พาณิชย์พร้อมใช้เทคโนโลยีรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า Form RCEP หนุนส่งออก

อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า ขณะนี้ระบบออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า Form RCEP ระบบการตรวจสอบคุณสมบัติด้านถิ่นกำเนิดของสินค้า หรือ ROVERs และระบบการขึ้นทะเบียนผู้ส่งออกที่ได้รับอนุญาต (Self-Certification) เพื่อใช้ประโยชน์ภายใต้ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ได้พร้อมเปิดให้บริการแล้ว ซึ่งเป็นการยกระดับการให้บริการให้สะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น และได้เริ่มเปิดให้บริการแล้วตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2565 ที่ผ่านมา ทั้งนี้ ระบบออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า Form RCEP ที่กรมฯ ได้พัฒนาขึ้นเป็นการช่วยเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของสินค้าไทยและช่วยลดต้นทุนของผู้ประกอบการได้อีกทางหนึ่ง ในอีกทางหนึ่งเป็นประโยชน์แก่ผู้ประกอบการไทย เนื่องจากตลาด RCEP มีขนาดใหญ่และมีขนาดเศรษฐกิจรวมกันมากกว่า 1 ใน 3 ของโลก ซึ่งจะช่วยผลักดันการส่งออกของไทยให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง และยังได้ประโยชน์ในด้านการนำเข้าสินค้าที่เป็นวัตถุดิบจากประเทศสมาชิกในกลุ่ม RCEP เพื่อนำมาผลิตเป็นสินค้าไทยโดยใช้กฎการสะสมถิ่นกำเนิดสินค้าและส่งออกไปยังประเทศสมาชิกในกลุ่ม RCEP เพื่อใช้สิทธิลดหย่อนหรือยกเว้นภาษี ณ ประเทศปลายทาง โดยผู้ประกอบการไทยสามารถเลือกใช้วัตถุดิบที่มีความหลากหลายและสามารถนำมาสะสมถิ่นกำเนิดสินค้าได้จากทุกประเทศที่เป็นสมาชิกในกลุ่ม RCEP ซึ่งจะเป็นการช่วยลดต้นทุนในการผลิตและสร้างแต้มต่อให้แก่ในตลาดต่างประเทศ

ที่มา : https://www.thaipost.net/economy-news/59593/

เรื่องที่ SME ไทยควรรู้ เมื่อ RCEP มีผลบังคับใช้เป็นทางการ

เมื่อวันที่ 1 ม.ค. ที่ผ่านมา เป็นดีเดย์ที่ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership : RCEP) หรือ ‘อาร์เซ็ป’ ซึ่งเป็นความตกลงการค้าเสรี (FTA) ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกจะเริ่มมีผลบังคับใช้ด้วย

ซึ่ง 15 ประเทศที่ร่วมลงนามความตกลง RCEP ประกอบด้วย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์  ไทย บรูไน เวียดนาม ลาว เมียนมา กัมพูชา จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์

จุดมุ่งหมายของความตกลงดังกล่าว คือสลายอุปสรรคทางการค้าและส่งเสริมการลงทุน เพื่อช่วยให้ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ก้าวทันประเทศอื่นในโลก ความตกลง RCEP เป็นความตกลงที่ทันสมัย ครอบคลุม คุณภาพสูง และได้รับผลประโยชน์ร่วมกันจากการเปิดเสรีการค้าสินค้า การค้าบริการ และการลงทุน อีกทั้งมีการเพิ่มความร่วมมือในด้านต่างๆ ที่เข้มข้นมากยิ่งขึ้นจากเอฟทีเอของอาเซียนกับคู่เจรจาที่มีอยู่ก่อนหน้า

 

สินค้าประเทศไทยที่ได้รับประโยชน์จาก RCEP

1.หมวดสินค้าเกษตร เช่น แป้งมันสำปะหลัง สับปะรด สินค้าประมง เป็นต้น

2.หมวดอาหาร ผักผลไม้แปรรูป น้ำส้ม น้ำมะพร้าว รวมทั้งอาหารแปรรูปอื่น ๆ

3.หมวดสินค้าอุตสาหกรรมอุปกรณ์ไฟฟ้า พลาสติก กระดาษ เคมีภัณฑ์ชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องแต่งกาย รวมทั้งจักรยานยนต์

4.หมวดบริการ หมวดการก่อสร้าง ธุรกิจด้านสุขภาพ ธุรกิจด้านภาพยนตร์ บันเทิง แอนิเมชัน

5.การค้าปลีก

 

โดยสมาชิก RCEP จะยกเลิกภาษีนำเข้าที่เก็บกับสินค้าไทย จำนวน 39,366 รายการ โดยลดภาษีเหลือ 0% ทันที จำนวน 29,891 รายการ เช่น ผลไม้สดและแปรรูป สินค้าประมง ยางพารา ผลิตภัณฑ์ยางรถยนต์และส่วนประกอบ พลาสติก เคมีภัณฑ์ ชิ้นส่วนอุปกรณ์ไฟฟ้า คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ เป็นต้น

 

ผู้ประกอบการไทยควรเตรียมตัวอย่างไร?

สิ่งที่ผู้ประกอบการ SME ควรให้ความสำคัญในการทำการค้าระหว่างประเทศในปัจจุบันก็คือ การสร้างโอกาสและแต้มต่อจากการใช้สิทธิประโยชน์จาก FTA รวมถึงความตกลง RCEP ที่จะมีผลบังคับใช้ โดยผู้ประกอบการควรเร่งเตรียมความพร้อมเรียนรู้ทำความเข้าใจกฎเกณฑ์ทางการค้าต่างๆ ของความตกลง RCEP อาทิ การเปิดตลาดการค้าสินค้า อัตราภาษีศุลกากร กฎเกณฑ์ถิ่นกำเนิดสินค้า และสิทธิประโยชน์ รวมทั้งศึกษาพฤติกรรมของผู้บริโภคในตลาดประเทศสมาชิก RCEP

เพื่อเตรียมวางแผนกลยุทธ์ทางธุรกิจและพัฒนาสินค้าให้สามารถตอบสนองความต้องการของตลาดที่เปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 ซึ่งผู้บริโภคจะให้ความสำคัญกับเรื่องมาตรฐาน คุณภาพ ความปลอดภัยของสินค้าและบริการมากขึ้น จึงจำเป็นที่ผู้ประกอบการต้องปรับตัวให้ สอดรับกับสถานการณ์ใหม่แบบ New Normal’ สร้างความเชื่อมั่น – ภาพลักษณ์ที่ดีให้กับสินค้าและบริการ ของตน ตลอดจนเตรียมพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต

ที่มา : https://www.bangkokbanksme.com/en/sme-thai-should-know-rcep

แหล่งอ้างอิง : สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม

1 ม.ค.2565 เปิดเสรี RCEP…. สร้างบรรยากาศการค้า การลงทุนในภูมิภาค แต่ไทยยังต้องเจอการแข่งขันดึงดูดการลงทุนที่มากขึ้น

โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP) นับเป็นการเปิดเสรีการค้ากับกลุ่มการค้าที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก โดยจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2565 นี้ หลังเจรจามายาวนานถึงเกือบทศวรรษ ซึ่งการเปิดเสรีการค้ากับ 15 ชาติสมาชิกจะช่วยให้การค้าระหว่างชาติสมาชิกมีความสะดวกมากขึ้นไม่ว่าจะเป็นระยะเวลาตรวจปล่อยสินค้าที่สั้นลงเหลือ 6-48 ชั่วโมง มีการนำระบบดิจิทัลเข้ามาช่วยลดความซ้ำซ้อนด้านพิธีการศุลกากร โดยการเปิดตลาดยังเสริมให้ RCEP มีความน่าสนใจ

 

การเปิดตลาดสินค้าของ RCEP มีจุดน่าสนใจอยู่ที่การลดภาษีสินค้าในกลุ่มที่ไม่เคยลดภาษีใน FTA ฉบับอื่นมาก่อน เปิดโอกาสให้สินค้าไทยเป็นที่ต้องการมากขึ้นทั้งทางตรงและทางอ้อม

 

อานิสงส์ทางตรง: การลดอัตราภาษีนำเข้าสินค้าอ่อนไหว/อ่อนไหวสูงของประเทศจีน ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ล้วนเปิดโอกาสให้แก่สินค้าศักยภาพของไทย ซึ่งก่อนหน้านี้สินค้ากลุ่มดังกล่าวยังคงมีการจัดเก็บภาษีนำเข้าอยู่แม้จะมี FTA ระหว่างอาเซียนกับคู่ภาคีหรือ Plus 5 (ประกอบด้วยอาเซียน-จีน อาเซียน-ญี่ปุ่น อาเซียน-เกาหลีใต้ อาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์) ที่ได้ลดภาษีสินค้าส่วนใหญ่ไปตั้งแต่ปี 2553 แต่นับจากวันที่ 1 มกราคม 2565 ภายใต้กรอบ RCEP ภาษีนำเข้าในสินค้าดังกล่าวจำนวนมากจะลดอัตราเหลือ 0 ทันที ในขณะที่ยังมีหลายรายการที่จะทยอยลดภาษีจนเหลือร้อยละ 0 ในปีที่ 10 และปีที่ 20 และบางรายการก็ไม่ลดภาษี

 

ดังนั้น ผู้ส่งออกอาจต้องพิจารณาเลือกใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีจากความตกลงที่ให้ประโยชน์คุ้มค่ากว่าระหว่าง FTA อาเซียนกับ Plus 5 หรือ RCEP 1) สินค้าไทยมีโอกาสทำตลาดในจีนและเกาหลีใต้ได้มากขึ้น โดยมีสินค้าอ่อนไหวหลายรายการได้ประโยชน์จาก RCEP ด้วยการลดภาษีที่มากกว่า FTA อาเซียน-จีน และ FTA อาเซียน-เกาหลีใต้ ตลาดจีน ได้แก่ สับปะรดแปรรูป ลำไยกระป๋อง น้ำมะพร้าว ยาสูบ เม็ดพลาสติก ยางสังเคราะห์ เครื่องเสียง และอุปกรณ์ไฟสำหรับรถยนต์ เป็นต้น ตลาดเกาหลีใต้ ได้แก่ ยางสังเคราะห์ อาหารทะเลสด/แปรรูป เนื้อไก่ เนื้อหมู ไม้พาติเคิลบอร์ด และข้าวโพดหวาน เป็นต้น 2) สินค้าไทยได้ประโยชน์จากการเปิดตลาดญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ค่อนข้างจำกัด เนื่องจากตลาดญี่ปุ่น ไทยมีความตกลง FTA ไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) นับว่ามีการลดภาษีให้สินค้าไทยมากที่สุด ดังตัวอย่างการส่งออกกล้วยของไทยได้โควตาปลอดภาษี เมื่อเทียบกับ FTA อาเซียน-ญี่ปุ่นที่ยังมีอัตราภาษีสูงกว่า และ RCEP ยังคงอัตราภาษีไว้ที่ระดับปกติร้อยละ 20 อย่างไรก็ดี อาหารทะเลสดและหนังดิบของไทยก็อัตราภาษีต่ำลงจากความตกลง RCEP ขณะที่ตลาดออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ได้ลดภาษีสินค้าไปทั้งหมดตั้งแต่เปิดเสรี FTA อาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ การเปิดเสรี RCEP ครั้งนี้จึงไม่มีอะไรต่างไปจากเดิม

 

อานิสงส์ทางอ้อม: การรวมตัวเป็น RCEP ในอีกด้านหนึ่งทำให้ประเทศ Plus 5 ที่ไม่เคยมี FTA ต่อกัน ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และนิวซีแลนด์ ได้มี FTA ร่วมกันเป็นครั้งแรก ส่งผลให้สินค้าขั้นกลางของไทยที่ทำตลาดได้ดีอยู่แล้วมีโอกาสขยายตัว อาทิ ยานยนต์และชิ้นส่วน เม็ดพลาสติกและผลิตภัณฑ์พลาสติก เคมีภัณฑ์ ยางพาราและผลิตภัณฑ์ยาง ชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อย่างไรก็ดี การที่ Plus 5 มีแนวโน้มค้าขายกันเองจากการลดกำแพงภาษีระหว่างกันครั้งนี้คงไม่ส่งผลให้เกิดการแย่งชิงตลาดกับสินค้าอาเซียนและสินค้าไทยที่ทำตลาดอยู่เพราะเป็นสินค้าคนละประเภทกัน

 

ปฏิเสธไม่ได้ว่าในเวลานี้ RCEP กลายเป็นความตกลงทางการค้าแบบพหุภาคีที่ใหญ่ที่สุดในโลก และใหญ่กว่าความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Comprehensive and Progressive Agreement for Trans-Pacific Partnership: CPTPP) ที่ปัจจุบันมีสมาชิก 12 ประเทศ ด้วยหลายปัจจัยบวกยิ่งทำให้ RCEP มีความพร้อมรอบด้านกลายเป็นแหล่งการลงทุนที่น่าดึงดูดที่สุดแห่งหนึ่งของโลกในฟากฝั่งเอเชีย ดังนี้

 

กฎแหล่งกำเนิดสินค้า (Rule of Origins: ROOs) ที่รวมทั้ง 15 ประเทศเข้าไว้ด้วยกันเป็นข้อได้เปรียบที่เสริมให้ RCEP เชื่อมโยงห่วงโซ่การผลิตของภูมิภาคเข้าเป็นหนึ่งเดียว นักลงทุนในประเทศสมาชิก RCEP สามารถนำเข้าปัจจัยการผลิตที่มีมูลค่าสูงจากประเทศสมาชิกผู้พัฒนาเทคโนโลยีได้สะดวกกว่า FTA อาเซียนกับ Plus 5

 

RCEP เป็น FTA ที่มีความพร้อมด้านการผลิตอย่างครบวงจรที่ประกอบด้วยกลุ่มประเทศผลิตสินค้าต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำเข้าไว้ด้วยกัน โดยความพิเศษอีกอย่างของ RCEP คือเป็นครั้งแรกที่ประเทศเจ้าของเทคโนโลยีการผลิตฝั่งเอเชียอย่างจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีได้เข้ามาอยู่ร่วมใน FTA เดียวกัน จึงมีความพร้อมในด้านการผลิตในฟากฝั่งเอเชีย

 

โดยสรุป ในเวลานี้ RCEP เป็นตลาดส่งออกสำคัญที่สุดของไทยมีมูลค่าถึง 132,704 ล้านดอลลาร์ฯ (11 เดือนแรกปี 2564) คิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 53.3 ของการส่งออกทั้งหมดของไทย ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาการส่งออกของไทยไปตลาดดังกล่าวมีสัญญาณการฟื้นตัวค่อนข้างชัดเจนขยายตัวร้อยละ 18 (YoY) นำโดยการเติบโตของตลาดเกาหลีใต้ จีน และญี่ปุ่นขยายตัวร้อยละ 38.8(YoY) ร้อยละ 25.9(YoY) และร้อยละ 10.4(YoY) ตามลำดับ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ในเชิงการค้าระหว่างประเทศนั้น ประโยชน์ส่วนเพิ่มจากการลดภาษีนำเข้าภายใต้กรอบการเปิดเสรี RCEP ส่งผลบวกต่อไทยค่อนข้างจำกัดเนื่องจากสินค้าส่วนใหญ่ได้เปิดเสรีไปแล้วตามความตกลง FTA อาเซียนกับคู่ภาคี Plus 5 ดังนั้น ผลบวกทางตรงที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจนจะอยู่ที่การส่งออกไปยังตลาดจีนและเกาหลีใต้ และเป็นสินค้าเกษตร อาหาร และสินค้าอุตสาหกรรมบางรายการที่ไทยส่งออกไม่มากนัก ขณะที่ผลบวกทางอ้อมจากการเปิดเสรีการค้าหว่างกันเป็นครั้งแรกของ Plus 5 ก็อยู่ในกลุ่มสินค้าที่ไทยอยู่ในห่วงโซ่การผลิตเดิมที่ส่งออกไปยัง Plus 5 อาทิ ยานยนต์และชิ้นส่วน เม็ดพลาสติกและผลิตภัณฑ์พลาสติก เคมีภัณฑ์ ยางพาราและผลิตภัณฑ์ยาง ชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

 

ในเชิงการลงทุน RCEP เป็นกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศขนาดใหญ่ที่มีความครอบคลุม ซึ่งช่วยให้ไทยเกาะติดไปกับห่วงโซ่การผลิตโลกในฝั่งเอเชีย แต่อานิสงส์ที่จะได้รับเม็ดเงินลงทุนยังต้องขึ้นกับการแข่งขันช่วงชิงเม็ดเงินลงทุนใหม่กับประเทศในอาเซียนด้วยกัน โดยเฉพาะกับเวียดนามและอินโดนีเซียที่ต่างก็ได้อานิสงส์นี้เหมือนกัน

ที่มา : https://kasikornresearch.com/th/analysis/k-econ/economy/Pages/RCEP-z3298.aspx

‘เวียดนาม’ เล็งเห็นศักยภาพของตลาดฮาลาลโลก

นาย Nguyen Quoc Dung รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศเวียดนาม กล่าวว่าเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียใต้และประเทศในแถบแปซิฟิกใต้ ถือเป็นตลาดที่มีศักยภาพด้วยจำนวนผู้บริโภคชาวมุสลิมมากเกือบ 860 ล้านคน (66% ของประชากรมุสลิมทั่วโลก) โดยเวียดนามมีจุดแข็งและสภาพแวดล้อมที่เหมาะกับเศรษฐกิจฮาลาลโลก รวมถึงอาหาร การท่องเที่ยว สิ่งทอ เภสัชกรรมและสื่อ
อีกทั้ง เวียดนามยังมีบทบาทสำคัญที่สามารถเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจกับประเทศในระดับภูมิภาคและข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) 17 ฉบับ ตลอดจนข้อตกลงการค้าฉบับใหม่ เช่น EVFTA และ RCEP โดยเฉพาะสินค้าที่มีข้อได้เปรียบ ได้แก่ ข้าว พริกไทย เม็ดมะม่วงหิมพานต์และเมล็ดกาแฟ
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาถึงการใช้จ่ายสำหรับอาหารฮาลาล คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 3.1% จาก 1.4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐในปี 63 มาอยู่ที่ 1.9 ล้านล้านเหรียญสหรัฐในปี 2567 นอกจากนี้ ความต้องการสินค้าฮาลาลยังเพิ่มขึ้นจากตลาดในประเทศ เนื่องจากชาวมุสลิมต่างชาติเดินทางมาเวียดนาม เพื่อมาทำงานและศึกษาเพิ่มขึ้น ทำให้ชุมชนชาวมุสลิมในเวียดนามก็เพิ่มขึ้นสูงตามไปด้วย
ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1108848/viet-nam-sees-great-potential-in-global-halal-market.html

FTAs-RCEP ผลักดันกัมพูชาผลิตสินค้าส่งออกเพิ่มขึ้น

รัฐบาลกัมพูชาได้สนับสนุนและผลักดันให้ภาคธุรกิจผู้ผลิตทำการส่งออกผลิตภัณฑ์เพิ่มขึ้น เนื่องจากปัจจุบันประเทศกัมพูชาได้เปิดตลาดส่งออกกว้างขึ้น หลังจากข้อตกลงการค้าเสรี (FTAs) และข้อตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) มีผลบังคับใช้ในต้นปีหน้า โดยนายกรัฐมนตรี ฮุน เซน ได้กล่าวในพิธีเปิดถนนแห่งชาติหมายเลข 7 ว่า ข้อตกลงการค้าเสรีกัมพูชา-จีน และข้อตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคที่ครอบคลุม จะมีผลบังคับใช้ในเดือน ม.ค. 2022 ซึ่งจะช่วยปรับปรุงประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจของกัมพูชาต่อไป สำหรับข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างกัมพูชาและจีน กัมพูชาสามารถนำเข้าผลิตภัณฑ์ได้มากกว่า 340 ชนิด โดยร้อยละ 95 ของผลิตภัณฑ์เหล่านั้นจะถูกยกเว้นการเก็บภาษี ส่วนความตกลงความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคได้รับการลงนามระหว่าง 15 ประเทศ รวมทั้งประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ และประเทศหุ้นส่วนการค้าเสรีอีก 5 แห่ง ได้แก่ ออสเตรเลีย จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และนิวซีแลนด์ ซึ่ง RCEP ถือเป็นข้อตกลงทางการค้าที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยมีประชากรรวมประมาณ 2.2 พันล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 30 ของประชากรโลก และครอบคลุมปริมาณการค้าถึงร้อยละ 28 ของการค้าโลก

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50983649/ftas-rcep-pushing-cambodia-into-producing-more-products-for-exports/

CPTPP vs RCEP เมื่อจีนสนใจเข้าเป็นสมาชิก

โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย (KResearch)

การประชุม ครม. เมื่อ 12 ตุลาคม 2564 ได้หารือเรื่องความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Comprehensive and Progressive Agreement for Trans-Pacific Partnership: CPTPP) ซึ่งการพิจารณาเข้าร่วมความตกลงดังกล่าวกลับมาเป็นประเด็นอีกครั้งเมื่อจีนหันมาสนใจสมัครสมาชิก เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ตามมาด้วยไต้หวัน รวมถึงสหราชอาณาจักรที่สมัครเป็นสมาชิกเมื่อต้นปี โดยท่าทีของนานาชาติโดยเฉพาะจีนยิ่งทำให้ประเทศที่มีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้าอย่างใกล้ชิดกับจีนหวนกลับมาพิจารณา CPTPP อย่างจริงจังอีกครั้ง

 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้วิเคราะห์เปรียบเทียบใน 2 กรณี กรณีที่ 1 ปัจจุบันไทยและจีนต่างเป็นสมาชิกในความตกลงพันธมิตรทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคหรือ RCEP (Regional Comprehensive Economic Partnership) ที่กำลังรอการเปิดเสรีอย่างเป็นทางการ กรณีที่ 2 หาก CPTPP รับอังกฤษ ไต้หวัน จีนรวมถึงไทยเข้าเป็นสมาชิกใหม่ ซึ่งการที่ไทยอยู่ในกลุ่มย่อมไม่พลาดโอกาสการเข้าถึงตลาดสำคัญได้ทัดเทียมคู่แข่งในอาเซียน ทั้งยังกลายเป็น FTA ที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดมีสัดส่วนถึง 1 ใน 3 ของ GDP โลก แซงหน้า RCEP โดยภายใต้สมมติฐานว่าไทยและจีนร่วมเป็นสมาชิกในทั้ง 2 กรอบความตกลงมีข้อสังเกตความแตกต่าง ดังนี้

  • มิติของการเข้าถึงตลาด: RCEP เป็นกรอบการค้าที่ใกล้ตัวไทยมากที่สุดและไทยมี FTA กับแต่ละประเทศสมาชิกมานาน การรวมตัวที่เกิดขึ้นจึงไม่ทำให้ภาพการแข่งขันของสินค้าไทยต่างไปจากที่เป็นอยู่ ขณะที่ CPTPP จะทำให้ไทยมี FTA กับตลาดใหม่มากกว่า RCEP ได้แก่ เม็กซิโก แคนาดา อังกฤษและไต้หวัน ซึ่งเป็นโอกาสทองของไทยในการส่งออกผลิตภัณฑ์ยาง ผลไม้ อาหารทะเลไปยังแคนาดา ส่งออกยานยนต์ โทรศัพท์ HDDs ไปเม็กซิโก ส่งออกไก่แปรรูปและรถจักรยานยนต์ไปอังฤษ รวมถึงการส่งออกเครื่องปรับอากาศและชิ้นส่วนยานยนต์ไปไต้หวัน
  • มิติของการผลิต: CPTPP และ RCEP ล้วนเป็น FTA แบบพหุภาคีที่มีจุดเด่นเหมือนกันตรงที่การเป็นกลุ่มเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่รวมหลายประเทศให้เป็นหนึ่งเดียว อานิสงส์ให้นักลงทุนสามารถเคลื่อนย้ายปัจจัยการผลิตได้อย่างคล่องตัว ต่างกันตรงที่ RCEP เป็นการกระชับฐานการผลิตและตลาดในฝั่งเอเชียได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด แต่ CPTPP กลับมีความน่าสนใจมากกว่าด้วยการรวมแหล่งผลิตจากหลายพื้นที่ทั้งภูมิภาคอเมริกา ยุโรปและเอเชียจึงนับเป็นจุดขายสำคัญที่ยังไม่มี FTA ฉบับใดในโลกมีเอกลักษณ์เช่นนี้
  • มิติด้านกฎระเบียบ: RCEP กำหนดกฎเกณฑ์การเปิดตลาดการค้าและการลงทุนเป็นหลักเท่านั้น แต่ CPTPP เป็นการรวมตัวในเชิงลึกมากกว่า FTA ทั่วไปครอบคลุมการเปิดเสรีด้านอื่นๆ อาทิ มาตรฐานแรงงาน มาตรฐานสิ่งแวดล้อม การไหลของข้อมูลอย่างเสรีและการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ จึงปฏิเสธไม่ได้ว่า CPTPP เป็นความท้าทายในการยกระดับกฎระเบียบของแต่ประเทศสมาชิกที่ยากจะหลีกเลี่ยงผลกระทบที่ตามมาเพื่อให้ปฏิบัติได้ตามกรอบเวลาที่ได้ตกลงกันไว้

โดยสรุป หากทั้งไทยและจีนอยู่ในความตกลง CPTPP ภาคอุตสาหกรรมการผลิต การส่งออกของไทยที่พึ่งพาเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาตินับว่าได้อานิสงส์ค่อนข้างชัดเจนจากการเข้าถึงตลาดใหม่สามารถแข่งขันได้ทัดเทียมกับคู่แข่งของไทย ทั้งยังคว้าโอกาสได้มีส่วนร่วมในห่วงโซ่การผลิตขนาดใหญ่ที่มีศักยภาพในการรวบปัจจัยการผลิตจากหลายพื้นของโลก ต่างจาก RCEP ที่ไทยได้ประโยชน์จำกัดเฉพาะภูมิภาคเอเชียเป็นหลัก อย่างไรก็ดี CPTPP ก็มีประเด็นอ่อนไหวที่ภาครัฐต้องชั่งน้ำหนัก โดยเฉพาะเงื่อนไขที่ไม่ได้ระบุไว้ใน RCEP ในเรื่องข้อปฏิบัติทางทรัพย์สินทางปัญญาที่อิงกับหลักเกณฑ์สากลไม่ว่าจะเป็นความเข้มงวดในการปรับใช้สิทธิบัตรยา และการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ที่จะส่งผลต่อประชาชนและเกษตรกรในวงกว้าง แม้ไทยต้องดำเนินการปรับตัวในเรื่องนี้อยู่แล้วแต่ก็นับเป็นเรื่องท้าทายสำหรับไทยที่จะต้องปรับตัวภายใต้กรอบเวลาที่ตกลงไว้กับ CPTPP ซึ่งโจทย์สำคัญของทางการไทยคงอยู่ที่การสร้างความเข้าใจที่ชัดเจนและถูกต้องรวมถึงแผนงานบรรเทาผลกระทบจึงจะช่วยผ่อนคลายแรงตึงเครียดลงได้

ที่มา :

/1 https://www.kasikornresearch.com/th/analysis/k-econ/economy/Pages/CPTPP-z3282.aspx

/2 https://www.moneyandbanking.co.th/article/news/kresearch-cptpp-rcep-01112021

ผู้เชี่ยวชาญการค้าชี้สหรัฐอาจเสียประโยชน์ขณะที่อาเซียน+5 มุ่งหน้าให้สัตยาบันข้อตกลง RCEP

เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้วประเทศสมาชิกของสมาคมอาเซียน 10 ประเทศกับประเทศคู่ค้าอีกห้ารายคือ ออสเตรเลีย จีน ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ และเกาหลีใต้ ได้สรุปความตกลงการเจรจาการค้าเสรี RCEP หรือข้อตกลงหุ้นส่วนความร่วมมือทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาคระหว่างสมาคมอาเซียนกับห้าประเทศคู่ค้า ซึ่งโดยรวมแล้วครอบคลุมผลผลิตทางเศรษฐกิจประมาณ 30% ของโลก และขณะนี้จีน ญี่ปุ่น กับประเทศสมาชิกอาเซียนสองประเทศได้ให้สัตยาบันรับรองไปแล้ว ด้านนักวิเคราะห์ด้านการค้าบางคน เช่น คุณ Patrick Quirk จากสถาบัน International Republican Institute ได้ชี้ว่าสหรัฐฯ อาจจะเสียเปรียบเพราะข้อตกลง RCEP จะเปิดโอกาสให้จีนมีอิทธิพลด้านการค้าและเพิ่มระดับการพึ่งพาทางเศรษฐกิจกับประเทศพันธมิตรของสหรัฐฯ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกได้มากขึ้น ส่วน Jeffrey Wilson ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยของศูนย์ Perth USAsia Center ในออสเตรเลียเห็นว่าถึงแม้ข้อตกลง RCEP จะส่งผลให้กลุ่มประเทศสมาชิกมีปริมาณการค้ากับภูมิภาคภายนอกซึ่งรวมถึงสหรัฐฯ น้อยลงก็ตาม แต่ RCEP ก็น่าจะช่วยเน้นย้ำเรื่องความสำคัญของระบบการค้าโลกได้

ที่มา : https://www.voathai.com/a/business-news-ct/5956167.html

สมัชชาแห่งชาติกัมพูชา อนุมัติข้อตกลงการค้าเสรี RCEP

สมัชชาแห่งชาติกัมพูชาได้อนุมัติความตกลงความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ซึ่งกัมพูชาได้เตรียมขั้นตอนสำหรับการเข้าร่วมข้อตกลงที่จะมีผลบังคับใช้ภายในต้นปีหน้า โดยการเข้าร่วม RCEP ของกัมพูชา ถือเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการรักษาตลาดระหว่างกลุ่มประเทศสมาชิกผู้ลงนามในข้อตกลง RCEP สร้าง ด้วยการกำหนดกรอบความร่วมมือระหว่างกันที่จะให้ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจร่วมกัน ซึ่งจะอำนวยความสะดวกในการขยายห่วงโซ่อุปทานการค้าและการลงทุนระดับภูมิภาค ซึ่งคาดว่าจะมีส่วนทำให้เศรษฐกิจกัมพูชาและภูมิภาคฟื้นตัวอย่างรวดเร็วจากวิกฤตโควิด-19 โดย RCEP ถูกกำหนดให้เป็นข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) ที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยเริ่มแรกประกอบด้วยประเทศสมาชิก 16 ประเทศ คิดเป็นกลุ่มประชากรรวมกว่า 3.6 พันล้านคน หรือร้อยละ 48.1 ของประชากรโลก ซึ่งผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของประเทศสมาชิก RCEP รวมกันอยู่ที่ 28.5 ล้านล้านดอลลาร์ในปี 2019 คิดเป็นร้อยละ 32.7 ของ GDP ทั่วโลก โดยการค้ารวมของประเทศที่ลงนามมีมูลค่าเกิน 11.2 ล้านล้านดอลลาร์ หรือร้อยละ 29.5 ของมูลค่าการค้าโลก

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50878878/assembly-approves-rcep-trade-agreement/

ไทยผลักดันความร่วมมือด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนในทุกมิติระหว่างอาเซียนและจีน

นายธานี แสงรัตน์ อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยผลการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน-จีน สมัยพิเศษ ณ นครฉงชิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน ช่วงวันที่ 6-8 มิถุนายน ที่ผ่านมา ว่าประเทศสมาชิกอาเซียน ชื่นชมการสนับสนุนของจีนแก่อาเซียนในการรับมือกับโควิด-19 เช่น การสนับสนุนเงินจำนวน 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สมทบกองทุนอาเซียนเพื่อรับมือกับโควิด-19 และการสนับสนุนวัคซีนแก่ประเทศต่างๆ อีกทั้งจีนยังเป็นภาคีภายนอกของอาเซียนประเทศแรก ที่ให้สัตยาบันความตกลง RCEP เมื่อปี 2564 ตลอดจนร่วมยินดีที่อาเซียนและจีนเป็นประเทศคู่ค้าอันดับที่ 1 ของกันและกันในปัจจุบัน โดยที่ประชุมฯ ยังร่วมกำหนดทิศทางความสัมพันธ์ฯ ในอนาคต เช่นการฟื้นฟูหลังสถานการณ์แพร่ระบาดและการส่งเสริมความร่วมมือด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยได้กำหนดให้ปี 2564 – 2565 เป็นปีแห่งความร่วมมือด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนอาเซียน-จีน ในส่วนของไทยสนับสนุนการเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างอาเซียน-จีนอย่างรอบด้าน โดยเฉพาะเศรษฐกิจสีเขียว หรือ BCG เพื่อเป็นยุทธศาสตร์ในการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน

ที่มา : https://thainews.prd.go.th/th/news/detail/TCATG210609155346278

ญี่ปุ่นไฟเขียวร่วมข้อตกลงหุ้นส่วนการค้า RCEP ร่วมกับจีนและอาเซียน

รัฐสภาญี่ปุ่นได้อนุมัติในวันนี้ให้ญี่ปุ่นมีส่วนร่วมในข้อตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ซึ่งเป็นข้อตกลงการค้าเสรีที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก โดยข้อตกลงดังกล่าวลงนามโดย 15 ประเทศในกลุ่มเอเชีย-แปซิฟิกซึ่งรวมถึงจีน และ 10 ชาติสมาชิกอาเซียน ข้อตกลง RCEP จะช่วยสร้างเขตการค้าเสรีที่มีสัดส่วนสูงถึงราว 30% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP), การค้าและประชากรของโลก โดยนับเป็นครั้งแรกที่ญี่ปุ่นจะมีส่วนร่วมในข้อตกลงการค้าที่เกี่ยวข้องกับจีนและเกาหลีใต้ซึ่งเป็นประเทศคู่ค้ารายใหญ่อันดับ 1 และอันดับ 3 ของญี่ปุ่น ข้อตกลง RCEP จะมีผลบังคับใช้หลังการให้สัตยาบันของ 6 ชาติสมาชิกอาเซียน และอีก 3 ประเทศ โดยในวันนี้ (28 เม.ย.) ข้อตกลง RCEP จะช่วยให้ประเทศที่ลงนามไม่ต้องเสียภาษีสำหรับรายการสินค้า 91% จากทั้งหมด และยังออกกฎระเบียบที่สอดคล้องกันเกี่ยวกับการลงทุนและทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อส่งเสริมการค้าเสรี

ที่มา : https://www.ryt9.com/s/iq29/3218572