‘เมียนมา’ เดือน มิ.ย. นำเข้าปุ๋ย 144,900 ตัน

จากข้อมูลสถิติของกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่าเมียนมานำเข้าปุ๋ยจากต่างประเทศในเดือน มิ.ย. อยู่ที่ 144,900 ตัน มูลค่า 58.04 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยนำเข้าปุ๋ยผ่านเส้นทางเดินเรือ 106,900 ตัน และผ่านเส้นทางการค้าชายแดน 38,000 ตัน ทั้งนี้ ปุ๋ยที่นำเข้าผ่านเส้นทางเดินเรือส่วนใหญ่มาจากประเทศจีน 44,000 ตัน รองลงมาโอมาน ไทย อินโดนีเซีย เวียดนาม รัสเซีย เกาหลีใต้ มาเลเซีย สปป.ลาว สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ นอร์เวย์และจอร์แดน ในขณะที่ปุ๋ยที่นำเข้าผ่านเส้นทางการค้าชายแดนส่วนใหญ่มาจากประเทศจีน 36,000 ตัน และไทย 2,000 ตัน

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/myanmar-imported-144900-tonnes-of-fertilizer-in-june/#article-title

กัมพูชาส่งออกสินค้าไปยังประเทศกลุ่ม RCEP ขยายตัว 24%

การส่งออกของกัมพูชาไปยังกลุ่มประเทศความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ในช่วงครึ่งแรกของปี มีมูลค่ารวมกว่า 4.07 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 24 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สำหรับประเทศที่กัมพูชาส่งออกสามอันดับแรกภายใต้ RCEP ในช่วงเวลาดังกล่าว ได้แก่ เวียดนามที่มูลค่า 1.43 พันล้านดอลลาร์ ขยายตัวร้อยละ 22, จีน 713 ล้านดอลลาร์ ขยายตัวร้อยละ 17 และญี่ปุ่นที่มูลค่า 545 ล้านดอลลาร์ ขยายตัวเล็กน้อยร้อยละ 1 รายงานโดยกระทรวงพาณิชย์กัมพูชา สำหรับ RCEP ประกอบด้วย 15 ประเทศ ในเอเชียแปซิฟิก และ 15 รัฐสมาชิกของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) และคู่ค้าอีก 5 แห่ง ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501328587/cambodias-export-to-rcep-nations-rises-by-24-yoy-in-h1-2023/

“พาณิชย์” จับมือมาเลเซีย ส่งเสริมธุรกิจแฟรนไชส์ เร่งฟื้นฟูการค้าชายแดน-ท่องเที่ยว

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ได้รับมอบหมายจากนายกีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ พบหารือกับดาตุ๊ก อัซมัน บิน โมฮัมหมัด ยูโซฟ ปลัดกระทรวงการค้าภายในและค่าครองชีพมาเลเซีย และคณะ โดยมี ร.ต.จักรา ยอดมณี รองอธิบดีกรมการค้าภายใน นายกำแหง กล้าสุคนธ์ รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เข้าร่วม โดยได้หารือถึงความร่วมมือด้านการส่งเสริมธุรกิจแฟรนไชส์ การกำกับดูแลการค้าภายในประเทศให้มีความเป็นธรรม และการฟื้นฟูการค้าชายแดน เพื่อให้การค้าทั้งสองฝ่ายบรรลุเป้าหมายตามที่ตั้งไว้ 30,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ประมาณ 102,000 ล้านบาท ในปี 2568 ทั้งนี้ ในส่วนของธุรกิจแฟรนไชส์ มาเลเซียแจ้งว่ามีความสนใจที่จะร่วมมือเพื่อส่งเสริมธุรกิจแฟรนไชส์กับไทย ซึ่งถือเป็นประเด็นใหม่ที่ยังไม่เคยมีความร่วมมือระหว่างกันมาก่อน โดยจะเริ่มจากการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการแฟรนไชส์เข้าร่วมงานแสดงสินค้าของแต่ละฝ่าย เพื่อสร้างโอกาสขยายพันธมิตรทางการค้า การจับคู่ทางธุรกิจ และการแลกเปลี่ยนข้อมูลเรื่องขั้นตอนและกฎระเบียบเกี่ยวกับธุรกิจแฟรนไชส์ นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังจะเร่งฟื้นการค้าชายแดนและเศรษฐกิจท้องถิ่นแถบพรมแดน ทั้งการส่งเสริมการท่องเที่ยวบริเวณชายแดน และการอำนวยความสะดวกทางการค้า ซึ่งจะช่วยให้มูลค่าการค้าระหว่างกันบรรลุตามเป้าหมายได้เร็วขึ้น โดยจะหารือเพื่อให้เกิดความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรม ภายใต้กลไกการประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้า (Joint Trade Committee : JTC) ระดับรัฐมนตรี ซึ่งมีแผนจะจัดขึ้นในช่วงปลายปีนี้

ที่มา : https://ibusiness.co/detail/9660000065727

‘เมียนมา’ ส่งออกถั่วและถั่วพัลส์ทะลุ 4 แสนตัน

กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่าเมียนมาส่งออกถั่วและถั่วพัลส์ (Pulses) ในไตรมาสแรกของปีนี้ อยู่ที่ 424,187 ตัน คิดเป็นมูลค่า 333 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปีงบประมาณ 2566-2567 ทั้งนี้ จากข้อมูลทางสถิติตั้งแต่เดือน 1 เม.ย. – 30 มิ.ย.2566 เมียนมาทำการซื้อขายถั่วและถั่วพัลส์ผ่านทางเรือ ประมาณ 369,237 ตัน และผ่านทางชายแดน 54,950 ตัน อย่างไรก็ดี กระทรวงฯ ระบุว่าการส่งออกถั่วและถั่วพัลส์ของเมียนมาปรับตัวลดลงในไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2566-2567 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว นอกจากนี้ ถั่วและถั่วพัลส์นับเป็นพืชที่มีการเพาะปลูกมากเป็นอันดับ 2 ในเมียนมา รองจากข้าว โดยมีสัดส่วน 33% ของผลผลิตทางการเกษตรทั้งหมดในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ที่มา : https://borneobulletin.com.bn/myanmar-exports-over-420kt-of-beans-pulses/

‘เวียดนาม’ กลายเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของกัมพูชาในกลุ่มประเทศอาเซียน

กระทรวงพาณิชย์ของกัมพูชา ระบุว่าในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2566 การค้าระหว่างประเทศของกัมพูชาและเวียดนาม ทำรายได้สูงถึง 2.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นกว่า 3% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ส่งผลให้เวียดนามกลายเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของกัมพูชาในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน เนื่องจากมูลค่าการค้าทวิภาคีของทั้งสองประเทศที่มีสัดส่วนราว 50% ของเม็ดเงินรวมระหว่างกัมพูชาและประเทศสมาชิกอาเซียน ทั้งนี้ จากการเติบโตของการส่งออกกัมพูชาไปยังเวียดนามนั้น ได้รับแรงหนุนมาจากการส่งออกผลผลิตทางการเกษตรที่สูงขึ้น เนื่องจากเก็บเกี่ยวผลผลิตได้มากขึ้น โดยเฉพาะข้าว ยางพารา เม็ดมะม่วงหิมพานต์และมันสำปะหลัง เป็นต้น ในขณะที่สินค้านำเข้าสำคัญจากเวียดนาม ได้แก่ วัสดุก่อสร้าง เครื่องจักร เชื้อเพลิงและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/vietnam-becomes-largest-asean-trading-partner-of-cambodia-media-2163621.html

‘เมียนมา’ ส่งออกสินค้าเกษตร ไตรมาสแรกปี 66 โกย 862 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่าเมียนมาส่งออกสินค้าเกษตรในช่วงไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2566-2567 อยู่ที่ 862.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตัวเลขดังกล่าวปรับตัวลดลงจากไตรมาสแรกของปีที่แล้วที่มีมูลค่า 1,091.55 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยสินค้าส่งออกสำคัญของเมียนมา ได้แก่ ผลผลิตทางการเกษร สัตว์และอาหารทะเล แร่ธาตุ ผลิตภัณฑ์จากป่าไม้และสินค้าอุตสาหกรรม นอกจากนี้ จากข้อมูลของสหพันธ์ข้าวแห่งเมียนมาร์ (MRF) ระบุว่าเมียนมาส่งออกข้าวและปลายข้าวมากกว่า 2.26 ล้านตันในปีงบประมาณ 2565-2566

ที่มา : https://borneobulletin.com.bn/myanmar-earns-over-usd862m-from-agricultural-exports-in-q1/

‘เมียนมา’ เผยไตรมาสแรก ปี 66 ส่งออกถั่วพัลส์ เกิน 330 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

กระทรวงพาณิชย์ของเมียนมา เปิดเผยว่าในไตรมาสแรกของปี 2566 ทำรายได้จากการส่งออกถั่วพัลส์ (Pulse) ประมาณ 333.46 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ปริมาณ 424,187.70 ตัน ในช่วงปีงบประมาณ 2566-2567 โดยส่วนใหญ่ส่งออกผ่านทางทะเล 284.49 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่ส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้านผ่านทางชายแดน  48.96 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ เมียนมาได้ส่งออกถั่วเขียวผิวดำ ถั่วเขียวและถั่วแระ ไปยังตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศอินเดีย จีนและยุโรป อีกทั้ง ตลาดอินเดียมีความต้องการถั่วเขียวผิวดำเพื่อการบริโภคเพิ่มสูงขึ้น และจากการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างเมียนมา-อินเดีย เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. 2564 ส่งผลให้อินเดียนำเข้าถั่วเขียวผิวดำและถั่วแระจากเมียนมา 250,000 ตัน และ 100,000 ตัน เป็นระยะเวลา 5 ปี ติดต่อกัน และยังไม่ส่งผลกระทบต่อโควต้าประจำปีของอินเดียที่กำหนดไว้

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/myanmars-export-earnings-in-pulses-surpass-over-us330-mln-in-q1/#article-title

“พาณิชย์” จัดมหกรรมการค้าชายแดน จ.สระแก้ว วันที่ 7-9 ก.ค.นี้

กรมการค้าต่างประเทศจัดงาน “มหกรรมการค้าชายแดน” จ.สระแก้ว วันที่ 7-9 ก.ค.นี้ เปิดบูธนำสินค้าจากผู้ประกอบการไทยและกัมพูชาจำหน่ายกว่า 50 คูหา จัดสัมมนาติดปีก SMEs ด้วย E-commerce และจัดเจรจาจับคู่ธุรกิจไทย-คู่ค้า CLMV พร้อมลงพื้นที่จุดผ่านแดนถาวรสะพานมิตรภาพไทย–กัมพูชา (หนองเอี่ยน–สตึงบท) ดันเปิดใช้งานเต็มรูปแบบ เอื้อการขนส่งและส่งออก โดยมี 3 กิจกรรมหลัก ได้แก่ 1.การออกร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์ ณ ห้าง Big C อรัญประเทศ มีสินค้าจากผู้ประกอบการไทยและกัมพูชาที่ผ่านการคัดเลือกมาร่วมออกร้าน กว่า 50 คูหา 2.การสัมมนา “ติดปีก SMEs ด้วย E-commerce” ณ โรงแรม เดอะ เวโล โฮเต็ล โดยวิทยากรจาก Klangthai.com , EXIM Bank และกระทรวงพาณิชย์ ที่จะมาถ่ายทอดความรู้ในการเพิ่มศักยภาพด้านการค้าต่างประเทศ กฎระเบียบ ตลอดจนสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ และ 3.การเจรจาจับคู่ธุรกิจไทย–คู่ค้า CLMV ณ โรงแรม เดอะ เวโล โฮเต็ล เพื่อสร้างและขยายเครือข่ายการค้ากับประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งเพิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้าไปยังตลาดต่างประเทศ ทั้งนี้ กรมฯ จะลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าการเปิดจุดผ่านแดนถาวรสะพานมิตรภาพไทย–กัมพูชา (หนองเอี่ยน–สตึงบท) ที่ปัจจุบันได้เปิดใช้งานชั่วคราวแทนจุดผ่านแดนถาวรบ้านคลองลึก ที่ไม่สามารถขนส่งสินค้าผ่านได้ เนื่องจากเหตุอัคคีภัยที่กาสิโนฝั่งปอยเปต โดยหากสามารถเปิดใช้งานด่านบ้านหนองเอี่ยนได้อย่างเต็มรูปแบบ จะช่วยเพิ่มความคล่องตัวในการขนส่งสินค้าข้ามพรมแดนจังหวัดสระแก้วได้เป็นอย่างมาก ตลอดจนเพิ่มมูลค่าส่งออกชายแดนไทย–กัมพูชาให้สูงขึ้นในอนาคต ในปี 2565 การค้าชายแดนไทย–กัมพูชา มีมูลค่าการค้ารวม 198,315 ล้านบาท โดยไทยส่งออกไปกัมพูชา 164,186 ล้านบาท นำเข้า 34,129 ล้านบาท และไทยได้ดุลการค้า 130, 058 ล้านบาท ซึ่งจุดผ่านแดนถาวรบ้านคลองลึก (ด่านศุลกากรอรัญประเทศ) จังหวัดสระแก้ว เป็นด่านที่มีมูลค่าการส่งออกสูงสุด 103,062 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 62.77 ของการส่งออกชายแดนไทย–กัมพูชาทั้งหมด

ที่มา : https://www.amarintv.com/spotlight/positioning/detail/48347

บริษัทโรงสีข้าวและโกดังเมียนมา 448 ราย ยื่นขึ้นทะเบียนกับ GACC ช่วงครึ่งแรกปี 2566

กระทรวงพาณิชย์ของเมียนมา รายงานว่าในปีนี้ มีบริษัท 145 ราย โรงสีข้าว 161 ราย และคลังสินค้า 182 ราย เข้าขอยื่นขึ้นทะเบียนกับสำนักงานศุลกากรแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (GACC) และหากเปรียบเทียบกับปีที่แล้ว มีเพียงบริษัท 62 ราย โรงสีข้าว 79 ราย และคลังสินค้า 19 ราย ทั้งนี้ มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช (SPS) เป็นสิ่งที่จำเป็นในการส่งออกข้าวไปยังต่างประเทศ รวมถึงตลาดจีน โดยข้าวเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญของภาคการส่งออกของเมียนมา ดังนั้น กลุ่มสหพันธ์ข้าวของเมียนมาจึงจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ เพื่อให้ตระหนักถึงมาตรการสุขอนามัยทางชีวภาพ รวมไปถึงการศึกษากฎหมายและกฎระเบียบของประเทศคู่ค้า และความปลอดภัยของอาหารในประเทศ นอกจากนี้ ยังเรียกร้องให้นายจ้างและผู้ที่เกี่ยวข้องกับโกดังข้าวและคลังสินค้า ทำการจัดเก็บข้าวอย่างเป็นระบบและตรวจสอบกฎระเบียบตามการส่งออกของต่างประเทศ

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/banking-transactions-for-imports-on-myanmar-china-border-to-commence-1-august/#article-title

ทางการกัมพูชาพร้อมเสนอนโยบายทรัพย์สินทางปัญญาผ่าน ครม.

กระทรวงพาณิชย์พร้อมนำส่งร่างนโยบายทรัพย์สินทางปัญญาแห่งชาติประจำปี 2023-2028 เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในการพิจารณา นำโดย Pan Sorasak รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์กัมพูชา ซึ่งได้เปิดเผยแผนดังกล่าวในระหว่างการเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพิจารณาทรัพย์สินทางปัญญาแห่งชาติ (กนช.) เมื่อวันที่ 29 มิ.ย. ที่ผ่านมา หากเมื่อนำนโยบายดังกล่าวมาใช้แล้วเชื่อว่าจะนำไปสู่การส่งเสริมและปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา ไม่ว่าจะเป็นการรักษาสิทธิของเจ้าของผลงาน ตราสินค้า และผลิตภัณฑ์ต่างๆ ของกัมพูชา รวมถึงยังเป็นการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาและนวัตกรรมใหม่ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านเทคโนโลยีดิจิทัลและอุตสาหกรรมอื่นๆ เพื่อสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจดิจิทัลของกัมพูชา นอกจากนี้รัฐมนตรีฯ ยังแนะนำให้ NCIPR รับรองร่างกฤษฎีกาย่อยที่ครอบคลุมสำหรับการดำเนินการตามนโยบายทรัพย์สินทางปัญญาอย่างมีประสิทธิภาพเมื่อนำมาใช้ต่อไปในอนาคต

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501317275/national-intellectual-property-policy-ready-for-council-of-ministers-review/