‘สื่อเยอรมัน’ ยกย่องศักยภาพการพัฒนาและโอกาสการลงทุนของเวียดนาม

หนังสือพิมพ์โฟกัส ของเยอรมนีได้เผยแพร่บทความเกี่ยวกับการพัฒนาการทางเศรษฐกิจของเอเชีย และมองว่าเศรษฐกิจเวียดนามมีศักยภาพในระดับสูง โดยบทความดังกล่าวอ้างถึงคุณ Horst Geicke นักลงทุนและประธานของบริษัท Deutsches Haus กล่าวว่าเวียดนามเป็นแหล่งลงทุนแห่งใหม่ของนักลงทุนต่างชาติและกิจการเยอรมนี นอกจากประเทศสิงคโปร์แล้วในภูมิภาคเอเชีย มีเพียงเวียดนามประเทศเดียวที่ลงนามข้อตกลงการค้าเสรีกับสหภาพยุโรป (EVFTA) นอกจากนี้ เวียดนามดึงดูดเงินลงทุนจากต่างประเทศ ประมาณ 27,720 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2565 และตัวเลขเงินลงทุนจากต่างประเทศมีส่วนสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนาม ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศขยายตัว 8% ในปีที่แล้ว และเฉลี่ยที่ 5.9% ในช่วง 13 ปีที่ผ่านมา

ที่มา : https://en.nhandan.vn/german-newspapers-praise-vietnams-development-potential-investment-opportunities-post127720.html

‘เมียนมา’ เผยราคาถั่วดำและถั่วพีเจียนดิ่งลงฮวบ เหตุความต้องการตลาดโลก

ตามข้อมูล ณ วันที่ 1 ก.ค. ของสภาหอการค้าและอุตสาหกรรมเมียนมา (Bayintnaung Commodity Centre) เปิดเผยว่าราคาถั่วเขียวผิวดำ (Black Grams) และราคาถั่วแระ (Pigeon Pea) อยู่ที่ระดับสูงสุด 3.2 ล้านจ๊าดต่อตัน และ 2.3 ล้านจ๊าดต่อตัน ต่อมาราคาถั่วแระและราคาถั่วเขียวผิวดำ ลดลงมาอยู่ที่ 2.97 ล้านจ๊าดต่อตัน และ 2.24 ล้านจ๊าดต่อตันในวันที่ 21 ก.ค. ทั้งนี้ ความต้องการของอินเดียมีความสัมพันธ์อย่างมากกับทิศทางของราคาถั่วเขียวผิวดำและถั่วแระเมียนมา เนื่องจากเป็นผู้ซื้อรายสำคัญของประเทศ อีกทั้ง อินเดียมีความต้องการและการบริโภคถั่วเขียวผิวดำและถั่วแระเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สาเหตุสำคัญมาจากเมียนมาและอินเดียได้ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจ (MoU) เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. 2564 ส่งผลให้อินเดียนำเข้าถั่วเขียวผิวดำ 250,000 ตัน และถั่วแระ 100,000 ตัน เป็นระยะเวลา 5 ปีติดต่อกัน

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/black-gram-pigeon-pea-prices-plunge-tracking-weak-foreign-demand/#article-title

รัฐบาล สปป.ลาว เล็งขึ้นเงินเดือนให้แก่ ข้าราชการ-ลูกจ้างภาคเอกชน ผู้มีรายได้น้อย

รัฐบาล สปป.ลาว กำลังศึกษาความเป็นไปได้ในการให้เงินสนับสนุนสำหรับข้าราชการที่มีค่าแรงต่ำ และเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำสำหรับพนักงานภาคเอกชน เพื่อให้สามารถรับมือกับค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้นได้ กล่าวโดยนายกรัฐมนตรี Sonexay Siphandone ด้านกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงการคลังได้รับความไว้วางใจให้ดำเนินการศึกษาเพื่อพิจารณาว่างกรอบงบประมาณสำหรับโครงการนี้ ร่วมกับกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม รวมถึงสภาหอการค้าและอุตสาหกรรมแห่งชาติ สปป.ลาว โดยในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ ต้นทุนสินค้าและบริการพุ่งสูงขึ้นถึงร้อยละ 38.06 ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจและการใช้ชีวิตของภาคประชาชนที่มีรายได้ไม่สอดคล้องกับค่าครองชีพ สำหรับสมาชิกสมัชชาแห่งชาติ (NA) ได้เรียกร้องให้เพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำรายเดือนจาก 1.3 ล้านกีบ เป็น 2 ล้านกีบ หวังช่วยแรงงานรับมือกับความยากลำบากในสภาวะเงินเฟ้อที่กำลังเผชิญอยู่

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_Govt140.php

กัมพูชาส่งออกสินค้าไปยังประเทศกลุ่ม RCEP ขยายตัว 24%

การส่งออกของกัมพูชาไปยังกลุ่มประเทศความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ในช่วงครึ่งแรกของปี มีมูลค่ารวมกว่า 4.07 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 24 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สำหรับประเทศที่กัมพูชาส่งออกสามอันดับแรกภายใต้ RCEP ในช่วงเวลาดังกล่าว ได้แก่ เวียดนามที่มูลค่า 1.43 พันล้านดอลลาร์ ขยายตัวร้อยละ 22, จีน 713 ล้านดอลลาร์ ขยายตัวร้อยละ 17 และญี่ปุ่นที่มูลค่า 545 ล้านดอลลาร์ ขยายตัวเล็กน้อยร้อยละ 1 รายงานโดยกระทรวงพาณิชย์กัมพูชา สำหรับ RCEP ประกอบด้วย 15 ประเทศ ในเอเชียแปซิฟิก และ 15 รัฐสมาชิกของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) และคู่ค้าอีก 5 แห่ง ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501328587/cambodias-export-to-rcep-nations-rises-by-24-yoy-in-h1-2023/

ครึ่งแรกของปี กัมพูชาส่งออกสินค้าไปยังไทยขยายตัว 6.5%

ในช่วง 6 เดือนแรกของปี นับตั้งแต่ช่วงเดือนมกราคมถึงมิถุนายนปีนี้ การส่งออกของกัมพูชาไปยังไทยมีมูลค่ารวมมากกว่า 527 ล้านดอลลาร์ คิดเป็นการเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่การนำเข้าของกัมพูชาจากไทยมีมูลค่ารวมอยู่ที่ 1.4 พันล้านดอลลาร์ ตามรายงานของกรมศุลกากรและสรรพสามิตกัมพูชา สำหรับไทยมีมูลค่าการค้ากับกัมพูชามากเป็นอันดับ 4 รองจากจีน สหรัฐฯ และเวียดนาม ที่มูลค่าเกือบ 2 พันล้านดอลลาร์ ลดลงร้อยละ 14 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ในช่วงปลายปี 2022 นายกรัฐมนตรีไทยได้กล่าวไว้ในการประชุมกับเอกอัครราชทูตกัมพูชาว่า กัมพูชาและไทยวางแผนที่จะมีมูลค่าการค้ารวมกันถึง 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์ ภายในปี 2025 ด้านสินค้าส่งออกหลักของกัมพูชาไปยังไทย ได้แก่ เสื้อผ้า สินค้าเกษตร อัญมณีและวัตถุดิบ ขณะที่สินค้านำเข้าของกัมพูชาจากไทย ได้แก่ เนื้อสัตว์ เครื่องดื่ม ปุ๋ยอินทรีย์ เครื่องสำอาง ของตกแต่งบ้าน สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ รถยนต์ และการก่อสร้าง เป็นสำคัญ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501328681/cambodias-exports-to-thailand-up-6-5-in-h1/ 

‘ADB’ ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจเวียดนามปีนี้ โต 5.8%

ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (ADB) ระบุในรายงาน Asian Development Outlook (ADO) ประจำเดือนกรกฎาคม 2566 ได้ปรับลดคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจเวียดนามในปีนี้ อยู่ที่ 5.8% และปีหน้า 6.5% จากที่เคยประมาณการไว้ที่ 6.5% และ 6.8% ในเดือนเมษายน เนื่องมาจากอุปสงค์ภายนอกที่อ่อนแอ ส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตและภาคอุตสาหกรรม ในขณะที่คาดกาณ์ว่ากิจกรรมในประเทศจะปรับตัวดีขึ้น ทั้งนี้ ภาวะเงินเฟ้อในประเทศ คาดว่าจะชะลอตัวลงเหลือ 4% ในปี 2566 และปีหน้า เป็นผลมาจากทิศทางราคาเชื้อเพลิงและอาหารลดลง

ที่มา : https://en.nhandan.vn/adb-lowers-growth-forecast-for-vietnams-to-58-this-year-post127656.html

ราคาส่งออกข้าวเวียดนาม ทุบสถิติสูงสุด!

ราคาส่งออกข้าวของเวียดนามในปีที่แล้ว เฉลี่ยอยู่ที่ 650 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน เพิ่มขึ้น 20.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว และจากข้อมูลในเดือน ก.ค. 2566 ระบุว่าเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ราคาส่งออกข้าวหัก 5% ของเวียดนาม อยู่ที่ 513 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน เพิ่มขึ้นจาก 500 ดอลลาร์สหรัฐ ขึ้นมาอยู่ที่ 510 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ในขณะที่ราคาส่งออกข้าวหัก 25% ปรับตัวเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน ทั้งนี้ กรมศุลกากรเวียดนาม เปิดเผยข้อมูลแสดงให้เห็นว่าในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ เวียดนามส่งออกข้าวมากกว่า 4.2 ล้านตัน มูลค่า 2.26 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 21% และ 32% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ตามลำดับ อีกทั้ง ราคาส่งออกข้าวเฉลี่ยในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ อยู่ที่ 539 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน เพิ่มขึ้นกว่า 10% เมื่อเทียบกับปีก่อน นับว่าทำสถิติสูงสุดในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1551320/vietnamese-export-rice-price-sets-new-record.html#google_vignette

ระบบการศึกษาในเมียนมา ‘วิกฤต’

คุณ ไศล (Salai) ครูท้องถิ่นในเมียนมา กล่าวว่าหลังจากเกิดความรุนแรงจากเหตุการณ์รัฐประหารในปี 2564 นักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายส่วนใหญ่ทิ้งการเรียน และหันมาจับอาวุธ เพื่อสนับสนุนการก่อจราจลระดับรากหญ้า ทั้งนี้ จากรายงานของธนาคารโลก (WB) ระบุว่าเมียนมาเป็นหนึ่งในประเทศที่ยากจนที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งได้รับผลกระทบจากการสู้รบนองเลือดที่ขยายไปวงกว้าง อีกทั้ง นับตั้งแต่รัฐประหาร มีนักเรียนเพียง 22% ที่ได้เข้าศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ตลอดจนเมื่อพิจารณาในภาพรวม พบว่าอัตราการลงทะเบียนเพื่อเข้าศึกษาในสถาบันการศึกษาของเมียนมา ปรับตัวลดลง 12% ตั้งแต่ปี 2560-2566 แสดงให้เห็นถึงวิกฤตของการเข้าถึงการศึกษาในเมียนมา

ที่มา : https://www.thedailystar.net/news/asia/news/myanmars-education-system-crisis-3373856

สปป.ลาว นำเสนอแผนพัฒนาที่ยั่งยืน ณ เวที UN

รัฐบาล สปป.ลาว ได้ยืนยันความมุ่งมั่นในการสนับสนุนความร่วมมือในระดับพหุภาคี และยกระดับความเป็นหุ้นส่วนเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงที่จำเป็นเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ภายในปี 2030 กล่าวโดยรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ Mr.Phoxay Khaykhamphithoune ซึ่งย้ำถึงจุดยืนของรัฐบาลในการดำเนินการ ร่วมกับความพยายามในการฟื้นตัวจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยรัฐบาล สปป.ลาว ได้นำมาตรการที่สำคัญมาปรับใช้ รวมถึงได้กำหนดวาระแห่งชาติว่าด้วยการจัดการปัญหาทางเศรษฐกิจและการเงินสำหรับปี 2021-2023 ไปจนถึงการกำหนดแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 9 สำหรับปี 2023-2025 เพื่อปรับตัวต่อสถานการณ์หลังการแพร่ระบาดของโควิด-19

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_Laos139.php

CGCC ค้ำประกันสินเชื่อแก่ผู้ประกอบการในกัมพูชา รวมกว่า 130 ล้านดอลลาร์

สถาบันค้ำประกันสินเชื่อ ประเทศกัมพูชา (CGCC) ได้สนับสนุนธุรกิจในกัมพูชามากกว่า 1,566 แห่ง ด้วยการค้ำประกันสินเชื่อสำหรับภาคธุรกิจวงเงินรวมกว่า 132.74 ล้านดอลลาร์ ณ เดือนมิถุนายนปีนี้ โดย CGCC กล่าวเสริมว่า ยอดสินเชื่อค้ำประกันคงค้างทั้งหมดในปัจจุบันอยู่ที่ 105 ล้านดอลลาร์ ในขณะที่ยอดรวมของยอดค้ำประกันคงค้างอยู่ที่ 75 ล้านดอลลาร์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง (MSME) จำนวน 1,432 ราย และธุรกิจขนาดใหญ่ 134 รายในกัมพูชา ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อนำไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน การลงทุน และการขยายธุรกิจ เป็นสำคัญ ด้าน Mey Vann รัฐมนตรีต่างประเทศกระทรวงเศรษฐกิจและการคลัง กล่าวว่า โครงการค้ำประกันสินเชื่อมีส่วนช่วยในการเสริมสร้างผู้ประกอบการและปรับปรุงการเข้าถึงบริการทางการเงินในกัมพูชา โดยอำนวยความสะดวกในการกระจายสินเชื่อไปยังภาคธุรกิจต่างๆ ควบคู่ไปกับนโยบายสนับสนุนของภาครัฐ เพื่อให้แน่ใจว่าวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมจะได้รับการพัฒนาจากกลไลดังกล่าว

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501327208/cgcc-provides-130m-credit-guarantees-to-over-1500-businesses/