สปป.ลาว เตรียมแผน “Visit Laos 2024” ดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติ

หน่วยงานระดับจังหวัดทั่วประเทศ กำลังเร่งเตรียมการเปิดตัวโปรแกรมท่องเที่ยวภายใต้แคมเปญ “Visit Laos Year 2024” เพื่อให้บริษัททัวร์สามารถสร้างแพ็คเกจทัวร์ตามข้อเสนอที่หลากหลาย ตอบสนองต่อความต้องการของนักท่องเที่ยว ขณะที่ Suanesavanh Vignaket รัฐมนตรีว่าการกระทรวงข่าวสาร วัฒนธรรม และการท่องเที่ยว กล่าวเสริมว่า ปัจจุบันหน่วยงานรัฐฯ ทุกจังหวัดได้ส่งรายการแผนงานและกิจกรรมต่างๆ ไปยังกระทรวงแล้ว ซึ่งทางกระทรวงได้ส่งต่อไปยังบริษัททัวร์เพื่อจัดเตรียมในการนำเสนอต่อนักท่องเที่ยวต่อไป โดยรัฐบาลได้จัดแคมเปญส่งเสริมการขายก่อนหน้านี้เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว ได้แก่ Visit Laos Years 2 ครั้ง Visit Laos-China Year และ Lao Thiao Laos ซึ่งดึงดูดนักท่องเที่ยวจำนวนมาก โดยหวังดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติมายัง สปป.ลาว ให้ได้จำนวนเกินกว่าช่วงก่อนเกิดสถานการณ์โควิด-19

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten121_Provinces_y23.php

ตัวแทนอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม สปป.ลาว ร่วมหารือลดต้นทุนด้านพลังงาน

สมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม สปป.ลาว (ALGI) เล็งเห็นและให้ความสำคัญกับการลดต้นทุนด้านพลังงาน รวมถึงการปกป้องสิ่งแวดล้อม โดยทางสมาคมได้จัดหลักสูตรทางด้านเทคนิคเกี่ยวกับระบบการจัดการพลังงาน รวมถึงการฝึกอบรม ซึ่งมุ่งเป้าไปที่การดำเนินการตามแผนที่มีอยู่ของบริษัทสำหรับภาคส่วนอุตสาหกรรมเสื้อผ้าสำเร็จรูป ที่ได้จัดขึ้นในระหว่างวันที่ 20-22 มิถุนายน ณ หอการค้าและอุตสาหกรรมแห่งชาติ สปป.ลาว (LNCCI) ที่ได้รับความร่วมมือกับทางกระทรวงพลังงานและเหมืองแร่ สปป.ลาว ในการถ่ายทอดความรู้

โดยภาคอุตสาหกรรมผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปมีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใช้ระบบการจัดการพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อลดต้นทุนการผลิตและสอดคล้องกับนโยบายและพระราชกฤษฎีกาการอนุรักษ์พลังงานของรัฐบาล นอกจากนี้ คู่ค้าในปัจจุบันยังต้องการสินค้าที่ผลิตโดยกรรมวิธีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงยังเป็นมิตรต่อแรงงานในสายการผลิต

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten2023_Garment120.php

ประธานาธิบดี สปป.ลาว แนะฉงฉิ่งส่งสินค้าผ่านทางรถไฟสาย สปป.ลาว-จีน

ประธานาธิบดีทองลุน สีสุลิด เสนอให้ สปป.ลาวและเทศบาลนครฉงชิ่งของจีน ร่วมมือกันขนส่งสินค้าโดยใช้ทางรถไฟสาย สปป.ลาว-จีน โดยการใช้ทางรถไฟเพื่อขนส่งสินค้าจะถือเป็นการเปิดตลาดให้กับ สปป.ลาว ไปยังพื้นที่ตอนกลางและตะวันตกของจีน นอกจากนี้ ทางประธานาธิบดียังขอให้ทางการฉงชิ่งสนับสนุนธุรกิจต่างๆ ของ สปป.ลาว รวมถึงการเข้ามาลงทุนยัง สปป.ลาว เพิ่มขึ้น ด้าน Yuan Jiajun ผู้ว่าการมณฑลฉงฉิ่งกล่าวเสริมว่าความสำเร็จในความร่วมมือระหว่าง สปป.ลาว และเทศบาลนครฉงชิ่งในปีที่ผ่านมาถือว่าผ่านไปได้ด้วยดี ภายใต้ข้อตกลงที่ทำขึ้นระหว่างผู้นำของทั้งสองฝ่าย เพื่อหวังยกระดับความร่วมมือทวิภาคีมากขึ้นเรื่อยๆ โดยการขนส่งสินค้าข้ามพรมแดนเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 500 เมื่อเทียบเป็นรายปี นับตั้งแต่ต้นปีนี้การรถไฟฯ ได้ขนส่งสินค้าข้ามพรมแดนไปแล้วกว่า 600,000 เมตริกตัน รวมถึงขนส่งสินค้านำเข้ากว่า 510,000 ตัน คิดเป็นสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 500 ตามรายงานจาก China Railway Kunming Group

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten2023_President119.php

เส้นทางรถไฟสาย สปป.ลาว-จีน ดึงนักท่องเที่ยวจีนมายัง สปป.ลาว มากขึ้น

จำนวนนักท่องเที่ยวชาวจีนที่เดินทางมายัง สปป.ลาว เพิ่มขึ้นอย่างมาก นับตั้งแต่เปิดให้บริการเส้นทางรถไฟสาย สปป.ลาว-จีน สำหรับผู้โดยสารเดินทางข้ามแดนไปเมื่อวันที่ 13 เมษายน ที่ผ่านมา ตามการรายงานของ Mr. Pakasith Chathapaya ประธานสมาคมโรงแรมและภัตตาคารของ สปป.ลาว กล่าวกับหนังสือพิมพ์เวียงจันทน์ไทมส์เมื่อเร็ว ๆ นี้ ว่าชาวจีนเดินทางเข้ามาพักที่โรงแรมของประทานฯ คิดเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 40 ของลูกค้าทั้งหมด โดยคาดว่าอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจะกลับมาเฟื่องฟูอีกครั้ง เนื่องจาก สปป.ลาว เตรียมเปิดตัวแคมเปญ “Visit Laos Year” และจะเป็นเจ้าภาพการประชุมสุดยอดอาเซียนในปีหน้า ซึ่งจากข้อมูลของกระทรวงสารสนเทศ วัฒนธรรม และการท่องเที่ยว รายงานว่าในช่วง 4 เดือนแรกของปี สปป.ลาว ให้การต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติกว่า 1.11 ล้านคน โดยในจำนวนนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวมาจากประเทศไทยมากที่สุดที่ 430,979 คน ตามมาด้วยเวียดนาม 224,461 คน และจีน 223,350 คน ซึ่งจำนวนนักท่องเที่ยวชาวจีนเพิ่มขึ้นจาก 16,283 คน ในเดือนมกราคมเป็น 53,837 คน ในเดือนกุมภาพันธ์ เพิ่มขึ้นเป็น 73,192 คนในเดือนมีนาคม และเพิ่มขึ้นเป็น 80,038 คน ในช่วงเดือนเมษายน แสดงถึงการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten118_Railway_y23.php

กัมพูชาส่งเสริมการชำระเงินดิจิทัลข้ามพรมแดนระหว่าง เวียดนาม และสปป.ลาว

ธนาคารแห่งชาติกัมพูชา (NBC) กำลังเตรียมลงนามข้อตกลงกับธนาคารแห่งรัฐเวียดนามและธนาคารแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เพื่อส่งเสริมการใช้สกุลเงินเรียลของกัมพูชาในกิจกรรมทางเศรษฐกิจระหว่างกันข้ามพรมแดน กล่าวโดย Chea Serey รองผู้ว่าการ NBC ระหว่างการให้สัมภาษณ์กับสื่อของเวียดนามในกรุงพนมเปญ โดยเน้นย้ำว่าความคิดริเริ่มนี้จะช่วยให้ผู้บริโภคใช้สกุลเงินเรียลในการซื้อสินค้า/บริการในประเทศมากขึ้น ผ่านการใช้งานบนระบบ QR Code ที่เชื่อมโยงกับบัญชีในประเทศของตน ซึ่งรองผู้ว่าการฯ สังเกตว่าความต้องการในการใช้เงินสกุลเรียลเพิ่มขึ้นทีละน้อยอย่างค่อยเป็นค่อยไปในช่วงหลายปีที่ผ่านมา การไหลเวียนของเงินเรียลในกัมพูชามีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีที่ร้อยละ 16.6 หรือคิดเป็นประมาณ 14.1 ล้านล้านเรียล (เทียบเท่ากับ 3.4 พันล้านดอลลาร์) ในปี 2022 เพิ่มขึ้นจาก 356 ล้านเรียลในปี 1998 โดยการใช้สกุลเงินดอลลาร์ในปัจจุบัน ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจกัมพูชา เนื่องจากปริมาณเงินเรียลในระบบมีการใช้อยู่ค่อนข้างน้อย จนทำให้ธนาคารแห่งชาติกัมพูชา ใช้นโยบายทางการเงินได้ไม่เต็มที่ โดยปัจจุบันกลุ่ม ASEAN-5 ประกอบด้วยอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย และสิงคโปร์ ได้ลงนามในข้อตกลงเมื่อปีที่แล้ว เพื่อจัดตั้งระบบการชำระเงินดิจิทัลข้ามพรมแดนโดยใช้ QR Code ร่วมกันภายในสิ้นปีนี้

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501311878/cambodia-to-promote-cross-border-digital-payment-with-viet-nam-laos/

แรงงานสัญชาติ สปป.ลาว เดินทางทำงานยังเกาหลีใต้มากขึ้น

รัฐบาล สปป.ลาว คาดส่งแรงงานไปยังเกาหลีใต้เพิ่มขึ้น เพื่อทำงานในภาคเกษตรและประมง โดยหวังว่าแรงงานจะได้เรียนรู้จากประสบการณ์และได้รับประโยชน์จากความเชี่ยวชาญในภาคการเกษตรของเกาหลี เพื่อให้สอดคล้องกับความตั้งใจของรัฐบาลในการส่งเสริมภาคการเกษตร ซึ่งกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมร่วมกับจังหวัด Gyeongsangnam-do ของเกาหลี ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) ว่าด้วยการแลกเปลี่ยนแรงงานภาคเกษตร โดยสิ่งนี้จะช่วยพัฒนาศักยภาพและคุณภาพการผลิตทางการเกษตรใน สปป.ลาว ซึ่งทางการ สปป.ลาว ตั้งเป้าส่งแรงงาน 1,500-2,000 คน ไปทำงานยังเกาหลีในแต่ละปีภายใต้ข้อตกลงดังกล่าว โดยปัจจุบันทางการ สปป.ลาว รายงานว่ามีแรงงาน สปป.ลาว เดินทางไปทำงานยังเกาหลีอย่างน้อย 2,800 คน ด้วยการทำสัญญาระยะสั้นระหว่างปี 2022-2023 จนถึงขณะนี้ กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมได้ลงนามในข้อตกลงเกี่ยวกับการใช้แรงงานตามฤดูกาลกับ 28 เมืองในเกาหลีใต้ ซึ่งแรงงานทำงานเป็นเวลา 90 วัน หรือ 5 เดือน ในภาคเกษตรกรรมและการประมง

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten117_More_y23.php

โรงงานปูนซีเมนต์ในอุดมไซ สปป.ลาว ตั้งเป้าผลิต 2 ล้านตันต่อปี

โรงงานปูนซีเมนต์ Oudomxay Jiangge ในจังหวัดอุดมไซ ซึ่งเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายปูนซีเมนต์รายใหญ่ทางตอนเหนือของ สปป.ลาว ได้กำหนดเป้าหมายการผลิตไว้ที่ 2 ล้านตันต่อปี ด้วยเงินลงทุนมากกว่า 2 ล้านล้านกีบ ภายใต้อุปกรณ์การผลิตและเทคโนโลยีการแปรรูปที่ทันสมัยระดับโลก โดยในช่วงเดือนกรกฎาคม 2017 บริษัท Guizhou Jiangge Cement Co., Ltd. เริ่มเข้าลงทุนด้วยการซื้อกิจการโรงงานปูนซีเมนต์ในอุดมไซและโรงงานปูนซีเมนต์ในหลวงพระบาง ซึ่งบริษัทยังได้รับการขึ้นทะเบียนภายใต้โครงการสำคัญอย่าง Belt and Road Initiative ที่เอื้อต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมภายในประเทศ ด้านนาย Lin Peiliang ประธาน บริษัท Oudomxay Jiangge Cement กล่าวเสริมว่าบริษัทไม่เพียงแต่จะมีเป้าหมายเพื่อเป็นผู้นำด้านการผลิตปูนซีเมนต์รายใหญ่ของ สปป.ลาว แต่ยังมุ่งส่งออกไปยังประเทศจีน ไทย และเวียดนาม ต่อไปในอนาคตอีกด้วย

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten116_Oudomxay.php

BYD หารือนายกฯ สปป.ลาว ถึงแผนการจัดตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้า

เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน ที่ผ่านมา Mr. Liu Xueliang ผู้จัดการทั่วไป BYD Asia-Pacific, Mr. Ye Chenghui ผู้อำนวยการภูมิภาค BYD Asia-Pacific และ Mr. Mok Leng Tou ประธานบริษัท MOK Co., Ltd. ซึ่งเป็นบริษัทพันธมิตรของ BYD ใน สปป.ลาว ได้เดินทางเข้าพบกับนายกรัฐมนตรี สปป.ลาว ณ กรุงเวียงจันทน์ โดยทั้งสองฝ่ายได้หารือเชิงลึกเกี่ยวกับการใช้รถยนต์พลังงานทดแทนและการเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้รถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งในระหว่างการประชุม Liu Xueliang กล่าวว่า ยอดขายของรถยนต์ไฟฟ้า BYD มียอดขายสะสมเกินกว่า 1.86 ล้านคัน ในช่วงปี 2022 คิดเป็นการขยายตัวกว่าร้อยละ 208.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ถือเป็นตลาดต่างประเทศที่ BYD ให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา BYD ได้จัดตั้งโรงงานผลิตรถยนต์นั่งส่วนบุคคลในต่างประเทศแห่งแรกในประเทศไทย และบริษัทหวังว่าจะมีโรงงานผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ใน สปป.ลาว ในอนาคตเพื่อรองรับการผลิต โดยทาง BYD พร้อมที่จะทำงานร่วมกับพันธมิตรในท้องถิ่นของ สปป.ลาว เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมรถยนต์อย่างต่อเนื่อง ซึ่งการดำเนินโครงการนี้จะเพิ่มฉันทามติระหว่างจีนและ สปป.ลาว ในการส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในประเทศและโครงการมลพิษต่ำที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งส่งเสริมการพัฒนาเวียงจันทน์ให้เป็นต้นแบบด้านเมืองคาร์บอนต่ำต่อไป

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten115_BYD_y23.php

2022 มูลค่าการค้า สปป.ลาว-ญี่ปุ่น พุ่งแตะ 290.5 ล้านดอลลาร์

มูลค่าการค้าระหว่าง สปป.ลาว และญี่ปุ่นในช่วงปี 2022 มีมูลค่ารวมอยู่ที่ 290.5 ล้านดอลลาร์ โดยคิดเป็นการนำเข้าของ สปป.ลาว จากญี่ปุ่นมูลค่า 149.8 ล้านดอลลาร์ สินค้านำเข้าสำคัญ ได้แก่ ยานพาหนะ (ยกเว้นรถจักรยานยนต์และรถแทรกเตอร์) ชิ้นส่วนอะไหล่รถยนต์ แก้วและเครื่องแก้ว รถแทรกเตอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ เส้นใยสังเคราะห์ เครื่องใช้พลาสติก ฝ้ายและผลิตภัณฑ์จากฝ้าย สำหรับการส่งออกของ สปป.ลาว ไปยังญี่ปุ่นมีมูลค่ารวมอยู่ที่ 140.6 ล้านดอลลาร์ ได้แก่ รองเท้า ผลิตภัณฑ์เคมีภัณฑ์ เครื่องใช้ไฟฟ้า น้ำหอม เครื่องสำอาง ขนไก่ เกลือโพแทสเซียม กาแฟ ผลิตภัณฑ์เคมี กล้วยและผลไม้อื่นๆ ไปจนถึงอุปกรณ์กีฬา เมล็ดพืช ฟางและหญ้า กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ กล่าวโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและพาณิชย์ Mr. Malaythong Kommasith ระหว่างเข้าพบหารือกับคณะผู้แทนญี่ปุ่น ณ กรุงเวียงจันทน์ ซึ่งกล่าวเสริมว่ารัฐบาลญี่ปุ่นได้เขามาช่วยเหลือ สปป.ลาว นับตั้งแต่ปี 2010 ในการศึกษาความเป็นไปได้เบื้องต้นในการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมในนามสวนอุตสาหกรรมเวียงจันทน์ ผ่านความร่วมมือกับองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JICA) ซึ่งรัฐบาลญี่ปุ่นตกลงที่จะให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ ภายใต้การชำระคืนของรัฐบาล สปป.ลาว ให้กับผู้ถือสิทธิการใช้ที่ดินในปัจจุบัน

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten2023_Laos114.php

ไทยใช้เส้นทางรถไฟสาย สปป.ลาว-จีน ขนส่งทุเรียนไปยังฉงชิ่งภายใน 88 ชั่วโมง

ประเทศไทยใช้ประโยชน์จากเส้นทางการขนส่งทางรถไฟสาย สปป.ลาว-จีน ไปยังเทศบาลนครฉงชิ่ง ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการขนส่งทุเรียนและผลไม้ประเภทต่างๆ ประมาณกว่า 500 ตัน รายงานโดยบริษัทขนส่ง China Railway Materials เมื่อวันวันจันทร์ที่ผ่านมา (12 มิ.ย.) ซึ่งลักษณะการขนส่งใช้ตู้คอนเทนเนอร์ขนาด 40 ฟุต จำนวน 28 ตู้ ส่งตรงไปยังศูนย์โลจิสติกส์ทางรถไฟ Xiaonanya ของฉงชิ่ง ใช้เวลาการขนส่งภายใน 88 ชั่วโมง นับเป็นการเปิดเส้นทางโลจิสติกส์ที่เชื่อมโยงสวนผลไม้กับตลาดค้าปลีกในฉงชิ่ง ขณะที่ Deng Haoji ผู้จัดการจาก บริษัท Chongqing Hongjiu Fruit กล่าวว่า การขนส่งดังกล่าวลดระยะเวลาด้านการขนส่งลงกว่าครึ่งเมื่อเทียบกับการขนส่งในอดีต โดยทางการ สปป.ลาว ยังได้กล่าวเสริมว่าบริษัทจากประเทศต่างๆ ในภูมิภาคจะได้รับประโยชน์จากข้อตกลงการค้าต่างๆ อาทิเช่น ข้อตกลงความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ที่ยังคงเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของจีน นับตั้งแต่เดือนมกราคมถึงพฤษภาคม ตามรายงานของกรมศุลกากร (GAC) ซึ่งมูลค่าการค้ารวมระหว่างจีนและอาเซียนเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 2.59 ล้านล้านหยวน (3.6 แสนล้านดอลลาร์) ในช่วง 5 เดือนแรก คิดเป็นการขยายตัวกว่าร้อยละ 9.9 เมื่อเทียบเป็นรายปี

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten112_Direct_y23.php