เรื่องที่ SME ไทยควรรู้ เมื่อ RCEP มีผลบังคับใช้เป็นทางการ

เมื่อวันที่ 1 ม.ค. ที่ผ่านมา เป็นดีเดย์ที่ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership : RCEP) หรือ ‘อาร์เซ็ป’ ซึ่งเป็นความตกลงการค้าเสรี (FTA) ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกจะเริ่มมีผลบังคับใช้ด้วย

ซึ่ง 15 ประเทศที่ร่วมลงนามความตกลง RCEP ประกอบด้วย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์  ไทย บรูไน เวียดนาม ลาว เมียนมา กัมพูชา จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์

จุดมุ่งหมายของความตกลงดังกล่าว คือสลายอุปสรรคทางการค้าและส่งเสริมการลงทุน เพื่อช่วยให้ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ก้าวทันประเทศอื่นในโลก ความตกลง RCEP เป็นความตกลงที่ทันสมัย ครอบคลุม คุณภาพสูง และได้รับผลประโยชน์ร่วมกันจากการเปิดเสรีการค้าสินค้า การค้าบริการ และการลงทุน อีกทั้งมีการเพิ่มความร่วมมือในด้านต่างๆ ที่เข้มข้นมากยิ่งขึ้นจากเอฟทีเอของอาเซียนกับคู่เจรจาที่มีอยู่ก่อนหน้า

 

สินค้าประเทศไทยที่ได้รับประโยชน์จาก RCEP

1.หมวดสินค้าเกษตร เช่น แป้งมันสำปะหลัง สับปะรด สินค้าประมง เป็นต้น

2.หมวดอาหาร ผักผลไม้แปรรูป น้ำส้ม น้ำมะพร้าว รวมทั้งอาหารแปรรูปอื่น ๆ

3.หมวดสินค้าอุตสาหกรรมอุปกรณ์ไฟฟ้า พลาสติก กระดาษ เคมีภัณฑ์ชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องแต่งกาย รวมทั้งจักรยานยนต์

4.หมวดบริการ หมวดการก่อสร้าง ธุรกิจด้านสุขภาพ ธุรกิจด้านภาพยนตร์ บันเทิง แอนิเมชัน

5.การค้าปลีก

 

โดยสมาชิก RCEP จะยกเลิกภาษีนำเข้าที่เก็บกับสินค้าไทย จำนวน 39,366 รายการ โดยลดภาษีเหลือ 0% ทันที จำนวน 29,891 รายการ เช่น ผลไม้สดและแปรรูป สินค้าประมง ยางพารา ผลิตภัณฑ์ยางรถยนต์และส่วนประกอบ พลาสติก เคมีภัณฑ์ ชิ้นส่วนอุปกรณ์ไฟฟ้า คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ เป็นต้น

 

ผู้ประกอบการไทยควรเตรียมตัวอย่างไร?

สิ่งที่ผู้ประกอบการ SME ควรให้ความสำคัญในการทำการค้าระหว่างประเทศในปัจจุบันก็คือ การสร้างโอกาสและแต้มต่อจากการใช้สิทธิประโยชน์จาก FTA รวมถึงความตกลง RCEP ที่จะมีผลบังคับใช้ โดยผู้ประกอบการควรเร่งเตรียมความพร้อมเรียนรู้ทำความเข้าใจกฎเกณฑ์ทางการค้าต่างๆ ของความตกลง RCEP อาทิ การเปิดตลาดการค้าสินค้า อัตราภาษีศุลกากร กฎเกณฑ์ถิ่นกำเนิดสินค้า และสิทธิประโยชน์ รวมทั้งศึกษาพฤติกรรมของผู้บริโภคในตลาดประเทศสมาชิก RCEP

เพื่อเตรียมวางแผนกลยุทธ์ทางธุรกิจและพัฒนาสินค้าให้สามารถตอบสนองความต้องการของตลาดที่เปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 ซึ่งผู้บริโภคจะให้ความสำคัญกับเรื่องมาตรฐาน คุณภาพ ความปลอดภัยของสินค้าและบริการมากขึ้น จึงจำเป็นที่ผู้ประกอบการต้องปรับตัวให้ สอดรับกับสถานการณ์ใหม่แบบ New Normal’ สร้างความเชื่อมั่น – ภาพลักษณ์ที่ดีให้กับสินค้าและบริการ ของตน ตลอดจนเตรียมพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต

ที่มา : https://www.bangkokbanksme.com/en/sme-thai-should-know-rcep

แหล่งอ้างอิง : สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม

1 ม.ค.2565 เปิดเสรี RCEP…. สร้างบรรยากาศการค้า การลงทุนในภูมิภาค แต่ไทยยังต้องเจอการแข่งขันดึงดูดการลงทุนที่มากขึ้น

โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP) นับเป็นการเปิดเสรีการค้ากับกลุ่มการค้าที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก โดยจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2565 นี้ หลังเจรจามายาวนานถึงเกือบทศวรรษ ซึ่งการเปิดเสรีการค้ากับ 15 ชาติสมาชิกจะช่วยให้การค้าระหว่างชาติสมาชิกมีความสะดวกมากขึ้นไม่ว่าจะเป็นระยะเวลาตรวจปล่อยสินค้าที่สั้นลงเหลือ 6-48 ชั่วโมง มีการนำระบบดิจิทัลเข้ามาช่วยลดความซ้ำซ้อนด้านพิธีการศุลกากร โดยการเปิดตลาดยังเสริมให้ RCEP มีความน่าสนใจ

 

การเปิดตลาดสินค้าของ RCEP มีจุดน่าสนใจอยู่ที่การลดภาษีสินค้าในกลุ่มที่ไม่เคยลดภาษีใน FTA ฉบับอื่นมาก่อน เปิดโอกาสให้สินค้าไทยเป็นที่ต้องการมากขึ้นทั้งทางตรงและทางอ้อม

 

อานิสงส์ทางตรง: การลดอัตราภาษีนำเข้าสินค้าอ่อนไหว/อ่อนไหวสูงของประเทศจีน ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ล้วนเปิดโอกาสให้แก่สินค้าศักยภาพของไทย ซึ่งก่อนหน้านี้สินค้ากลุ่มดังกล่าวยังคงมีการจัดเก็บภาษีนำเข้าอยู่แม้จะมี FTA ระหว่างอาเซียนกับคู่ภาคีหรือ Plus 5 (ประกอบด้วยอาเซียน-จีน อาเซียน-ญี่ปุ่น อาเซียน-เกาหลีใต้ อาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์) ที่ได้ลดภาษีสินค้าส่วนใหญ่ไปตั้งแต่ปี 2553 แต่นับจากวันที่ 1 มกราคม 2565 ภายใต้กรอบ RCEP ภาษีนำเข้าในสินค้าดังกล่าวจำนวนมากจะลดอัตราเหลือ 0 ทันที ในขณะที่ยังมีหลายรายการที่จะทยอยลดภาษีจนเหลือร้อยละ 0 ในปีที่ 10 และปีที่ 20 และบางรายการก็ไม่ลดภาษี

 

ดังนั้น ผู้ส่งออกอาจต้องพิจารณาเลือกใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีจากความตกลงที่ให้ประโยชน์คุ้มค่ากว่าระหว่าง FTA อาเซียนกับ Plus 5 หรือ RCEP 1) สินค้าไทยมีโอกาสทำตลาดในจีนและเกาหลีใต้ได้มากขึ้น โดยมีสินค้าอ่อนไหวหลายรายการได้ประโยชน์จาก RCEP ด้วยการลดภาษีที่มากกว่า FTA อาเซียน-จีน และ FTA อาเซียน-เกาหลีใต้ ตลาดจีน ได้แก่ สับปะรดแปรรูป ลำไยกระป๋อง น้ำมะพร้าว ยาสูบ เม็ดพลาสติก ยางสังเคราะห์ เครื่องเสียง และอุปกรณ์ไฟสำหรับรถยนต์ เป็นต้น ตลาดเกาหลีใต้ ได้แก่ ยางสังเคราะห์ อาหารทะเลสด/แปรรูป เนื้อไก่ เนื้อหมู ไม้พาติเคิลบอร์ด และข้าวโพดหวาน เป็นต้น 2) สินค้าไทยได้ประโยชน์จากการเปิดตลาดญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ค่อนข้างจำกัด เนื่องจากตลาดญี่ปุ่น ไทยมีความตกลง FTA ไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) นับว่ามีการลดภาษีให้สินค้าไทยมากที่สุด ดังตัวอย่างการส่งออกกล้วยของไทยได้โควตาปลอดภาษี เมื่อเทียบกับ FTA อาเซียน-ญี่ปุ่นที่ยังมีอัตราภาษีสูงกว่า และ RCEP ยังคงอัตราภาษีไว้ที่ระดับปกติร้อยละ 20 อย่างไรก็ดี อาหารทะเลสดและหนังดิบของไทยก็อัตราภาษีต่ำลงจากความตกลง RCEP ขณะที่ตลาดออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ได้ลดภาษีสินค้าไปทั้งหมดตั้งแต่เปิดเสรี FTA อาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ การเปิดเสรี RCEP ครั้งนี้จึงไม่มีอะไรต่างไปจากเดิม

 

อานิสงส์ทางอ้อม: การรวมตัวเป็น RCEP ในอีกด้านหนึ่งทำให้ประเทศ Plus 5 ที่ไม่เคยมี FTA ต่อกัน ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และนิวซีแลนด์ ได้มี FTA ร่วมกันเป็นครั้งแรก ส่งผลให้สินค้าขั้นกลางของไทยที่ทำตลาดได้ดีอยู่แล้วมีโอกาสขยายตัว อาทิ ยานยนต์และชิ้นส่วน เม็ดพลาสติกและผลิตภัณฑ์พลาสติก เคมีภัณฑ์ ยางพาราและผลิตภัณฑ์ยาง ชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อย่างไรก็ดี การที่ Plus 5 มีแนวโน้มค้าขายกันเองจากการลดกำแพงภาษีระหว่างกันครั้งนี้คงไม่ส่งผลให้เกิดการแย่งชิงตลาดกับสินค้าอาเซียนและสินค้าไทยที่ทำตลาดอยู่เพราะเป็นสินค้าคนละประเภทกัน

 

ปฏิเสธไม่ได้ว่าในเวลานี้ RCEP กลายเป็นความตกลงทางการค้าแบบพหุภาคีที่ใหญ่ที่สุดในโลก และใหญ่กว่าความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Comprehensive and Progressive Agreement for Trans-Pacific Partnership: CPTPP) ที่ปัจจุบันมีสมาชิก 12 ประเทศ ด้วยหลายปัจจัยบวกยิ่งทำให้ RCEP มีความพร้อมรอบด้านกลายเป็นแหล่งการลงทุนที่น่าดึงดูดที่สุดแห่งหนึ่งของโลกในฟากฝั่งเอเชีย ดังนี้

 

กฎแหล่งกำเนิดสินค้า (Rule of Origins: ROOs) ที่รวมทั้ง 15 ประเทศเข้าไว้ด้วยกันเป็นข้อได้เปรียบที่เสริมให้ RCEP เชื่อมโยงห่วงโซ่การผลิตของภูมิภาคเข้าเป็นหนึ่งเดียว นักลงทุนในประเทศสมาชิก RCEP สามารถนำเข้าปัจจัยการผลิตที่มีมูลค่าสูงจากประเทศสมาชิกผู้พัฒนาเทคโนโลยีได้สะดวกกว่า FTA อาเซียนกับ Plus 5

 

RCEP เป็น FTA ที่มีความพร้อมด้านการผลิตอย่างครบวงจรที่ประกอบด้วยกลุ่มประเทศผลิตสินค้าต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำเข้าไว้ด้วยกัน โดยความพิเศษอีกอย่างของ RCEP คือเป็นครั้งแรกที่ประเทศเจ้าของเทคโนโลยีการผลิตฝั่งเอเชียอย่างจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีได้เข้ามาอยู่ร่วมใน FTA เดียวกัน จึงมีความพร้อมในด้านการผลิตในฟากฝั่งเอเชีย

 

โดยสรุป ในเวลานี้ RCEP เป็นตลาดส่งออกสำคัญที่สุดของไทยมีมูลค่าถึง 132,704 ล้านดอลลาร์ฯ (11 เดือนแรกปี 2564) คิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 53.3 ของการส่งออกทั้งหมดของไทย ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาการส่งออกของไทยไปตลาดดังกล่าวมีสัญญาณการฟื้นตัวค่อนข้างชัดเจนขยายตัวร้อยละ 18 (YoY) นำโดยการเติบโตของตลาดเกาหลีใต้ จีน และญี่ปุ่นขยายตัวร้อยละ 38.8(YoY) ร้อยละ 25.9(YoY) และร้อยละ 10.4(YoY) ตามลำดับ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ในเชิงการค้าระหว่างประเทศนั้น ประโยชน์ส่วนเพิ่มจากการลดภาษีนำเข้าภายใต้กรอบการเปิดเสรี RCEP ส่งผลบวกต่อไทยค่อนข้างจำกัดเนื่องจากสินค้าส่วนใหญ่ได้เปิดเสรีไปแล้วตามความตกลง FTA อาเซียนกับคู่ภาคี Plus 5 ดังนั้น ผลบวกทางตรงที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจนจะอยู่ที่การส่งออกไปยังตลาดจีนและเกาหลีใต้ และเป็นสินค้าเกษตร อาหาร และสินค้าอุตสาหกรรมบางรายการที่ไทยส่งออกไม่มากนัก ขณะที่ผลบวกทางอ้อมจากการเปิดเสรีการค้าหว่างกันเป็นครั้งแรกของ Plus 5 ก็อยู่ในกลุ่มสินค้าที่ไทยอยู่ในห่วงโซ่การผลิตเดิมที่ส่งออกไปยัง Plus 5 อาทิ ยานยนต์และชิ้นส่วน เม็ดพลาสติกและผลิตภัณฑ์พลาสติก เคมีภัณฑ์ ยางพาราและผลิตภัณฑ์ยาง ชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

 

ในเชิงการลงทุน RCEP เป็นกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศขนาดใหญ่ที่มีความครอบคลุม ซึ่งช่วยให้ไทยเกาะติดไปกับห่วงโซ่การผลิตโลกในฝั่งเอเชีย แต่อานิสงส์ที่จะได้รับเม็ดเงินลงทุนยังต้องขึ้นกับการแข่งขันช่วงชิงเม็ดเงินลงทุนใหม่กับประเทศในอาเซียนด้วยกัน โดยเฉพาะกับเวียดนามและอินโดนีเซียที่ต่างก็ได้อานิสงส์นี้เหมือนกัน

ที่มา : https://kasikornresearch.com/th/analysis/k-econ/economy/Pages/RCEP-z3298.aspx

วิเคราะห์โอกาสของการเติบโตการส่งออก ระหว่างไทยกับเวียดนามในอนาคต

โดย อลงกรณ์ ธนศรีธัญญากุล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เวียดนามสามารถสร้าง Growth Story ของการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างโดดเด่น โดยเฉพาะลำดับการส่งออกในตลาดโลก  ในปัจจุบัน เวียดนามสามารถแซงหน้าทั้งมาเลเซียและไทยไปแล้ว  ในปี 2020 เวียดนามกลายเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ลำดับที่ 19 ของโลก ขณะที่ไทยและมาเลเซียเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ลำดับที่ 22 และ 23 ของโลก  หลายฝ่ายจึงกังวลว่า ไทยจะสามารถแข่งขันในการส่งออกกับเวียดนามในอนาคตได้อีกหรือไม่  เพื่อตอบคำถามดังกล่าว บทความนี้จะลองวิเคราะห์ 3 ประเด็นสำคัญคือ ส่วนแรก Growth Story ของไทยและเวียดนามแตกต่างกันหรือไม่ ส่วนที่สอง โครงสร้างภาพรวมของการส่งออกระหว่างไทยและเวียดนามเป็นอย่างไร และส่วนสุดท้าย พัฒนาการของการส่งออกของไทยและเวียดนาม รวมถึงโอกาสการแข่งขันของไทยในอนาคต

Growth Story ของไทยและเวียดนามแตกต่างกันหรือไม่

หากมองเปรียบเทียบระหว่างไทยกับเวียดนาม ความสำเร็จของการส่งออกของประเทศทั้งสองแทบไม่แตกต่างกัน เนื่องจากการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) เป็นปัจจัยให้เกิด Growth Story อย่างก้าวกระโดดในไทยและเวียดนาม  โดย Growth Story ของไทยเกิดขึ้นก่อนในช่วงทศวรรษ 1990 และ 2000 ขณะที่ Growth Story ของเวียดนามเกิดขึ้นในทศวรรษ 2010 อันเป็นผลมาจากสงครามการค้าระหว่างอเมริกากับจีน และการย้ายฐานการลงทุนระหว่างประเทศที่ผลักดันการส่งออกของเวียดนามให้เพิ่มขึ้น จนทำให้เวียดนามกลายเป็นส่วนหนึ่งของการผงาดขึ้นของเอเชีย (Rise of Asia) อย่างชัดเจน

ในสามปีที่ผ่านมา มูลค่าส่งออกสินค้าของไทยลดลงอย่างต่อเนื่อง จาก 252 พันล้านเหรียญในปี 2018 เหลือ 231 พันล้านเหรียญในปี 2020 (ลดลงร้อยละ 8.3) ขณะที่เวียดนามสามารถส่งออกเพิ่มขึ้นจาก 244 พันล้านเหรียญในปี 2018 เป็น 281 พันล้านเหรียญในปี 2020 (เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.1)  ด้วยข้อมูลการส่งออกข้างต้น จึงไม่น่าแปลกใจที่หลายคนกังวลว่าไทยกำลังเริ่มสูญเสียความสามารถในการแข่งขันระหว่างประเทศไป  อย่างไรก็ดี ความกังวลดังกล่าวยังไม่ได้ส่งสัญญาณอย่างชัดเจน เพราะช่วงที่ผ่านมา สิงคโปร์และมาเลเซียก็ประสบปัญหาการส่งออกถดถอยเช่นเดียวกัน และลำดับการส่งออกของไทยในตลาดโลกก็ไม่ได้ลดลงมากนัก (ตารางที่ 1)

โครงสร้างภาพรวมของการส่งออกระหว่างไทยและเวียดนามเป็นอย่างไร

โครงสร้างรายการสินค้าส่งออกสำคัญระหว่างไทยกับเวียดนามมีความน่าสนใจหลายประการ  อย่างแรก ไทยและเวียดนามต่างส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าเหมือนกัน แต่รายการสินค้าส่งออกสำคัญของไทยจะประกอบไปด้วย HDD แผงวงจรรวม และเครื่องปรับอากาศ ขณะที่เวียดนามจะส่งออกรายการสินค้าโทรศัพท์มือถือและส่วนประกอบของมือถือ แผงวงจรรวม และคอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊ค  ประการถัดมา ไทยและเวียดนามต่างก้าวไปเป็นผู้ส่งออกสินค้ารายใหญ่ในรายการสินค้าที่แตกต่างกัน เช่น ไทยเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ลำดับที่ 2 ของโลกในสินค้า HDD และเครื่องปรับอากาศ ขณะที่เวียดนามเป็นผู้ส่งออกโทรศัพท์มือถือรายใหญ่ลำดับที่ 2 ของโลก เป็นต้น  นอกจากนี้ ไทยและเวียดนามยังมีสินค้าเกษตรกรรมในสินค้าส่งออกสำคัญ 10 ลำดับแรกเหมือนกัน นั่นคือ ข้าว (ไทย) และเมล็ดมะม่วงหิมพานต์ (เวียดนาม) (ตารางที่ 2)

ข้อแตกต่างอย่างหนึ่งคือ โครงสร้างการส่งออกของไทยจะกระจายตัวสูงกว่าเวียดนาม โดยรายการสินค้าส่งออกสำคัญ 10 ลำดับแรกของไทยและเวียดนาม จะมีสัดส่วนมูลค่าส่งออกเป็นร้อยละ 21.6 และ 34.2  ตามลำดับ  หากสังเกตให้ดีแล้ว เวียดนามพึ่งพาการส่งออกโทรศัพท์มือถือและส่วนประกอบอย่างมาก(ร้อยละ 19.7)  อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริง ไทยและเวียดนามต่างมีระดับการกระจุกตัวของการส่งออกค่อนข้างสูง  จากรายการสินค้าตามระบบฮาร์โมไนซ์ (HS) จำนวนสิ้น 5,388 รายการ มูลค่าสินค้าส่งออกใน 100 ลำดับแรกของไทยและเวียดนามคิดเป็นสัดส่วนรวมกันสูงถึงร้อยละ 60.1 และ 69.2 ตามลำดับ ขณะที่สินค้าส่งออกลำดับรายการที่ 101 เป็นต้นไป แต่ละรายการมีสัดส่วนมูลค่าไม่ถึงร้อยละ 0.2 เท่านั้น

พัฒนาการการส่งออกของไทยและเวียดนาม โอกาสการแข่งขันของไทยในอนาคต

ในบริบทของพัฒนาการการส่งออก ไทยสามารถพัฒนาการส่งออกของประเทศได้อย่างมากแม้ต้องเผชิญปัจจัยทางลบหลายประการ และสามารถยกระดับผู้ผลิตคนไทยบางส่วนให้กลายเป็นผู้ส่งออกในหลาย ๆ รายการสินค้า หรืออาจกล่าวได้ว่าแม้ว่าการเติบโตของการส่งออกไทยจะถดถอย แต่ไทยก็ยังพื้นฐานของการส่งออกที่ดี นั่นคือ ไทยมีรายการสินค้าส่งออกสูงถึง 4,620 รายการ และมีตลาดส่งออกมากถึง 194 ประเทศ ขณะที่เวียดนามเองก็มีรายการสินค้าส่งออกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและมีสินค้าส่งออกจำนวน 4,127 รายการ แต่กลับมีตลาดส่งออกเพียง 97 ประเทศเท่านั้น (WITS Database) [1]

แม้ช่วงที่ผ่านมาไทยจะประสบปัญหาค่าจ้างแรงงานที่สูงอย่างต่อเนื่องและไม่มีแต้มต่อทางภาษีศุลกากรจากเขตการค้าเสรีในบางตลาดเหมือนดังกรณีเวียดนาม (EU-Vietnam FTA, CPTPP)  แต่ความล้มเหลวของรายการสินค้าส่งออกก็เกิดขึ้นในระดับต่ำ  งานศึกษาเกี่ยวกับความอยู่รอดของการส่งออกในไทยและประเทศคู่แข่งในภูมิภาคพบว่า จีนมีอัตราความอยู่รอดของการส่งออกสูงที่สุด และไทยยังมีอัตราความอยู่รอดของการส่งออกสูงกว่าเวียดนามในทุกรายการสินค้า หรือนับตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมา มีจำนวนรายการสินค้าส่งออกที่สามารถอยู่รอดมาโดยตลอดของไทยและเวียดนามคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 56.2 และ 27.9 ของรายการสินค้าที่ส่งออกไปตลาดต่าง ๆ ในโลก (อลงกรณ์, 2564)

หากเรามองความสามารถในการแข่งขันจากเกณฑ์การเติบโตของการส่งออกเพียงอย่างเดียว ก็คงสรุปได้ว่า ไทยเริ่มสูญเสียความสามารถในการแข่งขันในการส่งออกเมื่อเทียบกับเวียดนาม แต่บริบทของการพัฒนาการส่งออกข้างต้นจึงไม่สามารถสรุปได้ง่าย ๆ แบบนั้นได้  และที่สำคัญ เวียดนามก็ยังเผชิญปัญหาการส่งออกบางประการเช่นกัน โดยเฉพาะปัญหาการกระจุกตัวของการส่งออกที่สูงเกินไปในบางรายการ และอัตราความอยู่รอดของสินค้าส่งออกที่ต่ำกว่าไทย เรื่องดังกล่าวคงเป็นปัจจัยการเติบโตของการส่งออกของเวียดนามในอนาคต

เมื่อพิจารณาโอกาสการเติบโตของการส่งออกไทย ไทยยังคงมีพื้นฐานของการส่งออกที่ดี และสามารถต่อยอดความสำเร็จของการส่งออกในอดีตได้ เนื่องจากโครงสร้างการส่งออกไทยมีจำนวนสินค้าและตลาดส่งออกหลากหลาย ดังนั้นโอกาสการเติบโตของไทยคงต้องมุ่งกระจายการส่งออกไปยังสินค้าส่งออกที่มีศักยภาพเหมาะสมกับต้นทุนการผลิตและศักยภาพของผู้ประกอบการในประเทศ รวมถึงกระจายการส่งออกไปตลาดส่งออกต่าง ๆ เพื่อช่วยประคองรายได้จากการส่งออกจากภาวะการแข่งขันที่รุนแรงในปัจจุบัน  นอกจากนั้น ไทยยังมีโอกาสเชื่อมโยงชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ภายในประเทศเข้าไปกับเครื่องใช้ไฟฟ้าอัจฉริยะ ยานยนต์ไฟฟ้า หรือสินค้าอื่น ๆ เนื่องจากไทยมีความพร้อมของการเป็นฐานการผลิตสินค้าเหล่านั้นอยู่แล้ว เรื่องดังกล่าวน่าจะเป็นโอกาสของ Growth Story ใหม่ของไทยในอนาคตได้

ที่มา : http://www.setthasarn.econ.tu.ac.th/blog/detail/571

เจาะโอกาสส่งออกผักและผลไม้แปรรูปของเวียดนาม

โดย SME Go Inter I ธ.กรุงเทพ
Vietnam Industry and Trade Information Centre คาดการณ์ว่าผักและผลไม้แปรรูปจะมีศักยภาพที่จะเติบโตอย่างต่อเนื่อง เพราะความสะดวกและมีระยะเวลาในการเก็บรักษาที่ยาวนาน
ในช่วงปี 2559-2563 การส่งออกผักและผลไม้แปรรูปของเวียดนามเติบโตขึ้นถึงเลขสองหลักต่อปี โดยในปี 2562 การส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้น 41.2% yoy ก่อนจะตกลงสู่ระดับ 11.1% ในปี 2563
จากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ที่ยืดเยื้อ ทำให้การส่งออกผักและผลไม้แปรรูปสามารถทำรายได้ ได้มากถึง 653.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา โดยเพิ่มขึ้น 16% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า
สำหรับตลาดส่งออกผักและผลไม้แปรรูปที่สำคัญของเวียดนาม ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลียรัสเซีย และสหรัฐอเมริกา ส่วนการส่งออกของเวียดนามไปยังจีนเติบโตขึ้น 24.8% เมื่อเทียบช่วงเวลาเดียวกันในปี 2562
นอกจากนี้ คาดว่าการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 จะไม่ส่งผลกระทบทางลบต่ออุตสาหกรรมผักและผลไม้แปรรูปทั่วโลก ในทางตรงข้ามอุปทานของผักและผลไม้แปรรูปจะเพิ่มขึ้น ขณะที่การส่งออกสินค้าหรือสินค้าแช่แข็งจะลดลง เป็นเหตุให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกลุ่มผู้ผลิตสินค้า
ขณะเดียวกัน การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ได้ทำลายห่วงโซ่อุปทานการขนส่ง และทำให้ต้นทุนค่าขนส่งสูงขึ้นเนื่องจากมีจำนวนเรือและเครื่องบินจำกัด ประกอบกับการเกิดเหตุการณ์ที่เรือบรรทุกสินค้าขวางคลองสุเอซเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมาที่ทำให้ต้องขยายเวลาในการขนส่งผักและผลไม้สดออกไป
จากบริบทข้างต้นทำให้ผักและผลไม้สดที่ไม่สามารถส่งออกได้ถูกนำส่งไปยังโรงงานแปรรูปในท้องถิ่นต่างๆ และจากราคาวัตถุดิบที่ถูกลงนี้จะช่วยให้โรงงานแปรรูปสามารถขยายกำลังการผลิตเพื่อการส่งออกได้
เมื่อความต้องการและความพยายามในการขยายการผลิตของโรงงานแปรรูปในท้องถิ่นเพิ่มขึ้น ทำให้ผักและผลไม้แปรรูปในปัจจุบันมีสัดส่วน ถึง 25-30% ของมูลค่าการส่งออกผักและผลไม้รวมทั้งหมดของประเทศ โดยก่อนการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 จะอยู่ที่ประมาณ 10%
อย่างไรก็ดี อุตสาหกรรมแปรรูปผักและผลไม้ของเวียดนามยังคงเผชิญหน้ากับข้อจำกัดหลายประการ โดยหนึ่งในปัญหาดังกล่าวคือ สินค้าเวียดนามในปัจจุบันส่งออกภายใต้ชื่อแบรนด์ที่แตกต่างกันแต่ยังไม่มีแบรนด์ที่แข็งแกร่งในระดับประเทศ อีกทั้งยังขาดความเข้าใจในรสนิยมของผู้บริโภคและยังต้องปรับปรุงการสร้างห่วงโซ่อุปทานในตลาดต่างประเทศด้วย
โดยสรุปแล้ว อุตสาหกรรมแปรรูปของเวียดนามยังคิดเป็นเพียง 8-10% ของผลผลิตผักและผลไม้ที่ได้ในแต่ละปี การบริโภคก็ยังคงอยู่ในรูปแบบของสินค้าสดหรือการถนอมอาหารเบื้องต้นเพียงเท่านั้น ซึ่งความเสียหายจากการเก็บเกี่ยวยังคงอยู่ในระดับที่สูงเกินไปที่ประมาณ 20% ดังนั้นกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าของเวียดนามจึงมองว่ายังคงมีพื้นที่สำหรับผู้ประกอบการให้สามารถเข้ามาลงทุนในการพัฒนาเทคโนโลยีและส่งเสริมการส่งออกเพื่อรองรับอุปสงค์ในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้นได้

ที่มา :
1/ https://www.bangkokbanksme.com/en/export-processed-vegetables-and-fruits-of-vietnam
2/ https://the-japan-news.com/news/article/0008042350

สถานภาพธุรกิจ SME ไทย หลังโควิด-19 ปัญหาอุปสรรค และแนวทางแก้ไข

สถาบันยุทธศาสตร์การค้า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เผยผลสำรวจ สถานภาพธุรกิจไทย หลังโควิด-19 ปัญหาอุปสรรค และแนวทางแก้ไข จากกลุ่มตัวอย่าง จำนวน 625 ราย ผลการสำรวจ ดังนี้

สถานการณ์ยอดขายเมื่อเทียบกับช่วงก่อนโควิด ยอดขายของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ลดลง 65.2% โดยประเภทธุรกิจที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ การค้า 75.8% รองลงมาคือ ภาคบริการ 67.1% นอกจากนี้ ยังพบว่าผู้ประกอบการมีต้นทุนที่สูงขึ้น 60.7% ซึ่งภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบยังเป็นกลุ่มการค้า และกลุ่มบริการ ส่งผลให้กำไรลดลงโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 20.6%  และจากการสำรวจผู้ประกอบการจากปัจจัยต่าง ๆ กว่า 40.1% มีโอกาสที่ผู้ประกอบการจะปิดธุรกิจสูงมาก โดยกลุ่มธุรกิจการค้าและการบริการ เป็นกลุ่มที่เสี่ยงปิดสูง โดยต้องการวงเงินเข้ามาช่วยเหลือกิจการเพื่อเสริมสภาพคล่องเฉลี่ยอยู่ที่ 654,924 บาท และคาดว่าธุรกิจจะกลับมาเป็นปกติภายในไตรมาสที่ 4/65 แต่ปัญหาของผู้ประกอบการที่เข้าไม่ถึง คือ การไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน งบการเงินไม่ดี มีประวัติ ไม่รู้จะติดต่อธนาคารอย่างไร ดังนั้น จึงต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาดูแล และมีมาตรการช่วยเหลือเพราะเห็นว่ามาตรการที่รัฐออกมานั้นยังน้อย

ที่มา: สถาบันยุทธศาสตร์การค้า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

บริษัทค้าปลีกเสื้อผ้า-รองเท้าแบรนด์ดังกระทบหนัก หลัง “เวียดนาม” ปิดโรงงานล็อคดาวน์โควิดยาวนาน

โดย Money & Banking (การเงินการธนาคาร)

นักวิเคราะห์จาก BofA Securities เป็นธนาคารเพื่อการลงทุนข้ามชาติของอเมริกาภายใต้การดูแลของ Bank of America ระบุว่า ผลกระทบของการปิดโรงงานที่ยืดเยื้อเป็นเวลานานในเวียดนาม มีแนวโน้มว่าจะส่งผลกระทบอย่างมากกับผู้ค้าปลีดเสื้อผ้าและรองเท้าหลายรายที่วางแผนไว้สำหรับปี 2565

โดย BofA Securities มองถึงเหตุผลหลายประการสำหรับการคาดการณ์นี้ รวมข้อเท็จจริงที่ว่าการกลับมาของเศรษฐกิจในเวียดนามตอนใต้ ซึ่งมีผู้ผลิตเสื้อผ้าและรองเท้าจำนวนมาก มีการเคลื่อนไหวช้ากว่าทางตอนเหนือมาก

เนื่องจากเวียดนามประสบกับจำนวนผู้ป่วยโควิดที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรุนแรงในเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม ส่งผลให้มีการล็อคดาวน์ในพื้นที่อีกครั้ง การผลิตต้องหยุดชั่วคราวและส่งผลกระทบต่อบริษัทต่างๆ เช่น Adidas และ Nike ที่ต้องพึ่งพาภูมิภาคนี้เป็นอย่างมากในการผลิตรองเท้าผ้าใบและเสื้อผ้ากีฬา โดย BofA ตั้งข้อสังเกตว่าธุรกิจต่างๆ ได้เริ่มเปิดทำการอีกครั้งแล้ว แต่อัตราการฉีดวัคซีนยังคงต่ำกว่าอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ

Mohamed Faiz Nagutha นักเศรษฐศาสตร์ของ BofA กล่าวว่า แม้ว่ากิจกรรมการผลิตจะฟื้นตัวอย่างรวดเร็วในปีที่แล้วหลังจากการหยุดชะงักจากการแพร่ระบาดของโควิดในช่วงสั้นๆ พร้อมเสริมว่า แต่กฎการดำเนินงานโรงงานในปัจจุบันในเวียดนามยังคงเข้มงวดและซับซ้อนมาก ซึ่งอาจขัดขวางความสามารถของพนักงานในการกลับไปทำงานได้

“โดยรวมแล้ว เราคาดว่าการแพร่ระบาดจะส่งผลกระทบต่อความคาดหวังในการกลับมาดำเนินกิจกรรมการผลิตใหม่อย่างรวดเร็ว ซึ่งรวมถึงปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่ยังคงมีอยู่ ต้นทุนวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้นและการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานในส่วนอื่นๆ ของเอเชีย

ด้าน Puma ได้เตือนแล้วว่าปัญหาคอขวดในห่วงโซ่อุปทาน โดยเฉพาะในเวียดนาม จะทำให้ผลิตภัณฑ์ของบริษัทขาดแคลนในปีหน้า ขณะที่เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา Adidas ปรับลดแนวโน้มในปี 2564

ที่มา : https://www.moneyandbanking.co.th/article/news/vietnam-factory-effect-retail-market-161164

อ้างอิง : https://www.cnbc.com/2021/11/15/factory-shutdowns-in-vietnam-to-have-longer-impact-for-retailers-bofa.html

เช็คเลย สินค้าไทยตัวไหน โอกาสทองส่งออกประเทศเพื่อนบ้าน

โดย ฐานเศรษฐกิจดิจิทัล

เช็คเลย  สินค้าไทยตัวไหน ไทยส่งออกประเทศเพื่อนบ้านแล้วปังยอดขายถล่มทลาย แนะผู้ประกอบการไทย โอกาสทองในตลาดจีน มาเลเซีย สิงคโปร์ ลาว กัมพูชา เมียนมา หลังยอดส่งออกผ่านชายแดน-ผ่านแดนขยายตัวต่อเนื่อง

 

หลังจากเห็นยอดส่งออกสินค้าชายแดนและผ่านแดน ขยายตัวสุดปัง 9 เดือน ขยายตัว38%   ทั้งปี ตั้งเป้าขยายตัว 3% ต้องทำตัวเลขการส่งออกให้ได้ 789,198 ล้านบาท แสดงให้เห็นว่า โอกาสของสินค้าไทยที่ส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ยังคงมีโอกาสขยายตัวต่อเนื่องทั้งปี  ซึ่งปัจจัยสนับสนุนการส่งออกยังคงเป็นค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มอ่อนค่า ซึ่งช่วยให้สินค้าไทยสามารถแข่งขันด้านราคาได้มากขึ้น   บวกกับความต้องการที่เพิ่มขึ้นในสินค้าจำเป็นทั้งเพื่อการอุปโภคบริโภค และสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการ Work From Home และการป้องกันหรือรักษาโรคในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งสินค้าไทยยังคงได้รับความนิยมและเป็นที่ต้องการในตลาดเพื่อนบ้าน

 

สินค้าไหนของไทยที่ส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้านแล้วยอดขายถล่มทลายและมีโอกาสโตในอนาคต ต้องบอกว่า “มาเลเซีย” ถือว่าเป็นประเทศส่งออกอันดับ 1 ของไทย ซึ่งสินค้าที่ ส่งออกสำคัญๆ ที่ยังขยายตัวเป็นบวกมาอย่างต่อเนื่อง  ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ฯ  ,ยางพารา , และเครื่องวีดิโอ เครื่องเสียงฯ

 

“เมียนมา” สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ สายไฟฟ้า สายเคเบิ้ล ,น้ำมันดีเซล , และปุ๋ย

“กัมพูชา” สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ 1,รถยนต์นั่ง , เครื่องจักรกลและส่วนประกอบอื่น ๆ

“สปป.ลาว” สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ ทองคำยังไม่ได้ขึ้นรูป , น้ำมันดีเซล , น้ำมันสำเร็จรูปอื่น ๆ

 

ส่วน การค้าผ่านแดนไปประเทศที่สาม ซึ่งประกอบด้วย  จีน สิงคโปร์ เวียดนาม และประเทศอื่น ๆ   จะเห็นได้ว่าในเดือนกันยายนไทยส่งออกสินค้าผ่านแดน  มีมูลค่าการส่งออก 43,000 ล้านบาท ขยายตัวสูงถึง +31.95% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน  โดยมี “จีน” เป็นตลาดส่งออกอันดับหนึ่ง สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์, ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง ,%) ยางพารา, ไม้แปรรูป และผลิตภัณฑ์ยาง

 

รองลงมาเป็น “สิงคโปร์” สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ฯ , เครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบฯ , และแผงวงจรไฟฟ้า , และอันดับสาม “เวียดนาม”  สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์และไดโอด ,เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ และหม้อแบตเตอรี่และส่วนประกอบ

 

ผู้ประกอบการไทยคงต้องเร่งมองหาโอกาสและพัฒนาสินค้าให้มีคุณภาพอาศัยความได้เปรียบจากค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงในช่วงนี้เร่งเจาะตลาดประเทศเพื่อนบ้านให้มากขึ้น และคาดการณ์ว่าความต้องการสินค้าไทยยังคงมีอย่างต่อเนื่องด้วยภาพลักษณ์ของสินค้าไทยที่เป็นที่ยอมรับของทั่วโลก

ที่มา : https://www.thansettakij.com/economy/503105

รถไฟจีน-สปป.ลาว” มองโอกาสและความท้าทายของผู้ประกอบการไทย

โดย Marketeer Team

รถไฟจีน-สปป.ลาว จะเริ่มใช้งานอย่างเป็นทางการในวันที่ 2 ธันวาคม 2564 โดยรถไฟสายนี้เชื่อมคุนหมิงของจีนกับเวียงจันทน์ของ สปป. ลาวเข้าด้วยกัน และอยู่ภายใต้ยุทธศาสตร์ Belt and Road Initiative (BRI) มีระยะทาง 1,020 กิโลเมตร (แบ่งเป็นระยะทาง 598 กิโลเมตรในจีน และ 422 กิโลเมตรใน สปป. ลาว) สามารถวิ่งทำความเร็วขนส่งผู้โดยสารได้ถึง 160 กิโลเมตร/ชั่วโมง และสำหรับการบรรทุกสินค้าสามารถวิ่งได้ 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง โดยจะเน้นการขนส่งสินค้าเป็นหลัก สะท้อนจากจำนวนขบวนขนส่งสินค้าต่อวันที่สูงกว่าขบวนขนส่งผู้โดยสาร

การค้าระหว่างไทยกับจีนมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการส่งออกของไทยไปยังจีนผ่านทางถนนซึ่งมีสัดส่วนราวร้อยละ 20 ของการส่งออกไปยังจีนทั้งหมด มีการขยายตัวขึ้นอย่างน่าจับตาในระยะ 5 ปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ มิติใหม่ของการขนส่งด้วยรถไฟไปจีนผ่านช่องทาง จ. หนองคาย จะช่วยเพิ่มโอกาสให้กับสินค้าไทยด้วยความสามารถในการช่วยลดระยะเวลา และต้นทุนการขนส่งสินค้าไปยังนครคุนหมิง มณฑลยูนนาน จึงนับว่ารถไฟที่เกิดขึ้นสายนี้เป็นเสมือนช่องทางขนส่งใหม่อีกทางที่น่าสนใจ

นอกจากนี้ เส้นทางรถไฟยังบรรจบกับเส้นทางหลักของไทยที่ใช้ขนส่งสินค้าไปยังนครคุนหมิง มณฑลยูนนาน ซึ่งก็คือ เส้นทาง R3A ผ่านทาง จ. เชียงราย ที่เมืองบ่อเต็น แขวงหลวงน้ำทา สปป. ลาว ดังนั้น รถไฟสายใหม่นี้จึงน่าจะช่วยเพิ่มศักยภาพในการขนส่งสินค้าไทยผ่านช่องทางดังกล่าวขึ้นไปอีก

ทั้งนี้ ในระยะเวลาอันใกล้ รถไฟจะช่วยเพิ่มทางเลือกในการส่งออกของไทยไปยังจีน ด้วยรูปแบบการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ (Multimodal Transport) ซึ่งจะขับเคลื่อนการค้าระหว่างประเทศไทยและจีนให้เร่งขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

ยูนนานจะเป็นประตูที่เปิดโอกาสสำหรับสินค้าไทยสู่จีนตะวันตก โดยเฉพาะไปยังนครเฉิงตูและนครฉงชิ่งซึ่งเป็นศูนย์กลางการผลิตใหม่ (New Production Hub) และรัฐบาลจีนตั้งเป้าให้เป็นเมืองศูนย์กลางทางเศรษฐกิจผ่านนโยบายการพัฒนาความเป็นเมือง นอกจากนี้ ยูนนานยังสามารถเชื่อมต่อกับเมืองใหญ่หลายแห่งในจีนด้วยรถไฟความเร็วสูง

ยิ่งไปกว่านั้น ปัจจุบันจีนมีเส้นทางขนส่งสินค้าทางรางไปยังเอเชียกลาง รัสเซีย และยุโรป ดังนั้น ในระยะข้างหน้า การขนส่งทางรางจะเป็นโหมดการขนส่งศักยภาพของสินค้าไทยไปยังตลาดสำคัญอย่างยุโรปซึ่งเดิมมีการขนส่งทางเรือเป็นหลักเท่านั้น และอาจจะเป็นช่องทางในการแสวงตลาดใหม่อย่างเอเชียกลางได้ในอนาคต

ที่มา : https://marketeeronline.co/archives/239559

CPTPP vs RCEP เมื่อจีนสนใจเข้าเป็นสมาชิก

โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย (KResearch)

การประชุม ครม. เมื่อ 12 ตุลาคม 2564 ได้หารือเรื่องความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Comprehensive and Progressive Agreement for Trans-Pacific Partnership: CPTPP) ซึ่งการพิจารณาเข้าร่วมความตกลงดังกล่าวกลับมาเป็นประเด็นอีกครั้งเมื่อจีนหันมาสนใจสมัครสมาชิก เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ตามมาด้วยไต้หวัน รวมถึงสหราชอาณาจักรที่สมัครเป็นสมาชิกเมื่อต้นปี โดยท่าทีของนานาชาติโดยเฉพาะจีนยิ่งทำให้ประเทศที่มีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้าอย่างใกล้ชิดกับจีนหวนกลับมาพิจารณา CPTPP อย่างจริงจังอีกครั้ง

 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้วิเคราะห์เปรียบเทียบใน 2 กรณี กรณีที่ 1 ปัจจุบันไทยและจีนต่างเป็นสมาชิกในความตกลงพันธมิตรทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคหรือ RCEP (Regional Comprehensive Economic Partnership) ที่กำลังรอการเปิดเสรีอย่างเป็นทางการ กรณีที่ 2 หาก CPTPP รับอังกฤษ ไต้หวัน จีนรวมถึงไทยเข้าเป็นสมาชิกใหม่ ซึ่งการที่ไทยอยู่ในกลุ่มย่อมไม่พลาดโอกาสการเข้าถึงตลาดสำคัญได้ทัดเทียมคู่แข่งในอาเซียน ทั้งยังกลายเป็น FTA ที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดมีสัดส่วนถึง 1 ใน 3 ของ GDP โลก แซงหน้า RCEP โดยภายใต้สมมติฐานว่าไทยและจีนร่วมเป็นสมาชิกในทั้ง 2 กรอบความตกลงมีข้อสังเกตความแตกต่าง ดังนี้

  • มิติของการเข้าถึงตลาด: RCEP เป็นกรอบการค้าที่ใกล้ตัวไทยมากที่สุดและไทยมี FTA กับแต่ละประเทศสมาชิกมานาน การรวมตัวที่เกิดขึ้นจึงไม่ทำให้ภาพการแข่งขันของสินค้าไทยต่างไปจากที่เป็นอยู่ ขณะที่ CPTPP จะทำให้ไทยมี FTA กับตลาดใหม่มากกว่า RCEP ได้แก่ เม็กซิโก แคนาดา อังกฤษและไต้หวัน ซึ่งเป็นโอกาสทองของไทยในการส่งออกผลิตภัณฑ์ยาง ผลไม้ อาหารทะเลไปยังแคนาดา ส่งออกยานยนต์ โทรศัพท์ HDDs ไปเม็กซิโก ส่งออกไก่แปรรูปและรถจักรยานยนต์ไปอังฤษ รวมถึงการส่งออกเครื่องปรับอากาศและชิ้นส่วนยานยนต์ไปไต้หวัน
  • มิติของการผลิต: CPTPP และ RCEP ล้วนเป็น FTA แบบพหุภาคีที่มีจุดเด่นเหมือนกันตรงที่การเป็นกลุ่มเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่รวมหลายประเทศให้เป็นหนึ่งเดียว อานิสงส์ให้นักลงทุนสามารถเคลื่อนย้ายปัจจัยการผลิตได้อย่างคล่องตัว ต่างกันตรงที่ RCEP เป็นการกระชับฐานการผลิตและตลาดในฝั่งเอเชียได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด แต่ CPTPP กลับมีความน่าสนใจมากกว่าด้วยการรวมแหล่งผลิตจากหลายพื้นที่ทั้งภูมิภาคอเมริกา ยุโรปและเอเชียจึงนับเป็นจุดขายสำคัญที่ยังไม่มี FTA ฉบับใดในโลกมีเอกลักษณ์เช่นนี้
  • มิติด้านกฎระเบียบ: RCEP กำหนดกฎเกณฑ์การเปิดตลาดการค้าและการลงทุนเป็นหลักเท่านั้น แต่ CPTPP เป็นการรวมตัวในเชิงลึกมากกว่า FTA ทั่วไปครอบคลุมการเปิดเสรีด้านอื่นๆ อาทิ มาตรฐานแรงงาน มาตรฐานสิ่งแวดล้อม การไหลของข้อมูลอย่างเสรีและการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ จึงปฏิเสธไม่ได้ว่า CPTPP เป็นความท้าทายในการยกระดับกฎระเบียบของแต่ประเทศสมาชิกที่ยากจะหลีกเลี่ยงผลกระทบที่ตามมาเพื่อให้ปฏิบัติได้ตามกรอบเวลาที่ได้ตกลงกันไว้

โดยสรุป หากทั้งไทยและจีนอยู่ในความตกลง CPTPP ภาคอุตสาหกรรมการผลิต การส่งออกของไทยที่พึ่งพาเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาตินับว่าได้อานิสงส์ค่อนข้างชัดเจนจากการเข้าถึงตลาดใหม่สามารถแข่งขันได้ทัดเทียมกับคู่แข่งของไทย ทั้งยังคว้าโอกาสได้มีส่วนร่วมในห่วงโซ่การผลิตขนาดใหญ่ที่มีศักยภาพในการรวบปัจจัยการผลิตจากหลายพื้นของโลก ต่างจาก RCEP ที่ไทยได้ประโยชน์จำกัดเฉพาะภูมิภาคเอเชียเป็นหลัก อย่างไรก็ดี CPTPP ก็มีประเด็นอ่อนไหวที่ภาครัฐต้องชั่งน้ำหนัก โดยเฉพาะเงื่อนไขที่ไม่ได้ระบุไว้ใน RCEP ในเรื่องข้อปฏิบัติทางทรัพย์สินทางปัญญาที่อิงกับหลักเกณฑ์สากลไม่ว่าจะเป็นความเข้มงวดในการปรับใช้สิทธิบัตรยา และการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ที่จะส่งผลต่อประชาชนและเกษตรกรในวงกว้าง แม้ไทยต้องดำเนินการปรับตัวในเรื่องนี้อยู่แล้วแต่ก็นับเป็นเรื่องท้าทายสำหรับไทยที่จะต้องปรับตัวภายใต้กรอบเวลาที่ตกลงไว้กับ CPTPP ซึ่งโจทย์สำคัญของทางการไทยคงอยู่ที่การสร้างความเข้าใจที่ชัดเจนและถูกต้องรวมถึงแผนงานบรรเทาผลกระทบจึงจะช่วยผ่อนคลายแรงตึงเครียดลงได้

ที่มา :

/1 https://www.kasikornresearch.com/th/analysis/k-econ/economy/Pages/CPTPP-z3282.aspx

/2 https://www.moneyandbanking.co.th/article/news/kresearch-cptpp-rcep-01112021

ดัชนีความเชื่อมั่นนักธุรกิจต่างชาติในไทย ไตรมาสที่ 3/2564

สถาบันยุทธศาสตร์การค้า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้เผย ‘ดัชนีความเชื่อมั่นนักธุรกิจต่างประเทศ ไตรมาสที่ 3 ปี 2564  (สิงหาคม-ตุลาคม 2564)  ซึ่งสำรวจความเห็นจากกลุ่มตัวอย่างที่เป็นหอการค้าต่างประเทศประจำประเทศไทย 29 ประเทศ จำนวน 66 ราย พบว่าดัชนีความเชื่อมั่นนักธุรกิจต่างชาติโดยรวมอยู่ที่ระดับ 41.7 เพิ่มขึ้นจาก 27.7 ในไตรมาสก่อนหน้า หลังจากรัฐบาลประกาศคลายล็อกดาวน์และเตรียมเปิดประเทศในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 นี้ ทำให้ความเชื่อมั่นของนักธุรกิจต่างชาติปรับตัวดีขึ้น

ผลสำรวจด้านธุรกิจที่นักลงทุนต่างชาติกำลังเผชิญอยู่พบว่า อันดับแรกคือ ความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจ จากต้นทุนการดำเนินการที่สูงขึ้น อาทิเช่น ค่าขนส่ง ค่าเงินที่ผันผวน ภาระทางภาษี และการขาดแรงงานในการผลิต  (21.7%) รองลงมาคือ ธุรกิจขาดสภาพคล่อง ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนจากสถาบันทางการเงินได้ รวมถึงขาดการสนับสนุนจากทางภาครัฐ (18.1%) และธุรกิจคู่ค้าส่วนใหญ่ปิดตัวลงเป็นการชั่วคราวหรือถาวร ส่งผลให้เกิดการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน (15.7%)

ขณะเดียวกันสิ่งที่นักธุรกิจต่างชาติต้องการให้รัฐบาลไทยสนับสนุนและแก้ไขปัญหา คือ 1) มีแผนควบคุมโควิด-19 ที่ชัดเจน  2)นโยบายการให้เงินอุดหนุน ค่าจ้าง ค่าเช่า ฯ ต่อภาคธุรกิจและเอสเอ็มอี ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 3) แก้ไขกฎระเบียบที่ซับซ้อนในการเข้ามาลงทุน ให้มีความทันสมัย เอื้อต่อการลงทุน รวมถึงกระบวนการขอVisa และWork Permit ให้ง่ายขึ้น และ 4)จัดหาวัคซีนมาฉีดให้ประชาชนให้เร็วที่สุดและทั่วถึงที่สุด และผ่อนปรนมาตรการโควิดเพื่อให้ภาคธุรกิจดำเนินกิจการได้สะดวกขึ้น

ทั้งนี้สิ่งที่ต้องการให้รัฐบาลสนับสนุน เพื่อแก้ไขปัญหาทางธุรกิจ คือ 1) ปรับปรุงกฎหมายกฎระเบียบ ที่เกี่ยวกับการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว (FBA) ให้มีความทันสมัย เอื้อต่อการลงทุน รวมถึงกระบวนการขอ Visa และ Work Permit ง่ายขึ้น 2) สร้างการเข้าถึงแหล่งเงินทุน สนับสนุนซอฟต์โลน และมาตรการพักทรัพย์พักหนี้ แก่ผู้ประกอบการที่ได้ผลกระทบ โดยเฉพาะผู้ประกอบการ SMEs ทั้งธุรกิจไทยและต่างประเทศ และ 3) สร้างเสถียรภาพทางการเมือง ลดขั้นตอนในการดำเนินงาน

ที่มา: สถาบันยุทธศาสตร์การค้า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย