจแคนาดา-อาเซียน การประชุมครั้งนี้ ไทยได้ร่วมกับสมาชิกอาเซียนและแคนาดาประกาศเริ่มเจรจา FTA อาเซียน-แคนาดา อย่างเป็นทางการ ซึ่งการเปิดเจรจา FTA ถือเป็นนโยบายสำคัญของกระทรวงพาณิชย์ที่มุ่งเปิดตลาดการค้าใหม่ๆ โดยการจัดทำ FTA อาเซียน-แคนาดา จะช่วยขยายโอกาสการค้า การลงทุน และสร้างความเชื่อมโยงของห่วงโซ่การผลิตไปยังภูมิภาคอเมริกาเหนือ ซึ่งไทยยังไม่เคยมี FTA มาก่อน รวมทั้งเป็นโอกาสดีที่ผู้ประกอบการไทยจะส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมได้เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ในช่วง 9 เดือน (ม.ค.-ก.ย. 2564) อาเซียนกับแคนาดามีมูลค่าการค้ารวม 18,450 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 29.8 โดยไทยกับแคนาดามีมูลค่าการค้ารวม 2,002 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.3 ซึ่งคิดเป็นไทยส่งออกไปแคนาดา มูลค่า 1,349 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 21.7 และไทยนำเข้าจากแคนาดา มูลค่า 653 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.8

ที่มา : https://www.thansettakij.com/economy/503633

ไตรมาส 3 กัมพูชาส่งออกไปจีนขยายตัวร้อยละ 52

กระทรวงพาณิชย์กัมพูชา รายงานตัวเลขการส่งออกสินค้าของกัมพูชาไปยังจีน มีมูลค่ารวมมากกว่า 1.1 พันล้านดอลลาร์ ในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ คิดเป็นการเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 52.74 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยกัมพูชานำเข้าสินค้าจากจีนมูลค่ารวม 6.8 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 36.32 ทำให้มูลค่าการค้าทวิภาคีระหว่างจีนและกัมพูชาอยู่ที่ 7.9 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 38.36 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งทั้งสองประเทศได้บรรลุข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) ระหว่างกัน โดยรัฐบาลกัมพูชาได้ให้สัตยาบันไปเมื่อไม่นานนี้ ซึ่งสินค้าของกัมพูชาส่วนใหญ่ที่ถูกส่งออกไปยังจีนผ่าน FTA เป็นสินค้าเกษตร อาทิเช่น ข้าวสาร มันสำปะหลัง มะม่วง และกล้วย ในขณะที่การนำเข้าของกัมพูชาส่วนใหญ่จะเป็นวัตถุดิบสำหรับห่วงโซ่การผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูป วัสดุก่อสร้าง ยานพาหนะ ฯลฯ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50963082/q3-exports-to-china-see-52-increase-in-value/