‘ส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยง’ ปี 66 เติบโตต่อเนื่อง ดันไทยส่งออกอันดับ 1 อาเซียน ที่ 4 ของโลก

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยินดีผลตัวเลขการส่งออกสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยงของไทยเติบโตต่อเนื่อง เป็นผู้นำด้านการส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงอันดับ 4 ของโลก และอันดับ 1 ในอาเซียน ตลาดการส่งออกสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยงของไทยมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง และยังครองใจผู้บริโภคในตลาดโลก โดยข้อมูลจากกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ พบว่า ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2566 (ม.ค.– เม.ย. 66) ไทยมีมูลค่าการส่งออกอาหาsสัตว์เลี้ยงไปตลาดโลก 750 ล้านดอลลาร์ ทำให้ประเทศไทยขึ้นเป็นผู้นำด้านการส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงอันดับ 4 ของโลก รองจากสหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา และจีน ซึ่งถือเป็นอันดับ 1 ในอาเซียน ทั้งนี้ เป็นผลมาจากการใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี (FTA) กับคู่ค้า ปลดล็อคกำแพงภาษีศุลกากร ผู้ประกอบการไทยสามารถขยายส่งออกไปตลาดต่างประเทศได้มากขึ้น โดยช่วง 4 เดือนแรก ของปี 2566 ไทยส่งออกอาหาsสัตว์เลี้ยงไปตลาดคู่ค้า FTA มูลค่า 432 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วน 58% ของการส่งออกสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยงทั้งหมด ซึ่งตลาดที่ขยายตัวต่อเนื่อง ได้แก่ ฟิลิปปินส์ กัมพูชา เมียนมา และเปรู ปี 65 ส่งออกโต 15% ทั้งนี้ รัฐบาลยังคงปฏิบัติตามแนวทางการดำเนินนโยบายเจรจากับประเทศคู่ค้าที่มีอยู่อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งเปิดเจรจา FTA ฉบับใหม่ ๆ กับประเทศคู่ค้าสำคัญ และคู่ค้าที่มีศักยภาพ เพื่อเพิ่มตลาดส่งออกอำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการไทย

ที่มา : https://www.thebangkokinsight.com/news/business/1124725/

“เมียนมา” เผยเดือน พ.ค. ส่งออกน้ำผึ้งทะลุ 330 ตัน

ตามรายงานของ Livestock Breeding and Veterinary Department (LBVD) ระบุว่าในเดือน พ.ค. ของปีงบประมาณ 2566-2567 เมียนมาประสบความสำเร็จครั้งใหญ่จากการส่งออกน้ำผึ้งไปยังต่างประเทศกว่า 300 ตัน คิดเป็นมูลค่าราว 5 แสนดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งจากการส่งออกน้ำผึ้งไปยังตลาดต่างประเทศนั้น ประเทศไทยนำเข้าน้ำผึ้งจากเมียนมา 140.7 ตัน, ญี่ปุ่น 176 ตัน และเกาหลีใต้ 20 ตัน ทั้งนี้ ธุรกิจการเลี้ยงผึ้งในเมียนมาส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในเขตสะกาย เขตมัณฑะเลย์ เขตมาเกวและรัฐฉาน โดยสามารถผลิตน้ำผึ้งได้หลายชนิด ได้แก่ น้ำผึ้งงา น้ำผึ้งพุทรา น้ำผึ้งไนเจอร์ น้ำผึ้งดอกทานตะวัน น้ำผึ้งลิ้นจี่ และน้ำผึ้งดอกไม้ นอกจากนี้ น้ำผึ้งของเมียนมายังเป็นยาแผนโบราณและทำรายได้ให้กับประเทศจากการส่งออกไปยังต่างประเทศ

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/myanmars-honey-exports-exceed-330-tonnes-in-may/#article-title

“เมียนมา” เผยราคายางพารา ดีดทะลุ 1,400 จ๊าตต่อปอนด์

ราคายางพาราในรัฐมอญ (Mon State) ทะลุ 1,400 จ๊าตต่อปอนด์ ได้แรงหนุนจากแนวโน้มราคายางระหว่างประเทศที่พุ่งสูงขึ้น โดยในปัจจุบันราคายางพาราแบบแห้ง (Local 3) อยู่ที่ราว 1,405 จ๊าตต่อปอนด์ ในขณะที่ยางพาราแผ่นรมควันราคาประมาณ 1,425 จ๊าตต่อปอนด์ ทั้งนี้ สถานการณ์ราคายางพาราในเมียนมา ได้รับอิทธิผลมาจากอุปสงค์โลก ผลผลิตยางพาราในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และผลผลิตของตลาด ซึ่งปัจจัยข้างต้นมีส่วนสำคัญต่อรัฐมอญ เนื่องจากรัฐมอญเป็นศูนย์กลางการผลิตยางพาราที่สำคัญของเมียนมา นอกจากนี้ สมาคมผู้ปลูกและผลิตยางพาราของประเทศเมียนมา ได้ตั้งเป้ายอดการส่งออกยางพาราไว้ที่ 300,000 ตัน ในปีงบประมาณ 2566-2567

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/rubber-price-rebounds-surpasses-k1400-per-pound/#article-title

ไทยใช้เส้นทางรถไฟสาย สปป.ลาว-จีน ขนส่งทุเรียนไปยังฉงชิ่งภายใน 88 ชั่วโมง

ประเทศไทยใช้ประโยชน์จากเส้นทางการขนส่งทางรถไฟสาย สปป.ลาว-จีน ไปยังเทศบาลนครฉงชิ่ง ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการขนส่งทุเรียนและผลไม้ประเภทต่างๆ ประมาณกว่า 500 ตัน รายงานโดยบริษัทขนส่ง China Railway Materials เมื่อวันวันจันทร์ที่ผ่านมา (12 มิ.ย.) ซึ่งลักษณะการขนส่งใช้ตู้คอนเทนเนอร์ขนาด 40 ฟุต จำนวน 28 ตู้ ส่งตรงไปยังศูนย์โลจิสติกส์ทางรถไฟ Xiaonanya ของฉงชิ่ง ใช้เวลาการขนส่งภายใน 88 ชั่วโมง นับเป็นการเปิดเส้นทางโลจิสติกส์ที่เชื่อมโยงสวนผลไม้กับตลาดค้าปลีกในฉงชิ่ง ขณะที่ Deng Haoji ผู้จัดการจาก บริษัท Chongqing Hongjiu Fruit กล่าวว่า การขนส่งดังกล่าวลดระยะเวลาด้านการขนส่งลงกว่าครึ่งเมื่อเทียบกับการขนส่งในอดีต โดยทางการ สปป.ลาว ยังได้กล่าวเสริมว่าบริษัทจากประเทศต่างๆ ในภูมิภาคจะได้รับประโยชน์จากข้อตกลงการค้าต่างๆ อาทิเช่น ข้อตกลงความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ที่ยังคงเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของจีน นับตั้งแต่เดือนมกราคมถึงพฤษภาคม ตามรายงานของกรมศุลกากร (GAC) ซึ่งมูลค่าการค้ารวมระหว่างจีนและอาเซียนเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 2.59 ล้านล้านหยวน (3.6 แสนล้านดอลลาร์) ในช่วง 5 เดือนแรก คิดเป็นการขยายตัวกว่าร้อยละ 9.9 เมื่อเทียบเป็นรายปี

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten112_Direct_y23.php

สหรัฐฯ ยังคงเป็นตลาดส่งออกสำคัญของกัมพูชา

สหรัฐฯ ยังคงเป็นตลาดส่งออกที่ใหญ่ที่สุดของกัมพูชา ในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ ตามรายงานของกรมศุลกากรและสรรพสามิต (GDCE) โดยรายงานของ GDCE ระบุว่าการส่งออกทั้งหมดของกัมพูชาไปยังสหรัฐฯ คิดเป็นมูลค่า 3.19 พันล้านดอลลาร์ ลดลงร้อยละ 14.3 จากมูลค่า 3.73 พันล้านดอลลาร์ ในช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 34.8 ของการส่งออกทั้งหมดของกัมพูชาที่มีมูลค่ารวม 9.18 พันล้านดอลลาร์ สำหรับสินค้าส่งออกสำคัญของกัมพูชาไปยังสหรัฐฯ ได้แก่ เสื้อผ้า รองเท้า และสินค้าสำหรับการเดินทาง แม้ว่าปัจจุบันกัมพูชาจะไม่ได้สิทธิพิเศษของโครงการ GSP จากสหรัฐแล้วก็ตาม โดยในปี 2023 ทางการกัมพูชาคาดว่าสถานการณ์การส่งออกอาจต้องเผชิญกับความยากลำบาก เนื่องจากคำสั่งซื้อโดยภาพรวมลดลงอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งในปีที่แล้วการค้าทวิภาคีระหว่างกัมพูชาและสหรัฐฯ มีมูลค่ารวม 6.92 พันล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นการเพิ่มขึ้นร้อยละ 18 เมื่อเทียบกับปี 2021

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501307389/us-remains-cambodias-largest-export-market/

การค้าระหว่างประเทศของกัมพูชาแตะ 1.9 หมื่นล้านดอลลาร์ ในช่วง 5 เดือนแรกของปี

มูลค่าการค้าระหว่างประเทศของกัมพูชามีมูลค่ารวมมากกว่า 1.9 หมื่นล้านดอลลาร์ ในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ หรือคิดเป็นการลดลงร้อยละ 14 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งรายงานโดยกรมศุลกากรและสรรพสามิต ของกระทรวงเศรษฐกิจและการคลัง คิดเป็นการส่งออกของกัมพูชาส่งเกือบ 9.2 พันล้านดอลลาร์ ไปยังตลาดต่างประเทศ ลดลงร้อยละ 2.4 เมื่อเทียบเป็นรายปี ในขณะเดียวกันการนำเข้าของกัมพูชาปรับตัวลดลงเช่นกันที่ร้อยละ 22.6 หรือคิดเป็นมูลค่ามากกว่า 1 หมื่นล้านดอลลาร์ สำหรับตลาดส่งออกที่สำคัญของกัมพูชา ได้แก่ จีน สหรัฐฯ เวียดนาม ไทย ญี่ปุ่น สิงคโปร์ อินโดนีเซีย เยอรมนี ไต้หวัน และแคนาดา ด้านสินค้าส่งออกหลัก ได้แก่ เสื้อผ้า รองเท้า สินค้าเพื่อการเดินทาง จักรยาน ข้าว อุปกรณ์ไฟฟ้า ยางพารา เฟอร์นิเจอร์ ผักและผลไม้ ขณะที่การนำเข้าส่วนใหญ่ ได้แก่ วัสดุก่อสร้าง รถยนต์ ผลิตภัณฑ์ยา อิเล็กทรอนิกส์และอุปกรณ์ไฟฟ้า ปุ๋ย และยาฆ่าแมลงเป็นส่วนใหญ่

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501307770/cambodias-international-trade-recorded-at-over-19-billion-in-first-five-months/

นายกฯ ผลักดันใช้สิทธิประโยชน์จากความตกลง RCEP เพื่อเพิ่มโอกาสทางการตลาด

15 มิถุนายน 2566 นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มุ่งผลักดันการใช้สิทธิประโยชน์และขยายโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยสู่ตลาดโลกภายใต้ความตกลง RCEP ซึ่งมีผลบังคับใช้กับชาติสมาชิกครบทั้ง 15 ประเทศแล้ว ครอบคลุมประชากรและ GDP กว่า 30% ของโลก โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP) ซึ่งมีการลงนามครั้งประวัติศาสตร์ เมื่อปี 2563 ได้มีผลบังคับใช้ครอบคลุมประเทศฟิลิปปินส์แล้ว เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2565 ส่งผลให้ RCEP บังคับใช้โดยสมบูรณ์ในประเทศสมาชิกทั้ง 15 ประเทศ ครอบคลุมประชากรและ GDP กว่า 30% ของโลก ซึ่งจะช่วยส่งเสริมประเทศไทยในการขยายการค้าสินค้ากับและประเทศสมาชิก เพิ่มโอกาสทางการตลาดและการจ้างงานให้กับผู้ประกอบการธุรกิจ และประชาชนชาวไทยได้อย่างมหาศาล รวมทั้งจะช่วยอำนวยความสะดวกทางการค้า และเพิ่มประสิทธิภาพในการพัฒนาสภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจให้ดีขึ้นได้อีกด้วย ทั้งนี้ กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ได้เปิดเผยว่า ประเทศไทยได้รับประโยชน์จาก RCEP ในเดือนมกราคม 2566 มีการส่งออกไปยัง 9 ประเทศ คือ ญี่ปุ่น จีน เกาหลี ออสเตรเลีย สิงคโปร์ นิวซีแลนด์ มาเลเซีย เวียดนาม และอินโดนีเซีย มีมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์รวม 97.04 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัว 1,039 % เมื่อเทียบกับเดือนมกราคม 2565 ที่ได้เริ่มบังคับใช้ความตกลง RCEP โดยมีสินค้าส่งออกสำคัญภายใต้ความตกลง RCEP อาทิ น้ำมันหล่อลื่น มันสำปะหลังเส้น ปลาทูน่ากระป๋อง หัวเทียน เป็นต้น ทั้งนี้ รัฐบาลพร้อมอำนวยความสะดวก และให้คำปรึกษาสำหรับการใช้สิทธิประโยชน์ เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยได้ใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าอย่างสูงสุด และสะดวกรวดเร็วมากขึ้น

ที่มา : https://www.naewna.com/business/737438

การส่งออกสินค้ากลุ่ม GFT ของกัมพูชายังคงแข็งแกร่ง แม้การส่งออกโดยรวมจะลดลง

กลุ่มสินค้าเสื้อผ้า รองเท้า และสินค้าเพื่อการเดินทาง (GFT) ยังคงเป็นกลุ่มสินค้าที่มีสัดส่วนการส่งออกสูงสุดของกัมพูชาในช่วง 5 เดือนแรกของปี ที่สัดส่วนร้อยละ 43.4 จากมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของกัมพูชา รายงานโดยกรมศุลกากรและสรรพสามิต (GDCE) ซึ่งการส่งออกสินค้ากลุ่ม GFT ในช่วงเวลาดังกล่าวมีมูลค่ารวมอยู่ที่ 3.99 พันล้านดอลลาร์ ลดลงที่ร้อยละ 23.06 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มูลค่า 5.18 พันล้านดอลลาร์ ส่งผลทำให้เกิดความกังวลเป็นอย่างมากเกี่ยวกับการปิดโรงงานและการสูญเสียการจ้างงานที่มีการจ้างมากถึง 850,000 คน ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมระบุว่าการส่งออกที่ลดลงเป็นผลมาจากอุปสงค์ที่ลดลง และการที่มีสินค้าคงคลังมากเกินไปหลังการส่งออกสินค้าไปยังยุโรปและสหรัฐฯ ที่ลดลง ตามรายงานของ Tassilo Brinzer ประธานหอการค้ายุโรปในกัมพูชา (EuroCham) ซึ่งในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา โรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าและรองเท้าร้อยละ 20-25 ในกัมพูชาปิดตัวลงส่งผลทำให้แรงงานจำนวนมากตกงาน ในขณะเดียวกันรัฐบาลกัมพูชาได้เริ่มโครงการร่วมกับเจ้าของโรงงานสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม เพื่อให้การสนับสนุนทางการเงินแก่คนงานที่ตกงานหลังจากการปิดโรงงาน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501306694/cambodias-gft-woes-unabated-as-exports-decline-23/

ในช่วง 5 เดือนแรงของปี กัมพูชาส่งออกแตะ 9.18 พันล้านดอลลาร์

การส่งออกของกัมพูชาในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2023 มูลค่ารวมแตะ 9.18 พันล้านดอลลาร์ ลดลงเล็กน้อยร้อยละ 2.4 จากเมื่อช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีการส่งออกรวมมูลค่า 9.41 พันล้านดอลลาร์ ตามการรายงานของกรมศุลกากรและสรรพสามิตกัมพูชา โดยสินค้าส่งออกสำคัญของกัมพูชา ได้แก่ เครื่องนุ่งห่ม รองเท้า สินค้าเดินทาง จักรยาน และสินค้าเกษตร อาทิ ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง กล้วย และมะม่วง สำหรับประเทศส่งออก 5 อันดับแรกของกัมพูชา ได้แก่ สหรัฐฯ เวียดนาม จีน ไทย และญี่ปุ่น ซึ่งคาดว่าข้อตกลงความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ข้อตกลงการค้าเสรีกับจีน (CCFTA) และเกาหลี (CKFTA) จะมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการส่งออกของกัมพูชา

ในขณะเดียวกันการนำเข้าของกัมพูชาจากต่างประเทศมีมูลค่ารวม 10,109 ล้านดอลลาร์ ในช่วงเวลาดังกล่าว ลดลงร้อยละ 22.6 จากมูลค่ารวม 13,057 ล้านดอลลาร์ ในช่วงปีก่อนหน้า ขณะที่สินค้านำเข้าสำคัญ ได้แก่ น้ำมัน ก๊าซ วัตถุดิบสำหรับเสื้อผ้า รองเท้า สินค้าเพื่อการเดินทาง ยานพาหนะ เครื่องจักร เครื่องใช้อิเล็กทรอนิกส์ และสินค้าอุปโภคบริโภค รวมถึงสินค้าอื่นๆ เป็นสำคัญ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501306111/cambodia-exports-reach-9-18-billion-in-five-months/

“เวียดนาม” ส่งออกลิ้นจี่ไปสหราชอาณาจักรอย่างเป็นทางการครั้งแรก

คุณ Thai Tran กรรมการผู้จัดการของบริษัท กล่าวว่านับเป็นครั้งแรกที่มีการนำเข้าลิ้นจี่สุกก่อนกำหนดจากเวียดนาม เพื่อที่จะแข่งขันกับเม็กซิโกและจีนที่ได้จำหน่ายลิ้นจี่ในตลาดสหราชอาณาจักร (UK) โดยปัจจุบันลิ้นจี่ของเวียดนามติดรูปธงชาติไว้บนบรรจุภัณฑ์ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมแบรนด์ของเวียดนามและช่วยให้ผู้บริโภคจดจำผลิตภัณฑ์ของเวียดนามในซูเปอร์มาร์เก็ตได้ ทั้งนี้ กระบวนการจัดเก็บลิ้นจี่ไปจนถึงการวางจำหน่ายในสหราชอาณาจักร ใช้เวลาเพียง 36 ชั่วโมง ขณะที่ความต้องการลิ้นจี่ในตลาดดังกล่าวเพิ่มขึ้น เนื่องมาจากคุณภาพสูงและฤดูการปลูกอายุสั้น ตลอดจนกิจกรรมการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมและการส่งเสริมการค้า นอกจากนี้ ราคาลิ้นจี่ของเวียดนามในปัจจุบัน อยู่ที่ 15 ปอนด์ (18.65 ดอลลาร์สหรัฐ) ต่อกิโลกรัม ที่วางขายในสหราชอาณาจักร

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/vietnam-s-first-official-channel-lychee-shipment-arrives-in-uk-2151932.html