รถไฟความเร็วสูงจีน-สปป.ลาว ก้าวสู่ปีที่ 2 .. เตรียมรับอานิสงส์จีนผ่อนคลายมาตรการโควิดเป็นศูนย์

โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

รถไฟฟ้าความเร็วสูงจีน-สปป.ลาวก้าวเข้าสู่ปีที่ 2 การขนส่งสินค้าระหว่างจีนตอนใต้กับอาเซียนน่ามีพัฒนาการคึกคักขึ้นอีก ประกอบกับสัญญาณบวกของทางการจีนในการทยอยผ่อนคลายมาตรการโควิดเป็นศูนย์ที่คาดว่าน่าจะได้เห็นการเปิดประเทศของจีนในปี 2566 จะยิ่งส่งผลบวกต่อการค้าและการท่องเที่ยวตลอดเส้นทาง

ในช่วงปีที่ผ่านมาเส้นทางนี้มีความสะดวกที่เอื้อประโยชน์ต่อการค้าระหว่างประเทศ ด้วยความร่วมมือของภาครัฐระหว่างประเทศทำให้มีความสะดวกด้านการขนส่งสินค้าข้ามแดนในการตรวจปล่อยสินค้า พื้นที่รองรับการเปลี่ยนถ่ายสินค้าระหว่างประเทศ พร้อมทั้งแผนการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงเพิ่มอีกแห่งเพื่อรองรับการขนส่งด้วยรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อมต่อกับเส้นทางรถไฟความเร็วสูงในฝั่งของไทยในอนาคต ขณะที่ในฝั่งของภาคภาคเอกชนได้เข้ามาเป็นตัวกลางให้บริการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศสำหรับผู้ประกอบการ SMEs ทำให้การค้าด้วยรถไฟสะดวกมากขึ้น

การท่องเที่ยวด้วยรถไฟฟ้าความเร็วสูงปี 2566 ได้อานิสงส์จากการผ่อนคลายมาตรการโควิดเป็นศูนย์ของทางการจีนที่อาจจะได้เห็นการเปิดประเทศในช่วงไตรมาส 2 ปี 2566 หากนักท่องเที่ยวจีนสามารถทยอยออกมาได้จะสร้างรายได้เพิ่มเติมให้แก่การท่องเที่ยว สปป.ลาวคิดเป็นไม่น้อยกว่า 0.1%-0.4% ของ GDP ทั้งนี้ ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2565 มีนักท่องเที่ยวมาเยือนหลวงพระบางโดยรถไฟฟ้าความเร็วสูง 335,794 คน (คิดเป็น 85% ของนักท่องเที่ยวที่มาหลวงพระบาง ซึ่งอีก 15% เดินทางมาเที่ยวด้วยเครื่องบิน) โดยส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวไทยและชาวสปป.ลาว อย่างไรก็ดี นับจากรถไฟความเร็วสูงเปิดใช้งานก็ได้รับความนิยมจากการเป็นเส้นทางใหม่ที่รวดเร็วกว่ารถยนต์และประหยัดกว่าการเดินทางโดยเครื่องบิน ซึ่งการเปิดประเทศของจีนอาจทำให้การท่องเที่ยว สปป.ลาว กลับมาใกล้เคียงก่อนเกิดโควิด-19 ซึ่งในเวลานั้นจีนเป็นนักท่องเที่ยวลำดับที่ 2 มีนักท่องเที่ยวประมาณ 1 ล้านคน และหลวงพระบางก็เป็นหนึ่งในปลายทางที่สำคัญ

ความรวดเร็วและต้นทุนการขนส่งที่ลดลงกว่า 30% หนุนให้การค้าผ่านรถไฟฟ้าความเร็วสูงทยอยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยปริมาณการขนส่งสินค้าตลอดเส้นทางในช่วงที่ผ่านมามีปริมาณ 2 ล้านตัน ขนส่งผู้โดยสารรวม 1.26 ล้านคน เป็นสินค้า สปป.ลาว ส่งไปจีน ได้แก่ ยางพารา ข้าวบาร์เลย์ มันสำปะหลัง กาแฟ แร่ ปุ๋ย และสินค้าจากจีน ได้แก่ เครื่องจักร ยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ และของใช้ประจำวัน นอกจากนี้ นักธุรกิจไทยกับจีนก็หันมาใช้เส้นทางนี้มากขึ้นจากในอดีตไม่ได้รับความนิยมนักเพราะการขนส่งทางถนนมีความล่าช้าจากความคดเคี้ยวสูงชันของภูมิประเทศ โดยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2565 มูลค่าการค้ารวมระหว่างกัน 1.18 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 5.3% ของการค้ารวมผ่านแดนไปจีน ส่วนใหญ่เป็นสินค้าจีนเข้ามาทำตลาดในไทย 1.1 หมื่นล้านบาท ประกอบด้วยสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ โซลาเซลล์ และผลไม้ และการส่งสินค้าผลไม้และวงจรไฟฟ้าจากไทยไปจีน 1.5 พันล้านบาท

ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าพัฒนาการขนส่งระหว่างจีนกับอาเซียนมีหลายทางเลือกในการทำตลาดมากขึ้น ซึ่งทุกเส้นทางขนส่งเอื้อประโยชน์ต่อธุรกิจในภูมิภาค โดยเฉพาะจีน-สปป.ลาว-ไทย ที่มีการเชื่อมโยงทางถนนถนนในปัจจุบัน 4 เส้นทาง ได้แก่ 1) รถไฟความเร็วสูงจีน-สปป.ลาว  2) สะพานมิตรภาพไทย-สปป.ลาว แห่งที่ 4 เชื่อมตรงสู่ตลาดมณฑลหยุนหนานผ่านด่านเชียงของ จ.เชียงราย-แขวงบ่อแก้ว  3) เส้นทางขนส่งผ่านสะพานมิตรภาพไทย-สปป.ลาว แห่งที่ 2 จ.มุกดาหาร-แขวงสะหวันนะเขต  และ 4) การขนส่งผ่านสะพานมิตรภาพไทย-สปป.ลาว แห่งที่ 3 ผ่าน จ.นครพนม-แขวงคำม่วน  และกำลังเตรียมเปิดเส้นทางขนส่งช่องทางที่ 5) ที่อยู่ระหว่างก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงหรือสะพานมิตรภาพไทย-สปป.ลาว แห่งที่ 5 เชื่อม จ.บึงกาฬ-แขวงบอลิคำไซ คาดว่าจะก่อสร้างเสร็จพร้อมใช้งานในปี 2567

นอกจากนี้ ในการประชุม APEC 2022 ที่ผ่านมา การมาร่วมประชุมของประธานาธิบดีสี จิ้นผิงได้เน้นย้ำความร่วมมือในการสร้างเส้นทางรถไฟความเร็วสูงในฝั่งไทยที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง เพื่อให้เส้นทางนี้สามารถเปิดดำเนินงานได้ตามแผนภายในปี 2571 ซึ่งจะยิ่งทำให้การขนส่งตลอดเส้นทางสมบูรณ์ไร้รอยต่อ เป็นอีกช่องทางที่จีนตอนใต้และ สปป.ลาว สามารถใช้เป็นช่องทางเชื่อมต่อกับเส้นทางขนส่งทางทะเลที่อ่าวไทยได้อีกทางหนึ่ง ถ้าหากเส้นทางในฝั่งไทยสร้างเสร็จ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าทางรถไฟความเร็วสูงจีน-สปป.ลาว-ไทย จะลดต้นทุนค่าขนส่งลงอีกโดยเฉพาะการช่วยประหยัดเวลาขนส่งตลอดเส้นทางได้มากกว่า 70%

ที่มา : https://www.kasikornresearch.com/th/analysis/k-econ/economy/Pages/Railway-CH-Lao-2022-12-29.aspx

10 ธุรกิจ ดาวรุ่ง ดาวร่วง ปี 2566

เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2565 ณ ห้องประชุมสภา มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย รศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี ร่วมกับ อาจารย์วชิร คูณทวีเทพ ผู้อำนวยการสถาบันยุทธศาสตร์การค้า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่าผลสำรวจ การจัดอันดับ 10 ธุรกิจดาวรุ่ง-ดาวร่วง ปี 2566

10 ธุรกิจที่มาแรงสุดคือ

  1. ธุรกิจการแพทย์และความงาม
  2. ธุรกิจ e-commerce (ธุรกิจที่ทำการซื้อขายผ่านอิเล็กทรอนิกส์)
  3. Social Media และ Online Entertainment, ธุรกิจด้าน fintech และการชำระเงินผ่านระบบเทคโนโลยี และธุรกิจงานคอนเสิร์ต มหกรรมจัดแสดงสินค้า ธุรกิจ event
  4. ธุรกิจจัดทำคอนเทนต์ ธุรกิจ youtuber การรีวิวสินค้า และ influencer และธุรกิจสื่อโฆษณาออนไลน์
  5. ธุรกิจ แพลตฟอร์ม และธุรกิจ Matching เช่น platform หาคู่ สั่งอาหาร เรียกรถอื่นๆ
  6. ธุรกิจประกันภัย ประกันชีวิต และธุรกิจบันเทิงยามค่ำคืน ผับ บาร์ คาราโอเกะ
  7. ธุรกิจท่องเที่ยว โรงแรม ทัวร์ และธุรกิจเกี่ยวเนื่อง และธุรกิจ Modern Trade/ ร้านค้าปลีกสมัยใหม่
  8. ธุรกิจโลจิสติกส์ delivery และคลังสินค้า, ธุรกิจตู้ยอดเหรียญ เช่น น้ำ เครื่องซักผ้า อาหาร อื่นๆ และธุรกิจ e sport และธุรกิจเกี่ยวเนื่อง
  9. ธุรกิจอาหารเสริม และธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม (ที่ไม่มีแอลกอฮอลล์)
  10. ธุรกิจความเชื่อ (สายมู, หมอดู,ฮวงจุ้ย), ธุรกิจบันเทิง เช่น ละครหนังซีรีย์ Y และธุรกิจเกี่ยวเนื่อง และธุรกิจเกี่ยวกับกัญชา ใบกระท่อม

ส่วน 10 ธุรกิจดาวร่วงนั้นนำโดย

  1. ธุรกิจฟอกย้อมและธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ และวารสาร หนังสือพิมพ์ที่เป็นรูปแบบกระดาษ
  2. ธุรกิจรับส่งสื่อสิ่งพิมพ์ตามบ้านและสถานที่ทำงานและธุรกิจโรงพิมพ์/การพิมพ์ เช่น หนังสือ แผ่นพับ
  3. ธุรกิจคนกลาง
  4. ร้านขายหนังสือ
  5. ธุรกิจเครื่องปั้นดินเผา และเซรามิก
  6. ธุรกิจร้านถ่ายรูปและธุรกิจหัตถกรรม
  7. ธุรกิจผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่ไร้ฝีมือ หรือเสื้อผ้าโหล
  8. ธุรกิจคลิปโต
  9. โรงเรียนเอกชน
  10. ธุรกิจร้านโชห่วย

สำหรับการจัดอันดับของธุรกิจดังกล่าวนำข้อมูลมาจากจากข้อมูลปฐมภูมิ ด้วยการสำรวจผู้ประกอบการรายสาขา สถานภาพธุรกิจไทย ปัจจัยเสี่ยงด้านเศรษฐกิจ รวมถึงข้อมูลทุติยภูมิต่างๆ เช่น ข้อมูลการนำเข้า-ส่งออก, ข้อมูลสินเชื่อธนาคารพาณิชย์, ดัชนีราคาผู้บริโภค ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม, ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ ได้มีเกณฑ์การให้คะแนนธุรกิจใน 5 ด้านรวม 100 คะแนน ประกอบด้วย ยอดขาย ต้นทุน กำไรสุทธิ ผลกระทบจากปัจจัยเสี่ยงและการแข่งขัน ความต้องการ-กระแสนิยม

ที่มา: https://bit.ly/3PDTA84

ครบรอบ 1 ปี รถไฟจีน-สปป.ลาว … การค้าผ่านแดนไทยไปจีนมีทางเลือกเพิ่มขึ้น

โดย ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC)

แม้ว่าภาพรวมการส่งออกของไทยไปจีนช่วง 10 เดือนแรกปี 2565 ในรูปเงินบาทจะเติบโตช้าที่ 2.8% และการส่งออกผ่านแดนไทยไปจีนในช่วงเดียวกันก็หดตัวถึง 27.3% (YoY) มีมูลค่าส่งออกที่ 1.26 แสนล้านบาท แต่การส่งออกผ่านแดนบางเส้นทางยังคงเติบโตได้อย่างน่าสนใจ โดยเฉพาะการขนส่งไปยังมณฑลหยุนหนานทั้งการขนส่งด้วยรถบรรทุกและการขนส่งผ่านรถไฟจีน-สปป.ลาว ที่เปิดดำเนินการตั้งแต่วันที่ 3 ธ.ค. 2564 ผ่านมาครบ 1 ปี การขนส่งผ่านแดนยังคงมีสัญญาณบวกเติบโตได้อีกในระยะข้างหน้า ดังนี้

– ในช่วงโควิด-19 ระบาดการขนส่งผ่านแดนเป็นตัวช่วยสำคัญในการส่งสินค้าเข้าสู่จีน โดยมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นรวดเร็วเป็น 17% ของมูลค่าการส่งออกทุกช่องทางไปจีนในปี 2564 (จากเคยอยู่ที่ 12.4% ในปี 2562)

– ปัจจุบันการขนส่งผ่านแดนระหว่างไทยกับจีนมี 4 เส้นทาง ซึ่งสามารถส่งสินค้าจากกรุงเทพฯ ถึงจีนด้วยระยะเวลาเพียง 2-5 วัน และเส้นทางเหล่านี้จะยิ่งคึกคักขึ้นจากการเตรียมเปิดเส้นทางขนส่งช่องทางที่ 5

– กำลังซื้อที่มาจากจีนตอนใต้ มณฑลหยุนหนานและเขตปกครองตนเองกว่างซียังมีโอกาสเติบโตในระยะข้างหน้า โดยในเวลานี้การส่งออกไปยังพื้นที่จีนตอนใต้เติบโตสวนกระแสการหดตัวของการส่งออกผ่านแดนไทยไปจีนในภาพรวม ทั้งการส่งออกผ่านสะพานมิตรภาพไทย-สปป.ลาว แห่งที่ 4 จ.เชียงราย ไปยังมณฑลหยุนหนานยังขยายตัวถึง 27.9% (YoY) เช่นเดียวกับช่องทางรถไฟความเร็วสูงจีน-สปป.ลาวที่เปิดใช้งานมา 1 ปี มีมูลค่าการค้าเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เป็น 1,569 ล้านบาท เบื้องต้นมีสัดส่วน 1.3% ของการส่งออกผ่านแดนไปจีน จากที่ไม่เคยมีการขนส่งด้วยช่องทางนี้มาก่อน สินค้าที่น่าจับตา ได้แก่ ผลไม้ เครื่องสำอาง น้ำพริกปรุงรส เครื่องแกง มันสำปะหลัง ถั่ว ของแต่งบ้าน รวมถึงอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่เป็นผลิตภัณฑ์ส่งออกใหม่ที่น่าจับตา

– การส่งออกผ่านแดนไทยไปจีนตอนใต้สามารถส่งต่อสินค้าไปยังภาคกลางและภาคตะวันตกของจีนได้อย่างรวดเร็วด้วยเครือข่ายการขนส่งที่มีประสิทธิภาพของจีน โดยเฉพาะสินค้าเพื่อการบริโภคที่จีนผลิตไม่ได้และเป็นสินค้าที่เป็นจุดเด่นของไทย รวมถึงสินค้าขั้นกลางเพื่อการผลิตในกลุ่มสินค้าที่ต้องใช้วัตถุดิบสำคัญของไทยอย่างยางพาราและเม็ดพลาสติก สามารถนำไปต่อยอดผลิตในมณฑลฉงชิ่งและเมืองเฉิงตู ซึ่งเป็นศูนย์กลางการขนส่งของพื้นที่ตอนในเชื่อมโยงการขนส่งทั่วจีน และเชื่อมการขนส่งสินค้าไปยุโรป

อย่างไรก็ดี จากมาตรการล็อกดาวน์อย่างเข้มงวดของจีนในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ทิศทางเศรษฐกิจโลกที่ชะลอลง และด้วยฐานการส่งออกที่สูงในปีก่อนหน้า ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาด การส่งออกผ่านแดนไทยไปจีนในช่วงที่เหลือของปี 2565 แม้จะมีแรงส่งจากกำลังซื้อในช่วงเทศกาลปลายปี แต่ด้วยการส่งออกที่อ่อนแรงในช่วงที่ผ่านมาทำให้ทั้งปี 2565 การส่งออกผ่านแดนไทยไปจีนหดตัวที่ 25% มีมูลค่า 145,000 ล้านบาท

ในระยะต่อไปต้องจับตา การผ่อนปรนมาตรการโควิดเป็นศูนย์ที่เริ่มส่งสัญญาณบวก และแผนการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของจีนที่หันมาพึ่งพิงการบริโภคในประเทศมากขึ้น ท่ามกลางการส่งออกในภาพรวมไปจีนที่ไม่สดใสนัก แต่การกระจายการขนส่งไปยังเส้นทางการค้าผ่านแดนทางภาคเหนือและภาคอีสานของไทยเพื่อส่งไปยังจีนตอนใต้น่าจะเป็นอีกช่องทางที่สร้างโอกาสในการส่งออกสินค้าไทยไปจีนยังพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ตอนในประเทศของจีนมากขึ้น

ที่มา : https://www.kasikornresearch.com/th/analysis/k-social-media/Pages/Thai-China-lao-FB-13-12-2022.aspx

สื่อยอดนิยม CLMV แตกต่างจากไทย

โดย MI Group I Marketeer

CLMV คืออีกหนึ่งเป้าหมายที่แบรนด์ไทยต้องการไป แต่การไป CLMV ความท้าทายคือการเลือกใช้สื่อเข้าถึงผู้บริโภคในแต่ละประเทศ โดยเฉพาะสื่อโซเชียลมีเดียที่กลายเป็นสื่อที่มีความสำคัญในการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่เฉพาะเจาะจงมากกว่าสื่อ Traditional เพราะผู้บริโภคในแต่ละประเทศ มีพฤติกรรมในการเสพสื่อไม่เหมือนกัน

จากข้อมูลของ MI Group ทำให้เราเห็นว่าแม้เฟซบุ๊กจะเป็นโซเชียลมีเดียหลักที่คนแต่ละประเทศใน CLMV เสพ แต่ถ้ามองลึก ๆ ลงไปในสื่อโซเชียลอื่น ๆ พบว่าผู้บริโภคแต่ละประเทศเสพสื่อไม่เหมือนกัน อย่างเช่นในประเทศไทยโซเชียลมีเดียยอดนิยมประกอบด้วย Facebook  64.4%, IG  11.5%, TikTok 7.6%, LINE   7.0%

  • กัมพูชา : Facebook 6%, Telegram 23.3%, Messenger 5.9% และ TikTok 3.9%
  • สปป.ลาว : Facebook5%, YouTube 13.3%, TikTik 11.6% และ Messenger 4.6%
  • เมียนมา : Facebook 73.7%, Messenger 4.8%, TikTok 4.4% และ Telegram 5%
  • เวียดนาม : Facebook 74.1%, TikTok 9.2%, Messenger 6.3% และ IG 6.0%

อ่านต่อ : https://marketeeronline.co/archives/285391

เจาะลึกวิกฤตค่าเงินในสปป.ลาว และนัยต่อเศรษฐกิจไทย

โดย ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC)

EIC มองว่าสถานการณ์ในสปป.ลาวยังไม่รุนแรงเท่าศรีลังกา เนื่องจากปัจจุบันยังสามารถระดมทุนผ่านช่องทางต่าง ๆ และเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ได้

 

สปป.ลาวกำลังเผชิญวิกฤตเงินกีบอ่อนค่ารุนแรง พร้อมกับอัตราเงินเฟ้อที่เร่งสูงขึ้น

ณ วันที่ 8 สิงหาคม 2022 ค่าเงินกีบอ่อนค่าทะลุระดับ 15,000 กีบต่อดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นการอ่อนค่าลงถึง 57% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ และ 44% เมื่อเทียบกับเงินบาท นับจากเดือนกันยายน 2021 เป็นต้นมา และอ่อนค่าสูงสุดเมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่น ๆ ในภูมิภาค การอ่อนค่าของเงินกีบตามภาวะการเงินโลกที่ตึงตัวขึ้น ประกอบกับการเร่งตัวของราคาน้ำมันและสินค้าต่าง ๆ จากสงครามรัสเซีย-ยูเครน และปัญหาอุปทานคอขวดโลกที่สปป.ลาวจำเป็นต้องพึ่งพาการนำเข้าในสัดส่วนสูง ได้ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อของสปป.ลาวเร่งตัวขึ้น เกิดปัญหาการขาดแคลนเงินดอลลาร์สหรัฐ และปัญหาการขาดแคลนสินค้าโดยเฉพาะน้ำมันเป็นวงกว้าง

 

ต้นตอของวิกฤตในปัจจุบันมาจากปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจที่มีความเปราะบาง

พัฒนาการของเศรษฐกิจโลกในช่วงที่ผ่านมา เช่น การดำเนินนโยบายการเงินที่ตึงตัวในประเทศเศรษฐกิจหลักได้ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อสปป.ลาวที่มีภาระหนี้สาธารณะสูงจากการร่วมลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ท่ามกลางการขาดดุลการคลังต่อเนื่อง ขณะที่ช่องทางการระดมทุนของสปป.ลาวเริ่มมีจำกัดและมีต้นทุนสูงขึ้น หลังถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือลงสู่ระดับเก็งกำไร (Speculative grade) นอกจากนี้ สปป.ลาวมีระดับเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่ต่ำท่ามกลางการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดต่อเนื่อง ซึ่งเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลให้เงินกีบอ่อนค่าและเป็นความเสี่ยงต่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศและการนำเข้าสินค้าจำเป็นต่อไป

 

EIC มองว่าสถานการณ์ในสปป.ลาวยังไม่รุนแรงเท่าศรีลังกา เนื่องจากปัจจุบันยังสามารถระดมทุนผ่านช่องทางต่าง ๆ และเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ได้

ณ ปัจจุบัน แม้ระดับหนี้สาธารณะของสปป.ลาวจะเร่งตัวสูงขึ้นมากแต่ยังต่ำกว่าศรีลังกา และระดับเงินทุนสำรองระหว่างประเทศเทียบมูลค่านำเข้าและหนี้ต่างประเทศระยะสั้นยังสูงกว่า นอกจากนี้ สปป.ลาวยังมีช่องทางการระดมทุนที่สามารถเข้าถึงได้ ทั้งจากการกู้ยืมเงินในตลาดพันธบัตรต่างประเทศ เช่น ตลาดไทย ซึ่งล่าสุดสปป.ลาวได้เปิดขายพันธบัตรวงเงินไม่เงิน 5,000 ล้านบาทในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา หรือหน่วยงานระหว่างประเทศ และการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจผ่านการแปรรูปรัฐวิสาหกิจที่ไม่ทำกำไร และการส่งเสริมการลงทุนและการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนเพื่อดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติและผลักดันการส่งออก ทั้งนี้นโยบายการคลังและการเงินในสปป.ลาวในช่วงที่ผ่านมา ได้เน้นการประคองเศรษฐกิจเป็นหลัก แต่เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุและอาจทำให้เสถียรภาพในประเทศอ่อนแอลงอีก ในระยะต่อไป EIC ประเมินว่า สปป.ลาวควรเร่งเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ โดยเฉพาะกับจีน ซึ่งมีแนวโน้มเข้ามาช่วยเหลือเนื่องจากสปป.ลาวเป็นประเทศสำคัญสำหรับโครงการ Belt and Road Initiative ในภูมิภาคอาเซียน

 

ผลกระทบต่อไทยคาดว่าจะมีจำกัด แต่จะเป็นความเสี่ยงที่ควรเฝ้าระวังต่อไป

EIC คาดว่าผลกระทบต่อไทยจะมีผ่าน 4 ช่องทาง ได้แก่ ภาคการส่งออก การท่องเที่ยว การลงทุนโดยตรงจากไทย และภาคการเงิน สำหรับภาคการส่งออกไทย ผลกระทบหลักจะมาจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจสปป.ลาวและอุปสงค์ที่ลดลง แต่ในภาพรวมคาดว่าจะยังขยายตัวได้ โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากราคาน้ำมันสำเร็จรูปที่สูงขึ้นซึ่งเป็นสินค้าส่งออกหลัก สำหรับนักท่องเที่ยวจากสปป.ลาว ความเสี่ยงหลักมาจากกำลังซื้อที่ลดลงตามเงินกีบที่อ่อนค่า แต่จำนวนนักท่องเที่ยวคาดว่าจะเพิ่มขึ้นหลังเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบ ขณะที่การลงทุนโดยตรงจากไทยสู่สปป.ลาวในโครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังงานน้ำนั้น ต้องเฝ้าระวังความเสี่ยงการชำระค่าไฟจากสปป.ลาวที่อาจถูกเลื่อนออกไปซึ่งอาจกระทบต่อความเชื่อมั่นในอนาคต ตลอดจนความเสี่ยงด้านเสถียรภาพการเงินในประเทศที่ถึงแม้ว่าจะอยู่ในระดับที่ค่อนข้างแข็งแกร่ง แต่อาจมีความเปราะบางมากขึ้นในช่วงต่อไป อย่างไรก็ดี ในภาพรวมคาดว่าจะได้รับผลกระทบจำกัด เนื่องจากมีผู้ซื้อไฟฟ้าหลักคือไทย และมีการเซ็นสัญญา PPA เรียบร้อยแล้ว

ที่มา : https://www.scbeic.com/th/detail/product/clmv_090822

ดัชนีความเชื่อมั่นนักธุรกิจต่างชาติในไทย ไตรมาสที่ 2/2565

สถาบันยุทธศาสตร์การค้า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นนักธุรกิจต่างประเทศ (FBCI) ว่า จากการสำรวจหอการค้าต่างประเทศประจำประเทศไทย 12 ประเทศ ระหว่างเดือนเม.ย.-มิ.ย.2565 ที่ผ่านมา หรือในไตรมาสที่ 2 ของปี 2565 ในภาพรวมกว่า 60 % ของกลุ่มตัวอย่าง มีความคิดเห็นต่อเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน ดีขึ้น เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทย สถานการณ์การท่องเที่ยวภายในประเทศไทย มุมมองต่อภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทย มุมมองต่อภาคบริการของประเทศไทย สภาพการจ้างงานในประเทศไทย และมุมมองต่อภาคการค้าระหว่างประเทศไทย (นำเข้า-ส่งออก) และมองว่าสถานการณ์เศรษฐกิจในอีก 3 เดือนข้างหน้าเมื่อเทียบกับปัจจุบันก็ยังไม่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมากนัก มีเพียง สถานการณ์การท่องเที่ยวภายในประเทศไทย และมุมมองต่อภาคบริการของประเทศไทย ที่มีแนวโน้มดีขึ้น

ด้านประเด็นปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคมที่กลุ่มตัวอย่างต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน คือ

  • ปัญหาเกี่ยวกับเงินเฟ้อและราคาพลังงาน ที่ส่งผลต่อต้นทุนการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการและกำลังซื้อของผู้บริโภค
  • การขาดทุนหมุนเวียนในการดาเนินธุรกิจของ SMEs และการเข้าถึงแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่า (Soft Loan) ที่ยากลำบาก
  • ข้อจำกัดและมาตรการที่เข้มงวดในการรับมือโควิด-19 ส่งผลต่อความยากลำบากในการลงทุนและดำเนินธุรกิจ
  • สภาวะเศรษฐกิจซบเซาจากการระบาด COVID 19 และการปิดประเทศ
  • การว่างงานของแรงงานจากสถานการณ์ COVID 19 ส่งผลต่ออำนาจซื้อ
  • ทักษะแรงงานไม่สอดรับกับความต้องการของผู้ประกอบการ

ขณะที่ผลการสำรวจด้านธุรกิจในภาพรวมในปัจจุบันเพื่อเทียบกับปีก่อนพบว่าส่วนใหญ่ ไม่เปลี่ยนแปลง ทั้งรายได้ของธุรกิจ   ราคา สินค้า / บริการ ของธุรกิจ  คำสั่งซื้อ สินค้า / บริการ ภายในประเทศ คำสั่งซื้อ สินค้า / บริการ ต่างประเทศ คาสั่งซื้อ สินค้า / บริการ โดยรวมของธุรกิจ ผลกำไรของธุรกิจสมาชิก การลงทุนในธุรกิจของสมาชิก สภาพการจ้างงานของธุรกิจ สภาพคล่องของธุรกิจ การเข้าถึงแหล่งเงินทุนของธุรกิจ และภาระหนี้สินของธุรกิจ มีเพียงค่าใช้จ่ายโดยรวมของธุรกิจ เท่านั้นที่อยู่ในระดับแย่ลง ส่วนสถานการณ์ในด้านต่าง ๆ ในอีก 3 เดือนข้างหน้าเมื่อเทียบกับปัจจุบัน พบว่า ไม่เปลี่ยนแปลง ในทุกๆ ประเด็น

โดยประเด็นปัญหาของกลุ่มตัวอย่าง ส่วนใหญ่คือ

  • ความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจ จากต้นทุนการดำเนินการที่สูงขึ้น อาทิเช่น ค่าขนส่ง ค่าเงินที่ผันผวน ภาระทางภาษี และการขาดแรงงานในการผลิต
  • ตลาดซบเซา คำสั่งซื้อจากทั้งในประเทศและต่างประเทศลดลง เป็นผลมาจากเศรษฐกิจที่ซบเซา ทำให้เกิดความไม่แน่นอนทางด้านคำสั่งซื้อ
  • ค่าเงินบาทไม่ค่อยมีความเสถียรภาพ
  • ผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังคงควบคุมไม่ได้
  • ธุรกิจขาดสภาพคล่อง ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนจากสถาบันทางการเงินได้ รวมถึงขาดการสนับสนุนจากทางภาครัฐ
  • ธุรกิจคู่ค้าส่วนใหญ่ปิดตัวลงเป็นการชั่วคราวหรือถาวร ส่งผลให้เกิดการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน

จากผลสำรวจ ดัชนีความเชื่อมั่นนักธุรกิจต่างประเทศภาพรวมในไตรมาส 2 ปี 2565 อยู่ที่ 50.0 เท่ากับการสำรวจครั้งล่าสุดในไตรมาส 1 ปี 2564.1 และทุกดัชนีทั้งปัจจุบันและอนาคตอยู่ในระดับมากกว่า 50 นั่นแสดงว่าภาพรวมของเศรษฐกิจมีแนวโน้มดีขึ้น จากการส่งออกที่เริ่มฟื้นตัว และการคลี่คลายของสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVIID-19  การผ่อนคลายมาตรการล็อกดาน์ และการยกเลิก Test & Go ตั้งแต่  1  พฤษภาคม 2565 ทำให้มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาในไทยมากขึ้น ซึ่งตั้งแต่ 1 มิถุนายนนี้ จะมีการเปิดประเทศเต็มรูปแบบ การเดินทางเข้าประเทศไทยไม่ต้องกักตัวทุกรูปแบบ

สิ่งที่ต้องการให้รัฐบาลไทยสนับสนุนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคมไทยในปัจจุบัน คือ

  • ควบคุมราคาสินค้า เพื่อบรรเทาปัญหาภาวะเงินเฟ้อ
  • ควบคุมราคาสินค้า เพื่อบรรเทาปัญหาภาวะเงินเฟ้อ
  • สิทธิประโยชน์ทางภาษีในการลงทนเพื่อดึงดูดนักลงทุนในประเทศและนักลงทุนจากต่างประเทศ
  • กำหนดมาตรการฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
  • นโยบายให้เงินอุดหนุน ค่าจ้าง ค่าเช่า ฯลฯ ต่อภาคธุรกิจและ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19

สิ่งที่ต้องการให้รัฐบาลสนับสนุน เพื่อแก้ไขปัญหาทางธุรกิจ

  • ลดหย่อนหรือยกเว้นการเก็บภาษีทุกรูปแบบ ต่อผู้ได้รับผลกระทบ
  • จัดแพ็คเกจกระตุ้นเศรษฐกิจ อาทิเช่น มาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายจากทั้งภาครัฐและภาคเอกชน
  • สร้างเสถียรภาพทางการเมือง ลดขั้นตอนในการดำเนินงาน ภายใต้ประสิทธิภาพ
  • สร้างการเข้าถึงแหล่งเงินทุนสาหรับนักธุรกิจชาวต่างชาติ
  • สร้างการเข้าถึงแหล่งเงินทุน สนับสนุนซอฟต์โลน และมาตรการพักทรัพย์พักหนี้ แก่ผู้ประกอบการที่ได้ผลกระทบ โดยเฉพาะผู้ประกอบการ SMEs ทั้งธุรกิจไทยและต่างประเทศ
  • ปรับปรุงกฎหมายกฎระเบียบ ที่เกี่ยวกับการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว (FBA) ให้มีความทันสมัย เอื้อต่อการลงทุน รวมถึงกระบวนการขอ Visa และ Work Permit ง่ายขึ้น

ในขณะที่ ทัศนคติต่อสถานการณ์เศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน พบว่า ความกังวลเกี่ยวกับการระบาดของ COVID 19 ของนักธุรกิจอยู่ในระดับน้อย (ร้อยละ 39.6) เพราะสถานการณ์การแพร่ระบาดเริ่มคลี่คลายลง ส่วนสถานการณ์เศรษฐกิจของไทยในปี 2565 เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2564 พบว่า จะมีการเติบโตของเศรษฐกิจอยู่ในช่วง 2.1  ถึง 5.0% (ร้อยละ 60.0)

ที่มา: สถาบันยุทธศาสตร์การค้า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เข้าถึงได้จาก https://bit.ly/3T80VNL

ดัชนีความเชื่อมั่นนักธุรกิจต่างชาติในไทย ไตรมาสที่ 1/2565

สถาบันยุทธศาสตร์การค้า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นนักธุรกิจต่างประเทศ(FBCI)ว่า จากการสำรวจหอการค้าต่างประเทศประจำประเทศไทย 29 ประเทศ ระหว่างเดือนม.ค.-มี.ค. 2565 ที่ผ่านมา หรือในไตรมาสที่ 1 ของปี 2565 ในภาพรวมกว่า 70 % ของกลุ่มตัวอย่าง มีความคิดเห็นต่อเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันยังไม่เปลี่ยนแปลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งการลงทุนจากต่างประเทศ นโยบายเศรษฐกิจไทย มุมมองต่อภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทย มุมมองต่อภาคการค้าของประเทศไทย มุมมองต่อภาคบริการของประเทศไทย สภาพการจ้างงานในประเทศไทย และมุมมองต่อภาคการค้าระหว่างประเทศไทย (นำเข้า-ส่งออก)  และมองว่าสถานการณ์เศรษฐกิจในอีก 3 เดือนข้างหน้าเมื่อเทียบกับปัจจุบันก็ยังไม่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมากนัก

ด้านประเด็นปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคมที่กลุ่มตัวอย่างต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน คือ

  • ภาคธุรกิจการท่องเที่ยวที่ซบเซาจากการระบาด COVID 19 และการปิดประเทศทำให้นักท่องเที่ยวไม่สามารถเดินทางเข้ามาได้
  • การขาดทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจของ SMEs และการเข้าถึงแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) ที่ยากลำบาก
  • ข้อจากัดและมาตรการที่เข้มงวดในการรับมือโควิด-19 ส่งผลต่อความยากลำบากในการลงทุนและดำเนินธุรกิจ
  • สภาวะเศรษฐกิจซบเซาจากการระบาด COVID 19 และการปิดประเทศ
  • การว่างงานของแรงงานจากสถานการณ์ COVID 19 ส่งผลต่ออำนาจซื้อ
  • ภาวะเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มปรับตัวจากราคาสินค้าและบริการที่แพงขึ้น

ขณะที่ผลการสำรวจด้านธุรกิจในภาพรวมในปัจจุบันเพื่อเทียบกับปีก่อนพบว่าส่วนใหญ่ไม่เปลี่ยนแปลงทั้งรายได้ของธุรกิจ  คำสั่งซื้อจากในและต่างประเทศลดลง การลงทุนในธุรกิจของสมาชิก สภาพการจ้างงานของธุรกิจ สภาพคล่องของธุรกิจ การเข้าถึงแหล่งเงินทุนของธุรกิจ และภาระหนี้สินของธุรกิจ เป็นต้น และยังมองว่าสถานการณ์ในด้านต่าง ๆ ในอีก 3 เดือนข้างหน้าเมื่อเทียบกับปัจจุบันยังไม่เปลี่ยนแปลง ยกเว้นค่าใช้จ่ายโดยรวมของธุรกิจ ที่มีแนวโน้มแย่ลง

โดยประเด็นปัญหาของกลุ่มตัวอย่าง ส่วนใหญ่คือ

  • ความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจ จากต้นทุนการดำเนินการที่สูงขึ้น อาทิเช่น ค่าขนส่ง ค่าเงินที่ผันผวน ภาระทางภาษี และการขาดแรงงานในการผลิต
  • ธุรกิจขาดสภาพคล่อง ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนจากสถาบันทางการเงินได้ รวมถึงขาดการสนับสนุนจากทางภาครัฐ
  • ธุรกิจคู่ค้าส่วนใหญ่ปิดตัวลงเป็นการชั่วคราวหรือถาวร ส่งผลให้เกิดการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน
  • ผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังคงควบคุมไม่ได้
  • ผลกระทบจากมาตรการล็อกดาวน์ เช่น ข้อจำกัดในการเดินทาง รวมถึงความไม่แน่นอนของการเปิดประเทศ
  • ตลาดซบเซา คำสั่งซื้อจากทั้งในประเทศและต่างประเทศลดลง เป็นผลมาจากเศรษฐกิจที่ซบเซา ทำให้เกิดความไม่แน่นอนทางด้านคำสั่งซื้อ

จากผลสำรวจ ดัชนีความเชื่อมั่นนักธุรกิจต่างประเทศภาพรวมในไตรมาส 1 ปี 2565 อยู่ที่ 50.1 ลดลงจากการสำรวจครั้งล่าสุดในไตรมาส 3 ปี 2564 ที่อยู่ในระดับ 54.1 แต่ทุกดัชนีทั้งปัจจุบันและอนาคตอยู่ในระดับมากกว่า 50 นั่นแสดงว่าภาพรวมของเศรษฐกิจมีแนวโน้มดีขึ้น จากการส่งออกที่เริ่มฟื้นตัว และการคลี่คลายของสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVIID-19  และการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาน์

สิ่งที่ต้องการให้รัฐบาลไทยสนับสนุนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคมไทยในปัจจุบัน คือ

  • มีแผนควบคุม Covid 19 ที่ชัดเจนและเริ่มเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว
  • นโยบายให้เงินอุดหนุน ค่าจ้าง ค่าเช่า ฯลฯ ต่อภาคธุรกิจและ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19
  • แก้ไขกฎระเบียบที่ซับซ้อนในการเข้ามาลงทุนของนักลงทุนต่างชาติรวมถึงสนับสนุนสิทธิประโยชน์ในการลงทุน
  • การจัดหาวัคซีนเพื่อนำมาฉีดให้ประชาชนในประเทศให้เร็วและทั่วถึงที่สุด
  • ผ่อนปรนมาตรการ Covid 19 เพื่อใหภาคธุรกิจดำเนินกิจการได้สะดวกขึ้น
  • กาหนดมาตรการฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
  • สิทธิประโยชน์ทางภาษีในการลงทนเพื่อดึงดูดนักลงทุนในประเทศและนักลงทุนจากต่างประเทศ

สิ่งที่ต้องการให้รัฐบาลสนับสนุน เพื่อแก้ไขปัญหาทางธุรกิจ

  • ปรับปรุงกฎหมายกฎระเบียบ ที่เกี่ยวกับการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว (FBA) ให้มีความทันสมัย เอื้อต่อการลงทุน รวมถึงกระบวนการขอ Visa และ Work Permit ง่ายขึ้น
  • สร้างการเข้าถึงแหล่งเงินทุน สนับสนุนซอฟต์โลน และมาตรการพักทรัพย์พักหนี้ แก่ผู้ประกอบการที่ได้ผลกระทบ โดยเฉพาะผู้ประกอบการ SMEs ทั้งธุรกิจไทยและต่างประเทศ
  • ลดหย่อนหรือยกเว้นการเก็บภาษีทุกรูปแบบ ต่อผู้ได้รับผลกระทบ
  • จัดแพ็คเกจกระตุ้นเศรษฐกิจ อาทิเช่น มาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายจากทั้งภาครัฐและภาคเอกชน
  • ผ่อนคลายมาตรการการกักกันโรค เพื่ออานวยความสะดวกในการดำเนินธุรกิจ
  • เปิดประเทศภายใต้มาตรการความปลอดภัย
  • สร้างเสถียรภาพทางการเมือง ลดขั้นตอนในการดำเนินงาน ภายใต้ประสิทธิภาพ

ในขณะที่ ทัศนคติต่อสถานการณ์เศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน พบว่า ความกังวลเกี่ยวกับการระบาดของ COVID 19 ของนักธุรกิจอยู่ในระดับน้อย (ร้อยละ 39.6) เพราะสถานการณ์การแพร่ระบาดเริ่มคลี่คลายลง ส่วนสถานการณ์เศรษฐกิจของไทยในปี 2565 เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2564 พบว่า จะมีการเติบโตของเศรษฐกิจอยู่ในช่วง 0.1 ถึง 3.0% (ร้อยละ 57.1)

ที่มา: สถาบันยุทธศาสตร์การค้า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เข้าถึงได้จาก https://bit.ly/3fVMgaj

10 ธุรกิจเด่น ครึ่งปีหลัง 2565

เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2565 ณ ห้องประชุมสภา มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย รศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี ร่วมกับ อาจารย์วชิร คูณทวีเทพ ผู้อำนวยการสถาบันยุทธศาสตร์การค้า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่าผลสำรวจ การจัดอันดับ 10 ธุรกิจดาวรุ่ง ครึ่งปีหลัง 2565
10 ธุรกิจที่มาแรงสุดคือ
1.ธุรกิจการแพทย์และความงาม และธุรกิจ e-commerce (ธุรกิที่ทำการซื้อขายผ่านอิเล็กทรอนิกส์)ยังคงเป็นธุรกิจดาวรุ่งต่อเนื่อง
2.ธุรกิจ แพลตฟอร์ม (ธุรกิจตัวกลางหรือตลาดกลางด้าน อิเล็กทรอนิกส์)และธุรกิจโลจิสติกส์ delivery และคลังสินค้ำ
3.ธุรกิจประกันภัย ประกันชีวิต และธุรกิจอาหารเสริมและสุขภาพ
4.ธุรกิจ E-Sports และธุรกิจ Social Media และ Online Entertainment
5.ธุรกิจจัดทำคอนเทนต์ ธุรกิจ youtuber influencer และการรีวิวสินค้าและ ธุรกิจ Media ธุรกิจสื่อโฆษณา
6.ธุรกิจเวชภัณฑ์ยา ธุรกิจการขายส่งสินค้าทางเภสัชภัณฑ์และ ทางการแพทย์ และธุรกิจธุรกิจด้าน fintech และการชำระเงินผ่านระบบเทคโนโลยี และธุรกิจงานคอนเสิร์ต มหกรรมจัดแสดงสินค้ำ ธุรกิจ event
7.ธุรกิจเกี่ยวกับเครื่องมือแพทย์ และธุรกิจอิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วน
8.ธุรกิจ Modern Trade/ร้านค้าปลีกสมัยใหม่และธุรกิจสมุนไพรไทย เช่น กัญชง กัญชา ใบกระท่อม
9.ธุรกิจสถานบันเทิงและธุรกิจยานยนต์
10.ธุรกิจก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์แนวราบและธุรกิจท่องเที่ยว โรงแรม ทัวร์ และธุรกิจเกี่ยวเนื่อง
ส่วน 10 ธุรกิจดาวร่วงนั้นนำโดย
1.ธุรกิจผลิตโทรศัพท์พื้นฐานและครื่องโทรสาร
2.ธุรกิจฟอกย้อม
3.ธุรกิจหัตถกรรมที่ไม่มีการออกแบบและราคาถูก
4.ธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ และวารสาร
5.ธุรกิจรับส่งสื่อสิ่งพิมพ์ตามบ้านและสถานที่ทำงาน
6.ธุรกิจโรงพิมพ์/การพิมพ์ เช่น หนังสือ แผ่นพับ
7.ธุรกิจคนกลางและธุรกิจผลิตและขายต้นไม้/ดอกไม้ประดิษฐ์
8.ธุรกิจ call center และธุรกิจเครื่องปั้นดินเผา และเซรามิก
9.ธุรกิจผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่ไร้ฝีมือ หรือเสื้อผ้าโหล
10.ธุรกิจร้านเช่าหนังสือ ขายหนังสือ และธุรกิจร้านถ่ายรูป
สำหรับการจัดอันดับของธุรกิจดังกล่าวนำข้อมูลมาจากจากข้อมูลปฐมภูมิ ด้วยการสำรวจผู้ประกอบการรายสาขา สถานภาพธุรกิจไทย ปัจจัยเสี่ยงด้านเศรษฐกิจ รวมถึงข้อมูลทุติยภูมิต่างๆ เช่น ข้อมูลการนำเข้า-ส่งออก, ข้อมูลสินเชื่อธนาคารพาณิชย์, ดัชนีราคาผู้บริโภค ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม, ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ ได้มีเกณฑ์การให้คะแนนธุรกิจใน 5 ด้านรวม 100 คะแนน ประกอบด้วย ยอดขาย ต้นทุน กำไรสุทธิ ผลกระทบจากปัจจัยเสี่ยงและการแข่งขัน ความต้องการ-กระแสนิยม
ที่มา: https://bit.ly/3OweGUg

ทิศทางการส่งออกไทยในปี 2022 ท่ามกลางความเสี่ยงจากภาวะสงคราม

โดย วิชาญ กุลาตี I ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC)

ตัวเลขการส่งออกสินค้าของไทยในช่วงสองเดือนแรกของปี 2022 สะท้อนถึงโมเมนตัมการขยายตัวที่ดีต่อเนื่อง จากการทยอยฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการค้าโลก ตามความคืบหน้าในการฉีดวัคซีนและการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคของนานาประเทศ รวมถึงการผลิตเพื่อส่งออกกลับมาได้อย่างเป็นปกติมากยิ่งขึ้น หลังจากที่โรงงานบางส่วนต้องหยุดการผลิตลงชั่วคราวเพื่อควบคุมโรคในช่วงการระบาดของสายพันธุ์เดลตา

 

อย่างไรก็ตาม สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ปะทุขึ้นในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ได้เริ่มส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยในเดือนมีนาคม และคาดว่าผลกระทบทั้งทางตรงจากการส่งออกไปยังรัสเซียและยูเครน และทางอ้อมจากสถานการณ์สงครามที่จะทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอลงนั้น จะรุนแรงมากยิ่งขึ้นในระยะถัดไป แต่ EIC มองว่าความเสี่ยงดังกล่าวก็ยังสร้างโอกาสต่อธุรกิจส่งออกไทยในบางด้านด้วยเช่นกัน

 

ผลกระทบทางตรงมีอยู่จำกัด

การส่งออกไปรัสเซียและยูเครนหดตัวมากถึง 73% และ 77.8% ในเดือนมีนาคมเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อนหน้า และอาจรุนแรงขึ้นในระยะข้างหน้าตามช่องทางการค้า การชำระเงิน และการขนส่งที่ถูกปิดกั้นมากขึ้น

แต่ผลกระทบทางตรงต่อเศรษฐกิจไทยจากการส่งออกยังมีอยู่อย่างจำกัด เนื่องจากไทยส่งออกไปยังรัสเซียและยูเครนเป็นสัดส่วนน้อยและไม่ได้มีสินค้าส่งออกสำคัญใดที่พึ่งพาตลาดรัสเซียและยูเครนมากเป็นพิเศษ โดยในปี 2021 มูลค่าการส่งออกสินค้าจากไทยไปรัสเซียและยูเครนอยู่ที่ราว 1,028 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และ 135 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งคิดเป็นเพียง 0.38% และ 0.05% ของการส่งออกสินค้าทั้งหมดของไทย ตามลำดับ

 

แต่ผลกระทบทางอ้อมรุนแรงกว่า

แม้ผลกระทบทางตรงจากสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนจะมีอยู่อย่างจำกัดจากที่ได้กล่าวมา แต่อาจสร้างผลกระทบทางอ้อมต่อการส่งออกสินค้าของไทยได้ โดยมี 2 ช่องทางที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษ ได้แก่ การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และปัญหาคอขวดอุปทาน

ช่องทางแรก ภาวะสงครามจะทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง โดยเฉพาะเศรษฐกิจยุโรปที่อยู่ประชิดด่านหน้าของความขัดแย้ง โดย EIC คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกและยุโรปจะขยายตัวได้เพียง 3.4% และ 2.7% ตามลำดับ ต่ำกว่าประมาณการเดิมในช่วงก่อนสงคราม

ช่องทางที่สอง ปัญหาอุปทานคอขวดอาจรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะในภาคส่งออกหลักของไทยที่พึ่งพาเซมิคอนดักเตอร์ (ชิป) เป็นส่วนประกอบสำคัญอย่างอิเล็กทรอนิกส์และยานยนต์

สงครามในยูเครนและการคว่ำบาตรรัสเซียส่งผลให้ปัญหาการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ที่มีอยู่เดิมจากวิกฤติโควิดมีแนวโน้มคลี่คลายช้าลงกว่าที่คาด เนื่องจากรัสเซียและยูเครนเป็นผู้ส่งออกแร่ธาตุ โลหะอุตสาหกรรม และโภคภัณฑ์หลักของโลก โดยเฉพาะวัตถุดิบสำคัญในการผลิตเซมิคอนดักเตอร์อย่างก๊าซนีออนและแพลเลเดียม

 

การส่งออกของไทยบางส่วนได้รับอานิสงส์จากสงคราม

ท่ามกลางผลกระทบจากภาวะสงคราม ส่งออกไทยได้รับอานิสงส์สนับสนุนการขยายตัวของส่งออกในปี 2022 อย่างน้อยจาก 3 ปัจจัย ซึ่งอาจสามารถชดเชยผลกระทบในทางลบได้ โดยเฉพาะจากปัจจัยทางด้านราคาสินค้าส่งออก

ปัจจัยแรก ราคาสินค้าส่งออกมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นและสามารถชดเชยการชะลอตัวในด้านปริมาณ ภาวะสงครามและมาตรการคว่ำบาตรทำให้รัสเซียและยูเครนไม่สามารถส่งออกพลังงานและโภคภัณฑ์ทางการเกษตรหลายชนิด เช่น ก๊าซธรรมชาติ น้ำมัน ข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์ ข้าวโพด น้ำมันทานตะวัน ปุ๋ยยูเรีย ปุ๋ยโพแทสเซียม ที่ตนเองเป็นผู้ส่งออกหลักของโลก ส่งผลให้ระดับราคาสินค้าต่าง ๆ ในตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้น สินค้าส่งออกของไทยโดยเฉพาะในกลุ่มที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน รวมถึงผลผลิตทางการเกษตร จึงมีแนวโน้มจะเติบโตดีในด้านราคาส่งออกเป็นสำคัญ

ปัจจัยที่ที่สอง สินค้าส่งออกไทยบางประเภทสามารถขยายส่วนแบ่งตลาดได้ จากการทดแทนสินค้าส่งออกของรัสเซียและยูเครนในตลาดโลก โดยเฉพาะในยุโรปที่สินค้าส่งออกไทยหลายประเภทมีส่วนแบ่งตลาดในยุโรปในระดับที่ดีและแข่งขันได้ เช่น ยางสังเคราะห์ ไม้อัด ปลาแช่แข็ง ฟอสฟิเนต รวมถึงสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับคาร์โบไฮเดรตที่อาจนำมาทดแทนข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์ และข้าวโพดของรัสเซียและยูเครน เป็นต้น

ปัจจัยสุดท้าย เงินบาทที่อ่อนค่าสนับสนุนรายได้ของผู้ส่งออกไทยและอาจช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน นับตั้งแต่เกิดสงครามค่าเงินบาทอ่อนค่ามากกว่าสกุลอื่นในภูมิภาค โดย EIC คาดเงินบาทในระยะสั้นจะเผชิญแรงกดดันจากความต้องการถือสินทรัพย์เสี่ยงที่ลดลง ดุลบัญชีเดินสะพัดที่มีแนวโน้มขาดดุลมากขึ้น และการขึ้นดอกเบี้ยของหลายประเทศสำคัญทั่วโลก ก่อนจะกลับมาแข็งขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง ในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ ภาคส่งออกไทยจึงจะได้รับประโยชน์จากความสามารถในการแข่งขันด้านราคาเพื่อเพิ่มส่วนแบ่งตลาด ซึ่งจะแปรเป็นรายได้ที่เพิ่มขึ้นของธุรกิจส่งออกไทย

 

ในภาพรวม EIC ยังคงคาดว่ามูลค่าการส่งออกของไทยในปี 2022 ยังขยายตัวได้ดีที่ 6.1% แต่การขยายตัวเป็นผลจากปัจจัยด้านราคาที่สูงขึ้นตามต้นทุน โดยเฉพาะในหมวดพลังงานเป็นหลักและมากกว่าการเพิ่มขึ้นในเชิงปริมาณ อย่างไรก็ตาม มูลค่าการนำเข้าสินค้าจะขยายตัวในอัตราที่เร่งตัวกว่ามากที่ 13.2%

ที่มา : https://www.scbeic.com/th/detail/product/8248

วิกฤตรัสเซีย-ยูเครน และผลต่อทิศทางเศรษฐกิจไทยปี 2565

โดย ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC)

นอกจากปัญหาการระบาดของไวรัสโควิดสายพันธุ์ใหม่แล้ว วิกฤตรัสเซีย-ยูเครนยังส่งผลกระทบเพิ่มเติมต่อเส้นทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ผ่านราคาพลังงาน สินค้าโภคภัณฑ์ทั้งที่เป็นโลหะอุตสาหกรรมและสินค้าเกษตรที่ใช้เป็นวัตถุดิบตั้งต้นในการผลิต ให้เร่งตัวขึ้น

.

นางสาวณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด มองว่าภายใต้สถานการณ์ดังกล่าว ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินผลกระทบแบ่งออกเป็นสองกรณี คือ กรณีฐาน ที่การปะทะสู้รบระหว่างรัสเซีย-ยูเครน จำกัดอยู่ในบางพื้นที่ของประเทศยูเครน แต่ข้อตกลงร่วมกันคงยังไม่เกิดขึ้นในปีนี้ และมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจของชาติตะวันตกและสหรัฐฯ ต่อรัสเซียจะคงอยู่ไปตลอดทั้งปีนี้นั้น คาดว่าจะทำให้ราคาน้ำมันดิบดูไบมีค่าเฉลี่ยทั้งปีที่ 105 ดอลลาร์ฯ ต่อบาร์เรล และจีดีพีขยายตัวที่ร้อยละ 2.5 ส่วนในกรณีดีนั้น คาดการณ์ตัวเลขจีดีพีไว้ที่ร้อยละ 2.9 ซึ่งเกิดขึ้นบนสมมติฐานที่รัสเซีย-ยูเครนหาทางออกร่วมกันได้เร็วกว่าที่กำหนด หรือภายในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ อันทำให้ราคาน้ำมันดิบอาจย่อตัวลงในช่วงครึ่งปีหลัง และทำให้ค่าเฉลี่ยน้ำมันทั้งปี 2565 อยู่ที่ 90 ดอลลาร์ฯ

.

ส่วนผลกระทบต่อธุรกิจไทย นางสาวเกวลิน หวังพิชญสุข รองกรรมการผู้จัดการ มองว่า ปัจจัยรัสเซีย-ยูเครน กระทบต้นทุนการผลิตภาคอุตสาหกรรมคิดเป็นมูลค่าราว 8 หมื่นล้านบาท โดยผลกระทบส่วนใหญ่ตกอยู่กับภาคธุรกิจ ซึ่งจะถูกกระทบแตกต่างกันตามสัดส่วนการใช้วัตถุดิบและความสามารถในการปรับตัว ขณะที่ผลกระทบบางส่วนตกอยู่กับผู้บริโภค ขณะเดียวกัน การท่องเที่ยวก็ได้รับผลกระทบผ่านการลดลงของจำนวนนักท่องเที่ยวรัสเซียและยุโรป ซึ่งแม้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทยรวมในปี 2565 อาจแตะ 4 ล้านคน แต่การใช้จ่ายจะลดลงราว 5 หมื่นล้านบาทจากกรณีที่ไม่มีสงคราม นอกจากนี้ ภาคการบริการอื่นๆ ก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน ไม่เพียงแต่ต้นทุนที่ขยับขึ้น ค่าครองชีพที่สูงขึ้นของผู้บริโภค ยังวนกลับมากดดันยอดขายภาคธุรกิจอีกด้วย ทำให้ในภาพรวมแล้วประเมินตัวเลขการขยายตัวของธุรกิจในกลุ่มรถยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ ค้าปลีก และร้านอาหาร น้อยลงจากรณีไม่มีสงคราม

.

ด้านนางสาวธัญญลักษณ์ วัชระชัยสุรพล รองกรรมการผู้จัดการ ระบุเพิ่มเติมว่า แม้การคว่ำบาตรทางการเงินของประเทศมหาอำนาจในโลกต่อรัสเซีย จะมีผลกระทบทางตรงที่จำกัดตามปริมาณการค้าระหว่างรัสเซีย-ยูเครนกับไทย แต่จุดติดตามจะอยู่ที่สถานการณ์ที่ยังไม่นิ่ง ซึ่งจะทำให้การเคลื่อนไหวของตลาดการเงินผันผวนต่อเนื่อง และต้นทุนการระดมทุนมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น ทั้งจากความไม่แน่นอนที่ยังอยู่และการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด โดยภายในปี 2565 จะมีตราสารหนี้ภาคเอกชนที่รอครบกำหนดอีกกว่า 7 แสนล้านบาท นอกจากนี้ ลูกค้าที่อยู่ในกลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบมาก คงต้องได้รับการดูแลเพิ่มเติมในแง่ของวงเงินสินเชื่อหมุนเวียนเพิ่มเติมในรายที่ยังประคองคำสั่งซื้อไว้ได้ รวมถึงประเด็นปรับโครงสร้างหนี้และคุณภาพหนี้ ซึ่งรวมแล้ว สินเชื่อธุรกิจที่อยู่ในกลุ่มที่ได้รับผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญจากต้นทุนน้ำมันและวัตถุดิบอาหารที่เพิ่มขึ้น จะมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 4-5 ของพอร์ตสินเชื่อรวม ขณะที่ ประเมินภาพสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยทั้งปีนี้ที่ร้อยละ 4.5 ในกรณีฐาน

.

อ่านต่อ : https://www.kasikornresearch.com/th/analysis/k-econ/economy/Pages/KR-Press-25-mar-2022.aspx