วิกฤติทางการเมืองในเมียนมาทำให้ประชากรอีก 3.4 ล้านคนต้องเผชิญกับ ‘ความหิวโหย’

โดยโครงการอาหารโลก (World Food Programme, WFP)

ตั้งแต่รัฐประหารในเมียนมาเมื่อกุมภาพันธ์ 2564 ยิ่งทำให้ประเด็น ‘ความไม่มั่นคงทางอาหาร’ ของประเทศที่มีแต่เดิมรุนแรงขึ้น ประมาณว่าอีก 1.5 – 3.4 ล้านคนในเมียนมาจะประสบกับความหิวโหย และ 3 ใน 4 ของประชาชนจะเปราะบางต่อ ‘ความยากจน’ โดยเฉพาะผู้คนในพื้นที่เขตเมืองซึ่งได้รับผลกระทบจากสภาพเศรษฐกิจที่ตกต่ำ และผลกระทบระยะยาวที่มีต่อระบบอาหารในพื้นที่ชนบท

เพราะวิกฤติทางการเมืองทำให้เศรษฐกิจชะลอตัว การค้าขายติดขัด การลงทะเบียนเปิดธุรกิจน้อยลงกว่าปีก่อนหน้า ซึ่งทางธนาคารโลกคาดการณ์ว่า GDP ของเมียนมาร์อาจหดตัวถึง 10% ในปี 2564

นอกจากนี้ วิกฤติทางการเมืองทำให้การดำเนินการภาครัฐ 90% ต้องพักลงชั่วคราว การให้บริการสาธารณสุข สถาบันการศึกษา และโรงงานในย่างกุ้งกว่า 13 แห่ง (มีนาคม 2564) ต้องปิดตัวลง ผู้คนสูญเสียงานและรายได้ขณะที่ราคาข้าวและน้ำมันทำอาหารสูงขึ้น 5% และ 18% ตามลำดับ และสูงมากในบริเวณชายแดนในรัฐยะไข่ คะฉิ่น และฉิ่น ทั้งค่าใช้จ่ายในภาคขนส่งที่แพงขึ้น และธนาคารพาณิชย์ประมาณ 2,000 แห่งทำงานไม่ได้ตามปกติ การชำระเงินระหว่างประเทศ การถอนเงิน การโอนเงินระหว่างธนาคาร รวมถึงการส่งเงินกลับบ้านของชาวเมียนมามากกว่า 4 ล้านคนจากต่างประเทศซึ่งเป็นรายได้หนึ่งแหล่งที่สำคัญ ต้องประสบปัญหา – เหล่านี้เป็นสัญญาณสำคัญต่อประเด็นความยากจน และความหิวโหยในเมียนมา

เมียนมาเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลางค่อนข้างต่ำที่เศรษฐกิจพึ่งพิงอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ อัญมณี เป็นต้น โดยที่ภาคบริการคิดเป็น 42% ของ GDP ภาคอุตสาหกรรมคิดเป็น 36% และภาคเกษตรกรรมคิดเป็น 22% ขณะที่ด้านการค้าขายส่วนมากค้าขายภายในภูมิภาคโดยมีจีนเป็นหุ้นส่วนหลักที่ส่งออก 31% และนำเข้า 34% ตามมาด้วยประเทศไทยและสิงคโปร์ ส่วนในด้านการลงทุนมีสิงคโปร์ลงทุน 34% และฮ่องกง 26%

อย่างไรก็ดี ในภาวะปกติจนถึงมกราคม 2564 ปัจจัยที่ทำให้เกิดปัญหาความไม่มั่นคงทางอาหารในเมียนมามาจาก – ความเปราะบางต่อภัยพิบัติทางธรรมชาติ ความขัดแย้งและความตึงเครียดระหว่างชุมชน และผลกระทบของโควิด-19 ที่มีต่อเศรษฐกิจ

เช่นการศึกษาของ Fill the Nutrient Gap ในปี 2562 ระบุว่าอาหารที่มีโภชนาการและดีต่อสุขภาพยังคงมีราคาสูงจนคนเมียนมาไม่สามารถเข้าถึงได้ 9 ใน 10 ของครัวเรือนสามารถเข้าถึงอาหารที่ให้พลังงาน 4 ใน 10 สามารถเข้าถึงอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ

ขณะที่หลังจากวิกฤติทางการเมือง WFP ประเมินว่าปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อความไม่มั่นคงทางอาหารมาจาก ‘การสูญเสียรายได้และสูญเสียงานของครัวเรือน จากเหตุการณ์ดังที่กล่าวไว้ข้างต้น โดยตั้งฉากทัศน์ไว้ที่ 3 เดือนและ 6 เดือนหลังจากเดือนมีนาคม 2564 โดยเฉพาะว่าในกลางเดือนมีนาคมจะเป็นช่วงเก็บเกี่ยวข้าวบริเวณปากน้ำอิรวดี และเตรียมดินเพื่อทำนาในช่วงพฤษภาคม – มิถุนายน

ทว่าด้วยสถานการณ์ของเมียนมาในตอนนี้ซึ่งกระทบกับภาคการเกษตร แรงงาน และการคมนาคมขนส่ง ย่อมส่งผลทำให้อาจไม่สามารถปลูก-เก็บเกี่ยวพืชผลได้ ทั้งที่จะเป็นอาหารเลี้ยงปากท้องของคนเมียนมาเอง

ที่มา :

/1 https://www.sdgmove.com/2021/06/04/myanmar-after-takeover-face-food-insecurity/

/2 https://www.wfp.org/publications/myanmar-analysis-economic-fallout-and-food-insecurity-wake-takeover-2021

บทบาทจีนใน CLMV จะเปลี่ยนไปอย่างไรหลังโควิด-19 ท่ามกลางความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังคุกรุ่นอยู่

โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

ในช่วงที่ผ่านมา บทบาททางเศรษฐกิจของจีนในกลุ่มประเทศ CLMV นับได้ว่าโดดเด่นมาก โดยเฉพาะด้านการค้า ผ่านยุทธศาสตร์ต่างๆ ที่จีนพยายามเข้ามาสร้างอิทธิพลทางเศรษฐกิจ ทั้งอิทธิพลของความเชื่อมโยงทางกายภาพ (Physical connectivity) อาทิ โครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม รวมถึงเขตเศรษฐกิจพิเศษต่างๆ ภายใต้ Belt and Road Initiative ซึ่งมีส่วนช่วยดึงดูด FDI จีนให้มาตั้งคลัสเตอร์อุตสาหกรรมในพื้นที่ รวมถึงอุตสาหกรรมบริการที่ตอบสนองความเป็นเมืองที่มากขึ้น ขณะเดียวกัน อิทธิพลของความเชื่อมโยงทางสถาบัน (Institutional connectivity) ของจีน อาทิ การผ่อนคลายกฎระเบียบที่เอื้อประโยชน์ต่อการค้าระหว่างประเทศ ก็มีช่วยกระตุ้นมูลค่าการค้าระหว่าง CLMV กับจีนให้เร่งตัวขึ้น

อนึ่ง การทวนกระแสโลกาภิวัตน์ (De-Globalization) ที่ทั่วโลกเผชิญอยู่อันมีจุดเริ่มต้นจากสงครามการค้าและสงครามเทคโนโลยีระหว่างจีนกับสหรัฐฯ กำลังโดนซ้ำเติมจากความเปราะบางของห่วงโซ่อุปทานโลกอันมีมูลเหตุจากปัจจัยที่ไม่อาจคาดเดามาก่อน อาทิ การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทั่วโลก อาจส่งผลให้จีนรวมถึงบริษัทต่างชาติในจีนหันมาให้ความสำคัญต่อประเทศเพื่อนบ้านที่อยู่ใกล้เคียง (Regionalization) ในการเป็นห่วงโซ่อุปทานแห่งใหม่ เพื่อลดและกระจายความเสี่ยงทางด้านปฏิบัติการ หากฐานการผลิตกระจุกตัวอยู่ในจีน รวมถึงมีส่วนช่วยคานอิทธิพลด้านเศรษฐกิจจากสหรัฐฯ ในทางอ้อม โดยความสำคัญของกลุ่ม CLMV ต่อจีนภายหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 คาดว่าจะอยู่ในฐานะแหล่งการผลิตสินค้าทางการเกษตร รวมถึงอาหารเพื่อตอบโจทย์ความมั่นคงทางด้านอาหาร (Food security) ที่ทางการจีนมุ่งเน้นภายใต้ยุทธศาสตร์ Dual Circulation นอกจากนี้ CLMV มีแนวโน้มได้รับการกระจายการลงทุนในอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นในทิศทางที่เร่งตัวขึ้น โดยเวียดนามยังคงมีศักยภาพในการก้าวขึ้นมาเป็นหนึ่งในห่วงโซ่อุปทานใหม่สำหรับอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีเข้มข้นอย่างอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ อย่างไรก็ดี เวียดนามที่โดยพื้นฐานแล้วยังมีความขัดแย้งทางภูมิศาสตร์กับจีนอยู่ซึ่งได้พยายามสานสัมพันธ์กับกลุ่มประเทศอื่นจนอาจจะเรียกได้ว่าเป็นพันธมิตรกับทางสหรัฐฯ มากขึ้นในช่วงที่ผ่านมานั้น อาจพยายามปรับสมดุล FDI โดยเฉพาะในภาคการผลิตและบริการที่ใช้เทคโนโลยีเข้มข้นให้รองรับนักลงทุนสัญชาติอื่นที่มีศักยภาพสูงมากกว่าดึงดูด FDI จากจีนเป็นหลัก

อ่านต่อ : https://kasikornresearch.com/th/analysis/k-econ/economy/Pages/CLMV-EPI-27-05-21.aspx

EIC CLMV Outlook Q2/2021

โดย ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC)

แม้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในปี 2021 จะเป็นแรงสนับสนุนสำคัญต่อการฟื้นตัวของภาคส่งออกในกลุ่ม CLMV แต่การระบาดระลอกใหม่ของ COVID-19 ในภูมิภาค ประกอบกับสถานการณ์ความไม่สงบทางการเมืองในเมียนมาจะเป็นแรงกดดันสำคัญต่อเศรษฐกิจ CLMV ในปี 2021 โดยในส่วนของภาคส่งออกของ CLMV คาดว่าจะฟื้นตัวได้ดีตามทิศทางเศรษฐกิจและการค้าโลก โดยเฉพาะจากประเทศพัฒนาแล้ว ซึ่งเวียดนามมีแนวโน้มได้รับประโยชน์จากการส่งออกที่ปรับตัวดีขึ้นมากสุดในภูมิภาค จากความแข็งแกร่งด้านการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ขณะที่ภาคเศรษฐกิจในประเทศ การระบาดระลอกใหม่ของ COVID-19 ในภูมิภาค CLMV ช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2021 จะเป็นแรงกดดันต่อกิจกรรมเศรษฐกิจในประเทศให้ปรับลดลง โดยในส่วนของเวียดนาม ภาครัฐสามารถควบคุมการระบาดในระลอกก่อนได้เป็นอย่างดี ทำให้เศรษฐกิจในประเทศไม่ได้รับผลกระทบมากนัก แต่ยังต้องจับตาการระบาดระลอกล่าสุดช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคมซึ่งเป็นความท้าทายสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเวียดนามในระยะต่อไป ขณะที่ในกรณีของประเทศอื่น พบว่าเมียนมายังต้องเผชิญการระบาดที่ยืดเยื้อมาตั้งแต่เดือนกันยายนปี 2020 ส่วนกัมพูชาและ สปป.ลาวกำลังเผชิญการระบาดระลอกใหม่อย่างรุนแรงเป็นครั้งแรกในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2021 ทำให้รัฐบาลต้องใช้มาตรการ lockdown อย่างเข้มงวด ซึ่งส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศและเป็นตัวแปรสำคัญต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ CLMV ในปี 2021 นอกจากนี้ สถานการณ์การเมืองที่ทวีความรุนแรงขึ้นในเมียนมาก็มีแนวโน้มส่งผลกระทบอย่างหนักและยืดเยื้อต่อเศรษฐกิจ ทำให้ EIC ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจเมียนมาลงอย่างมีนัยสำคัญ

จากการที่ประเทศ CLMV น่าจะยังไม่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ได้ในภายในปี 2021 ดังนั้น การฟื้นตัวของเศรษฐกิจ จึงขึ้นอยู่กับสองปัจจัยหลัก ได้แก่

  1. ขนาดและประสิทธิภาพของมาตรการกระตุ้นทางการคลังและการเงินเพื่อพยุงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและจำกัดผลกระทบจากแผลเป็นทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น และ
  2. ปัจจัยเสี่ยงรายประเทศ ได้แก่ ความรุนแรงทางการเมืองของเมียนมา และปัญหาหนี้สาธารณะใน สปป. ลาว

กัมพูชา : ปัจจัยบวก

  1. ภาคส่งออกจะกลับมาขยายตัวดีตามเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า
  2. รัฐบาลยังมีความสามารถทำนโยบายที่เพียงพอ ทำให้สามารถออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจได้ต่อเนื่อง

กัมพูชา : ปัจจัยลบ

  1. การระบาดระลอกใหม่ที่รุนแรงของ COVID-19 และมาตรการ lockdown ที่กลับมาเข็มงวดจะจำกัดการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ
  2. การฟื้นตัวจะยังคงอยู่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยช่วงก่อนหน้า เนื่องจากภาคการท่องเที่ยวซึ่งเป็นภาคเศรษฐกิจหลักมีแนวโน้มซบเซา

สปป.ลาว : ปัจจัยบวก

  1. การก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานโครงการใหญ่ๆ จะเป็นแรงสนับสนุนหลักของการเติบโตในปีนี้
  2. การส่งออกมีแนวโน้มได้อานิสงค์จากเศรษฐกิจประเทศเพื่อนบ้านที่ฟื้นตัวดีขึ้น และจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่เพิ่มสูงขึ้น

สปป.ลาว : ปัจจัยลบ

  1. การยกระดับมาตรการ lockdown จะสร้างแรงกดดันต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจและทำให้การปิดพรมแดนยืดเยื้อออกไปอีก
  2. หนี้สาธารณะที่อยู่ในระดับสูงจะจำกัดความสามารถในการทำนโยบายการคลังในการกระตุ้นเศรษฐกิจ

เมียนมา : ปัจจัยลบ

  1. การปราบปรามของรัฐบาลทหารและขบวนการอารยะขัดขืนโดยมวลชน (CDM) จะส่งผลต่อการบริโภคภาคเอกชน
  2. ธุรกิจและโรงงานหลายแห่งปิดตัวลง จากปัญหาขาดแคลนแรงงานและแนวโน้มเศรษฐกิจที่ปรับตัวแย่ลง
  3. บริษัทต่างชาติมีแนวโน้มยับยั้งคำสั่งซื้อและเลื่อนโครงการลงทุนออกไป เพราะอาจเสี่ยงต่อชื่อเสียงองค์กร
  4. นโยบายการคลังที่เป็นข้อจำกัดและทิศทางเศรษฐกิจที่ไม่ชัดเจนและสร้างความไม่แน่นอนอย่างต่อเนื่องในระยะกลาง

เวียดนาม : ปัจจัยบวก

  1. ภาคส่งออกเติบโตแข็งแกร่งจากการส่งออกสินค้าเทคโนโลยีขั้นสูง ยังคงเป็นปัจจัยขับปัจจัยขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจ
  2. กระทรวงการคลังสหรัฐฯ ถอดเวียดนามออกจากรายชื่อประเทศผู้บิดเบื่อนค่าเงิน ส่งสัญญาที่ดีต่อการค้าเวียดนาม-สหรัฐฯ
  3. FDI เข้าเวียดนามส่งสัญญาฟื้นตัวแข็งแกร่งตามแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจ และความสามารถในการเข้าถึงตลาดใหม่ๆ ผ่านข้อตกลงการค้า รวมถึงจำนวน/ฐานผู้บริโภคขนาดใหญ่

เวียดนาม : ปัจจัยลบ

  1. การควบคุมการระบาดของ COVID-19 หลานคลัสเตอร์ในเดือนเมษายน-พฤษภาคมยังเป็นประเด็นที่ต้องจับตามอง

อ่านต่อ : https://www.scbeic.com/th/detail/product/7594

ทิศทาง CLMV หลัง COVID-19

โดย BRD Analysis I ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย

ประเด็นสำคัญ

  • เศรษฐกิจเวียดนามมีแนวโน้มขยายตัวโดดเด่นที่สุดใน CLMV ขณะที่รัฐประหารทำให้เศรษฐกิจเมียนมาซึ่งเคยขยายตัวสูงกลับถดถอยและกลายเป็นประเทศที่มีแนวโน้มเศรษฐกิจเติบโตต่ำที่สุดในกลุ่ม
  • นโยบายภาครัฐของกัมพูชาเน้นพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ส่งผลให้โรงไฟฟ้าเป็นธุรกิจที่มีโอกาสขยายการลงทุนในระยะข้างหน้า พร้อมกับผลักดันอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ทดแทนเสื้อผ้าสำเร็จรูป
  • การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานใหม่ใน สปป.ลาว ต้องอาศัยนักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะจากจีน ซึ่งโรงไฟฟ้าพลังน้ำยังคงเป็นเป้าหมายหลัก ขณะที่การลงทุนภาคการผลิตมีโอกาสเพิ่มขึ้นจากโครงการรถไฟจีน – สปป.ลาว
  • ความขัดแย้งในเมียนมาทำให้ธุรกิจต่างชาติต้องเน้นประคองธุรกิจ และการลงทุนใหม่มีแนวโน้มชะลอตัวรุนแรง

————————————————————————————————————————————————————

ทิศทางเศรษฐกิจของ CLMV

กัมพูชา :เศรษฐกิจยังฟื้นตัวได้จำกัดในระยะสั้น แม้ภาคส่งออกจะได้อานิสงส์จากการฟื้นตัวของตลาดหลักอย่างสหรัฐฯ ขณะที่การลงทุน โดยเฉพาะจากจีน มีแนวโน้มฟื้นตัว แต่ภาคท่องเที่ยว ซึ่งเป็นแหล่งรายได้สำคัญของประเทศยังคงต้องใช้ระยะเวลาฟื้นตัวอีก 1-2 ปี

สปป.ลาว : การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจขึ้นกับปัจจัยสนับสนุนภายนอก เนื่องจากภาครัฐประสบปัญหาหนี้สาธารณะในระดับสูง ทำให้ไม่มีเครื่องมือที่ใช้ สำหรับกระตุ้นเศรษฐกิจ และต้องลดการใช้จ่ายภาครัฐลง จึงต้องหวังพึ่งการลงทุนจากต่างประเทศเป็นหลัก

เมียนมา : ยากต่อการคาดการณ์ทิศทางเศรษฐกิจ เนื่องจากรัฐประหารเปลี่ยนทิศทางของประเทศไปโดยสิ้นเชิง ทั้งนี้ IMF คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวกว่า 4% ตั้งแต่ ปี 2566 จากความคาดหวังว่าความวุ่นวายในประเทศจะคลี่คลายลงได้

เวียดนาม : มีแนวโน้มขยายตัวโดดเด่นที่สุดใน CLMVโดยรัฐบาลตั้งเป้าเศรษฐกิจขยายตัว 6.5-7.0% ระหว่างปี 2564-2568 และจะเป็นประเทศที่มีรายได้ ปานกลางค่อนข้างสูงภายในปี 2573

————————————————————————————————————————————————————

ทิศทางธุรกิจและอุตสาหกรรม

กัมพูชา : การดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่นอกเหนือจากเสื้อผ้าสำเร็จรูป โดยมีอุตสาหกรรมที่น่าสนใจ ดังนี้

ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ : การลงทุนมีแนวโน้มขยายตัว โดยการส่งออกชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ของกัมพูชา (สัดส่วนราว 5% ของมูลค่าส่งออกทั้งหมด) ในปี 2563 ขยายตัวราว 220% เนื่องจากความต้องการอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ของโลกที่เพิ่มขึ้น ซึ่งคาดว่ารัฐบาลจะดึงดูดการลงทุนเพิ่มขึ้นในระยะข้างหน้า

โรงไฟฟ้า : การลงทุนมีแนวโน้มขยายตัว เนื่องจากกัมพูชายังมี Supply ของไฟฟ้าไม่เพียงพอกับความต้องการใช้ โดยโรงไฟฟ้าที่มีศักยภาพการลงทุน ได้แก่ โรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหิน และโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์

สปป.ลาว : การลงทุนใหม่ต้องอาศัยนักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะจากจีน ทั้งนี้ สปป.ลาว ยังคาดหวังกับการลงทุน ดังนี้

ธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังน้ำ : ยังคงเป็นธุรกิจเป้าหมายของรัฐบาล สปป.ลาว แต่โครงการใหม่ในระยะข้างหน้าต้องพึ่งพาการลงทุนจากต่างประเทศทั้งหมด เนื่องจากรัฐบาลเผชิญข้อจำกัดทางการเงิน

ภาคการผลิตที่ได้ประโยชน์จากการเชื่อมโยง สปป.ลาว กับประเทศเพื่อนบ้าน : โครงการรถไฟจีน – สปป.ลาว ที่คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือน ธ.ค. 2564 จะดึงดูดการลงทุนในภาคการผลิตของ สปป.ลาว ได้ในอนาคต

เมียนมา : ธุรกิจต่างชาติในเมียนมาเน้นประคองธุรกิจ ขณะที่การลงทุนใหม่มีแนวโน้มชะลอตัวรุนแรง

ภาคการผลิต : การผลิตเพื่อส่งออก (เสื้อผ้าสำเร็จรูป) หยุดชะงัก เนื่องจากผู้นำเข้า โดยเฉพาะชาติตะวันตก หลีกเลี่ยงการทำธุรกรรมกับเมียนมา จนผู้ประกอบการต่างชาติบางส่วนอาจถอนการลงทุน ขณะที่การผลิตที่เน้นตลาดในประเทศ เผชิญกับความต้องการที่หดตัวตามภาวะเศรษฐกิจเมียนมา

โรงไฟฟ้า : นักลงทุนต่างชาติส่วนใหญ่ชะลอการลงทุน และเป็นโอกาสที่จีนจะมีบทบาทในเมียนมามากขึ้น

เวียดนาม : หลายอุตสาหกรรมในเวียดนามมีแนวโน้มขยายตัวดี โดยอุตสาหกรรมที่เป็นโอกาสการลงทุนของไทย อาทิ

อุตสาหกรรมอาหารแปรรูป : เนื่องจากความต้องการอาหารที่มีความปลอดภัยและถูกสุขอนามัยเพิ่มขึ้น ประกอบกับรัฐบาลให้ความสำคัญกับการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเพิ่มมูลค่าและยกระดับการผลิตสินค้าเกษตร

ธุรกิจบรรจุภัณฑ์ : มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องตามการขยายตัวของภาคการผลิตในเวียดนาม ซึ่งรวมถึงบรรจุภัณฑ์ในอุตสาหกรรมอาหารแปรรูปและเครื่องดื่ม

โรงไฟฟ้า : ยังเติบโตจากความต้องการใช้ ไฟฟ้าที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 8.6% และ 7.2% ในช่วงปี 2564-2568 และ 2569-2573 ตามล าดับ ซึ่งเวียดนามจะลดการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินและเพิ่มพลังงานหมุนเวียน

https://kmc.exim.go.th/detail/hot-issues/20210512113428ที่มา :

การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่แข็งแกร่ง ส่งผลต่อเศรษฐกิจ CLMV ได้รับอานิสงส์แตกต่างกัน

โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

ท่ามกลางมุมมองเชิงบวกต่อพัฒนาการการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในปี 2564 ที่เติบโตอย่างแข็งแกร่งหลังวิกฤติโควิดอันสะท้อนผ่านประมาณการเศรษฐกิจของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ที่ปรับคาดการณ์เศรษฐกิจโลกปี 2564 เป็น 6.0% จากคาดการณ์ครั้งก่อนที่ 5.5% นำโดยการฟื้นตัวของเศรษฐกิจขนาดใหญ่โดยเฉพาะสหรัฐฯ และจีน ซึ่งน่าจะส่งผลบวกต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจอินโดจีน (CLMV) ที่มีการพึ่งพิงภาคต่างประเทศสูง อย่างไรก็ดี ภาพการเติบโตของเศรษฐกิจโลกที่สดใสอาจส่งผลบวกต่อพัฒนาการของเศรษฐกิจอินโดจีน (CLMV) ในระดับที่แตกต่างกัน ตามความเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจโลกผ่านช่องทางต่างๆ อาทิ การส่งออก รายได้ส่งกลับของแรงงานในต่างประเทศ การลงทุนทางตรง (FDI) และการท่องเที่ยว นอกจากนี้ ปัจจัยเฉพาะในประเทศก็มีบทบาทสำคัญในการกำหนดทิศทางเศรษฐกิจด้วยเช่นกัน ทำให้เศรษฐกิจ CLMV ในภาพรวมจะได้รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ไม่เท่ากัน

เวียดนามเป็นเศรษฐกิจใน CLMV ที่ได้รับประโยชน์สูงสุดจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก จากโครงสร้างการผลิตและส่งออกที่มีสัดส่วนของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์สูง นอกจากภาคการส่งออกแล้ว การฟื้นตัวของเศรษฐกิจเวียดนามยังได้รับอานิสงส์จากรายได้นำส่งกลับของแรงงาน ซึ่งมีสัดส่วนถึงร้อยละ 5.8 ของจีดีพี เนื่องจากแรงงานเวียดนามที่ส่วนใหญ่กระจายอยู่ในไต้หวัน เกาหลีใต้และญี่ปุ่นซึ่งเป็นประเทศที่ได้รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในระดับสูง ขณะที่กัมพูชาอาจเป็นอีกเศรษฐกิจที่ได้รับแรงหนุนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกเช่นกันเนื่องจากการส่งออกของกัมพูชามีตลาดหลักอยู่ในสหรัฐฯ จีน และยุโรปซึ่งเป็นเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก นอกจากนี้ การลงทุนในกัมพูชาส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและภาคอสังหาริมทรัพย์ที่เกี่ยวข้องกับโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative : BRI) ซึ่งภาพการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนที่แข็งแกร่งย่อมส่งผลให้โครงการดังกล่าวยังเดินหน้าต่อไป ในส่วนของเศรษฐกิจสปป.ลาว คงจะได้รับแรงหนุนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่จำกัดในส่วนของการลงทุนตรงจากจีนเป็นหลัก ขณะที่ภาคการส่งออกอาจได้รับอานิสงส์จำกัด ขณะที่เมียนมา ปัจจัยการเมืองในประเทศคงเป็นปัจจัยที่มีผลในการลดทอนผลบวกจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก​

ที่มา : https://kasikornresearch.com/th/analysis/k-econ/economy/Pages/CLMV-z3213.aspx

ปี 64 เศรษฐกิจเมียนมาเจอมรสุมหนัก! คาด หดตัว 8.5%

โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย

ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่กำลังฟื้นตัวดี เศรษฐกิจเมียนมากลับเผชิญมรสุมทางการเมืองอย่างหนัก ภาพลักษณ์ของเมียนมาในสายตาชาติตะวันตกกำลังมีบทบาทลดน้อยลง จากการที่สหรัฐฯ ประกาศระงับความตกลงการค้าและการลงทุนกับเมียนมาที่มีมาตั้งแต่ปี 2556 ทำให้มียนมาต้องสูญเสียสิทธิพิเศษทางภาษีเป็นการทั่วไป (GSP) ของสหรัฐฯ และมีความเสี่ยงที่สหภาพยุโรปจะตัดสิทธิพิเศษทางการค้า EBA รวมถึงนานาชาติจะเพิ่มแรงกดดันด้านต่าง ๆ อันเป็นอุปสรรค์ต่อการทำธุรกิจในอนาคต

ตั้งแต่กองทัพเมียนมาเข้ายึดอำนาจเมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2564 ได้มีการแสดงอารยะขัดขืนเป็นวงกว้างและทวีความรุนแรงขึ้น ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจชะงักงัน เครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจทุกตัวชะลอตัวลงมากกว่าคาด ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดเศรษฐกิจเมียนมาปี 2564 อาจจะหดตัวลึกขึ้นมาอยู่ที่ราว -8.5% (กรอบประมาณการ -9.8% ถึง -7.2%) หากการประท้วงไม่ขยายวงกว้างกว่านี้และทางการสามารถควบคุมสถานการณ์เศรษฐกิจและการเมืองช่วงครึ่งปีหลังให้ดีขึ้นได้ เศรษฐกิจเมียนมาปี 2564 คาดว่าจะโน้มเอียงสู่กรอบบนประมาณการที่ -7.2% แต่หากความขัดแย้งรุนแรงลากยาวตลอดปี เศรษฐกิจอาจทรุดตัวเข้าใกล้กรอบล่างที่ -9.8%

การส่งออกผ่านชายแดนจากไทยไปเมียนมาเดือนก.พ. 2564 กลับมาหดตัวสูงที่ -21.4% ส่วนหนึ่งเพราะโควิด-19 ลุกลามอีกครั้ง และบางส่วนเพราะความไม่สงบในเมียนมาทำให้สินค้าส่วนใหญ่เริ่มหดตัวชัดเจน ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าแม้ความไม่สงบในเมียนมาอาจส่งผลมายังช่องทางการค้าบริเวณพรมแดน แต่ไม่กระทบการขนส่งสินค้าข้ามแดนมากนักเพราะเมียนมาต้องพึ่งสินค้าไทยหลายชนิด ขณะเดียวกันความกังวลต่อความไม่สงบในช่วงแรกทำให้มีการเร่งกักตุนสินค้าจากไทยค่อนข้างมาก แต่ในช่วงที่เหลือของปีด้วยกำลังซื้อและภาวะเศรษฐกิจที่จะอ่อนแรงลงเรื่อยๆ คงฉุดให้การส่งออกชายแดนไทยไปเมียนมาปีนี้หดตัวต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 ที่ -6.0% มูลค่าการส่งออก 81,890 ล้านบาท (กรอบประมาณการหดตัวที่ -8.0% หากเศรษฐกิจเมียนมาทรุดตัวตลอดปี ถึงหดตัวที่ -2.9% หากครึ่งปีหลังหลังสามารถควบคุมสถานการณ์ให้กลับมาดีขึ้นได้)​

ที่มา : https://www.kasikornresearch.com/th/analysis/k-social-media/Pages/Myanmar-Eco-23-04-2021.aspx

ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ เชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอกสาม

สถาบันยุทธศาสตร์การค้า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เผยผลสำรวจ “ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ เชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอกสาม” พบว่า นักธุรกิจกิจและสมาชิกหอการค้าไทย มีความกังวลเรื่องไม่มีวัคซีนโควิดตามแผนที่วางไว้มากถึง ร้อยละ 91.67 รองลงมามีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์โควิดที่ยืดเยื้อและไม่สามารถควบคุมได้ ร้อยละ 89.19 และเป็นห่วงเรื่องการ Lockdown มากถึงร้อยละ 78.38 และมีทัศนะต่อผลกระทบที่เกิดขึ้นในเมื่อเทียบกับโควิดระลอกที่ผ่านมา 2 รอบ คิดว่าเศรษฐกิจโดยรวมแย่ลงมากถึง ร้อยละ 48.65

และนอกจากนั้น ยังมีข้อเสนอแนะที่ภาวะเศรษฐกิจของประเทศต่อรัฐบาล ได้แก่ อยากให้เร่งดำเนินการเกี่ยวกับวัคซีนร่วมกับภาคเอกชนอย่างมีประสิทธิภาพ และอยากให้รัฐบาลเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจโดยรวม ภายใต้การจัดสรรงบประมาณตามความเหมาะสม พร้อมกำหนดและออกมาตรการที่ครอบคลุมกับทุกภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19

ที่มา: สถาบันยุทธศาสตร์การค้า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

บทบาท RCEP ต่อการค้าในกลุ่มประเทศ CLMVT

โดย ดร.ปพน เกียรติสกุลเดชา (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์

เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2020 สมาชิกทั้ง 15 ประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกได้ลงนามความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ปิดฉากการเจรจาที่ยาวนานถึง 8 ปี ของข้อตกลงทางการค้าพหุภาคี (multilateral FTA) ฉบับล่าสุดนี้ ถือเป็นข้อตกลงการค้าเสรีที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก โดยมีขนาดเศรษฐกิจรวมคิดเป็น 29% (25.8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ) ของ GDP โลก ครอบคลุมประชากรโลกราว 30% (2.3 พันล้านคน) และมีปริมาณการค้าสินค้าและบริการรวมกันคิดเป็น 25% (12.7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ) ของทั้งโลก  ซึ่งในการเจรจา RCEP กลุ่มสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศถือเป็นหัวเรือใหญ่ในการรวบรวมข้อตกลงการค้าทวิภาคี ASEAN Plus One  (ซึ่งแต่ละฉบับเป็น FTA ระหว่างกลุ่มอาเซียน 10 ประเทศกับคู่ค้าหลักร่วมกัน) เข้ากับ 5 ประเทศคู่ค้าสำคัญในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์

รูปที่ 1 : RCEP จะช่วยลดภาษีนำเข้าและมาตรการทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี (NTB) ระหว่างสมาชิกในภาคี โดยประเทศที่ได้รับผลบวกจากการลดภาษีมากที่สุดคือญี่ปุ่น จีน และนิวซีแลนด์ ซึ่งได้ประโยชน์จากการลดภาษีได้ในอัตราที่สูง ขณะที่ประเทศกลุ่มอาเซียน โดยเฉพาะ CLMVT จะได้ผลบวกน้อยกว่าเนื่องจากมีภาษีนำเข้าในอัตราที่ค่อนข้างต่ำอยู่แล้ว

สำหรับผลประโยชน์ทางการค้าจากการลดภาษีนำเข้าภายใต้ RCEP นั้น คาดได้ว่าจะเอื้อประโยชน์กับจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ รวมทั้งออสเตรเลียกับนิวซีแลนด์มากที่สุด ในขณะที่ผลประโยชน์ต่อกลุ่มประเทศอาเซียน โดยเฉพาะไทยและประเทศ CLMV นั้น คาดว่าจะอยู่ในวงจำกัด ทั้งหมดนี้เป็นสาเหตุจากการที่ RCEP นับเป็นข้อตกลงการค้าพหุภาคีฉบับแรกระหว่างจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ รวมทั้งยังเป็นข้อตกลงการค้าเสรีแรกระหว่างญี่ปุ่นและนิวซีแลนด์ จึงทำให้อัตราภาษีนำเข้าของประเทศเหล่านี้ลดลงอย่างมากจากการเติมเต็มช่องว่างเครือข่ายทางการค้า ทางฝั่งอาเซียนและประเทศ CLMVT นั้น เผชิญกับระดับภาษีนำเข้าภายในภูมิภาคที่ต่ำอยู่ก่อนแล้ว เนื่องจากกลุ่มอาเซียนมีความเชื่อมโยงกันทั้งภายใต้เขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) และ FTA แบบทวิภาคี ASEAN Plus One กับ 5 ประเทศคู่ค้าหลักที่มีอยู่เดิม

อย่างไรก็ตาม การยกเลิกมาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี (NTB) ภายใต้ RCEP จะส่งผลดีกับสมาชิกทุกประเทศอย่างทั่วถึง ต่างจากมาตรการลดภาษี ซึ่งจะทยอยมีผลบังคับใช้ตามรายการสินค้า โดย NTB ที่มีอยู่ในปัจจุบันมีต้นตอจากความแตกต่างของกฎหมายและระเบียบทางศุลกากร รวมถึงขั้นตอนการผลิตสินค้า ขั้นตอนการจดทะเบียนธุรกิจ และกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาในแต่ละประเทศในภาคี ซึ่งข้อตกลงการค้าสมัยใหม่ รวมถึง RCEP มีเป้าหมายพื้นฐานที่จะลดผลกระทบจาก NTB เหล่านี้ โดยบัญญัติข้อบทใหม่ต่าง ๆ ที่กำหนดหรือส่งเสริมให้ประเทศสมาชิกใช้กฎหมายและระเบียบบนมาตรฐานเดียวกันเพื่อสร้างการแข่งขันที่เท่าเทียม

ข้อบทใหม่ที่สำคัญที่สุดสำหรับการยกระดับ FTA ในภูมิภาครวมกันเป็น RCEP ได้แก่ การทำให้กฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า (Rules of Origin) ครอบคลุมทั้งภูมิภาค โดยก่อนการเจรจา RCEP จะเกิดขึ้นกฎ Rules of Origin ที่มีอยู่เดิมครอบคลุมแค่ประเทศในภาคีเท่านั้น หมายความว่าสินค้าที่ใช้วัตถุดิบจากประเทศนอกภาคีเป็นสัดส่วนใหญ่จะไม่เข้าข่ายว่าเป็นสินค้าที่ผลิตภายในประเทศสมาชิก จึงไม่สามารถใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีจาก FTA ได้ ตัวอย่างเช่น รถยนต์ที่ผลิตในไทยแต่ใช้ชิ้นส่วนจากญี่ปุ่น ไม่สามารถใช้สิทธิประโยชน์จากกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้าภายใต้ FTA ของอาเซียนได้ แต่หลัง RCEP มีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการแล้ว วัตถุดิบผลิตสินค้าจากทั้ง 15 ประเทศในภาคีจะถือรวมเป็นวัตถุดิบท้องถิ่นทั้งหมด ทำให้ผู้ผลิตในประเทศสมาชิกสามารถใช้สิทธิประโยชน์จากกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้าได้ง่ายขึ้น ด้วยเหตุนี้กฎ Rules of Origin ภายใต้ RCEP จะมีแนวโน้มช่วยยกระดับบทบาทของกลุ่มประเทศ CLMVT ในห่วงโซ่อุปทานของภูมิภาค โดยเฉพาะกัมพูชา ลาว และเมียนมา ที่ยังตามหลังด้านการพัฒนาอยู่ ซึ่งสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับแรงจูงใจจากเรื่องตำแหน่งที่ตั้งและค่าแรงที่ต่ำกว่าอาจทำให้อุตสาหกรรมในเอเชียตะวันออกหันมาจ้างผลิตจากกลุ่มประเทศเหล่านี้มากขึ้น

อีกประเด็นสำคัญใน RCEP ได้แก่ ความยืดหยุ่นในข้อตกลงที่มีต่อประเทศในระดับการพัฒนาที่แตกต่างกัน โดยสำหรับกัมพูชา ลาว และเมียนมา นั้น มีข้อปฏิบัติให้ลดภาษีนำเข้าลงเพียง 30% ในปีแรก (เทียบกับ 65% สำหรับประเทศอื่น) รวมทั้งขยายเวลาเป้าหมายลดภาษีนำเข้าให้ได้ 80% ภายใน 15 ปี (เทียบกับ 10 ปีสำหรับประเทศอื่น) นอกจากนี้กัมพูชายังได้รับการยืดระยะเวลาปรับปรุงเทคโนโลยีดิจิทัลที่ด่านศุลกากรออกไปอีกถึง 5 ปี อีกด้วย ข้อกำหนดเฉพาะข้างต้นจะช่วยยกระดับเศรษฐกิจ CLM ให้เข้ามามีส่วนร่วมในเครือข่ายการค้า RCEP ได้มากขึ้น โดยให้เวลาเตรียมความพร้อมกับทั้ง 3 ประเทศเพื่อปรับขั้นตอนและกฎระเบียบภายในประเทศให้เข้ากับมาตรฐานสากล แต่จำกัดผลกระทบทางลบต่อธุรกิจท้องถิ่น การทยอยปฏิรูปและปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจในประเทศ บวกกับแรงผลักดันการปรับตัวจาก RCEP จะเป็นผลดีกับการพัฒนาผลิตภาพแรงงานในกัมพูชา ลาว และเมียนมา เพิ่มเติมจากผลประโยชน์จากการค้าที่จะได้รับ

ท้ายที่สุดนี้ คำถามสำคัญที่ตามมาคือประเทศไทยจะได้อะไรจาก RCEP และภาคธุรกิจไทยควรจะวางจุดยุทธศาสตร์อย่างไร ในระยะข้างหน้า หากมองจากผลประโยชน์ต่อการขยายเครือข่ายทางการค้าในภูมิภาคนั้นไทยจัดว่าได้ประโยชน์น้อยกว่าประเทศเพื่อนบ้านเมื่อเทียบกับกัมพูชา ลาว และเมียนมา ซึ่งได้รับข้อตกลงที่ยืดหยุ่นมากกว่า ในขณะเดียวกันเวียดนามก็ได้ขยายตลาดส่งออกไปกว้างกว่ามากจากสัญญาการค้าพหุภาคีขนาดใหญ่อื่น ๆ นอกเหนือจาก RCEP (EVFTA, CPTPP, EAEU) ซึ่งทางออกสำหรับการค้าของไทยในระยะต่อไปอาจเกิดจาก

1) การเร่งดำเนินการเจรจาเข้าร่วมข้อตกลงการค้าต่าง ๆ เพิ่มเติมเพื่อรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันระยะยาว

2) ประเทศไทยอาจสามารถใช้ประโยชน์จากการเติบโตของประเทศเพื่อนบ้าน CLM ในยุคหลัง RCEP โดยธุรกิจไทยสามารถย้ายฐานการผลิตที่ใช้แรงงานสูงไปยังประเทศเหล่านี้ และหันมาเน้นผลิตสินค้าในประเทศที่สร้างมูลค่าเพิ่มจากแรงงานทักษะสูงแทน ซึ่งกฎ Rules of Origin ภายใต้ RCEP จะเป็นแรงสนับสนุนสำคัญต่อไป

ที่มา : https://www.scbeic.com/th/detail/product/7526

ศูนย์วิจัยกสิกรฯ เผยเศรษฐกิจเวียดนามไตรมาส 1/64 ฟื้นตัวต่ำกว่าคาด

โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย รายงานว่า เศรษฐกิจเวียดนามไตรมาส 1/2564 เติบโตต่ำกว่าที่คาดที่ 4.48% YoY จากเศรษฐกิจภาคบริการและการบริโภคในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิดในช่วงต้นปี 2564 ทำให้ทางการเวียดนามออกมาตรการปิดสถานที่ชั่วคราวอาทิ ร้านอาหาร โรงภาพยนตร์ และสถานบันเทิง ทั้งในฮานอยและโฮจิมินห์ ห้ามการรวมตัวของคนหมู่มาก ตลอดจนปรับลดเวลาทำการธุรกิจโดยเฉพาะบริการขนส่งสาธารณะ

  ขณะเดียวกันภาครัฐลดระดับในการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจลงเพื่อลดภาระทางการคลังหลังจากที่ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ในปีก่อน1ซึ่งครอบคลุมการปรับลดภาษีธุรกิจ การสนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ และการจ่ายเงินเยียวยาให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด ทำให้การบริโภคและกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศฟื้นตัวอย่างจำกัด

  ประกอบกับการลงทุนทางตรง (FDI) ยังคงชะลอลง โดยเฉพาะการลงทุนในโครงการใหม่ ขณะที่การนำเข้าสินค้าทุนและวัตถุดิบจากต่างประเทศที่เติบโตค่อนข้างมาก กดดันให้การเกินดุลการค้าปรับลดลง แม้ว่าภาคการส่งออกแม้ว่าจะขยายตัวได้กว่า 22% ก็ตาม

  ประเด็นการบิดเบือนค่าเงินของเวียดนามไม่ได้ส่งผลต่อภาคการส่งออกอย่างมีนัยสำคัญ หลังจากที่สหรัฐฯ จัดสถานะเวียดนามเป็นประเทศที่บิดเบือนค่าเงินในช่วงปลายปีที่ผ่านมา แต่ค่าเงินดอง (VND) ยังคงอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์ฯ ทั้งนี้ หากเทียบการอ่อนค่าระหว่างค่าเงินดองกับค่าเงินในสกุลอาเซียนจะพบว่าค่าเงินดองอ่อนค่าน้อยที่สุดเทียบกับสกุลเงินหลักในอาเซียน

   อย่างไรก็ดี การเคลื่อนไหวของค่าเงินดังกล่าวไม่ทำให้ความสามารถในการแข่งขันของเวียดนามลดลงอย่างมีนัยสำคัญเนื่องจากเวียดนามยังคงมีความได้เปรียบด้านต้นทุนการผลิตเทียบกับกลุ่มประเทศดังกล่าว ทั้งนี้ การส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐฯ ขยายตัวอย่างร้อยละ 30 ในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2564 โดยสหรัฐฯ เป็นตลาดหลักที่หนุนให้การส่งออกของเวียดนามยังคงขยายตัวในระดับสูงในปีนี้

  มองไปข้างหน้า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจเวียดนามยังคงมีทิศทางเติบโตที่เร่งขึ้นในช่วงที่เหลือของปี ทั้งนี้ การลงทุนในภาคการผลิตกลับมาเติบโตอย่างแข็งแกร่งอีกครั้ง อาจเป็นสัญญาณบวกต่อทิศทางการฟื้นตัวของภาคลงทุน เนื่องจากการลงทุนทางตรงในภาคการผลิตซึ่งมีสัดส่วนเกือบ 2 ใน 3 ของมูลค่าการลงทุนทางตรงทั้งหมดในช่วงก่อนโควิดซึ่งภาคดังกล่าวน่าจะได้รับได้รับอานิสงส์จากการย้ายฐานการผลิตออกจากจีน เนื่องจากเวียดนามมีค่าแรงต่ำกว่าจีนค่อนข้างมาก อีกทั้ง เวียดนามมีข้อตกลงการค้าที่ครอบคลุม

   ดังนั้นหากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดคลี่คลายลง น่าจะหนุนลงทุนรอบใหม่กลับมาเติบโตอีกครั้ง อย่างไรก็ดี การฟื้นตัวของภาคการบริโภคอาจต้องอาศัยเวลาอีกระยะ เนื่องจากการส่งออกที่ฟื้นตัวในช่วงแรกมาจากการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์เป็นหลัก ขณะที่ส่งออกเครื่องนุ่งห่มซึ่งเกี่ยวเนื่องกับการฟื้นตัวของกำลังซื้อในประเทศมากกว่าอาจต้องรอการฟื้นตัวของความต้องการโดยเฉพาะจากยุโรปที่ยังคงเผชิญกับการระบาดของโควิด

  ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังคงประมาณการการเติบโตของเศรษฐกิจเวียดนามที่กรอบประมาณการที่ 6.8-7.3% โดยการเติบโตของเศรษฐกิจในไตรมาส 1 ที่ออกมาต่ำกว่าคาดอาจส่งผลให้การเติบโตของเศรษฐกิจเวียดนามเข้าใกล้กรอบล่างของประมาณการมากขึ้น ทั้งนี้ ปัจจัยเสี่ยงต่อการเติบโตของเศรษฐกิจเวียดนามที่ต้องติดตาม ได้แก่ พัฒนาการของเศรษฐกิจในยูโรโซนที่กำลังเผชิญกับการระบาดของโควิดรอบใหม่ อาจส่งผลให้การฟื้นตัวของการส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มของเวียดนามมีแนวโน้มที่จะเติบโตน้อยกว่าคาด

  นอกจากนี้ ยังต้องติดตามสถานการณ์การเปิดประเทศของเวียดนาม นอกจากจะมีผลต่อภาคการท่องเที่ยวแล้วยังเป็นปัจจัยที่จะส่งผลต่อจังหวะของกระแสเงินลงทุนตรง ที่นักลงทุนโดยเฉพาะนักลงทุนรายใหม่ยังคงรอคอยการเปิดประเทศก่อนที่จะตัดสินใจลงทุนในขั้นสุดท้าย

ที่มา : /1 https://kasikornresearch.com/th/analysis/k-social-media/Pages/Vietnam-apr-FB-12-04-2021.aspx

/2 https://www.efinancethai.com/LastestNews/LatestNewsMain.aspx?ref=A&id=d1Z2b01wVFVaRVk9

‘เวียดนาม’ ทะยานสู่ ‘เสือเศรษฐกิจแห่งเอเชีย’

โดย SME Go Inter I ธนาคารกรุงเทพ

‘เวียดนาม’ ประเทศในกลุ่มอาเซียนที่มีการจัดการได้ดีที่สุด และดูเหมือนว่าเศรษฐกิจเวียดนามที่ได้รับผลกระทบน้อย ทั้งกลับมาโตได้เร็วโดยในปี 2563 เติบโตอยู่ที่ 2.91% จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ที่ 7% แต่ก็ถือว่าเป็นเพียงไม่กี่ประเทศทั่วโลกที่ GDP โตสวนกระแสเศรษฐกิจโลกที่กำลังดิ่งเหว

ความสำเร็จในการควบคุมโรคอุบัติใหม่ครั้งนี้ คุณธาราบดี ซึ้งอดิชัยวิทย์ ผู้จัดการทั่วไป ธนาคารกรุงเทพ สาขาประเทศเวียดนาม วิเคราะห์ว่า เป็นการตอกย้ำภาพลักษณ์การทำงานของรัฐบาลเวียดนามที่แก้ปัญหาดังกล่าวได้อย่างแข็งแกร่ง ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั่วโลก ทำให้เวียดนามเนื้อหอมสุดๆ ในยามนี้ ที่ทุกประเทศต่างหันหัวรบเข้าไปลงทุนด้วยมากที่สุด และที่สำคัญประเทศเวียดนามไม่ใช่คู่ขัดแย้งสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริการกับจีนเกี่ยวกับเก็บภาษีศุลกากร ทำให้นักลงทุนนานาชาติโยกย้ายฐานการผลิตและลงทุนเพื่อผลิตสินค้าส่งออกไปทั่วโลกได้อย่างไม่เป็นอุปสรรค

ดังนั้นเมื่อมองภาพรวมประเทศเวียดนามหลังจากผ่านพ้นโรคโควิด คุณธาราบดี จึงยกให้ประเทศเวียดนามเป็นเสือเศรษฐกิจตัวใหม่แห่งเอเชีย เนื่องจากเป็นประเทศที่มีศักยภาพในการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ดีที่สุดในภูมิภาคอาเซียน และมีศักยภาพการเติบโตในระยะยาวเพราะความมีเสถียรภาพทางการเมือง เข็มทิศพัฒนาประเทศมีเป้าหมายชัดเจน ที่รัฐบาลเวียดนามเร่งผลักดันการพัฒนาประเทศและเศรษฐกิจคู่ขนาน เพื่อความก้าวหน้าทัดเทียมนานาประเทศ โดยพร้อมให้การสนับสนุนการลงทุนทุกมิติจากต่างประเทศให้เข้ามาเป็นหุ้นส่วนเศรษฐกิจ

ขณะเดียวกันรัฐบาลเวียดนามยังได้ทำข้อตกลงการค้าทั่วโลก ไม่ว่าจะทำข้อตกลง FTA กับยุโรปและสหรัฐฯ รวมถึงเข้าร่วมใน ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ CPTPP (Comprehensive and Progressive Trans-pacific Partnership) ซึ่งทำให้ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีในการส่งออกสินค้าไปยังกลุ่มประเทศสมาชิก สร้างความได้เปรียบให้กับประเทศเวียดนามอย่างมาก

ที่มา : https://www.bangkokbanksme.com/en/vietnam-asian-economic-tiger