‘เวียดนาม’ คาดปีนี้ ต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ทะลุ 13 ล้านคน

กระทรวงวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยวของเวียดนาม เปิดเผยว่ารัฐบาลปรับคาดการณ์นักท่องเที่ยวต่างชาติในปีนี้ อยู่ที่ 12.5-13 ล้านคน จากเดิมประมาณ 8 ล้านคน เพิ่มขึ้น 56% จากแผนที่ตั้งเป้าไว้ตั้งแต่ต้นปี ซึ่งการปรับแผนประมาณการดังกล่าวมาจากได้รับสัญญาณเชิงบวกในเดือนกันยายนที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเกินกว่า 1.05 ล้านคน และนับเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกันที่มีนักท่องเที่ยวเกิน 1 ล้านคน อีกทั้ง สำนักงานการท่องเที่ยวแห่งชาติเวียดนาม ระบุว่าในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ 8.9 ล้านคน และนักท่องเที่ยวในประเทศ 93.5 ล้านคน โดยวชาวเกาหลีใต้เป็นนักท่องเที่ยวต่างขาติเดินทางเข้าเวียดนามมากที่สุด 2.6 ล้านคน รองลงมาจีน และไต้หวัน (จีน)

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/vietnam-expects-to-welcome-13-million-foreign-visitors-this-year/268987.vnp

‘เมียนมา’ เผยราคาน้ำตาลพุ่ง หลังจำหน่ายน้ำตาลสด

จากข้อมูลของตลาดน้ำตาล ระบุว่าราคาน้ำตาลในประเทศพุ่งสูงอีกครั้ง เพียงสองเดือนก่อนที่จะจำหน่ายน้ำตาลชนิดใหม่ออกสู่ตลาด สำนักข่าวท้องถิ่นเมียนมา GNLM เปิดเผยข้อมูลตลาดน้ำตาลในย่างกุ้ง (28 ก.ย.66) พบว่าราคาน้ำตาลขายส่ง อยู่ที่ 3,750 จ๊าตต่อวิสส์ อย่างไรก็ดี ราคาขายส่งปรับตัวเพิ่มขึ้น 3,800 จ๊าตต่อวิสส์ในวันที่ 29 ก.ย. ทั้งนี้ ผู้ค้าน้ำตาลรายหนึ่งบอกกับสำนักข่าวเมียนมาว่าราคาประมูลน้ำตาลที่ขายให้กับโรงงาน ก่อนที่โรงงานจะเริ่มดำเนินการ ทำให้ราคาน้ำตาลในตลาดเพิ่มสูงขึ้น

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/sugar-price-peaks-again-two-months-before-release-of-fresh-sugar/#article-title

ก.ย. อัตราเงินเฟ้อ สปป.ลาว ลดลงเล็กน้อย ด้านรัฐบาลเล็งใช้แผนลดค่าครองชีพ

สปป.ลาว รายงานอัตราเงินเฟ้อประจำเดือนกันยายนอยู่ที่ร้อยละ 25.69 ลดลงเล็กน้อยจากเดือนสิงหาคมที่ร้อยละ 25.88 ตามข้อมูลของธนาคารแห่ง สปป.ลาว ด้านนายกรัฐมนตรี Sonexay Siphandone ย้ำถึงความสำคัญของภาคธุรกิจในการรับมือกับสถานการณ์อัตราแลกเปลี่ยน และรักษาเสถียรภาพราคาสินค้า โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ อาทิเช่น ข้าว เนื้อสัตว์ ปลา และไข่ เพื่อลดผลกระทบจากภาวะเงินเฟ้อ อีกทั้งนายกฯ ยังได้เสนอการสนับสนุนและติดตามความคืบหน้าของโครงการลงทุนจากต่างชาติที่ได้รับอนุมัติอย่างใกล้ชิด โดยกลยุทธ์ดังกล่าวมีจุดมุ่งหมายเพื่อดึงดูดเงินตราต่างประเทศเข้ามายัง สปป.ลาว เพิ่มขึ้น รวมถึงเร่งรัดการชำระบัญชีโครงการผ่านระบบธนาคาร ด้านปัญหาเงินเฟ้อในประเทศที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เกิดจากปัจจัยหลายประการ หนึ่งในนั้นคือการอ่อนค่าของสกุลเงินกีบ รวมถึงสภาวะขาดแคลนแรงงาน เนื่องจากแรงงานในประเทศไหลออกไปยังประเทศที่มีค่าตอบแทนสูงกว่า ซึ่งส่งผลทำให้รายได้ภาคครัวเรือนไม่สามารถเติบโตได้ทันอัตราเงินเฟ้อ ทำให้ต้นทุนในการดำเนินชีวิตของภาคประชาชนได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าว

ที่มา : https://laotiantimes.com/2023/10/03/inflation-rate-sees-slight-drop-in-september-government-takes-aim-at-rising-cost-of-living/

นายกฯ ประกาศ รัฐบาลกัมพูชาจะยังไม่มีการขึ้นภาษีและไม่มีการกำหนดอัตราภาษีใหม่

นายกรัฐมนตรีฮุน มาเน็ต ชี้แจงอย่างชัดเจนว่ารัฐบาลใหม่ของกัมพูชา (RGC) จะไม่กำหนดภาษีใหม่ใดๆ หรือเพิ่มอัตราภาษีที่มีอยู่ แต่คงไว้ซึ่งการยกเว้นภาษีในปัจจุบัน สำหรับกิจกรรมทางเศรษฐกิจบางประเภท โดยกล่าวไว้ในระหว่างการปราศรัยกับคนงาน-ลูกจ้าง จากโรงงานต่างๆ ที่ตั้งอยู่ในเขตเมียนเจยและดังกอร์ ของกรุงพนมเปญ ซึ่งนายกรัฐมนตรี ฮุน มาเน็ต กล่าวว่า ปัจจุบันรัฐบาลได้บังคับใช้กฎหมายทางด้านภาษีที่มีอยู่เพียง 13 ฉบับ ซึ่งเรียกเก็บมานานหลายทศวรรษนับตั้งแต่ปี 1982 ถึงแม้รัฐบาลกัมพูชาจะมีแนวทางในการปรับขึ้นภาษีในอนาคตให้ทัดเทียมนานาประเทศ แต่ด้วยสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ยังไม่แน่นอนและเพื่อเป็นการช่วยเหลือภาคธุรกิจและภาคประชาชน ที่กำลังประสบกับความยากลำบาก รัฐบาลจึงพิจารณาไม่ปรับขึ้นภาษีในระยะนี้ จนกว่าสถานการณ์ทางเศรษฐกิจจะกลับมาสู่ภาวะปกติ เพื่อที่จะนำภาษีที่จัดเก็บได้มาพัฒนาและปรับปรุงประเทศ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501370884/no-new-tax-nor-tax-rise-says-pm/

ญี่ปุ่นทุ่มงบ 700 ล้านดอลลาร์ พัฒนาถนนสาย “National Road 5”

องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JICA) สำนักงานกัมพูชาร่วมมือกับกระทรวงโยธาธิการและการขนส่ง (MPWT) มุ่งเป้าปรับปรุงถนนแห่งชาติหมายเลข 5 จากเปรกดำถึงเมืองปอยเปต ระยะทางรวม 366 กิโลเมตร โดยคาดว่าค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างประมาณ 709.35 ล้านดอลลาร์ ซึ่งปัจจุบันญี่ปุ่นได้ทุ่มเงินกว่า 600 ล้านดอลลาร์ เพื่อปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานในเส้นทางดังกล่าว จาก 2 เลน เป็น 4 เลน ตลอดชายแดนกัมพูชา-ไทย ไปจนถึงชายแดนเวียดนาม ตามรายงานคาดว่าค่าใช้จ่ายในโซนภาคเหนือจะมีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ประมาณ 156.43 ล้านดอลลาร์ ทอดยาวจากพระตะบองถึงศรีโสภณ ในขณะที่ภาคใต้คาดว่าจะใช้เม็ดเงินลงทุนมูลค่า 246.36 ล้านดอลลาร์ ครอบคลุมตั้งแต่เปรกดำถึง Thlea Ma’am และภาคกลางเน้นที่การปรับปรุงสภาพของถนนที่มีอยู่ตั้งแต่ Thlea Ma’am ถึงพระตะบอง และศรีโสภณถึงเมืองปอยเปต ที่มูลค่าประมาณ 306.57 ล้านดอลลาร์ โดยโครงการนี้คาดว่าจะเพิ่มความสะดวกในการสัญจรและปรับปรุงประสิทธิภาพการขนส่งให้กับกัมพูชาไปยังชายแดน ซึ่งในช่วงที่ผ่านมามีรถยนต์สันจรบนเส้นทางสายดังกล่าวมากกว่า 7 ล้านคัน เพิ่มขึ้นถึง 400% เมื่อเทียบกับปี 2010

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501370866/japan-provided-over-700m-to-upgrade-national-road-5/

กกร.ชง 3 เรื่อง วางอุตสาหกรรมยั่งยืน EEC-จัดการน้ำ-คาร์บอนเครดิต พบ ต.ค.น้ำลดเหลือ 55% หวั่นเกิดวิกฤติน้ำขาด เร่งรัฐรับมือจัดการน้ำยั่งยืน

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยในฐานะประธาน กกร.เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย โดย กกร.ได้จัดประชุมคณะกรรมการประจำเดือนตุลาคม 2566ว่า เนื่องจากสถานการณ์เศรษกิจโลกชะลอตัว จากปัจจัยความไม่แน่นอนต่างๆ ทำให้ประเทศที่เป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจได้รับผลกระทบ จึงส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย แนวโน้มโน้มเศรษฐกิจของไทยจึงขยายตัวได้ในกรอบ 2.5-3.0% ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญที่กำลังเกิดขึ้นและส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตโดยตรง คือ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ปรากฎการณ์เอลนีโญ ที่จะมีผลกระทบต่อภาคการเกษตร และภาคอุตสาหกรรม รวมถึงราคาพลังงานในตลาดโลกที่มีทิศทางสูงขึ้นซึ่งอาจจะมีผลต่อราคาพลังงานในประเทศหลังจากช่วงการลดราคาตามนโยบายของรัฐสิ้นสุดลง ดังนั้นข้อเรียกร้องสำคัญของ กกร. ที่ต้องการให้รัฐบาลเข้ามาเร่งแก้ไขปัญหา ซึ่งเกี่ยวข้องกับทิศทางการขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างยั่งยืนของประเทศ คือ ลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน EEC เพื่อดึงดูดการลงทุนต่อเนื่อง โดยมีประเด็นสำคัญที่จะต้องขับเคลื่อนต่อเนื่อง ตามร่างแผนภาพรวมเพื่อการพัฒนา EEC ระยะที่ 2 บริบทการเปลี่ยนแปลงที่มีผลต่อ EEC การจัดกลุ่ม Cluster อุตสาหกรรมเป้าหมาย ระหว่างปี 2566-2570 ตาม 5 แนวทาง ประกอบด้วย 1) ส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายและบริการแห่งอนาคต 2) เพิ่มประสิทธิภาพและการใช้ประโยชน์โครงสร้างพื้นฐาน และระบบสาธารณูปโภค 3) ยกระดับทักษะแรงงานให้พร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีและนวัตกรรม 4) พัฒนาเมืองให้มีความทันสมัยน่าอยู่อาศัยและเหมาะสมกับการประกอบอาชีพ 5) เชื่อมโยงประโยชน์จากการลงทุนสู่ความยั่งยืนของชุมชน โดยเฉพาะการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ EEC ให้มีความเพียงพอต่อการใช้งานในภาคอุตสาหกรรมและเป็นการสร้างความมั่นใจถึงความพร้อมกับนักลงทุนต่างชาติ

ที่มา : https://www.thaiquote.org/content/251251

อาเซียน-แคนาดา ถกทำ FTA รอบ 5 คืบหน้าต่อเนื่อง นัดรอบ 6 พ.ย.นี้

นายรัชวิชญ์ ปิยะปราโมทย์ รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยถึงผลการประชุมเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) อาเซียน-แคนาดา รอบที่ 5 ณ เมืองบาหลี สาธารณรัฐอินโดนีเซีย เมื่อวันที่ 25-29 ก.ย.2566 ที่ผ่านมา ว่า การประชุมรอบนี้ ได้เน้นหารือ 9 กลุ่ม ได้แก่ การค้าบริการ บริการโทรคมนาคม บริการด้านการเงิน การลงทุน พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ทรัพย์สินทางปัญญา กฎหมายและสถาบัน การค้าสินค้า และกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า ส่วนอีก 4 กลุ่ม ได้หารือผ่านทางออนไลน์ ได้แก่ พิธีการศุลกากรและการอำนวยความสะดวกทางการค้า มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช อุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า และวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย

ทั้งนี้ คณะกรรมการเจรจาการค้าได้กำชับให้คณะทำงานเจรจาทุกคณะ หารืออย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ได้ความคืบหน้าเพิ่มเติมก่อนการประชุมรอบที่ 6 ในเดือน พ.ย.2566 พร้อมทั้งกำหนดแผนที่จะประชุมกันอีก 5 รอบ ในปี 2567 เพื่อให้อาเซียนและแคนาดาสามารถสรุปผลการเจรจาภายในปี 2568 ตามที่รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนและแคนาดาได้ตั้งเป้าหมายไว้

ที่มา : https://commercenewsagency.com/news/6408

‘ธนาคารโลก’ หั่นคาดการณ์เศรษฐกิจเวียดนามเหลือ 4.7% ปีนี้

จากรายงานการวิเคราะห์แนวโน้มเศรษฐกิจมหภาคและสถานการณ์ความยากจนในเวียดนามของธนาคารโลก เปิดเผยว่าได้ปรับลดคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนามในปีนี้ ชะลอตัวลงเหลือเพียง 4.7% และกลับมาฟื้นตัวดีขึ้นที่ 5.5% ในปี 2567 และ 6.0% ในปี 2568 โดยธนาคารโลกมองว่าเศรษฐกิจที่เติบโตช้าลง เป็นผลมาจากการบริโภคของภาคเอกชนที่ลดลง ตลาดอสังหาฯ ตกต่ำ และอุปสงค์ภายนอกที่ชะลอตัวลงอย่างมาก นอกจากนี้ อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปี 2566 คาดว่าจะอยู่ที่ 3.5% เนื่องจากเงินเดือนข้าราชการเพิ่มขึ้น

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/wb-projects-vietnam-s-economic-growth-to-slow-to-4-7-this-year-2197044.html

‘S&P Global’ เผยดัชนี PMI ภาคการผลิตเวียดนาม ปรับตัวลดลงเล็กน้อย มียอดคำสั่งซื้อใหม่ เดือน ก.ย.

รายงานของ S&P Global ระบุว่าดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตของเวียดนาม เดือน ก.ย.66 อยู่ที่ระดับ 49.7 จากระดับ 50.5 ในเดือน ส.ค.66 ได้ส่งสัญญาถึงภาวะถดถอยทางธุรกิจแก่ภาคอุตสาหกรรมในเวียดนาม ถึงแม้ว่ายอดคำสั่งซื้อใหม่จะเพิ่มขึ้นเป็นครั้งที่สองติดต่อกัน อย่างไรก็ดี จากข้อมูลพื้นฐานแสดงให้เห็นว่าสภาพแวดล้อมทางการตลาดมีความแข็งแกร่งและความเชื่อมั่นทางธุรกิจดีขึ้น แต่หากพิจารณาในภาพรวมยังเผชิญกับอุปสรรคหลากประการ ได้แก่ ภาวะเงินเฟ้อสูง ผลผลิตและการจ้างงานลดลง ต้นทุนวัตถุดิบและราคาผลผลิตที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1594585/viet-nam-records-21-68-billion-trade-surplus-in-nine-months.html

‘เมียนมา’ ส่งออกสินค้าประมงครึ่งปีแรก กว่า 40 ประเทศทั่วโลก ทะลุ 270 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

U Nyunt Win อธิบดีกรมประมง กล่าวว่าในช่วงครึ่งปีแรก (เม.ย.-ก.ย.) เมียนมาส่งออกสินค้าประมงไปยังตลาดต่างประเทศกว่า 40 ประเทศทั่วโลก ทำรายได้ราว 270 ล้านดอลลาร์สหรัฐของปีงบประมาณปัจจุบัน 2566-2567 โดยตลาดส่งออกสินค้าประมงสำคัญของเมียนมา ได้แก่ ญี่ปุ่น ตะวันออกกลาง สหภาพยุโรป มาเลเซีย จีนไทเป และออสเตรเลีย ทั้งนี้ สหพันธ์ประมงเมียนมาและกรมประมงร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด เพื่อสนับสนุนการส่งออกสินค้าประมง ตลอดจนเมียนมาปฏิบัติตามกฎระเบียบและมาตรฐานของประเทศผู้นำเข้าอย่างเคร่งครัด

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/myanmars-fishery-exports-to-over-40-foreign-countries-bag-us270-mln-in-h1/#article-title