“รัฐบาลสปป.ลาว” ให้คำมั่นแก้ไขปัญหาศก. ตกต่ำ

จากการที่ประชุมของรัฐบาล โดยมีนายพันคำ วิพาวัน นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวเป็นประธานและคณะรัฐมนตรี ได้มีการสั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจมหภาคอย่างจริงจัง รวมถึงการสร้างบรรยากาศการลงทุน ปรับปรุงการชำระหนี้ การรับมือกับภัยธรรมชาติ การควบคุมเงินเฟ้อและอัตราแลกเปลี่ยน ทั้งนี้ โฆษกรัฐบาลลาว กล่าวว่าหน่วยงานที่รับผิดชอบต้องให้ความสำคัญในเรื่องการควบคุมราคาสินค้าและการชำระหนี้ในรูปแบบต่างๆ โดยเฉพาะหนี้รัฐวิสาหกิจ นอกจากนี้ ยังได้เน้นถึงความจำเป็นที่จะต้องหลักเลี่ยงการก่อหนี้ใหม่ เนื่องจากรัฐบาลให้คำมั่นว่าจะไม่ยอมให้ประเทศผิดนัดชำระหนี้

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten2022_Govt165.php

เงินเฟ้อลาวเดือน ก.ค. พุ่งแตะ 25.6%

สำนักงานสถิติประเทศลาว (Lao Statistics Bureau) เผยแพร่รายงานว่าอัตราเงินเฟ้อในเดือน ก.ค.65 เพิ่มขึ้น 25.6% จากระดับ 23.6% ในเดือน มิ.ย. ซึ่งเป็นตัวเลขสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2543 ส่งผลกระทบต่อผู้ที่มีรายได้น้อยที่เผชิญกับปัญหาค่าครองชีพที่สูงขึ้น สำนักงานฯ ยังเผยว่าราคาผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ได้แก่ ราคาอาหาร ค่ารักษาพยาบาลและสินค้าอุปโภคบริโภค เป็นต้น ประกอบกับราคาเชื้อเพลิง สินค้านำเข้าอื่นๆ ที่พุ่งสูงขึ้น และเงินกีบก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น

อย่างไรก็ตามเงินกีบก็ยังอ่อนค่าลง ถึงแม้ว่ารัฐบาลจะพยายามควบคุมอัตราแลกเปลี่ยนก็ตาม นอกจากนี้ ค่าเงินกีบที่อ่อนค่าลงถือเป็นสาเหตุหลักของปัญหาเงินเฟ้อ เนื่องจากธุรกิจส่วนใหญ่ใช้เงินสกุลต่างประเทศ โดยเฉพาะเงินบาทและดอลลาร์สหรัฐฯ

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten152_Inflation_y22.php

เจาะลึกวิกฤตค่าเงินในสปป.ลาว และนัยต่อเศรษฐกิจไทย

โดย ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC)

EIC มองว่าสถานการณ์ในสปป.ลาวยังไม่รุนแรงเท่าศรีลังกา เนื่องจากปัจจุบันยังสามารถระดมทุนผ่านช่องทางต่าง ๆ และเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ได้

 

สปป.ลาวกำลังเผชิญวิกฤตเงินกีบอ่อนค่ารุนแรง พร้อมกับอัตราเงินเฟ้อที่เร่งสูงขึ้น

ณ วันที่ 8 สิงหาคม 2022 ค่าเงินกีบอ่อนค่าทะลุระดับ 15,000 กีบต่อดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นการอ่อนค่าลงถึง 57% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ และ 44% เมื่อเทียบกับเงินบาท นับจากเดือนกันยายน 2021 เป็นต้นมา และอ่อนค่าสูงสุดเมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่น ๆ ในภูมิภาค การอ่อนค่าของเงินกีบตามภาวะการเงินโลกที่ตึงตัวขึ้น ประกอบกับการเร่งตัวของราคาน้ำมันและสินค้าต่าง ๆ จากสงครามรัสเซีย-ยูเครน และปัญหาอุปทานคอขวดโลกที่สปป.ลาวจำเป็นต้องพึ่งพาการนำเข้าในสัดส่วนสูง ได้ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อของสปป.ลาวเร่งตัวขึ้น เกิดปัญหาการขาดแคลนเงินดอลลาร์สหรัฐ และปัญหาการขาดแคลนสินค้าโดยเฉพาะน้ำมันเป็นวงกว้าง

 

ต้นตอของวิกฤตในปัจจุบันมาจากปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจที่มีความเปราะบาง

พัฒนาการของเศรษฐกิจโลกในช่วงที่ผ่านมา เช่น การดำเนินนโยบายการเงินที่ตึงตัวในประเทศเศรษฐกิจหลักได้ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อสปป.ลาวที่มีภาระหนี้สาธารณะสูงจากการร่วมลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ท่ามกลางการขาดดุลการคลังต่อเนื่อง ขณะที่ช่องทางการระดมทุนของสปป.ลาวเริ่มมีจำกัดและมีต้นทุนสูงขึ้น หลังถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือลงสู่ระดับเก็งกำไร (Speculative grade) นอกจากนี้ สปป.ลาวมีระดับเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่ต่ำท่ามกลางการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดต่อเนื่อง ซึ่งเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลให้เงินกีบอ่อนค่าและเป็นความเสี่ยงต่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศและการนำเข้าสินค้าจำเป็นต่อไป

 

EIC มองว่าสถานการณ์ในสปป.ลาวยังไม่รุนแรงเท่าศรีลังกา เนื่องจากปัจจุบันยังสามารถระดมทุนผ่านช่องทางต่าง ๆ และเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ได้

ณ ปัจจุบัน แม้ระดับหนี้สาธารณะของสปป.ลาวจะเร่งตัวสูงขึ้นมากแต่ยังต่ำกว่าศรีลังกา และระดับเงินทุนสำรองระหว่างประเทศเทียบมูลค่านำเข้าและหนี้ต่างประเทศระยะสั้นยังสูงกว่า นอกจากนี้ สปป.ลาวยังมีช่องทางการระดมทุนที่สามารถเข้าถึงได้ ทั้งจากการกู้ยืมเงินในตลาดพันธบัตรต่างประเทศ เช่น ตลาดไทย ซึ่งล่าสุดสปป.ลาวได้เปิดขายพันธบัตรวงเงินไม่เงิน 5,000 ล้านบาทในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา หรือหน่วยงานระหว่างประเทศ และการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจผ่านการแปรรูปรัฐวิสาหกิจที่ไม่ทำกำไร และการส่งเสริมการลงทุนและการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนเพื่อดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติและผลักดันการส่งออก ทั้งนี้นโยบายการคลังและการเงินในสปป.ลาวในช่วงที่ผ่านมา ได้เน้นการประคองเศรษฐกิจเป็นหลัก แต่เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุและอาจทำให้เสถียรภาพในประเทศอ่อนแอลงอีก ในระยะต่อไป EIC ประเมินว่า สปป.ลาวควรเร่งเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ โดยเฉพาะกับจีน ซึ่งมีแนวโน้มเข้ามาช่วยเหลือเนื่องจากสปป.ลาวเป็นประเทศสำคัญสำหรับโครงการ Belt and Road Initiative ในภูมิภาคอาเซียน

 

ผลกระทบต่อไทยคาดว่าจะมีจำกัด แต่จะเป็นความเสี่ยงที่ควรเฝ้าระวังต่อไป

EIC คาดว่าผลกระทบต่อไทยจะมีผ่าน 4 ช่องทาง ได้แก่ ภาคการส่งออก การท่องเที่ยว การลงทุนโดยตรงจากไทย และภาคการเงิน สำหรับภาคการส่งออกไทย ผลกระทบหลักจะมาจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจสปป.ลาวและอุปสงค์ที่ลดลง แต่ในภาพรวมคาดว่าจะยังขยายตัวได้ โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากราคาน้ำมันสำเร็จรูปที่สูงขึ้นซึ่งเป็นสินค้าส่งออกหลัก สำหรับนักท่องเที่ยวจากสปป.ลาว ความเสี่ยงหลักมาจากกำลังซื้อที่ลดลงตามเงินกีบที่อ่อนค่า แต่จำนวนนักท่องเที่ยวคาดว่าจะเพิ่มขึ้นหลังเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบ ขณะที่การลงทุนโดยตรงจากไทยสู่สปป.ลาวในโครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังงานน้ำนั้น ต้องเฝ้าระวังความเสี่ยงการชำระค่าไฟจากสปป.ลาวที่อาจถูกเลื่อนออกไปซึ่งอาจกระทบต่อความเชื่อมั่นในอนาคต ตลอดจนความเสี่ยงด้านเสถียรภาพการเงินในประเทศที่ถึงแม้ว่าจะอยู่ในระดับที่ค่อนข้างแข็งแกร่ง แต่อาจมีความเปราะบางมากขึ้นในช่วงต่อไป อย่างไรก็ดี ในภาพรวมคาดว่าจะได้รับผลกระทบจำกัด เนื่องจากมีผู้ซื้อไฟฟ้าหลักคือไทย และมีการเซ็นสัญญา PPA เรียบร้อยแล้ว

ที่มา : https://www.scbeic.com/th/detail/product/clmv_090822

ภาวะเงินเฟ้อ ปัญหาของ “อาเซียน”

สํานักงานวิจัยเศรษฐกิจมหภาคของภูมิภาคอาเซียน+3 หรือ “แอมโร” องค์กรวิชาการอิสระ ที่ตั้งขึ้นตามกรอบความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับจีน, ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ได้เผยแพร่ข้อมูลออกมาเมื่อเดือน ก.ค. 2022 คาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อโดยเฉลี่ยของชาติสมาชิกอาเซียนในปีนี้น่าจะอยู่ที่ร้อยละ 5.2 โดยประเทศที่มีภาวะเงินเฟ้อสูงสุดในกลุ่มอาเซียนได้แก่ สปป.ลาว เงินเฟ้อสูงถึงร้อยละ 23 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่ปัจจุบันราคาน้ำมันในสิงคโปร์เมื่อเดือน พ.ค. สูงขึ้นเกือบ 1 ใน 5 ของระดับราคาในช่วงเดียวกันเมื่อปีก่อน โดยในไทยราคาน้ำมันพุ่งขึ้นเกือบ 1 ใน 3 ส่วนในฟิลิปปินส์ ราคาน้ำมันดีเซลสูงขึ้นถึงร้อยละ 86 ลักษณะคล้ายคลึงกันเกิดขึ้นกับธัญพืชทั้งหลายที่ราคาถีบตัวสูงขึ้นอย่างมาก เพราะภาวะขาดแคลนในระดับโลก บวกกับต้นทุนการขนส่งสินค้าภายในประเทศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งนักวิเคราะห์บางส่วนเชื่อว่าภาวะเงินเฟ้อในเอเชียไม่น่าจะเกิดขึ้นในระยะยาว กระทั่งอาจถึงจุดสูงสุดและเริ่มต้นลดระดับลงแล้วด้วยซ้ำ

ที่มา : https://www.prachachat.net/world-news/news-997137

กัมพูชานำเข้าน้ำมันเพิ่มขึ้น 25% ในช่วงครึ่งปีแรก

กัมพูชานำเข้าน้ำมันเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ ท่ามกลางราคาน้ำมันดิบโลกที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง หลังสงครามระหว่าง รัสเซีย-ยูเครน เกิดความยืดเยื้อ โดยกัมพูชานำเข้าน้ำมันมูลค่ารวม 1,910 ล้านดอลลาร์ ในช่วงเดือน มกราคม-มิถุนายน ปีนี้ เพิ่มขึ้นร้อยละ 25.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ตามรายงานของธนาคารแห่งชาติกัมพูชา (NBC) ซึ่งปัจจุบันกัมพูชานำเข้าผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมทั้งหมดจาก เวียดนาม สิงคโปร์ และไทย โดยความต้องการใช้น้ำมันภายในประเทศเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งความต้องการผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมในกัมพูชาคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 4.8 ล้านตัน ภายในปี 2030 เพิ่มขึ้นจาก 2.8 ล้านตัน ในปี 2020 ในขณะที่รัฐบาลได้ออกนโยบายการเงินและการคลัง เพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อในสินค้าโภคภัณฑ์ เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระให้กับภาคประชาชน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501123526/kingdoms-oil-imports-surge-25-in-h1/

NBC คาดปีนี้ GDP กัมพูชาโต 5.3%

การฟื้นตัวของเศรษฐกิจทั่วโลกและการกลับมาดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจอีกครั้ง จะเป็นตัวผลักดันให้เศรษฐกิจของกัมพูชากลับมาเติบโตในปีนี้ ตามการรายงานของธนาคารแห่งชาติกัมพูชา (NBC) โดยคาดว่าการเติบโตจะได้รับแรงสนับสนุนจากอุตสาหกรรมตัดเย็บเสื้อผ้า การท่องเที่ยว เกษตรกรรม และการก่อสร้าง ซึ่ง NBC คาดว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจของกัมพูชาจะอยู่ที่ร้อยละ 5.3 ในปีนี้ ซึ่งสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 3 ในช่วงปี 2021 แต่ถึงอย่างไรก็ตามยังคงต้องคอยติดตามสถานการณ์สงครามระหว่าง รัสเซีย-ยูเครน ที่เป็นผลทำให้เกิดเงินเฟ้อกับสินค้าหรือบริการที่เกี่ยวข้องกับน้ำมัน ในขณะที่อัตราการฉีดวัคซีนของกัมพูชาปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 94 ของประชากรทั้งหมด 16 ล้านคน ผลักดันให้รัฐบาลเร่งเปิดพรมแดนของประเทศอีกครั้ง รวมถึงได้ทำการยกเลิกมาตรการด้านสาธารณสุขสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ได้รับวัคซีนครบโดส โดยในช่วงครึ่งแรกของปีกัมพูชาส่งออกสินค้ามูลค่ารวม 11,317 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 31 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่การนำเข้าปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 4 หรือคิดเป็นมูลค่า 15,400 ล้านดอลลาร์

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501123527/nbc-sees-cambodias-gdp-growth-at-5-3-in-2022/

พาณิชย์ ยังสั่งตรึงราคาสินค้า ห้ามผู้ผลิตปรับขึ้นราคา

วันที่ 1 สิงหาคมที่ผ่านมา ผู้ผลิตสินค้าอย่างบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปประกาศจะปรับขึ้นซองละ1บาทหลังจากที่แบกรับต้นทุนที่พุ่งสูงขึ้น แต่อย่างไรก็ตามกระทรวงพาณิชย์จะยังคัดค้านที่จะไม่ให้ปรับขึ้นราคาสินค้า เพราะต้องการตรึงราคาเพื่อไม่ให้กระทบกับผู้บริโภคและเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นแบบนี้ ล่าสุดกรมการค้าภายใน ได้ขอความร่วมมือผู้ผลิตและผู้จำหน่ายสินค้าให้ตรึงราคาสินค้าที่จำเป็นต่อการครองชีพต่อไปให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน และในส่วนสินค้าอุปโภคบริโภคอย่าง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ปลากระป๋อง และนม ณ วันนี้ยังคงไม่มีการอนุญาตให้ปรับราคา ส่วนสินค้าที่มีการปรับราคาสูงขึ้นส่วนใหญ่ก็มีแค่บางยี่ห้อที่ปรับราคา ดังนั้นผู้บริโภคจึงยังคงมีทางเลือกในการซื้อสินค้าทดแทนได้ นอกจากนี้การปรับราคาสินค้าส่วนหนึ่งอาจมาจากการปรับเปลี่ยนโปรโมชั่นสินค้าหรือส่วนลดทางการค้า ซึ่งเป็นเรื่องของการแข่งขันตามกลไกตลาด ทั้งนี้ กรมการค้าภายในจะดูแลอย่างเต็มที่ ไม่ให้มีการฉวยโอกาสจำหน่ายสินค้าในราคาสูงเกินสมควร

ที่มา: https://www.thansettakij.com/economy/trade/534927

สถาบันการเงินระหว่างประเทศ มองภาวะเงินเฟ้อของเวียดนาม 4% ปีนี้

องค์กรการเงินระหว่างประเทศรายใหญ่ อาทิ สำนักงานวิจัยเศรษฐกิจมหภาคของภูมิภาคอาเซียน+3 (AMRO), ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์สภาวะเงินเฟ้อของเวียดนามในปีนี้แตกต่างกันออกไป แต่คาดว่าตัวเลขเงินเฟ่อจะอยู่ที่ประมาณ 4% ทั้งนี้ ธนาคารพัฒนาเอเชียได้ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียแปซิฟิกเหลือ 4.6% ในปีนี้ ลดลง 0.6% เมื่อเทียบกับตัวเลขที่คาดการณ์ไว้ในเดือนเม.ย. สำหรับกรณีเวียดนามนั้น ธนาคารคาดว่าเศรษฐกิจขยายตัว 6.5% ปีนี้และ 6.7% ในปีหน้า ในขณะที่ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ คาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนามจะขยายตัว 6% และเงินเฟ้อปรับตัวเพิ่มขึ้น 3.9% ปีนี้ เนื่องจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่เพิ่มสูงขึ้นและการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน นอกจากนี้ สานักงานวิจัยเศรษฐกิจมหภาคของภูมิภาคอาเซียน+3 ปรับลดการคาดการณ์การเติบโตเศรษฐกิจของเวียดนามในปีนี้ 6.3% จากเดิมคาดการณ์ไว้ที่ 6.5% ในส่วนของตัวเลขเงินเฟ้อคาดว่าจะอยู่ที่ 3.5% ปีนี้

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/foreign-financiers-believe-vietnam-likely-to-control-inflation-at-4-this-year-2042469.html

อัตราเงินเฟ้อกัมพูชา ณ เดือนพฤษภาคม พุ่งสูงสุดในรอบทศวรรษ

อัตราเงินเฟ้อในประเทศกัมพูชาปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 7.2 ในช่วงเดือนพฤษภาคมปีนี้ ซึ่งสูงที่สุดในรอบทศวรรษที่ผ่านมา โดยธนาคารแห่งชาติกัมพูชา (NBC) กล่าวเสริมว่า ได้ออกมาตรการเพื่อควบคุมแรงกดดันทางด้านเงินเฟ้อและปกป้องกำลังซื้อของท้องถิ่น ซึ่งอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูง ส่วนใหญ่เกิดขึ้นจาก สงครามระหว่าง รัสเซีย-ยูเครน ที่ยืดเยื้อและการคว่ำบาตรรัสเซียได้ผลักดันราคาน้ำมันและต้นทุนอาหารโลกพุ่งสูงขึ้น ควบคู่ไปกับราคาปุ๋ยและผลผลิตทางการเกษตรที่น้อยลง โดยกัมพูชาได้กำหนดกรอบนโยบายการเงินของธนาคารกลาง รวมถึงการดำเนินการทางด้านหลักประกันสภาพคล่อง (LPCO) ซึ่งเป็นเครื่องมือทางการเงินที่อนุญาตให้ NBC ปล่อยกู้ให้กับสถาบันการเงินในสกุลเงินท้องถิ่น และวงเงินสินเชื่อส่วนเพิ่ม (MLF) นอกเหนือจากเงินกู้ข้ามคืนที่เป็นสกุลเงินเรียล เพื่อตอบสนองต่อความต้องการทางด้านสภาพคล่องระยะสั้นของธนาคาร

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501116556/may-records-decades-highest-inflation-in-cambodia/

“เวียดนาม” ชี้ปัจจัยเอื้อต่อภาวะเงินเฟ้อที่เร่งตัวสูงขึ้น

นายเหวียน บามิง (Nguyen Ba Minh) ผู้อำนวยการสถาบันการเงินและเศรษฐกิจ มองว่าตัวเลขเงินเฟ้อในระยะสั้นจะออกมาค่อนข้างดี แต่ว่าด้วยสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างยูเครนและรัสเซียยังมีความไม่แน่นอน รวมถึงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวช้าและผลักดันให้ราคาวัสดุเพิ่มสูงขึ้น อย่างไรก็ตามสถานการณ์น่าจะกลับมาดีขึ้น เนื่องจากผลผลิตทางการเกษตรมีแนวโน้มจะออกผลผลิตเพียงพอต่อความต้องการในประเทศ ในขณะเดียวกัน ผลผลิตสินค้าเกษตรเป็นตัวชี้วัดตัวหนึ่งของดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ที่มีน้ำหนักค่อนข้างมาก เกิดความสมดุลระหว่างอุปสงค์และอุปทาน ส่งผลต่อเสียรภาพด้านราคา นอกจากนี้ นาย Nguyen Manh Hung รองประธานสมาคมมาตรฐานผลิตภัณฑ์และคุ้มครองผู้บริโภค มีความกังวลว่าดัชนี CPI ที่ขยายตัว 2.44% ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ นั้นดีเกินจริง เนื่องจากความแตกต่างระหว่างการเติบโตของราคาจริงกับตัวเลขที่รายงานที่ 2.44% และพบว่าราคาอาหารสูงขึ้นในหลายพื้นที่ แต่รายงานกลับแสดงผลตรงกันข้าม

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1269936/inflation-in-check-due-to-favourable-factors.html