CRF-Alibaba ส่งเสริมการส่งออกข้าวของกัมพูชาไปยังจีน

Lun Yeng เลขาธิการสมาพันธ์ข้าวกัมพูชา (CRF) กล่าวว่าปัจจุบันกำลังร่วมมือกับ Alibaba Group แพลตฟอร์มยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีของจีน ในการหารือเกี่ยวกับวิธีการส่งเสริมการส่งออกข้าวสารของกัมพูชาในตลาดจีน ภายใต้การพัฒนากลยุทธ์ทางการตลาด ซึ่งปัจจุบันผู้นำเข้าข้าวสารของจีนจากกัมพูชาบางราย ได้เริ่มขายข้าวสารออนไลน์แล้วในจีน โดยกัมพูชาส่งออกข้าวสารไปยังตลาดจีนกว่า 118,041 ตัน ในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ ทำรายได้เข้าประเทศกว่า 77.4 ล้านดอลลาร์ รายงานโดย CRF ซึ่งจีนถือเป็นตลาดส่งออกหลักสำหรับข้าวสารของกัมพูชา คิดเป็นกว่าร้อยละ 42.43 ของปริมาณการส่งออกข้าวทั้งหมดของกัมพูชาในช่วงเวลาดังกล่าว สำหรับพันธุ์ข้าวที่ได้รับความนิยม ได้แก่ ข้าวหอมพรีเมียม ข้าวหอม ข้าวขาวเมล็ดยาว ข้าวนึ่ง และข้าวอินทรีย์

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501318853/crf-alibaba-to-promote-cambodian-rice-in-china/

คาดการร่วมทุนระหว่างภาคธุรกิจ จีน-กัมพูชา ดันเศรษฐกิจโต

หลังจากการร่วมทุนกันระหว่างภาคธุรกิจจีนและกัมพูชา เมื่อ 15 ปีที่แล้ว ได้ส่งผลทำให้เศรษฐกิจของกัมพูชา รวมถึงชีวิตของผู้คนในท้องถิ่นดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง อาทิเช่น เขตเศรษฐกิจพิเศษสีหนุวิลล์ (SSEZ) ที่ปัจจุบัน มีขนาดกว้างถึง 11.13 ตารางกิโลเมตร ตั้งอยู่ในจังหวัดสีหนุวิลล์ ซึ่งเป็นสวนอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดของกัมพูชาที่มีบริษัทต่างชาติเข้ามาลงทุนกว่า 175 แห่ง ภายใต้โครงการความร่วมมือ Belt and Road Initiative โดยนับตั้งแต่เปิดดำเนินการ ปริมาณการนำเข้าและส่งออกภายใต้เขตเศรษฐกิจพิเศษเติบโตอย่างต่อเนื่องเพิ่มขึ้นจาก 139 ล้านดอลลาร์ ในปี 2013 เป็นเกือบ 2.5 พันล้านดอลลาร์ในปีที่แล้ว ซึ่งภายในเขตเศรษฐกิจพิเศษ มีสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ที่ได้รับการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง เพื่อดึงดูดธุรกิจจากประเทศเข้ามาลงทุนยังกัมพูชามากขึ้น อีกทั้งในช่วงหลายปีที่ผ่านมา สวนอุตสาหกรรมได้เปิดคลินิกสุขภาพ ศูนย์ให้คำปรึกษาด้านกฎหมาย และสถาบันการศึกษา 2 แห่ง ได้แก่ สถาบันโปลีเทคนิคมิตรภาพพระสีหนุกัมพูชา-จีน และสถาบันธุรกิจและเทคโนโลยีสีหนุวิลล์-จีน เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกและเป็นการสารสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501319228/chinese-cambodian-joint-venture-changes-lives-for-the-better/

จีน-เมียนมาจับมือเปิดบริการเที่ยวบินใหม่ หนุนความร่วมมือด้านศก.-การค้า-การท่องเที่ยว

สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า เมื่อวันพฤหัสบดี (29 มิ.ย.) เครื่องบินของสายการบินเมียนมา เนชันแนล แอร์ไลน์ส ลงจอดที่ท่าอากาศยานในเมืองหมางซื่อ มณฑลอวิ๋นหนาน (ยูนนาน) ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน ซึ่งนับเป็นการเปิดเส้นทางขนส่งทางอากาศที่เชื่อมหมางซื่อกับสองเมืองหลักของเมียนมา ได้แก่ มัณฑะเลย์ และย่างกุ้ง ทั้งนี้ ว่ยกั่ง เจ้าหน้าที่แคว้นปกครองตนเองเต๋อหง กลุ่มชาติพันธุ์ไทและจิ่งโพกล่าวว่าเราจะส่งเสริมความร่วมมือระหว่างสองฝ่ายในด้านเศรษฐกิจ การค้า วัฒนธรรม และการท่องเที่ยวต่อไป ด้วยความช่วยเหลือจากการเปิดเที่ยวบินใหม่ดังกล่าว

ที่มา : https://www.infoquest.co.th/2023/314492

จีนพร้อมลงนาม MoU ร่วมกัมพูชา เพิ่มการส่งออกข้าว 5 แสนตัน

Lon Yeng เลขาธิการสมาพันธ์ข้าวกัมพูชา รายงานว่า กัมพูชาและจีนได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MoU) เกี่ยวกับการส่งออกข้าวของกัมพูชาไปยังตลาดจีนแล้ว 6 ฉบับ และพร้อมที่จะลงนามในบันทึกความเข้าใจฉบับที่ 7 รวมถึงฉบับอื่นๆ โดยก่อนหน้านี้ Pan Sosak รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์กัมพูชา ได้ประกาศเกี่ยวกับการลงนามในบันทึกความเข้าใจฉบับที่ 7 ในการส่งออกข้าว 500,000 ตัน ไปยังตลาดจีนในช่วงปี 2023-2024 ซึ่งหวังว่าการส่งออกข้าวของกัมพูชาเพิ่มมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยก่อนหน้านี้กัมพูชาได้ส่งออกข้าวจำนวน 400,000 ตัน ไปยังตลาดจีนตาม MoU ฉบับที่ 6 แสดงถึงความต้องการข้าวสารของกัมพูชาที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501317088/china-ready-to-sign-7th-mou-with-cambodia-on-increasing-rice-purchase-by-500000-tonnes/

“EEC” ผนึกกำลัง “GBA” ขยายโอกาสการค้าการลงทุน ไทย-จีน

นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรือ อีอีซี เข้าร่วมปาฐกถาพิเศษภายในงาน ประชุมสัมมนาความร่วมมือเศรษฐกิจการค้าจีน (กวางตุ้ง) และไทย หรือ China (Guangdong) – Thailand Economic Cooperation Conference ซึ่งจัดโดยรัฐบาลมณฑลกวางตุ้ง ร่วมกับคณะกรรมการส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศมณฑลกวางตุ้ง หรือ CCPIT โดยมีนายหาน จื้อเฉียง เอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย นายหวัง เว่ย โจง ผู้ว่าการมณฑลกวางตุ้ง และนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ นักธุรกิจชั้นนำจากภาคเอกชนของทั้งประเทศไทย และประเทศจีน ถือเป็นการสร้างโอกาสความร่วมมือระหว่างเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ของไทย และเขตความร่วมมือกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า (GBA) โดยเฉพาะอย่างยิ่งความร่วมมือด้านส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพสูง ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) อุตสาหกรรมโลจิสติกส์ อุตสาหกรรมพลังงานสะอาด เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจสีเขียว (BCG) เป็นต้น ซึ่งความร่วมมือ EEC ของไทย กับ GBA ของจีนครั้งนี้จะสร้างความสัมพันธ์และความร่วมมือของทั้งสองประเทศให้มีความแน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น

ที่มา : https://www.tnnthailand.com/news/wealth/149853/

ราคาหมูเวียดนามฟื้นตัว แต่ราคาหมูจีนยังอยู่ในระดับต่ำ

ราคาหมูเวียดนามฟื้นตัว 12% ในช่วงเดือนพ.ค.-มิ.ย. 2566 จากราคาเฉลี่ยของ 3 ภูมิภาค (ได้แก่ ตอนเหนือตอนกลางและตอนใต้) ที่ 52,500 ดองต่อกก. เมื่อวันที่ 1 พ.ค. เพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 58,667 ดองต่อกก. เมื่ออวันที่ 13 มิ.ย.2566 โดยทีม Research ของหลักทรัพย์บัวหลวงมองว่าการฟื้นตัวของราคาหมูเวียดนามได้รับปัจจัยหนุนจาก 1) การกลับมาแพร่ระบาดของโรค ASF 2) คลื่นความร้อนที่ยาวนานกว่าปกติในประเทศเวียดนาม ส่งผลให้เกิดการระบาดของโรคระบาด และ 3) การบริโภคเนื้อสัตว์ที่เพิ่มขึ้นในฤดูท่องเที่ยวและการฟื้นตัวของการบริโภคภายในประเทศเวียดนาม

ในขณะที่ราคาหมูมีชีวิตในประเทศจีนยังคงยืนในระดับต่ำในกรอบ 14.1-14.7 หยวนต่อกก. ช่วงเดือน พ.ค.-มิ.ย. 2566 เทียบกับจุดสูงสุดของปีนี้ที่ 16.07 หยวนต่อกก. เมื่อวันที่ 28 ก.พ. 2566 สาเหตุที่ราคาหมูจีนยังคงอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจาก 1) รัฐบาลจีนยังคงขายและระบายอุปทานเนื้อหมูและหมูมีชีวิตจากสต๊อกในประเทศเข้าสู่ตลาดในประเทศอย่างต่อเนื่อง และ 2) การกลับมาระบาดของโรค ASF เฉพาะท้องถิ่น

ที่มา : https://thunhoon.com/article/275033

“เวียดนาม-จีน” เดินหน้าระชับความร่วมมือทวิภาคี

นายบุ่ย แทงห์ เซิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเวียดนาม ได้กล่าวยืนยันกับนายฉิน กัง มนตรีแห่งรัฐและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของจีน ว่าเวียดนามให้ความสำคัญอย่างยิ่งในการพัฒนาหุ้นส่วนความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์รอบด้านกับประเทศจีน และมองว่าจีนมีความสำคัญกับเวียดนามในฐานะทูตของประเทศเพื่อนบ้าน เช่นเดียวกันกลุ่มประเทศในอาเซียน โดยทั้งสองประเทศเห็นพ้องว่าให้มีการเยือนกันอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ จีนจะสนับสนุนให้ธุรกิจที่มีชื่อเสียงเข้ามาลงทุนในเวียดนาม

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501314680/vietnam-china-seek-to-boost-cooperation/

“ทุเรียนไทย” ส่งออกไปเวียดนามพุ่งทะยาน 10,000% ประตูใหม่สู่จีน

จากรายงานของกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่าในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-เม.ย.) การส่งออกทุเรียนและทุเรียนแช่แข็งของไทย มีมูลค่ารวมกันทั้งสิ้น 63,627 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 166% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยตลาดส่งออกรายใหญ่ที่สุด คือ ตลาดตจีนมีมูลค่า 62,068 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 170% จากปีก่อน รองลงมาฮ่องกงและไต้หวัน อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่าตลาดเวียดนามเป็นตลาดอันดับ 10 ที่มีมูลค่าการส่งออกเพียง 0.15 ล้านบาท แต่เติบโต 10,769% ทั้งนี้ นายกีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ”ว่าสถานการณ์การส่งออกทุเรียนสดและแช่แข็งในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้น 100% อย่างไรก็ดีต้องทำการติดตามและประเมินถึงแนวโน้มครึ่งปีหลัง โดยเฉพาะผลผลิตทุเรียนในภาคใต้ รวมไปถึงดูแลเรื่องการขนส่งผ่านด่านทางเวียดนามและสปป.ลาว เพื่อส่งออไปยังประเทศจีน

ที่มา : https://www.khaosodenglish.com/news/2023/06/24/thai-durian-exports-to-vietnam-soar-10000-as-new-gateway-to-china/

ประธานาธิบดี สปป.ลาว แนะฉงฉิ่งส่งสินค้าผ่านทางรถไฟสาย สปป.ลาว-จีน

ประธานาธิบดีทองลุน สีสุลิด เสนอให้ สปป.ลาวและเทศบาลนครฉงชิ่งของจีน ร่วมมือกันขนส่งสินค้าโดยใช้ทางรถไฟสาย สปป.ลาว-จีน โดยการใช้ทางรถไฟเพื่อขนส่งสินค้าจะถือเป็นการเปิดตลาดให้กับ สปป.ลาว ไปยังพื้นที่ตอนกลางและตะวันตกของจีน นอกจากนี้ ทางประธานาธิบดียังขอให้ทางการฉงชิ่งสนับสนุนธุรกิจต่างๆ ของ สปป.ลาว รวมถึงการเข้ามาลงทุนยัง สปป.ลาว เพิ่มขึ้น ด้าน Yuan Jiajun ผู้ว่าการมณฑลฉงฉิ่งกล่าวเสริมว่าความสำเร็จในความร่วมมือระหว่าง สปป.ลาว และเทศบาลนครฉงชิ่งในปีที่ผ่านมาถือว่าผ่านไปได้ด้วยดี ภายใต้ข้อตกลงที่ทำขึ้นระหว่างผู้นำของทั้งสองฝ่าย เพื่อหวังยกระดับความร่วมมือทวิภาคีมากขึ้นเรื่อยๆ โดยการขนส่งสินค้าข้ามพรมแดนเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 500 เมื่อเทียบเป็นรายปี นับตั้งแต่ต้นปีนี้การรถไฟฯ ได้ขนส่งสินค้าข้ามพรมแดนไปแล้วกว่า 600,000 เมตริกตัน รวมถึงขนส่งสินค้านำเข้ากว่า 510,000 ตัน คิดเป็นสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 500 ตามรายงานจาก China Railway Kunming Group

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten2023_President119.php

ทุเรียนไทยยอดนิยมตในจีน ส่งออก 5 เดือน 6 หมื่นล้าน

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยินดีต่อผลประกอบการและตัวเลขการส่งออก ทุเรียนไทยซึ่งยังคงได้รับความนิยมต่อเนื่องในจีน พร้อมกำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้ความสำคัญในการควบคุมและรักษาคุณภาพทุเรียนตามมาตรฐาน ตั้งแต่ต้นทางไปจนปลายทาง ชื่นชมระเบียงการค้าเชื่อมทางบกและทางทะเลระหว่างประเทศสายใหม่ (New International Land-Sea Trade Corridor: ILSTC) ใช้เวลาขนส่ง 4 วัน จากเดิม 8-10 วัน ซึ่งการขนส่งแบบใหม่นี้ไม่เพียงจะช่วยลดต้นทุนแล้ว ยังช่วยลดความเสียหายระหว่างการขนส่งได้อีกด้วย โดยสถิติการส่งออกทุเรียนปี 2022 ซึ่งถือเป็นปีที่มีสถิติการส่งออกทุเรียนสูงสุดในรอบ 30 ปี ไทยส่งออกทุเรียนสดมูลค่ากว่า 1.10 แสนล้านบาท คาดว่ามาจาก 4 ปัจจัยหลัก ได้แก่ 1.ความสะดวกในด้านการคมนาคมขนส่งที่สามารถส่งออกสูงสุดได้ถึง 700-800 ตัน/ตู้/วัน 2. การผ่อนปรนการตรวจโควิดของจีน 3.รสชาติที่ดีของทุเรียนไทย และ 4.มาตรฐานการคุมเข้มทุเรียนอ่อน

ที่มา : https://www.thebetter.co.th/news/business/4772