เวียดนาม เล็งขยายเส้นทางเดินเรือไปยังกัมพูชาและไทย

ผู้ประกอบการเวียดนามร้องขอให้รัฐบาลช่วยขยายเส้นทางเดินเรือขนส่งระหว่างเกาะฟูโกว๊กของประเทศเวียดนาม ไปยังชายฝั่งประเทศกัมพูชาและไทย ซึ่งเดิมเป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงด้านความร่วมมือช่องทางการเดินเรือชายฝั่งทะเล ระหว่างเวียดนาม กัมพูชา และไทย ที่เคยมีการตกลงกันก่อนหน้านี้ ในปี 2014 โดยความร่วมมือด้านการขนส่งทางชายฝั่งคาดว่าจะเพิ่มโอกาสมากขึ้นสำหรับเรือบรรทุกสินค้าขนาดกลางและขนาดเล็กในเส้นทางระหว่างไทย-กัมพูชา-เวียดนาม ซึ่งคาดว่าจะช่วยเพิ่มการลงทุนในสามประเทศ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501046123/vietnam-seeks-shipping-navigation-route-expansion-with-cambodia-thailand/

กัมพูชาสนับสนุนการก่อสร้างท่าเทียบเรือและห้องเย็น สำหรับกิจกรรมทางการค้า

กระทรวงโยธาธิการและการขนส่งกัมพูชา สนับสนุนการจัดตั้งศูนย์กระจายสินค้าและห้องเย็นในบริเวณท่าเทียบเรือใกล้กับท่าเรือพนมเปญในจังหวัดกันดาล ซึ่งคาดว่าจะเป็นส่วนสำคัญในการส่งเสริมกิจกรรมทางด้านการค้าระหว่างประเทศ ในส่วนของการก่อสร้างห้องเย็นจะทำการลงทุนโดย บริษัท InfraCo Asia ผ่านบริษัท Khmer Cold Chain Company โดยห้องเย็นแห่งนี้จะมีพื้นที่ให้บริการมากกว่า 36,000 ลูกบาศก์เมตร เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดที่เพิ่มขึ้น และเพื่อตอบสนองต่อผู้ประกอบการในท้องถิ่น ซึ่งคาดว่าโครงการลงทุนดังกล่าวจะก่อให้เกิดประโยชน์อื่นๆ อีกมากมายแก่นักลงทุน ผู้ค้า นักธุรกิจ และประชาชนทั่วไป ที่ต้องการใช้บริการของบริษัทเพื่ออำนวยความสะดวกในการส่งออกและนำเข้าสินค้าต่อไป

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501045913/cross-docking-and-cold-storage-facility-to-serve-export-import-activities/

จุรินทร์ รวมพลหามาตรการดูแลผลไม้ปี’65 รุกส่งออกดันให้โต 15%

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการเป็นประธานการประชุมติดตามความคืบหน้ามาตรการแก้ไขปัญหาผลไม้ปี 2565 และการแก้ไขปัญหาการส่งออกผลไม้ ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ว่าจากการประเมินผลผลิตผลไม้ทั่วประเทศปีนี้ คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 13% หรือมีปริมาณ 5.4 ล้านตัน โดยได้กำหนดมาตรการเชิงรุกในการผลักดันการส่งออกและดูแลผลไม้มี 17+1 ดูแลผลผลิตผลไม้และมีการเตรียมตลาดรองรับไว้แล้ว 450,000 ตัน ส่วนที่เหลือจะเป็นไปตามกลไกตลาด ที่เกษตรกรผลิตผลไม้ที่ได้คุณภาพ ล้งรับซื้อตามมาตรฐานและราคาที่เป็นธรรม ผู้ประกอบการและผู้ส่งออกดำเนินการเตรียมการส่งออกต่อไป สำหรับผลไม้ไทย ตลาดใหญ่คือประเทศจีน ตลาดจีนส่งออกปี 2564 มีมูลค่า 163,000 ล้านบาท ปริมาณ 2,200,000 ตัน ซึ่งการส่งออกไปจีนทำได้ 3 เส้นทางหลักมีสัดส่วน คือ ทางเรือ 51% ทางบก 48% และทางอากาศ 0.54% ขณะที่เป้าหมายการส่งออกผลไม้ในปี 2565 กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศได้กำหนดเป้าหมายการส่งออกไว้ที่ 15% โดยมีมูลค่าอยู่ที่ 287,500 ล้านบาท

ที่มา : https://www.prachachat.net/economy/news-893317

ต้นทุนขนส่งจุดเปลี่ยนส่งออก

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า การส่งออกในปีนี้ กระทรวงพาณิชย์มั่นใจว่าจะยังสามารถขยายตัวได้ โดยตั้งเป้าหมายการส่งออกขยายตัว 4% เนื่องจากมองเห็นปัจจัย การแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอนจะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญจึงต้องกำหนดตัวเลขด้วยความระมัดระวัง แต่ล่าสุดปัจจัยสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน จะเป็นปัจจัยหลักกดดันการส่งออกของประเทศ เพราะถึงแม้ว่าการส่งออกโดยตรงระหว่างไทยรัสเซียและยูเครนจะมีตัวเลขไม่มากนัก แต่ผลกระทบทางอ้อมต้องยอมรับว่าหนัก ปิดท่าเรือสำคัญ 2 แห่ง การขนถ่ายสินค้าล่าช้า ราคาน้ำมัน,ค่าระวางเรือพุ่งขึ้นไม่หยุด

ที่มา : https://www.innnews.co.th/video/general-news-clips/news_310036/

การผลิตรถยนต์ต่ำ ฉุดซัพพลายเออร์ชิ้นส่วนยานยนต์เวียดนาม

ปริมาณการผลิตรถยนต์ขั้นต่ำอยู่ที่ 50,000 คันต่อปี สำหรับการเติบโตของอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์เวียดนาม แต่มีผู้ผลิตเพียงไม่กี่รายที่สามารถบรรลุระดับการผลิตยานยนต์ดังกล่าวได้ ผู้ผลิตยานยนต์อย่างโตโยต้า (Toyota) และฮุนได้ (Hyundai) ผ่านเกณฑ์ระดับการผลิตยานยนต์ในปี 2564 ด้วยปริมาณการผลิตยานยนต์ 64,172 และ 56,028 คัน ตามลำดับ ในขณะที่เกีย (Kia) ไม่ผ่านระดับการผลิตยานยนต์อยู่ที่ 35,181 คัน รองลงมาวินฟาสต์ (VinFast) 34,746 คัน และมิตซูบิชิ (Mitsubishi) 26,346 คัน

ทั้งนี้ คุณ Truong Thị Chí Bình ผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันยุทธศาสตร์และนโยบายอุตสาหกรรมและการค้าเวียดนาม กล่าวว่าระดับการผลิตยานยนต์ขั้นต่ำถือเป็นความล้มเหลวของอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ของเวียดนาม และปริมาณการผลิตที่อยู่ในระดับต่ำ แสดงให้เห็นถึงความต้องการชิ้นส่วนยานยนต์ในประเทศต่ำ ทำให้ซัพพลายเออร์ไม่กล้าที่จะลงทุนในสายการผลิตใหม่

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1166036/low-level-of-car-production-holds-back-vietnamese-auto-part-suppliers.html

เคราะห์ซ้ำกรรมซัด “ความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน” ซ้อน “โควิด” กระทบธุรกิจเวียดนาม

บรรดาผู้ประกอบการเวียดนามต้องเผชิญกับอุปสรรคทางการส่งออกไปยังประเทศรัสเซีย ยูเครนและเบลารุส ประกอบกับผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของค่าขนส่งและธนาคารของรัสเซียถูกตัดออกจากระบบสวิฟต์ (SWIFT) ซึ่งเป็นระบบการชำระเงินระหว่างประเทศ อีกทั้งธุรกิจจำนวนมากที่ยังคงมีปัญหาจากการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน

ทั้งนี้ นาย Nguyen Dang Hien ผู้อำนวยการของบริษัท Tan Quang Minh Manufacturing and Trading Company Limited (TQM) เป็นบริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์เครื่องดื่ม กล่าวว่าบริษัทอยู่ในช่วงฟื้นตัว แต่ยังคงดิ้นรนกับปัญหาห่วงโซ่อุปทานในปัจจุบัน อาทิ คู่ค้าต่างชาติปิดค้าขายในช่วงการแพร่ระบาดและการนำเข้าวัตถุดิบใช้เวลานานกว่าแต่ก่อน ผลลัพธิดังกล่าวได้ผลักดันต้นทุนการผลิตสูงขึ้น แต่กิจการไม่สามารถขึ้นราคาสินค้าได้มากนัก

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/ukraine-conflict-covid-make-it-doublewhammy-for-vietnamese-businesses/223860.vnp

เวียดนามขยายการสนับสนุนภาคการลงทุนในสปป.ลาว

เวียดนามตกลงที่จะให้ความช่วยเหลือภาคการลงทุนในสปป.ลาวต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งผ่านการฝึกอบรมด้านเทคนิคสำหรับเจ้าหน้าที่ฝ่ายวางแผนและการลงทุน ภายใต้ข้อตกลงดังกล่าว เวียดนามจะจัดให้มีการฝึกอบรมเกี่ยวกับการลงทุนของภาคเอกชนและเขตเศรษฐกิจพิเศษ วิธีจัดการและจัดสรรเงินทุนสำหรับโครงการลงทุนภาครัฐและโครงการช่วยเหลือต่างประเทศ สนับสนุนความทันสมัยของภาคการวางแผนและการลงทุนของสปป.ลาวโดยการปรับปรุงและพัฒนาโปรแกรมการจัดการที่ล้ำสมัย ที่จัดทำโดยกระทรวงการวางแผนและการลงทุนของเวียดนาม ทั้งหมดนี้จะส่งเสริมความร่วมมือระหว่างสองประเทศและส่งเสริมการจัดการการลงทุนสำหรับธุรกิจในแต่ละประเทศ ตลอดจนมีบทบาทสำคัญในการร่วมกันส่งเสริมวิสาหกิจที่ได้ทำข้อตกลงในการดำเนินการตามแผน

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_Vietnam_57_22.php

ไตรมาสแรกของปีงบฯ 64-65 เมียนมาส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูป พุ่งขึ้น 18.6% เมื่อเทียบกับปีก่อน

สำนักงานสถิติ กระทรวงการวางแผนและการเงินของเมียนมา เผย การส่งออกเสื้อผ้าในช่วงไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2564-2565 เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.6 เมื่อเทียบกับไตรมาสแรกของปีงบประมาณก่อน โดยมีมูลค่าการส่งออกมากกว่า 1,055 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ  ขณะที่การส่งออกของไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2563-2564 มีมูลค่าอยู่ที่ 889.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งการส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปเพิ่มขึ้นสามเท่าจาก 337 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2553 เป็นเกือบ 1 พันล้านดอลลาร์ในปี 2557

โดยสินค้าส่งออกหลักของเมียนมา ได้แก่ ข้าว, ถั่ว, ข้าวโพด และสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มในกลุ่ม CMP (Cut–Make-Pack) ในบรรดาสินค้าส่งออกจะพบว่า เครื่องนุ่งห่ม (เสื้อผ้าสำเร็จรูป) เพิ่มขึ้นมากกว่า 4 เท่าใน 5 ปี ถือเป็นสินค้าที่มีอนาคตมากที่สุดในภาคการส่งออกของประเทศ ซึ่งเมียนมาจะใช้กระบวนการแบบรับจ้างผลิต ในการตัดเย็บและบรรจุภัณฑ์ (CMP) โดยนำเข้าสินค้าสิ่งทอจากต่างประเทศและนำมาตัดเย็บภายในประเทศ

ด้านสมาคมผู้ผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปเมียนมา เผยสหภาพยุโรป เป็นหนึ่งประเทศชั้นนำที่นำเข้าเสื้อผ้าสำเร็จรูป ตามมาด้วย ญี่ปุ่น, เกาหลี, สหรัฐอเมริกา ฯลฯ ทั้งนี้ในปี 2558 การส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปมีมูลค่าสูงถึง 1.46 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็น 10% ของการส่งออกสินค้าทั้งหมด

ที่มา : https://news-eleven.com/article/227890

EuroCham Cambodia และ GMAC ลงนาม MoU สนับสนุนกัมพูชา

EuroCham Cambodia และ GMAC ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MoU) ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนบริษัทตัดเย็บเสื้อผ้าของยุโรปและแบรนด์แฟชั่นที่ได้ดำเนินการอยู่ในกัมพูชา ผ่านความร่วมมืออย่างใกล้ชิดระหว่างสองสมาคมและกลุ่มสมาชิก สู่การเพิ่มมูลค่าการส่งออกระหว่างสหภาพยุโรป โดยมูลค่าการส่งออกของกัมพูชาในหมวดสินค้าเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า อยู่ที่ 11.38 พันล้านดอลลาร์ในปี 2021 ซึ่งส่วนใหญ่ส่งออกไปยังสหภาพยุโรป แต่ในขณะเดียวกันส่วนแบ่งการตลาดของกัมพูชาในตลาดส่งออกสำคัญอย่างสหรัฐฯ กลับปรับตัวลดลง โดยเฉพาะในปี 2021 ที่มีส่วนแบ่งการตลาดอยู่ที่ร้อยละ 4.87 จากในปี 2020 ที่กัมพูชามีส่วนแบ่งการตลาดอยู่ที่ร้อยละ 13.30 ตามข้อมูลการนำเข้าจากสำนักงานสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มแห่งสหรัฐฯ (OTEXA)

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501045339/eurocham-cambodia-and-gmac-ink-agreement-to-better-support-european-brands-sourcing-from-cambodia/

จีนให้คำมั่น เพิ่มการนำเข้าสินค้าเกษตรจากัมพูชา

จีนแสดงความมุ่งมั่นที่จะนำเข้าข้าวและผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรอื่น ๆ จากกัมพูชามากขึ้นหลังจากข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) ระหว่างกัมพูชาและจีนมีผลบังคับใช้ไปเมื่อต้นปีที่ผ่านมา โดยวางแผนนำเข้าข้าวและผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรอื่นๆ อาทิเช่น กล้วย มะม่วง และลำไย เป็นสำคัญ ซึ่งการส่งออกของกัมพูชาไปยังจีนเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 39 หรือคิดเป็นมูลค่า 1.51 พันล้านดอลลาร์ในปีที่แล้ว จากข้อมูลของกระทรวงเกษตรกัมพูชา โดยในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2022 การส่งออกข้าวของกัมพูชามีมูลค่ารวมกว่า 103,000 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 35 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2021

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501045760/china-vows-to-increase-import-of-cambodian-agricultural-products/