วิเคราะห์โอกาสของการเติบโตการส่งออก ระหว่างไทยกับเวียดนามในอนาคต

โดย อลงกรณ์ ธนศรีธัญญากุล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เวียดนามสามารถสร้าง Growth Story ของการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างโดดเด่น โดยเฉพาะลำดับการส่งออกในตลาดโลก  ในปัจจุบัน เวียดนามสามารถแซงหน้าทั้งมาเลเซียและไทยไปแล้ว  ในปี 2020 เวียดนามกลายเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ลำดับที่ 19 ของโลก ขณะที่ไทยและมาเลเซียเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ลำดับที่ 22 และ 23 ของโลก  หลายฝ่ายจึงกังวลว่า ไทยจะสามารถแข่งขันในการส่งออกกับเวียดนามในอนาคตได้อีกหรือไม่  เพื่อตอบคำถามดังกล่าว บทความนี้จะลองวิเคราะห์ 3 ประเด็นสำคัญคือ ส่วนแรก Growth Story ของไทยและเวียดนามแตกต่างกันหรือไม่ ส่วนที่สอง โครงสร้างภาพรวมของการส่งออกระหว่างไทยและเวียดนามเป็นอย่างไร และส่วนสุดท้าย พัฒนาการของการส่งออกของไทยและเวียดนาม รวมถึงโอกาสการแข่งขันของไทยในอนาคต

Growth Story ของไทยและเวียดนามแตกต่างกันหรือไม่

หากมองเปรียบเทียบระหว่างไทยกับเวียดนาม ความสำเร็จของการส่งออกของประเทศทั้งสองแทบไม่แตกต่างกัน เนื่องจากการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) เป็นปัจจัยให้เกิด Growth Story อย่างก้าวกระโดดในไทยและเวียดนาม  โดย Growth Story ของไทยเกิดขึ้นก่อนในช่วงทศวรรษ 1990 และ 2000 ขณะที่ Growth Story ของเวียดนามเกิดขึ้นในทศวรรษ 2010 อันเป็นผลมาจากสงครามการค้าระหว่างอเมริกากับจีน และการย้ายฐานการลงทุนระหว่างประเทศที่ผลักดันการส่งออกของเวียดนามให้เพิ่มขึ้น จนทำให้เวียดนามกลายเป็นส่วนหนึ่งของการผงาดขึ้นของเอเชีย (Rise of Asia) อย่างชัดเจน

ในสามปีที่ผ่านมา มูลค่าส่งออกสินค้าของไทยลดลงอย่างต่อเนื่อง จาก 252 พันล้านเหรียญในปี 2018 เหลือ 231 พันล้านเหรียญในปี 2020 (ลดลงร้อยละ 8.3) ขณะที่เวียดนามสามารถส่งออกเพิ่มขึ้นจาก 244 พันล้านเหรียญในปี 2018 เป็น 281 พันล้านเหรียญในปี 2020 (เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.1)  ด้วยข้อมูลการส่งออกข้างต้น จึงไม่น่าแปลกใจที่หลายคนกังวลว่าไทยกำลังเริ่มสูญเสียความสามารถในการแข่งขันระหว่างประเทศไป  อย่างไรก็ดี ความกังวลดังกล่าวยังไม่ได้ส่งสัญญาณอย่างชัดเจน เพราะช่วงที่ผ่านมา สิงคโปร์และมาเลเซียก็ประสบปัญหาการส่งออกถดถอยเช่นเดียวกัน และลำดับการส่งออกของไทยในตลาดโลกก็ไม่ได้ลดลงมากนัก (ตารางที่ 1)

โครงสร้างภาพรวมของการส่งออกระหว่างไทยและเวียดนามเป็นอย่างไร

โครงสร้างรายการสินค้าส่งออกสำคัญระหว่างไทยกับเวียดนามมีความน่าสนใจหลายประการ  อย่างแรก ไทยและเวียดนามต่างส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าเหมือนกัน แต่รายการสินค้าส่งออกสำคัญของไทยจะประกอบไปด้วย HDD แผงวงจรรวม และเครื่องปรับอากาศ ขณะที่เวียดนามจะส่งออกรายการสินค้าโทรศัพท์มือถือและส่วนประกอบของมือถือ แผงวงจรรวม และคอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊ค  ประการถัดมา ไทยและเวียดนามต่างก้าวไปเป็นผู้ส่งออกสินค้ารายใหญ่ในรายการสินค้าที่แตกต่างกัน เช่น ไทยเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ลำดับที่ 2 ของโลกในสินค้า HDD และเครื่องปรับอากาศ ขณะที่เวียดนามเป็นผู้ส่งออกโทรศัพท์มือถือรายใหญ่ลำดับที่ 2 ของโลก เป็นต้น  นอกจากนี้ ไทยและเวียดนามยังมีสินค้าเกษตรกรรมในสินค้าส่งออกสำคัญ 10 ลำดับแรกเหมือนกัน นั่นคือ ข้าว (ไทย) และเมล็ดมะม่วงหิมพานต์ (เวียดนาม) (ตารางที่ 2)

ข้อแตกต่างอย่างหนึ่งคือ โครงสร้างการส่งออกของไทยจะกระจายตัวสูงกว่าเวียดนาม โดยรายการสินค้าส่งออกสำคัญ 10 ลำดับแรกของไทยและเวียดนาม จะมีสัดส่วนมูลค่าส่งออกเป็นร้อยละ 21.6 และ 34.2  ตามลำดับ  หากสังเกตให้ดีแล้ว เวียดนามพึ่งพาการส่งออกโทรศัพท์มือถือและส่วนประกอบอย่างมาก(ร้อยละ 19.7)  อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริง ไทยและเวียดนามต่างมีระดับการกระจุกตัวของการส่งออกค่อนข้างสูง  จากรายการสินค้าตามระบบฮาร์โมไนซ์ (HS) จำนวนสิ้น 5,388 รายการ มูลค่าสินค้าส่งออกใน 100 ลำดับแรกของไทยและเวียดนามคิดเป็นสัดส่วนรวมกันสูงถึงร้อยละ 60.1 และ 69.2 ตามลำดับ ขณะที่สินค้าส่งออกลำดับรายการที่ 101 เป็นต้นไป แต่ละรายการมีสัดส่วนมูลค่าไม่ถึงร้อยละ 0.2 เท่านั้น

พัฒนาการการส่งออกของไทยและเวียดนาม โอกาสการแข่งขันของไทยในอนาคต

ในบริบทของพัฒนาการการส่งออก ไทยสามารถพัฒนาการส่งออกของประเทศได้อย่างมากแม้ต้องเผชิญปัจจัยทางลบหลายประการ และสามารถยกระดับผู้ผลิตคนไทยบางส่วนให้กลายเป็นผู้ส่งออกในหลาย ๆ รายการสินค้า หรืออาจกล่าวได้ว่าแม้ว่าการเติบโตของการส่งออกไทยจะถดถอย แต่ไทยก็ยังพื้นฐานของการส่งออกที่ดี นั่นคือ ไทยมีรายการสินค้าส่งออกสูงถึง 4,620 รายการ และมีตลาดส่งออกมากถึง 194 ประเทศ ขณะที่เวียดนามเองก็มีรายการสินค้าส่งออกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและมีสินค้าส่งออกจำนวน 4,127 รายการ แต่กลับมีตลาดส่งออกเพียง 97 ประเทศเท่านั้น (WITS Database) [1]

แม้ช่วงที่ผ่านมาไทยจะประสบปัญหาค่าจ้างแรงงานที่สูงอย่างต่อเนื่องและไม่มีแต้มต่อทางภาษีศุลกากรจากเขตการค้าเสรีในบางตลาดเหมือนดังกรณีเวียดนาม (EU-Vietnam FTA, CPTPP)  แต่ความล้มเหลวของรายการสินค้าส่งออกก็เกิดขึ้นในระดับต่ำ  งานศึกษาเกี่ยวกับความอยู่รอดของการส่งออกในไทยและประเทศคู่แข่งในภูมิภาคพบว่า จีนมีอัตราความอยู่รอดของการส่งออกสูงที่สุด และไทยยังมีอัตราความอยู่รอดของการส่งออกสูงกว่าเวียดนามในทุกรายการสินค้า หรือนับตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมา มีจำนวนรายการสินค้าส่งออกที่สามารถอยู่รอดมาโดยตลอดของไทยและเวียดนามคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 56.2 และ 27.9 ของรายการสินค้าที่ส่งออกไปตลาดต่าง ๆ ในโลก (อลงกรณ์, 2564)

หากเรามองความสามารถในการแข่งขันจากเกณฑ์การเติบโตของการส่งออกเพียงอย่างเดียว ก็คงสรุปได้ว่า ไทยเริ่มสูญเสียความสามารถในการแข่งขันในการส่งออกเมื่อเทียบกับเวียดนาม แต่บริบทของการพัฒนาการส่งออกข้างต้นจึงไม่สามารถสรุปได้ง่าย ๆ แบบนั้นได้  และที่สำคัญ เวียดนามก็ยังเผชิญปัญหาการส่งออกบางประการเช่นกัน โดยเฉพาะปัญหาการกระจุกตัวของการส่งออกที่สูงเกินไปในบางรายการ และอัตราความอยู่รอดของสินค้าส่งออกที่ต่ำกว่าไทย เรื่องดังกล่าวคงเป็นปัจจัยการเติบโตของการส่งออกของเวียดนามในอนาคต

เมื่อพิจารณาโอกาสการเติบโตของการส่งออกไทย ไทยยังคงมีพื้นฐานของการส่งออกที่ดี และสามารถต่อยอดความสำเร็จของการส่งออกในอดีตได้ เนื่องจากโครงสร้างการส่งออกไทยมีจำนวนสินค้าและตลาดส่งออกหลากหลาย ดังนั้นโอกาสการเติบโตของไทยคงต้องมุ่งกระจายการส่งออกไปยังสินค้าส่งออกที่มีศักยภาพเหมาะสมกับต้นทุนการผลิตและศักยภาพของผู้ประกอบการในประเทศ รวมถึงกระจายการส่งออกไปตลาดส่งออกต่าง ๆ เพื่อช่วยประคองรายได้จากการส่งออกจากภาวะการแข่งขันที่รุนแรงในปัจจุบัน  นอกจากนั้น ไทยยังมีโอกาสเชื่อมโยงชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ภายในประเทศเข้าไปกับเครื่องใช้ไฟฟ้าอัจฉริยะ ยานยนต์ไฟฟ้า หรือสินค้าอื่น ๆ เนื่องจากไทยมีความพร้อมของการเป็นฐานการผลิตสินค้าเหล่านั้นอยู่แล้ว เรื่องดังกล่าวน่าจะเป็นโอกาสของ Growth Story ใหม่ของไทยในอนาคตได้

ที่มา : http://www.setthasarn.econ.tu.ac.th/blog/detail/571

เจาะโอกาสส่งออกผักและผลไม้แปรรูปของเวียดนาม

โดย SME Go Inter I ธ.กรุงเทพ
Vietnam Industry and Trade Information Centre คาดการณ์ว่าผักและผลไม้แปรรูปจะมีศักยภาพที่จะเติบโตอย่างต่อเนื่อง เพราะความสะดวกและมีระยะเวลาในการเก็บรักษาที่ยาวนาน
ในช่วงปี 2559-2563 การส่งออกผักและผลไม้แปรรูปของเวียดนามเติบโตขึ้นถึงเลขสองหลักต่อปี โดยในปี 2562 การส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้น 41.2% yoy ก่อนจะตกลงสู่ระดับ 11.1% ในปี 2563
จากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ที่ยืดเยื้อ ทำให้การส่งออกผักและผลไม้แปรรูปสามารถทำรายได้ ได้มากถึง 653.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา โดยเพิ่มขึ้น 16% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า
สำหรับตลาดส่งออกผักและผลไม้แปรรูปที่สำคัญของเวียดนาม ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลียรัสเซีย และสหรัฐอเมริกา ส่วนการส่งออกของเวียดนามไปยังจีนเติบโตขึ้น 24.8% เมื่อเทียบช่วงเวลาเดียวกันในปี 2562
นอกจากนี้ คาดว่าการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 จะไม่ส่งผลกระทบทางลบต่ออุตสาหกรรมผักและผลไม้แปรรูปทั่วโลก ในทางตรงข้ามอุปทานของผักและผลไม้แปรรูปจะเพิ่มขึ้น ขณะที่การส่งออกสินค้าหรือสินค้าแช่แข็งจะลดลง เป็นเหตุให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกลุ่มผู้ผลิตสินค้า
ขณะเดียวกัน การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ได้ทำลายห่วงโซ่อุปทานการขนส่ง และทำให้ต้นทุนค่าขนส่งสูงขึ้นเนื่องจากมีจำนวนเรือและเครื่องบินจำกัด ประกอบกับการเกิดเหตุการณ์ที่เรือบรรทุกสินค้าขวางคลองสุเอซเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมาที่ทำให้ต้องขยายเวลาในการขนส่งผักและผลไม้สดออกไป
จากบริบทข้างต้นทำให้ผักและผลไม้สดที่ไม่สามารถส่งออกได้ถูกนำส่งไปยังโรงงานแปรรูปในท้องถิ่นต่างๆ และจากราคาวัตถุดิบที่ถูกลงนี้จะช่วยให้โรงงานแปรรูปสามารถขยายกำลังการผลิตเพื่อการส่งออกได้
เมื่อความต้องการและความพยายามในการขยายการผลิตของโรงงานแปรรูปในท้องถิ่นเพิ่มขึ้น ทำให้ผักและผลไม้แปรรูปในปัจจุบันมีสัดส่วน ถึง 25-30% ของมูลค่าการส่งออกผักและผลไม้รวมทั้งหมดของประเทศ โดยก่อนการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 จะอยู่ที่ประมาณ 10%
อย่างไรก็ดี อุตสาหกรรมแปรรูปผักและผลไม้ของเวียดนามยังคงเผชิญหน้ากับข้อจำกัดหลายประการ โดยหนึ่งในปัญหาดังกล่าวคือ สินค้าเวียดนามในปัจจุบันส่งออกภายใต้ชื่อแบรนด์ที่แตกต่างกันแต่ยังไม่มีแบรนด์ที่แข็งแกร่งในระดับประเทศ อีกทั้งยังขาดความเข้าใจในรสนิยมของผู้บริโภคและยังต้องปรับปรุงการสร้างห่วงโซ่อุปทานในตลาดต่างประเทศด้วย
โดยสรุปแล้ว อุตสาหกรรมแปรรูปของเวียดนามยังคิดเป็นเพียง 8-10% ของผลผลิตผักและผลไม้ที่ได้ในแต่ละปี การบริโภคก็ยังคงอยู่ในรูปแบบของสินค้าสดหรือการถนอมอาหารเบื้องต้นเพียงเท่านั้น ซึ่งความเสียหายจากการเก็บเกี่ยวยังคงอยู่ในระดับที่สูงเกินไปที่ประมาณ 20% ดังนั้นกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าของเวียดนามจึงมองว่ายังคงมีพื้นที่สำหรับผู้ประกอบการให้สามารถเข้ามาลงทุนในการพัฒนาเทคโนโลยีและส่งเสริมการส่งออกเพื่อรองรับอุปสงค์ในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้นได้

ที่มา :
1/ https://www.bangkokbanksme.com/en/export-processed-vegetables-and-fruits-of-vietnam
2/ https://the-japan-news.com/news/article/0008042350

สถานภาพธุรกิจ SME ไทย หลังโควิด-19 ปัญหาอุปสรรค และแนวทางแก้ไข

สถาบันยุทธศาสตร์การค้า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เผยผลสำรวจ สถานภาพธุรกิจไทย หลังโควิด-19 ปัญหาอุปสรรค และแนวทางแก้ไข จากกลุ่มตัวอย่าง จำนวน 625 ราย ผลการสำรวจ ดังนี้

สถานการณ์ยอดขายเมื่อเทียบกับช่วงก่อนโควิด ยอดขายของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ลดลง 65.2% โดยประเภทธุรกิจที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ การค้า 75.8% รองลงมาคือ ภาคบริการ 67.1% นอกจากนี้ ยังพบว่าผู้ประกอบการมีต้นทุนที่สูงขึ้น 60.7% ซึ่งภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบยังเป็นกลุ่มการค้า และกลุ่มบริการ ส่งผลให้กำไรลดลงโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 20.6%  และจากการสำรวจผู้ประกอบการจากปัจจัยต่าง ๆ กว่า 40.1% มีโอกาสที่ผู้ประกอบการจะปิดธุรกิจสูงมาก โดยกลุ่มธุรกิจการค้าและการบริการ เป็นกลุ่มที่เสี่ยงปิดสูง โดยต้องการวงเงินเข้ามาช่วยเหลือกิจการเพื่อเสริมสภาพคล่องเฉลี่ยอยู่ที่ 654,924 บาท และคาดว่าธุรกิจจะกลับมาเป็นปกติภายในไตรมาสที่ 4/65 แต่ปัญหาของผู้ประกอบการที่เข้าไม่ถึง คือ การไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน งบการเงินไม่ดี มีประวัติ ไม่รู้จะติดต่อธนาคารอย่างไร ดังนั้น จึงต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาดูแล และมีมาตรการช่วยเหลือเพราะเห็นว่ามาตรการที่รัฐออกมานั้นยังน้อย

ที่มา: สถาบันยุทธศาสตร์การค้า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

บริษัทค้าปลีกเสื้อผ้า-รองเท้าแบรนด์ดังกระทบหนัก หลัง “เวียดนาม” ปิดโรงงานล็อคดาวน์โควิดยาวนาน

โดย Money & Banking (การเงินการธนาคาร)

นักวิเคราะห์จาก BofA Securities เป็นธนาคารเพื่อการลงทุนข้ามชาติของอเมริกาภายใต้การดูแลของ Bank of America ระบุว่า ผลกระทบของการปิดโรงงานที่ยืดเยื้อเป็นเวลานานในเวียดนาม มีแนวโน้มว่าจะส่งผลกระทบอย่างมากกับผู้ค้าปลีดเสื้อผ้าและรองเท้าหลายรายที่วางแผนไว้สำหรับปี 2565

โดย BofA Securities มองถึงเหตุผลหลายประการสำหรับการคาดการณ์นี้ รวมข้อเท็จจริงที่ว่าการกลับมาของเศรษฐกิจในเวียดนามตอนใต้ ซึ่งมีผู้ผลิตเสื้อผ้าและรองเท้าจำนวนมาก มีการเคลื่อนไหวช้ากว่าทางตอนเหนือมาก

เนื่องจากเวียดนามประสบกับจำนวนผู้ป่วยโควิดที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรุนแรงในเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม ส่งผลให้มีการล็อคดาวน์ในพื้นที่อีกครั้ง การผลิตต้องหยุดชั่วคราวและส่งผลกระทบต่อบริษัทต่างๆ เช่น Adidas และ Nike ที่ต้องพึ่งพาภูมิภาคนี้เป็นอย่างมากในการผลิตรองเท้าผ้าใบและเสื้อผ้ากีฬา โดย BofA ตั้งข้อสังเกตว่าธุรกิจต่างๆ ได้เริ่มเปิดทำการอีกครั้งแล้ว แต่อัตราการฉีดวัคซีนยังคงต่ำกว่าอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ

Mohamed Faiz Nagutha นักเศรษฐศาสตร์ของ BofA กล่าวว่า แม้ว่ากิจกรรมการผลิตจะฟื้นตัวอย่างรวดเร็วในปีที่แล้วหลังจากการหยุดชะงักจากการแพร่ระบาดของโควิดในช่วงสั้นๆ พร้อมเสริมว่า แต่กฎการดำเนินงานโรงงานในปัจจุบันในเวียดนามยังคงเข้มงวดและซับซ้อนมาก ซึ่งอาจขัดขวางความสามารถของพนักงานในการกลับไปทำงานได้

“โดยรวมแล้ว เราคาดว่าการแพร่ระบาดจะส่งผลกระทบต่อความคาดหวังในการกลับมาดำเนินกิจกรรมการผลิตใหม่อย่างรวดเร็ว ซึ่งรวมถึงปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่ยังคงมีอยู่ ต้นทุนวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้นและการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานในส่วนอื่นๆ ของเอเชีย

ด้าน Puma ได้เตือนแล้วว่าปัญหาคอขวดในห่วงโซ่อุปทาน โดยเฉพาะในเวียดนาม จะทำให้ผลิตภัณฑ์ของบริษัทขาดแคลนในปีหน้า ขณะที่เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา Adidas ปรับลดแนวโน้มในปี 2564

ที่มา : https://www.moneyandbanking.co.th/article/news/vietnam-factory-effect-retail-market-161164

อ้างอิง : https://www.cnbc.com/2021/11/15/factory-shutdowns-in-vietnam-to-have-longer-impact-for-retailers-bofa.html

เช็คเลย สินค้าไทยตัวไหน โอกาสทองส่งออกประเทศเพื่อนบ้าน

โดย ฐานเศรษฐกิจดิจิทัล

เช็คเลย  สินค้าไทยตัวไหน ไทยส่งออกประเทศเพื่อนบ้านแล้วปังยอดขายถล่มทลาย แนะผู้ประกอบการไทย โอกาสทองในตลาดจีน มาเลเซีย สิงคโปร์ ลาว กัมพูชา เมียนมา หลังยอดส่งออกผ่านชายแดน-ผ่านแดนขยายตัวต่อเนื่อง

 

หลังจากเห็นยอดส่งออกสินค้าชายแดนและผ่านแดน ขยายตัวสุดปัง 9 เดือน ขยายตัว38%   ทั้งปี ตั้งเป้าขยายตัว 3% ต้องทำตัวเลขการส่งออกให้ได้ 789,198 ล้านบาท แสดงให้เห็นว่า โอกาสของสินค้าไทยที่ส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ยังคงมีโอกาสขยายตัวต่อเนื่องทั้งปี  ซึ่งปัจจัยสนับสนุนการส่งออกยังคงเป็นค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มอ่อนค่า ซึ่งช่วยให้สินค้าไทยสามารถแข่งขันด้านราคาได้มากขึ้น   บวกกับความต้องการที่เพิ่มขึ้นในสินค้าจำเป็นทั้งเพื่อการอุปโภคบริโภค และสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการ Work From Home และการป้องกันหรือรักษาโรคในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งสินค้าไทยยังคงได้รับความนิยมและเป็นที่ต้องการในตลาดเพื่อนบ้าน

 

สินค้าไหนของไทยที่ส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้านแล้วยอดขายถล่มทลายและมีโอกาสโตในอนาคต ต้องบอกว่า “มาเลเซีย” ถือว่าเป็นประเทศส่งออกอันดับ 1 ของไทย ซึ่งสินค้าที่ ส่งออกสำคัญๆ ที่ยังขยายตัวเป็นบวกมาอย่างต่อเนื่อง  ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ฯ  ,ยางพารา , และเครื่องวีดิโอ เครื่องเสียงฯ

 

“เมียนมา” สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ สายไฟฟ้า สายเคเบิ้ล ,น้ำมันดีเซล , และปุ๋ย

“กัมพูชา” สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ 1,รถยนต์นั่ง , เครื่องจักรกลและส่วนประกอบอื่น ๆ

“สปป.ลาว” สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ ทองคำยังไม่ได้ขึ้นรูป , น้ำมันดีเซล , น้ำมันสำเร็จรูปอื่น ๆ

 

ส่วน การค้าผ่านแดนไปประเทศที่สาม ซึ่งประกอบด้วย  จีน สิงคโปร์ เวียดนาม และประเทศอื่น ๆ   จะเห็นได้ว่าในเดือนกันยายนไทยส่งออกสินค้าผ่านแดน  มีมูลค่าการส่งออก 43,000 ล้านบาท ขยายตัวสูงถึง +31.95% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน  โดยมี “จีน” เป็นตลาดส่งออกอันดับหนึ่ง สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์, ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง ,%) ยางพารา, ไม้แปรรูป และผลิตภัณฑ์ยาง

 

รองลงมาเป็น “สิงคโปร์” สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ฯ , เครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบฯ , และแผงวงจรไฟฟ้า , และอันดับสาม “เวียดนาม”  สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์และไดโอด ,เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ และหม้อแบตเตอรี่และส่วนประกอบ

 

ผู้ประกอบการไทยคงต้องเร่งมองหาโอกาสและพัฒนาสินค้าให้มีคุณภาพอาศัยความได้เปรียบจากค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงในช่วงนี้เร่งเจาะตลาดประเทศเพื่อนบ้านให้มากขึ้น และคาดการณ์ว่าความต้องการสินค้าไทยยังคงมีอย่างต่อเนื่องด้วยภาพลักษณ์ของสินค้าไทยที่เป็นที่ยอมรับของทั่วโลก

ที่มา : https://www.thansettakij.com/economy/503105

รถไฟจีน-สปป.ลาว” มองโอกาสและความท้าทายของผู้ประกอบการไทย

โดย Marketeer Team

รถไฟจีน-สปป.ลาว จะเริ่มใช้งานอย่างเป็นทางการในวันที่ 2 ธันวาคม 2564 โดยรถไฟสายนี้เชื่อมคุนหมิงของจีนกับเวียงจันทน์ของ สปป. ลาวเข้าด้วยกัน และอยู่ภายใต้ยุทธศาสตร์ Belt and Road Initiative (BRI) มีระยะทาง 1,020 กิโลเมตร (แบ่งเป็นระยะทาง 598 กิโลเมตรในจีน และ 422 กิโลเมตรใน สปป. ลาว) สามารถวิ่งทำความเร็วขนส่งผู้โดยสารได้ถึง 160 กิโลเมตร/ชั่วโมง และสำหรับการบรรทุกสินค้าสามารถวิ่งได้ 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง โดยจะเน้นการขนส่งสินค้าเป็นหลัก สะท้อนจากจำนวนขบวนขนส่งสินค้าต่อวันที่สูงกว่าขบวนขนส่งผู้โดยสาร

การค้าระหว่างไทยกับจีนมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการส่งออกของไทยไปยังจีนผ่านทางถนนซึ่งมีสัดส่วนราวร้อยละ 20 ของการส่งออกไปยังจีนทั้งหมด มีการขยายตัวขึ้นอย่างน่าจับตาในระยะ 5 ปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ มิติใหม่ของการขนส่งด้วยรถไฟไปจีนผ่านช่องทาง จ. หนองคาย จะช่วยเพิ่มโอกาสให้กับสินค้าไทยด้วยความสามารถในการช่วยลดระยะเวลา และต้นทุนการขนส่งสินค้าไปยังนครคุนหมิง มณฑลยูนนาน จึงนับว่ารถไฟที่เกิดขึ้นสายนี้เป็นเสมือนช่องทางขนส่งใหม่อีกทางที่น่าสนใจ

นอกจากนี้ เส้นทางรถไฟยังบรรจบกับเส้นทางหลักของไทยที่ใช้ขนส่งสินค้าไปยังนครคุนหมิง มณฑลยูนนาน ซึ่งก็คือ เส้นทาง R3A ผ่านทาง จ. เชียงราย ที่เมืองบ่อเต็น แขวงหลวงน้ำทา สปป. ลาว ดังนั้น รถไฟสายใหม่นี้จึงน่าจะช่วยเพิ่มศักยภาพในการขนส่งสินค้าไทยผ่านช่องทางดังกล่าวขึ้นไปอีก

ทั้งนี้ ในระยะเวลาอันใกล้ รถไฟจะช่วยเพิ่มทางเลือกในการส่งออกของไทยไปยังจีน ด้วยรูปแบบการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ (Multimodal Transport) ซึ่งจะขับเคลื่อนการค้าระหว่างประเทศไทยและจีนให้เร่งขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

ยูนนานจะเป็นประตูที่เปิดโอกาสสำหรับสินค้าไทยสู่จีนตะวันตก โดยเฉพาะไปยังนครเฉิงตูและนครฉงชิ่งซึ่งเป็นศูนย์กลางการผลิตใหม่ (New Production Hub) และรัฐบาลจีนตั้งเป้าให้เป็นเมืองศูนย์กลางทางเศรษฐกิจผ่านนโยบายการพัฒนาความเป็นเมือง นอกจากนี้ ยูนนานยังสามารถเชื่อมต่อกับเมืองใหญ่หลายแห่งในจีนด้วยรถไฟความเร็วสูง

ยิ่งไปกว่านั้น ปัจจุบันจีนมีเส้นทางขนส่งสินค้าทางรางไปยังเอเชียกลาง รัสเซีย และยุโรป ดังนั้น ในระยะข้างหน้า การขนส่งทางรางจะเป็นโหมดการขนส่งศักยภาพของสินค้าไทยไปยังตลาดสำคัญอย่างยุโรปซึ่งเดิมมีการขนส่งทางเรือเป็นหลักเท่านั้น และอาจจะเป็นช่องทางในการแสวงตลาดใหม่อย่างเอเชียกลางได้ในอนาคต

ที่มา : https://marketeeronline.co/archives/239559

CPTPP vs RCEP เมื่อจีนสนใจเข้าเป็นสมาชิก

โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย (KResearch)

การประชุม ครม. เมื่อ 12 ตุลาคม 2564 ได้หารือเรื่องความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Comprehensive and Progressive Agreement for Trans-Pacific Partnership: CPTPP) ซึ่งการพิจารณาเข้าร่วมความตกลงดังกล่าวกลับมาเป็นประเด็นอีกครั้งเมื่อจีนหันมาสนใจสมัครสมาชิก เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ตามมาด้วยไต้หวัน รวมถึงสหราชอาณาจักรที่สมัครเป็นสมาชิกเมื่อต้นปี โดยท่าทีของนานาชาติโดยเฉพาะจีนยิ่งทำให้ประเทศที่มีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้าอย่างใกล้ชิดกับจีนหวนกลับมาพิจารณา CPTPP อย่างจริงจังอีกครั้ง

 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้วิเคราะห์เปรียบเทียบใน 2 กรณี กรณีที่ 1 ปัจจุบันไทยและจีนต่างเป็นสมาชิกในความตกลงพันธมิตรทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคหรือ RCEP (Regional Comprehensive Economic Partnership) ที่กำลังรอการเปิดเสรีอย่างเป็นทางการ กรณีที่ 2 หาก CPTPP รับอังกฤษ ไต้หวัน จีนรวมถึงไทยเข้าเป็นสมาชิกใหม่ ซึ่งการที่ไทยอยู่ในกลุ่มย่อมไม่พลาดโอกาสการเข้าถึงตลาดสำคัญได้ทัดเทียมคู่แข่งในอาเซียน ทั้งยังกลายเป็น FTA ที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดมีสัดส่วนถึง 1 ใน 3 ของ GDP โลก แซงหน้า RCEP โดยภายใต้สมมติฐานว่าไทยและจีนร่วมเป็นสมาชิกในทั้ง 2 กรอบความตกลงมีข้อสังเกตความแตกต่าง ดังนี้

  • มิติของการเข้าถึงตลาด: RCEP เป็นกรอบการค้าที่ใกล้ตัวไทยมากที่สุดและไทยมี FTA กับแต่ละประเทศสมาชิกมานาน การรวมตัวที่เกิดขึ้นจึงไม่ทำให้ภาพการแข่งขันของสินค้าไทยต่างไปจากที่เป็นอยู่ ขณะที่ CPTPP จะทำให้ไทยมี FTA กับตลาดใหม่มากกว่า RCEP ได้แก่ เม็กซิโก แคนาดา อังกฤษและไต้หวัน ซึ่งเป็นโอกาสทองของไทยในการส่งออกผลิตภัณฑ์ยาง ผลไม้ อาหารทะเลไปยังแคนาดา ส่งออกยานยนต์ โทรศัพท์ HDDs ไปเม็กซิโก ส่งออกไก่แปรรูปและรถจักรยานยนต์ไปอังฤษ รวมถึงการส่งออกเครื่องปรับอากาศและชิ้นส่วนยานยนต์ไปไต้หวัน
  • มิติของการผลิต: CPTPP และ RCEP ล้วนเป็น FTA แบบพหุภาคีที่มีจุดเด่นเหมือนกันตรงที่การเป็นกลุ่มเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่รวมหลายประเทศให้เป็นหนึ่งเดียว อานิสงส์ให้นักลงทุนสามารถเคลื่อนย้ายปัจจัยการผลิตได้อย่างคล่องตัว ต่างกันตรงที่ RCEP เป็นการกระชับฐานการผลิตและตลาดในฝั่งเอเชียได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด แต่ CPTPP กลับมีความน่าสนใจมากกว่าด้วยการรวมแหล่งผลิตจากหลายพื้นที่ทั้งภูมิภาคอเมริกา ยุโรปและเอเชียจึงนับเป็นจุดขายสำคัญที่ยังไม่มี FTA ฉบับใดในโลกมีเอกลักษณ์เช่นนี้
  • มิติด้านกฎระเบียบ: RCEP กำหนดกฎเกณฑ์การเปิดตลาดการค้าและการลงทุนเป็นหลักเท่านั้น แต่ CPTPP เป็นการรวมตัวในเชิงลึกมากกว่า FTA ทั่วไปครอบคลุมการเปิดเสรีด้านอื่นๆ อาทิ มาตรฐานแรงงาน มาตรฐานสิ่งแวดล้อม การไหลของข้อมูลอย่างเสรีและการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ จึงปฏิเสธไม่ได้ว่า CPTPP เป็นความท้าทายในการยกระดับกฎระเบียบของแต่ประเทศสมาชิกที่ยากจะหลีกเลี่ยงผลกระทบที่ตามมาเพื่อให้ปฏิบัติได้ตามกรอบเวลาที่ได้ตกลงกันไว้

โดยสรุป หากทั้งไทยและจีนอยู่ในความตกลง CPTPP ภาคอุตสาหกรรมการผลิต การส่งออกของไทยที่พึ่งพาเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาตินับว่าได้อานิสงส์ค่อนข้างชัดเจนจากการเข้าถึงตลาดใหม่สามารถแข่งขันได้ทัดเทียมกับคู่แข่งของไทย ทั้งยังคว้าโอกาสได้มีส่วนร่วมในห่วงโซ่การผลิตขนาดใหญ่ที่มีศักยภาพในการรวบปัจจัยการผลิตจากหลายพื้นของโลก ต่างจาก RCEP ที่ไทยได้ประโยชน์จำกัดเฉพาะภูมิภาคเอเชียเป็นหลัก อย่างไรก็ดี CPTPP ก็มีประเด็นอ่อนไหวที่ภาครัฐต้องชั่งน้ำหนัก โดยเฉพาะเงื่อนไขที่ไม่ได้ระบุไว้ใน RCEP ในเรื่องข้อปฏิบัติทางทรัพย์สินทางปัญญาที่อิงกับหลักเกณฑ์สากลไม่ว่าจะเป็นความเข้มงวดในการปรับใช้สิทธิบัตรยา และการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ที่จะส่งผลต่อประชาชนและเกษตรกรในวงกว้าง แม้ไทยต้องดำเนินการปรับตัวในเรื่องนี้อยู่แล้วแต่ก็นับเป็นเรื่องท้าทายสำหรับไทยที่จะต้องปรับตัวภายใต้กรอบเวลาที่ตกลงไว้กับ CPTPP ซึ่งโจทย์สำคัญของทางการไทยคงอยู่ที่การสร้างความเข้าใจที่ชัดเจนและถูกต้องรวมถึงแผนงานบรรเทาผลกระทบจึงจะช่วยผ่อนคลายแรงตึงเครียดลงได้

ที่มา :

/1 https://www.kasikornresearch.com/th/analysis/k-econ/economy/Pages/CPTPP-z3282.aspx

/2 https://www.moneyandbanking.co.th/article/news/kresearch-cptpp-rcep-01112021

ดัชนีความเชื่อมั่นนักธุรกิจต่างชาติในไทย ไตรมาสที่ 3/2564

สถาบันยุทธศาสตร์การค้า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้เผย ‘ดัชนีความเชื่อมั่นนักธุรกิจต่างประเทศ ไตรมาสที่ 3 ปี 2564  (สิงหาคม-ตุลาคม 2564)  ซึ่งสำรวจความเห็นจากกลุ่มตัวอย่างที่เป็นหอการค้าต่างประเทศประจำประเทศไทย 29 ประเทศ จำนวน 66 ราย พบว่าดัชนีความเชื่อมั่นนักธุรกิจต่างชาติโดยรวมอยู่ที่ระดับ 41.7 เพิ่มขึ้นจาก 27.7 ในไตรมาสก่อนหน้า หลังจากรัฐบาลประกาศคลายล็อกดาวน์และเตรียมเปิดประเทศในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 นี้ ทำให้ความเชื่อมั่นของนักธุรกิจต่างชาติปรับตัวดีขึ้น

ผลสำรวจด้านธุรกิจที่นักลงทุนต่างชาติกำลังเผชิญอยู่พบว่า อันดับแรกคือ ความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจ จากต้นทุนการดำเนินการที่สูงขึ้น อาทิเช่น ค่าขนส่ง ค่าเงินที่ผันผวน ภาระทางภาษี และการขาดแรงงานในการผลิต  (21.7%) รองลงมาคือ ธุรกิจขาดสภาพคล่อง ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนจากสถาบันทางการเงินได้ รวมถึงขาดการสนับสนุนจากทางภาครัฐ (18.1%) และธุรกิจคู่ค้าส่วนใหญ่ปิดตัวลงเป็นการชั่วคราวหรือถาวร ส่งผลให้เกิดการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน (15.7%)

ขณะเดียวกันสิ่งที่นักธุรกิจต่างชาติต้องการให้รัฐบาลไทยสนับสนุนและแก้ไขปัญหา คือ 1) มีแผนควบคุมโควิด-19 ที่ชัดเจน  2)นโยบายการให้เงินอุดหนุน ค่าจ้าง ค่าเช่า ฯ ต่อภาคธุรกิจและเอสเอ็มอี ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 3) แก้ไขกฎระเบียบที่ซับซ้อนในการเข้ามาลงทุน ให้มีความทันสมัย เอื้อต่อการลงทุน รวมถึงกระบวนการขอVisa และWork Permit ให้ง่ายขึ้น และ 4)จัดหาวัคซีนมาฉีดให้ประชาชนให้เร็วที่สุดและทั่วถึงที่สุด และผ่อนปรนมาตรการโควิดเพื่อให้ภาคธุรกิจดำเนินกิจการได้สะดวกขึ้น

ทั้งนี้สิ่งที่ต้องการให้รัฐบาลสนับสนุน เพื่อแก้ไขปัญหาทางธุรกิจ คือ 1) ปรับปรุงกฎหมายกฎระเบียบ ที่เกี่ยวกับการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว (FBA) ให้มีความทันสมัย เอื้อต่อการลงทุน รวมถึงกระบวนการขอ Visa และ Work Permit ง่ายขึ้น 2) สร้างการเข้าถึงแหล่งเงินทุน สนับสนุนซอฟต์โลน และมาตรการพักทรัพย์พักหนี้ แก่ผู้ประกอบการที่ได้ผลกระทบ โดยเฉพาะผู้ประกอบการ SMEs ทั้งธุรกิจไทยและต่างประเทศ และ 3) สร้างเสถียรภาพทางการเมือง ลดขั้นตอนในการดำเนินงาน

ที่มา: สถาบันยุทธศาสตร์การค้า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

เวียดนามอันดับ 1 ประเทศที่ยอมรับเงินดิจิทัล (Cryptocurrency) มากที่สุดในโลก

โดย TNN ONLINE

“ในช่วงเดือนมกราคม 2020 ถึงเดือนมกราคม 2021 ทั่วโลกมีจำนวนการสร้างกระเป๋าเงินดิจิทัล (Crypto Wallets) เพิ่มขึ้นกว่า 45% ประมาณ 66 ล้านกระเป๋า อัตราการยอมรับเงินดิจิทัลเพิ่มขึ้น 880%”

รายงานบทวิเคราะห์ Geography of Cryptocurrency ปี 2021 จัดทำโดย Chainalysis บริษัทผู้ให้บริการแพลตฟอร์มข้อมูลบล็อกเชนและการทำวิจัยด้านเทคโนโลยีชั้นนำของโลก เปิดเผยข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับเทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) และเงินดิจิทัล (Cryptocurrency) ทั่วโลกพบว่าในช่วงเดือนมกราคม 2020 ถึงเดือนมกราคม 2021 มีจำนวนการสร้างกระเป๋าเงินดิจิทัล (Crypto Wallets) เพิ่มขึ้นกว่า 45% ประมาณ 66 ล้านกระเป๋า อัตราการยอมรับเงินดิจิทัลเพิ่มขึ้น 880% หรือเกือบเท่ากับประชากรไทยทั้งประเทศโดยประมาณ

ดัชนีการยอมรับเงินดิจิทัลทั่วโลก (Global Crypto Adoption Index) วัดผลจากการใช้งานในประเทศต่าง ๆ ตามปริมาณธุรกรรมการเงินที่เกิดขึ้น โดยเน้นธุรกรรมทางการเงินดิจิทัลที่มีมูลค่าน้อยกว่า 10,000 ดอลลาร์ โดยผู้ใช้งานที่เป็นบุคคลธรรมดามากกว่าร้านค้าหรือบริษัทขนาดใหญ่ ใน 158 ประเทศและนำค่าเฉลี่ยมาทำการจัดอันดับร่วมกับข้อมูลอื่น ๆ พบว่าประเทศเวียดนามกลายเป็นประเทศที่มีการยอมรับเงินดิจิทัลมากเป็นอันดับ 1 ของโลก โดยมีประเทศอินเดีย ปากีสถานอยู่ในลำดับถัดไป ส่วนประเทศไทยอยู่อันดับที่ 12 นอกจากนี้ยังพบกว่าใน 20 อันดับแรกเป็นประเทศในแอฟริกามากถึง 6 ประเทศ

วงการเงินดิจิทัลในประเทศเวียดนามมีความโดดเด่น เนื่องจากมีประมาณธุรกรรมทางการเงินดิจิทัลที่สูงในช่วงปี 2020 ถึง 2021 โดยมีบริษัทที่ให้บริการเป็นตลาดซื้อขายเงินดิจิทัล (Crypto Exchange) ที่ได้รับการยอมรับเปิดให้บริการในประเทศประมาณ 9 แห่ง นอกจากนี้ยังมีบริษัทดาวเด่นที่เปิดให้บริการเกมออนไลน์ Axie Infinity ในรูปแบบ NFTs Game พัฒนาบนเครือข่ายบล็อกเชนของ Ethereum ที่กำลังได้รับความนิยมไปทั่วโลกมีผู้เล่น Active Users กว่า 2 ล้านคนต่อวันและส่งผลให้มูลค่าของเงินดิจิทัลสกุล AXS หรือเหรียญ AXS ที่ถูกใช้งานภายในเกมมีมูลค่าในตลาดซื้อขายเพิ่มสูงขึ้นเป็น 156 ดอลลาร์ต่อเหรียญหรือเพิ่มขึ้นประมาณ 7,300% เมื่อเทียบกับมูลค่าเหรียญในช่วงต้นปี 2021 ส่งผลให้บริษัทผู้พัฒนาเกมออนไลน์ Axie Infinity สามารถระดมทุนจากนักลงทุนจำนวนมากและอาจกลายเป็นบริษัทสตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์นตัวใหม่ของประเทศเวียดนาม

ปัจจุบันเทคโนโลยีบล็อกเชนที่เป็นพื้นฐานสำคัญของเงินดิจิทัล (Cryptocurrency) ได้รับการยอมรับกำลังก้าวขึ้นมาเป็นคลื่นลูกใหม่ของเศรษฐกิจโลกกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นไม่ได้หยุดแค่การซื้อขายแลกเปลี่ยนเหรียญดิจิทัลสกุลต่าง ๆ แต่สามารถพัฒนาเป็นรูปแบบ ๆ อื่น เช่น การซื้อขายแลกเปลี่ยนผลงานศิลปะ กราฟิก วิดีโอ ภาพ 3 มิติในรูปแบบของสินทรัพย์ดิจิทัลที่ไม่สามารถสร้างใหม่ทดแทนได้ (NFT หรือ Non-Fungible Token) รวมไปถึงเกมออนไลน์ที่มีเนื้อหาวิธีการเล่นเข้าถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่ ความเข้าใจในเทคโนโลยีบล็อกเชนมุมมองใหม่ที่เปิดรับเกี่ยวกับเงินดิจิทัลจากหน่วยงานรัฐบาลและประชาชนทั่วไปอาจเป็นสิ่งสำคัญและเร่งด่วนเพื่อให้ประเทศขับเคลื่อนไปข้างหน้าทันการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีของโลก

ที่มา : https://www.tnnthailand.com/news/tech/93193/

ข้อมูลจาก coindesk.com , forbes.com , economywatch.com

ภาพจาก chainalysis.com

ประเมินสถานการณ์น้ำท่วม 2564

สถาบันยุทธศาสตร์การค้า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เผยผลสำรวจ ประเมินสถานการณ์น้ำท่วม 2564 จากกลุ่มตัวอย่างหอการค้าจังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วม จำนวน 138 ราย ผลการสำรวจ ดังนี้

ผลการสำรวจ พบว่า ระดับของผลกระทบอยู่ในระดับมาก คิดเป็นร้อยละ 34.2 พื้นที่ที่ได้รับความเสียหายมากที่สุดคือ พื้นที่เพาะปลูกทางด้านเกษตร คิดเป็นร้อยละ 65.9 โดยพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายคิดเป็นร้อยละ 22 ของพื้นที่จังหวัด และทำให้บ้านเสียหาย คิดเป็นร้อยละ 74.3 โดยผลกระทบต่อเศรษฐกิจของจังหวัดอยู่ในระดับมาก คิดเป็นร้อยละ 43.6 และ กระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศอยู่ในระดับมาก คิดเป็นร้อยละ 39.5 ขณะที่ผลกระทบต่อธุรกิจในจังหวัดอยู่ในะระดับมาก คิดเป็นร้อยละ 44.5 ขณะที่ความรุนแรงเมื่อเทียบกับปี 54 พบว่ารุนแรงน้อยกว่าปี 54 คิดเป็นร้อยละ 83.38 และสร้างความเสียหายน้อยกว่าปี 54 คิดเป็นร้อยละ 83.38 ซึ่งจากกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 57.4 มองว่า สถานการณ์น้าท่วมจะลดลงและเข้าสู่สภาวะปกติ ไม่เกิน 7 วัน ส่วนข้อเสนอแนะที่ต้องการให้รัฐบาลด้าเนินการ ได้แก่ 1.ช่วยเหลือเกษตรกร ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ เช่น การชดเชยผลผลิตทางการเกษตรหรือการสนับสนุนเงินทุนเพื่อนำมาซ่อมแซมกิจการที่ได้รับความเสียหาย 2.เงินชดเชยน้ำท่วมโดยเฉพาะพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายมาก และ 3. ควรมีมาตรการช่วยเหลือที่เป็นรูปธรรมและควรประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนภัยให้เร็วมากกว่านี้ เป็นต้น

ที่มา: สถาบันยุทธศาสตร์การค้า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย