บทบาทจีนใน CLMV จะเปลี่ยนไปอย่างไรหลังโควิด-19 ท่ามกลางความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังคุกรุ่นอยู่

โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

ในช่วงที่ผ่านมา บทบาททางเศรษฐกิจของจีนในกลุ่มประเทศ CLMV นับได้ว่าโดดเด่นมาก โดยเฉพาะด้านการค้า ผ่านยุทธศาสตร์ต่างๆ ที่จีนพยายามเข้ามาสร้างอิทธิพลทางเศรษฐกิจ ทั้งอิทธิพลของความเชื่อมโยงทางกายภาพ (Physical connectivity) อาทิ โครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม รวมถึงเขตเศรษฐกิจพิเศษต่างๆ ภายใต้ Belt and Road Initiative ซึ่งมีส่วนช่วยดึงดูด FDI จีนให้มาตั้งคลัสเตอร์อุตสาหกรรมในพื้นที่ รวมถึงอุตสาหกรรมบริการที่ตอบสนองความเป็นเมืองที่มากขึ้น ขณะเดียวกัน อิทธิพลของความเชื่อมโยงทางสถาบัน (Institutional connectivity) ของจีน อาทิ การผ่อนคลายกฎระเบียบที่เอื้อประโยชน์ต่อการค้าระหว่างประเทศ ก็มีช่วยกระตุ้นมูลค่าการค้าระหว่าง CLMV กับจีนให้เร่งตัวขึ้น

อนึ่ง การทวนกระแสโลกาภิวัตน์ (De-Globalization) ที่ทั่วโลกเผชิญอยู่อันมีจุดเริ่มต้นจากสงครามการค้าและสงครามเทคโนโลยีระหว่างจีนกับสหรัฐฯ กำลังโดนซ้ำเติมจากความเปราะบางของห่วงโซ่อุปทานโลกอันมีมูลเหตุจากปัจจัยที่ไม่อาจคาดเดามาก่อน อาทิ การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทั่วโลก อาจส่งผลให้จีนรวมถึงบริษัทต่างชาติในจีนหันมาให้ความสำคัญต่อประเทศเพื่อนบ้านที่อยู่ใกล้เคียง (Regionalization) ในการเป็นห่วงโซ่อุปทานแห่งใหม่ เพื่อลดและกระจายความเสี่ยงทางด้านปฏิบัติการ หากฐานการผลิตกระจุกตัวอยู่ในจีน รวมถึงมีส่วนช่วยคานอิทธิพลด้านเศรษฐกิจจากสหรัฐฯ ในทางอ้อม โดยความสำคัญของกลุ่ม CLMV ต่อจีนภายหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 คาดว่าจะอยู่ในฐานะแหล่งการผลิตสินค้าทางการเกษตร รวมถึงอาหารเพื่อตอบโจทย์ความมั่นคงทางด้านอาหาร (Food security) ที่ทางการจีนมุ่งเน้นภายใต้ยุทธศาสตร์ Dual Circulation นอกจากนี้ CLMV มีแนวโน้มได้รับการกระจายการลงทุนในอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นในทิศทางที่เร่งตัวขึ้น โดยเวียดนามยังคงมีศักยภาพในการก้าวขึ้นมาเป็นหนึ่งในห่วงโซ่อุปทานใหม่สำหรับอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีเข้มข้นอย่างอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ อย่างไรก็ดี เวียดนามที่โดยพื้นฐานแล้วยังมีความขัดแย้งทางภูมิศาสตร์กับจีนอยู่ซึ่งได้พยายามสานสัมพันธ์กับกลุ่มประเทศอื่นจนอาจจะเรียกได้ว่าเป็นพันธมิตรกับทางสหรัฐฯ มากขึ้นในช่วงที่ผ่านมานั้น อาจพยายามปรับสมดุล FDI โดยเฉพาะในภาคการผลิตและบริการที่ใช้เทคโนโลยีเข้มข้นให้รองรับนักลงทุนสัญชาติอื่นที่มีศักยภาพสูงมากกว่าดึงดูด FDI จากจีนเป็นหลัก

อ่านต่อ : https://kasikornresearch.com/th/analysis/k-econ/economy/Pages/CLMV-EPI-27-05-21.aspx

EIC CLMV Outlook Q2/2021

โดย ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC)

แม้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในปี 2021 จะเป็นแรงสนับสนุนสำคัญต่อการฟื้นตัวของภาคส่งออกในกลุ่ม CLMV แต่การระบาดระลอกใหม่ของ COVID-19 ในภูมิภาค ประกอบกับสถานการณ์ความไม่สงบทางการเมืองในเมียนมาจะเป็นแรงกดดันสำคัญต่อเศรษฐกิจ CLMV ในปี 2021 โดยในส่วนของภาคส่งออกของ CLMV คาดว่าจะฟื้นตัวได้ดีตามทิศทางเศรษฐกิจและการค้าโลก โดยเฉพาะจากประเทศพัฒนาแล้ว ซึ่งเวียดนามมีแนวโน้มได้รับประโยชน์จากการส่งออกที่ปรับตัวดีขึ้นมากสุดในภูมิภาค จากความแข็งแกร่งด้านการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ขณะที่ภาคเศรษฐกิจในประเทศ การระบาดระลอกใหม่ของ COVID-19 ในภูมิภาค CLMV ช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2021 จะเป็นแรงกดดันต่อกิจกรรมเศรษฐกิจในประเทศให้ปรับลดลง โดยในส่วนของเวียดนาม ภาครัฐสามารถควบคุมการระบาดในระลอกก่อนได้เป็นอย่างดี ทำให้เศรษฐกิจในประเทศไม่ได้รับผลกระทบมากนัก แต่ยังต้องจับตาการระบาดระลอกล่าสุดช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคมซึ่งเป็นความท้าทายสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเวียดนามในระยะต่อไป ขณะที่ในกรณีของประเทศอื่น พบว่าเมียนมายังต้องเผชิญการระบาดที่ยืดเยื้อมาตั้งแต่เดือนกันยายนปี 2020 ส่วนกัมพูชาและ สปป.ลาวกำลังเผชิญการระบาดระลอกใหม่อย่างรุนแรงเป็นครั้งแรกในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2021 ทำให้รัฐบาลต้องใช้มาตรการ lockdown อย่างเข้มงวด ซึ่งส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศและเป็นตัวแปรสำคัญต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ CLMV ในปี 2021 นอกจากนี้ สถานการณ์การเมืองที่ทวีความรุนแรงขึ้นในเมียนมาก็มีแนวโน้มส่งผลกระทบอย่างหนักและยืดเยื้อต่อเศรษฐกิจ ทำให้ EIC ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจเมียนมาลงอย่างมีนัยสำคัญ

จากการที่ประเทศ CLMV น่าจะยังไม่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ได้ในภายในปี 2021 ดังนั้น การฟื้นตัวของเศรษฐกิจ จึงขึ้นอยู่กับสองปัจจัยหลัก ได้แก่

  1. ขนาดและประสิทธิภาพของมาตรการกระตุ้นทางการคลังและการเงินเพื่อพยุงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและจำกัดผลกระทบจากแผลเป็นทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น และ
  2. ปัจจัยเสี่ยงรายประเทศ ได้แก่ ความรุนแรงทางการเมืองของเมียนมา และปัญหาหนี้สาธารณะใน สปป. ลาว

กัมพูชา : ปัจจัยบวก

  1. ภาคส่งออกจะกลับมาขยายตัวดีตามเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า
  2. รัฐบาลยังมีความสามารถทำนโยบายที่เพียงพอ ทำให้สามารถออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจได้ต่อเนื่อง

กัมพูชา : ปัจจัยลบ

  1. การระบาดระลอกใหม่ที่รุนแรงของ COVID-19 และมาตรการ lockdown ที่กลับมาเข็มงวดจะจำกัดการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ
  2. การฟื้นตัวจะยังคงอยู่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยช่วงก่อนหน้า เนื่องจากภาคการท่องเที่ยวซึ่งเป็นภาคเศรษฐกิจหลักมีแนวโน้มซบเซา

สปป.ลาว : ปัจจัยบวก

  1. การก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานโครงการใหญ่ๆ จะเป็นแรงสนับสนุนหลักของการเติบโตในปีนี้
  2. การส่งออกมีแนวโน้มได้อานิสงค์จากเศรษฐกิจประเทศเพื่อนบ้านที่ฟื้นตัวดีขึ้น และจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่เพิ่มสูงขึ้น

สปป.ลาว : ปัจจัยลบ

  1. การยกระดับมาตรการ lockdown จะสร้างแรงกดดันต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจและทำให้การปิดพรมแดนยืดเยื้อออกไปอีก
  2. หนี้สาธารณะที่อยู่ในระดับสูงจะจำกัดความสามารถในการทำนโยบายการคลังในการกระตุ้นเศรษฐกิจ

เมียนมา : ปัจจัยลบ

  1. การปราบปรามของรัฐบาลทหารและขบวนการอารยะขัดขืนโดยมวลชน (CDM) จะส่งผลต่อการบริโภคภาคเอกชน
  2. ธุรกิจและโรงงานหลายแห่งปิดตัวลง จากปัญหาขาดแคลนแรงงานและแนวโน้มเศรษฐกิจที่ปรับตัวแย่ลง
  3. บริษัทต่างชาติมีแนวโน้มยับยั้งคำสั่งซื้อและเลื่อนโครงการลงทุนออกไป เพราะอาจเสี่ยงต่อชื่อเสียงองค์กร
  4. นโยบายการคลังที่เป็นข้อจำกัดและทิศทางเศรษฐกิจที่ไม่ชัดเจนและสร้างความไม่แน่นอนอย่างต่อเนื่องในระยะกลาง

เวียดนาม : ปัจจัยบวก

  1. ภาคส่งออกเติบโตแข็งแกร่งจากการส่งออกสินค้าเทคโนโลยีขั้นสูง ยังคงเป็นปัจจัยขับปัจจัยขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจ
  2. กระทรวงการคลังสหรัฐฯ ถอดเวียดนามออกจากรายชื่อประเทศผู้บิดเบื่อนค่าเงิน ส่งสัญญาที่ดีต่อการค้าเวียดนาม-สหรัฐฯ
  3. FDI เข้าเวียดนามส่งสัญญาฟื้นตัวแข็งแกร่งตามแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจ และความสามารถในการเข้าถึงตลาดใหม่ๆ ผ่านข้อตกลงการค้า รวมถึงจำนวน/ฐานผู้บริโภคขนาดใหญ่

เวียดนาม : ปัจจัยลบ

  1. การควบคุมการระบาดของ COVID-19 หลานคลัสเตอร์ในเดือนเมษายน-พฤษภาคมยังเป็นประเด็นที่ต้องจับตามอง

อ่านต่อ : https://www.scbeic.com/th/detail/product/7594

ทิศทาง CLMV หลัง COVID-19

โดย BRD Analysis I ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย

ประเด็นสำคัญ

  • เศรษฐกิจเวียดนามมีแนวโน้มขยายตัวโดดเด่นที่สุดใน CLMV ขณะที่รัฐประหารทำให้เศรษฐกิจเมียนมาซึ่งเคยขยายตัวสูงกลับถดถอยและกลายเป็นประเทศที่มีแนวโน้มเศรษฐกิจเติบโตต่ำที่สุดในกลุ่ม
  • นโยบายภาครัฐของกัมพูชาเน้นพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ส่งผลให้โรงไฟฟ้าเป็นธุรกิจที่มีโอกาสขยายการลงทุนในระยะข้างหน้า พร้อมกับผลักดันอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ทดแทนเสื้อผ้าสำเร็จรูป
  • การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานใหม่ใน สปป.ลาว ต้องอาศัยนักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะจากจีน ซึ่งโรงไฟฟ้าพลังน้ำยังคงเป็นเป้าหมายหลัก ขณะที่การลงทุนภาคการผลิตมีโอกาสเพิ่มขึ้นจากโครงการรถไฟจีน – สปป.ลาว
  • ความขัดแย้งในเมียนมาทำให้ธุรกิจต่างชาติต้องเน้นประคองธุรกิจ และการลงทุนใหม่มีแนวโน้มชะลอตัวรุนแรง

————————————————————————————————————————————————————

ทิศทางเศรษฐกิจของ CLMV

กัมพูชา :เศรษฐกิจยังฟื้นตัวได้จำกัดในระยะสั้น แม้ภาคส่งออกจะได้อานิสงส์จากการฟื้นตัวของตลาดหลักอย่างสหรัฐฯ ขณะที่การลงทุน โดยเฉพาะจากจีน มีแนวโน้มฟื้นตัว แต่ภาคท่องเที่ยว ซึ่งเป็นแหล่งรายได้สำคัญของประเทศยังคงต้องใช้ระยะเวลาฟื้นตัวอีก 1-2 ปี

สปป.ลาว : การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจขึ้นกับปัจจัยสนับสนุนภายนอก เนื่องจากภาครัฐประสบปัญหาหนี้สาธารณะในระดับสูง ทำให้ไม่มีเครื่องมือที่ใช้ สำหรับกระตุ้นเศรษฐกิจ และต้องลดการใช้จ่ายภาครัฐลง จึงต้องหวังพึ่งการลงทุนจากต่างประเทศเป็นหลัก

เมียนมา : ยากต่อการคาดการณ์ทิศทางเศรษฐกิจ เนื่องจากรัฐประหารเปลี่ยนทิศทางของประเทศไปโดยสิ้นเชิง ทั้งนี้ IMF คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวกว่า 4% ตั้งแต่ ปี 2566 จากความคาดหวังว่าความวุ่นวายในประเทศจะคลี่คลายลงได้

เวียดนาม : มีแนวโน้มขยายตัวโดดเด่นที่สุดใน CLMVโดยรัฐบาลตั้งเป้าเศรษฐกิจขยายตัว 6.5-7.0% ระหว่างปี 2564-2568 และจะเป็นประเทศที่มีรายได้ ปานกลางค่อนข้างสูงภายในปี 2573

————————————————————————————————————————————————————

ทิศทางธุรกิจและอุตสาหกรรม

กัมพูชา : การดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่นอกเหนือจากเสื้อผ้าสำเร็จรูป โดยมีอุตสาหกรรมที่น่าสนใจ ดังนี้

ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ : การลงทุนมีแนวโน้มขยายตัว โดยการส่งออกชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ของกัมพูชา (สัดส่วนราว 5% ของมูลค่าส่งออกทั้งหมด) ในปี 2563 ขยายตัวราว 220% เนื่องจากความต้องการอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ของโลกที่เพิ่มขึ้น ซึ่งคาดว่ารัฐบาลจะดึงดูดการลงทุนเพิ่มขึ้นในระยะข้างหน้า

โรงไฟฟ้า : การลงทุนมีแนวโน้มขยายตัว เนื่องจากกัมพูชายังมี Supply ของไฟฟ้าไม่เพียงพอกับความต้องการใช้ โดยโรงไฟฟ้าที่มีศักยภาพการลงทุน ได้แก่ โรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหิน และโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์

สปป.ลาว : การลงทุนใหม่ต้องอาศัยนักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะจากจีน ทั้งนี้ สปป.ลาว ยังคาดหวังกับการลงทุน ดังนี้

ธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังน้ำ : ยังคงเป็นธุรกิจเป้าหมายของรัฐบาล สปป.ลาว แต่โครงการใหม่ในระยะข้างหน้าต้องพึ่งพาการลงทุนจากต่างประเทศทั้งหมด เนื่องจากรัฐบาลเผชิญข้อจำกัดทางการเงิน

ภาคการผลิตที่ได้ประโยชน์จากการเชื่อมโยง สปป.ลาว กับประเทศเพื่อนบ้าน : โครงการรถไฟจีน – สปป.ลาว ที่คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือน ธ.ค. 2564 จะดึงดูดการลงทุนในภาคการผลิตของ สปป.ลาว ได้ในอนาคต

เมียนมา : ธุรกิจต่างชาติในเมียนมาเน้นประคองธุรกิจ ขณะที่การลงทุนใหม่มีแนวโน้มชะลอตัวรุนแรง

ภาคการผลิต : การผลิตเพื่อส่งออก (เสื้อผ้าสำเร็จรูป) หยุดชะงัก เนื่องจากผู้นำเข้า โดยเฉพาะชาติตะวันตก หลีกเลี่ยงการทำธุรกรรมกับเมียนมา จนผู้ประกอบการต่างชาติบางส่วนอาจถอนการลงทุน ขณะที่การผลิตที่เน้นตลาดในประเทศ เผชิญกับความต้องการที่หดตัวตามภาวะเศรษฐกิจเมียนมา

โรงไฟฟ้า : นักลงทุนต่างชาติส่วนใหญ่ชะลอการลงทุน และเป็นโอกาสที่จีนจะมีบทบาทในเมียนมามากขึ้น

เวียดนาม : หลายอุตสาหกรรมในเวียดนามมีแนวโน้มขยายตัวดี โดยอุตสาหกรรมที่เป็นโอกาสการลงทุนของไทย อาทิ

อุตสาหกรรมอาหารแปรรูป : เนื่องจากความต้องการอาหารที่มีความปลอดภัยและถูกสุขอนามัยเพิ่มขึ้น ประกอบกับรัฐบาลให้ความสำคัญกับการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเพิ่มมูลค่าและยกระดับการผลิตสินค้าเกษตร

ธุรกิจบรรจุภัณฑ์ : มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องตามการขยายตัวของภาคการผลิตในเวียดนาม ซึ่งรวมถึงบรรจุภัณฑ์ในอุตสาหกรรมอาหารแปรรูปและเครื่องดื่ม

โรงไฟฟ้า : ยังเติบโตจากความต้องการใช้ ไฟฟ้าที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 8.6% และ 7.2% ในช่วงปี 2564-2568 และ 2569-2573 ตามล าดับ ซึ่งเวียดนามจะลดการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินและเพิ่มพลังงานหมุนเวียน

https://kmc.exim.go.th/detail/hot-issues/20210512113428ที่มา :

การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่แข็งแกร่ง ส่งผลต่อเศรษฐกิจ CLMV ได้รับอานิสงส์แตกต่างกัน

โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

ท่ามกลางมุมมองเชิงบวกต่อพัฒนาการการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในปี 2564 ที่เติบโตอย่างแข็งแกร่งหลังวิกฤติโควิดอันสะท้อนผ่านประมาณการเศรษฐกิจของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ที่ปรับคาดการณ์เศรษฐกิจโลกปี 2564 เป็น 6.0% จากคาดการณ์ครั้งก่อนที่ 5.5% นำโดยการฟื้นตัวของเศรษฐกิจขนาดใหญ่โดยเฉพาะสหรัฐฯ และจีน ซึ่งน่าจะส่งผลบวกต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจอินโดจีน (CLMV) ที่มีการพึ่งพิงภาคต่างประเทศสูง อย่างไรก็ดี ภาพการเติบโตของเศรษฐกิจโลกที่สดใสอาจส่งผลบวกต่อพัฒนาการของเศรษฐกิจอินโดจีน (CLMV) ในระดับที่แตกต่างกัน ตามความเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจโลกผ่านช่องทางต่างๆ อาทิ การส่งออก รายได้ส่งกลับของแรงงานในต่างประเทศ การลงทุนทางตรง (FDI) และการท่องเที่ยว นอกจากนี้ ปัจจัยเฉพาะในประเทศก็มีบทบาทสำคัญในการกำหนดทิศทางเศรษฐกิจด้วยเช่นกัน ทำให้เศรษฐกิจ CLMV ในภาพรวมจะได้รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ไม่เท่ากัน

เวียดนามเป็นเศรษฐกิจใน CLMV ที่ได้รับประโยชน์สูงสุดจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก จากโครงสร้างการผลิตและส่งออกที่มีสัดส่วนของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์สูง นอกจากภาคการส่งออกแล้ว การฟื้นตัวของเศรษฐกิจเวียดนามยังได้รับอานิสงส์จากรายได้นำส่งกลับของแรงงาน ซึ่งมีสัดส่วนถึงร้อยละ 5.8 ของจีดีพี เนื่องจากแรงงานเวียดนามที่ส่วนใหญ่กระจายอยู่ในไต้หวัน เกาหลีใต้และญี่ปุ่นซึ่งเป็นประเทศที่ได้รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในระดับสูง ขณะที่กัมพูชาอาจเป็นอีกเศรษฐกิจที่ได้รับแรงหนุนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกเช่นกันเนื่องจากการส่งออกของกัมพูชามีตลาดหลักอยู่ในสหรัฐฯ จีน และยุโรปซึ่งเป็นเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก นอกจากนี้ การลงทุนในกัมพูชาส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและภาคอสังหาริมทรัพย์ที่เกี่ยวข้องกับโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative : BRI) ซึ่งภาพการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนที่แข็งแกร่งย่อมส่งผลให้โครงการดังกล่าวยังเดินหน้าต่อไป ในส่วนของเศรษฐกิจสปป.ลาว คงจะได้รับแรงหนุนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่จำกัดในส่วนของการลงทุนตรงจากจีนเป็นหลัก ขณะที่ภาคการส่งออกอาจได้รับอานิสงส์จำกัด ขณะที่เมียนมา ปัจจัยการเมืองในประเทศคงเป็นปัจจัยที่มีผลในการลดทอนผลบวกจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก​

ที่มา : https://kasikornresearch.com/th/analysis/k-econ/economy/Pages/CLMV-z3213.aspx

ปี 64 เศรษฐกิจเมียนมาเจอมรสุมหนัก! คาด หดตัว 8.5%

โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย

ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่กำลังฟื้นตัวดี เศรษฐกิจเมียนมากลับเผชิญมรสุมทางการเมืองอย่างหนัก ภาพลักษณ์ของเมียนมาในสายตาชาติตะวันตกกำลังมีบทบาทลดน้อยลง จากการที่สหรัฐฯ ประกาศระงับความตกลงการค้าและการลงทุนกับเมียนมาที่มีมาตั้งแต่ปี 2556 ทำให้มียนมาต้องสูญเสียสิทธิพิเศษทางภาษีเป็นการทั่วไป (GSP) ของสหรัฐฯ และมีความเสี่ยงที่สหภาพยุโรปจะตัดสิทธิพิเศษทางการค้า EBA รวมถึงนานาชาติจะเพิ่มแรงกดดันด้านต่าง ๆ อันเป็นอุปสรรค์ต่อการทำธุรกิจในอนาคต

ตั้งแต่กองทัพเมียนมาเข้ายึดอำนาจเมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2564 ได้มีการแสดงอารยะขัดขืนเป็นวงกว้างและทวีความรุนแรงขึ้น ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจชะงักงัน เครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจทุกตัวชะลอตัวลงมากกว่าคาด ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดเศรษฐกิจเมียนมาปี 2564 อาจจะหดตัวลึกขึ้นมาอยู่ที่ราว -8.5% (กรอบประมาณการ -9.8% ถึง -7.2%) หากการประท้วงไม่ขยายวงกว้างกว่านี้และทางการสามารถควบคุมสถานการณ์เศรษฐกิจและการเมืองช่วงครึ่งปีหลังให้ดีขึ้นได้ เศรษฐกิจเมียนมาปี 2564 คาดว่าจะโน้มเอียงสู่กรอบบนประมาณการที่ -7.2% แต่หากความขัดแย้งรุนแรงลากยาวตลอดปี เศรษฐกิจอาจทรุดตัวเข้าใกล้กรอบล่างที่ -9.8%

การส่งออกผ่านชายแดนจากไทยไปเมียนมาเดือนก.พ. 2564 กลับมาหดตัวสูงที่ -21.4% ส่วนหนึ่งเพราะโควิด-19 ลุกลามอีกครั้ง และบางส่วนเพราะความไม่สงบในเมียนมาทำให้สินค้าส่วนใหญ่เริ่มหดตัวชัดเจน ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าแม้ความไม่สงบในเมียนมาอาจส่งผลมายังช่องทางการค้าบริเวณพรมแดน แต่ไม่กระทบการขนส่งสินค้าข้ามแดนมากนักเพราะเมียนมาต้องพึ่งสินค้าไทยหลายชนิด ขณะเดียวกันความกังวลต่อความไม่สงบในช่วงแรกทำให้มีการเร่งกักตุนสินค้าจากไทยค่อนข้างมาก แต่ในช่วงที่เหลือของปีด้วยกำลังซื้อและภาวะเศรษฐกิจที่จะอ่อนแรงลงเรื่อยๆ คงฉุดให้การส่งออกชายแดนไทยไปเมียนมาปีนี้หดตัวต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 ที่ -6.0% มูลค่าการส่งออก 81,890 ล้านบาท (กรอบประมาณการหดตัวที่ -8.0% หากเศรษฐกิจเมียนมาทรุดตัวตลอดปี ถึงหดตัวที่ -2.9% หากครึ่งปีหลังหลังสามารถควบคุมสถานการณ์ให้กลับมาดีขึ้นได้)​

ที่มา : https://www.kasikornresearch.com/th/analysis/k-social-media/Pages/Myanmar-Eco-23-04-2021.aspx

ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ เชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอกสาม

สถาบันยุทธศาสตร์การค้า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เผยผลสำรวจ “ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ เชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอกสาม” พบว่า นักธุรกิจกิจและสมาชิกหอการค้าไทย มีความกังวลเรื่องไม่มีวัคซีนโควิดตามแผนที่วางไว้มากถึง ร้อยละ 91.67 รองลงมามีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์โควิดที่ยืดเยื้อและไม่สามารถควบคุมได้ ร้อยละ 89.19 และเป็นห่วงเรื่องการ Lockdown มากถึงร้อยละ 78.38 และมีทัศนะต่อผลกระทบที่เกิดขึ้นในเมื่อเทียบกับโควิดระลอกที่ผ่านมา 2 รอบ คิดว่าเศรษฐกิจโดยรวมแย่ลงมากถึง ร้อยละ 48.65

และนอกจากนั้น ยังมีข้อเสนอแนะที่ภาวะเศรษฐกิจของประเทศต่อรัฐบาล ได้แก่ อยากให้เร่งดำเนินการเกี่ยวกับวัคซีนร่วมกับภาคเอกชนอย่างมีประสิทธิภาพ และอยากให้รัฐบาลเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจโดยรวม ภายใต้การจัดสรรงบประมาณตามความเหมาะสม พร้อมกำหนดและออกมาตรการที่ครอบคลุมกับทุกภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19

ที่มา: สถาบันยุทธศาสตร์การค้า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

บทบาท RCEP ต่อการค้าในกลุ่มประเทศ CLMVT

โดย ดร.ปพน เกียรติสกุลเดชา (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์

เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2020 สมาชิกทั้ง 15 ประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกได้ลงนามความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ปิดฉากการเจรจาที่ยาวนานถึง 8 ปี ของข้อตกลงทางการค้าพหุภาคี (multilateral FTA) ฉบับล่าสุดนี้ ถือเป็นข้อตกลงการค้าเสรีที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก โดยมีขนาดเศรษฐกิจรวมคิดเป็น 29% (25.8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ) ของ GDP โลก ครอบคลุมประชากรโลกราว 30% (2.3 พันล้านคน) และมีปริมาณการค้าสินค้าและบริการรวมกันคิดเป็น 25% (12.7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ) ของทั้งโลก  ซึ่งในการเจรจา RCEP กลุ่มสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศถือเป็นหัวเรือใหญ่ในการรวบรวมข้อตกลงการค้าทวิภาคี ASEAN Plus One  (ซึ่งแต่ละฉบับเป็น FTA ระหว่างกลุ่มอาเซียน 10 ประเทศกับคู่ค้าหลักร่วมกัน) เข้ากับ 5 ประเทศคู่ค้าสำคัญในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์

รูปที่ 1 : RCEP จะช่วยลดภาษีนำเข้าและมาตรการทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี (NTB) ระหว่างสมาชิกในภาคี โดยประเทศที่ได้รับผลบวกจากการลดภาษีมากที่สุดคือญี่ปุ่น จีน และนิวซีแลนด์ ซึ่งได้ประโยชน์จากการลดภาษีได้ในอัตราที่สูง ขณะที่ประเทศกลุ่มอาเซียน โดยเฉพาะ CLMVT จะได้ผลบวกน้อยกว่าเนื่องจากมีภาษีนำเข้าในอัตราที่ค่อนข้างต่ำอยู่แล้ว

สำหรับผลประโยชน์ทางการค้าจากการลดภาษีนำเข้าภายใต้ RCEP นั้น คาดได้ว่าจะเอื้อประโยชน์กับจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ รวมทั้งออสเตรเลียกับนิวซีแลนด์มากที่สุด ในขณะที่ผลประโยชน์ต่อกลุ่มประเทศอาเซียน โดยเฉพาะไทยและประเทศ CLMV นั้น คาดว่าจะอยู่ในวงจำกัด ทั้งหมดนี้เป็นสาเหตุจากการที่ RCEP นับเป็นข้อตกลงการค้าพหุภาคีฉบับแรกระหว่างจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ รวมทั้งยังเป็นข้อตกลงการค้าเสรีแรกระหว่างญี่ปุ่นและนิวซีแลนด์ จึงทำให้อัตราภาษีนำเข้าของประเทศเหล่านี้ลดลงอย่างมากจากการเติมเต็มช่องว่างเครือข่ายทางการค้า ทางฝั่งอาเซียนและประเทศ CLMVT นั้น เผชิญกับระดับภาษีนำเข้าภายในภูมิภาคที่ต่ำอยู่ก่อนแล้ว เนื่องจากกลุ่มอาเซียนมีความเชื่อมโยงกันทั้งภายใต้เขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) และ FTA แบบทวิภาคี ASEAN Plus One กับ 5 ประเทศคู่ค้าหลักที่มีอยู่เดิม

อย่างไรก็ตาม การยกเลิกมาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี (NTB) ภายใต้ RCEP จะส่งผลดีกับสมาชิกทุกประเทศอย่างทั่วถึง ต่างจากมาตรการลดภาษี ซึ่งจะทยอยมีผลบังคับใช้ตามรายการสินค้า โดย NTB ที่มีอยู่ในปัจจุบันมีต้นตอจากความแตกต่างของกฎหมายและระเบียบทางศุลกากร รวมถึงขั้นตอนการผลิตสินค้า ขั้นตอนการจดทะเบียนธุรกิจ และกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาในแต่ละประเทศในภาคี ซึ่งข้อตกลงการค้าสมัยใหม่ รวมถึง RCEP มีเป้าหมายพื้นฐานที่จะลดผลกระทบจาก NTB เหล่านี้ โดยบัญญัติข้อบทใหม่ต่าง ๆ ที่กำหนดหรือส่งเสริมให้ประเทศสมาชิกใช้กฎหมายและระเบียบบนมาตรฐานเดียวกันเพื่อสร้างการแข่งขันที่เท่าเทียม

ข้อบทใหม่ที่สำคัญที่สุดสำหรับการยกระดับ FTA ในภูมิภาครวมกันเป็น RCEP ได้แก่ การทำให้กฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า (Rules of Origin) ครอบคลุมทั้งภูมิภาค โดยก่อนการเจรจา RCEP จะเกิดขึ้นกฎ Rules of Origin ที่มีอยู่เดิมครอบคลุมแค่ประเทศในภาคีเท่านั้น หมายความว่าสินค้าที่ใช้วัตถุดิบจากประเทศนอกภาคีเป็นสัดส่วนใหญ่จะไม่เข้าข่ายว่าเป็นสินค้าที่ผลิตภายในประเทศสมาชิก จึงไม่สามารถใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีจาก FTA ได้ ตัวอย่างเช่น รถยนต์ที่ผลิตในไทยแต่ใช้ชิ้นส่วนจากญี่ปุ่น ไม่สามารถใช้สิทธิประโยชน์จากกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้าภายใต้ FTA ของอาเซียนได้ แต่หลัง RCEP มีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการแล้ว วัตถุดิบผลิตสินค้าจากทั้ง 15 ประเทศในภาคีจะถือรวมเป็นวัตถุดิบท้องถิ่นทั้งหมด ทำให้ผู้ผลิตในประเทศสมาชิกสามารถใช้สิทธิประโยชน์จากกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้าได้ง่ายขึ้น ด้วยเหตุนี้กฎ Rules of Origin ภายใต้ RCEP จะมีแนวโน้มช่วยยกระดับบทบาทของกลุ่มประเทศ CLMVT ในห่วงโซ่อุปทานของภูมิภาค โดยเฉพาะกัมพูชา ลาว และเมียนมา ที่ยังตามหลังด้านการพัฒนาอยู่ ซึ่งสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับแรงจูงใจจากเรื่องตำแหน่งที่ตั้งและค่าแรงที่ต่ำกว่าอาจทำให้อุตสาหกรรมในเอเชียตะวันออกหันมาจ้างผลิตจากกลุ่มประเทศเหล่านี้มากขึ้น

อีกประเด็นสำคัญใน RCEP ได้แก่ ความยืดหยุ่นในข้อตกลงที่มีต่อประเทศในระดับการพัฒนาที่แตกต่างกัน โดยสำหรับกัมพูชา ลาว และเมียนมา นั้น มีข้อปฏิบัติให้ลดภาษีนำเข้าลงเพียง 30% ในปีแรก (เทียบกับ 65% สำหรับประเทศอื่น) รวมทั้งขยายเวลาเป้าหมายลดภาษีนำเข้าให้ได้ 80% ภายใน 15 ปี (เทียบกับ 10 ปีสำหรับประเทศอื่น) นอกจากนี้กัมพูชายังได้รับการยืดระยะเวลาปรับปรุงเทคโนโลยีดิจิทัลที่ด่านศุลกากรออกไปอีกถึง 5 ปี อีกด้วย ข้อกำหนดเฉพาะข้างต้นจะช่วยยกระดับเศรษฐกิจ CLM ให้เข้ามามีส่วนร่วมในเครือข่ายการค้า RCEP ได้มากขึ้น โดยให้เวลาเตรียมความพร้อมกับทั้ง 3 ประเทศเพื่อปรับขั้นตอนและกฎระเบียบภายในประเทศให้เข้ากับมาตรฐานสากล แต่จำกัดผลกระทบทางลบต่อธุรกิจท้องถิ่น การทยอยปฏิรูปและปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจในประเทศ บวกกับแรงผลักดันการปรับตัวจาก RCEP จะเป็นผลดีกับการพัฒนาผลิตภาพแรงงานในกัมพูชา ลาว และเมียนมา เพิ่มเติมจากผลประโยชน์จากการค้าที่จะได้รับ

ท้ายที่สุดนี้ คำถามสำคัญที่ตามมาคือประเทศไทยจะได้อะไรจาก RCEP และภาคธุรกิจไทยควรจะวางจุดยุทธศาสตร์อย่างไร ในระยะข้างหน้า หากมองจากผลประโยชน์ต่อการขยายเครือข่ายทางการค้าในภูมิภาคนั้นไทยจัดว่าได้ประโยชน์น้อยกว่าประเทศเพื่อนบ้านเมื่อเทียบกับกัมพูชา ลาว และเมียนมา ซึ่งได้รับข้อตกลงที่ยืดหยุ่นมากกว่า ในขณะเดียวกันเวียดนามก็ได้ขยายตลาดส่งออกไปกว้างกว่ามากจากสัญญาการค้าพหุภาคีขนาดใหญ่อื่น ๆ นอกเหนือจาก RCEP (EVFTA, CPTPP, EAEU) ซึ่งทางออกสำหรับการค้าของไทยในระยะต่อไปอาจเกิดจาก

1) การเร่งดำเนินการเจรจาเข้าร่วมข้อตกลงการค้าต่าง ๆ เพิ่มเติมเพื่อรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันระยะยาว

2) ประเทศไทยอาจสามารถใช้ประโยชน์จากการเติบโตของประเทศเพื่อนบ้าน CLM ในยุคหลัง RCEP โดยธุรกิจไทยสามารถย้ายฐานการผลิตที่ใช้แรงงานสูงไปยังประเทศเหล่านี้ และหันมาเน้นผลิตสินค้าในประเทศที่สร้างมูลค่าเพิ่มจากแรงงานทักษะสูงแทน ซึ่งกฎ Rules of Origin ภายใต้ RCEP จะเป็นแรงสนับสนุนสำคัญต่อไป

ที่มา : https://www.scbeic.com/th/detail/product/7526

ศูนย์วิจัยกสิกรฯ เผยเศรษฐกิจเวียดนามไตรมาส 1/64 ฟื้นตัวต่ำกว่าคาด

โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย รายงานว่า เศรษฐกิจเวียดนามไตรมาส 1/2564 เติบโตต่ำกว่าที่คาดที่ 4.48% YoY จากเศรษฐกิจภาคบริการและการบริโภคในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิดในช่วงต้นปี 2564 ทำให้ทางการเวียดนามออกมาตรการปิดสถานที่ชั่วคราวอาทิ ร้านอาหาร โรงภาพยนตร์ และสถานบันเทิง ทั้งในฮานอยและโฮจิมินห์ ห้ามการรวมตัวของคนหมู่มาก ตลอดจนปรับลดเวลาทำการธุรกิจโดยเฉพาะบริการขนส่งสาธารณะ

  ขณะเดียวกันภาครัฐลดระดับในการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจลงเพื่อลดภาระทางการคลังหลังจากที่ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ในปีก่อน1ซึ่งครอบคลุมการปรับลดภาษีธุรกิจ การสนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ และการจ่ายเงินเยียวยาให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด ทำให้การบริโภคและกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศฟื้นตัวอย่างจำกัด

  ประกอบกับการลงทุนทางตรง (FDI) ยังคงชะลอลง โดยเฉพาะการลงทุนในโครงการใหม่ ขณะที่การนำเข้าสินค้าทุนและวัตถุดิบจากต่างประเทศที่เติบโตค่อนข้างมาก กดดันให้การเกินดุลการค้าปรับลดลง แม้ว่าภาคการส่งออกแม้ว่าจะขยายตัวได้กว่า 22% ก็ตาม

  ประเด็นการบิดเบือนค่าเงินของเวียดนามไม่ได้ส่งผลต่อภาคการส่งออกอย่างมีนัยสำคัญ หลังจากที่สหรัฐฯ จัดสถานะเวียดนามเป็นประเทศที่บิดเบือนค่าเงินในช่วงปลายปีที่ผ่านมา แต่ค่าเงินดอง (VND) ยังคงอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์ฯ ทั้งนี้ หากเทียบการอ่อนค่าระหว่างค่าเงินดองกับค่าเงินในสกุลอาเซียนจะพบว่าค่าเงินดองอ่อนค่าน้อยที่สุดเทียบกับสกุลเงินหลักในอาเซียน

   อย่างไรก็ดี การเคลื่อนไหวของค่าเงินดังกล่าวไม่ทำให้ความสามารถในการแข่งขันของเวียดนามลดลงอย่างมีนัยสำคัญเนื่องจากเวียดนามยังคงมีความได้เปรียบด้านต้นทุนการผลิตเทียบกับกลุ่มประเทศดังกล่าว ทั้งนี้ การส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐฯ ขยายตัวอย่างร้อยละ 30 ในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2564 โดยสหรัฐฯ เป็นตลาดหลักที่หนุนให้การส่งออกของเวียดนามยังคงขยายตัวในระดับสูงในปีนี้

  มองไปข้างหน้า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจเวียดนามยังคงมีทิศทางเติบโตที่เร่งขึ้นในช่วงที่เหลือของปี ทั้งนี้ การลงทุนในภาคการผลิตกลับมาเติบโตอย่างแข็งแกร่งอีกครั้ง อาจเป็นสัญญาณบวกต่อทิศทางการฟื้นตัวของภาคลงทุน เนื่องจากการลงทุนทางตรงในภาคการผลิตซึ่งมีสัดส่วนเกือบ 2 ใน 3 ของมูลค่าการลงทุนทางตรงทั้งหมดในช่วงก่อนโควิดซึ่งภาคดังกล่าวน่าจะได้รับได้รับอานิสงส์จากการย้ายฐานการผลิตออกจากจีน เนื่องจากเวียดนามมีค่าแรงต่ำกว่าจีนค่อนข้างมาก อีกทั้ง เวียดนามมีข้อตกลงการค้าที่ครอบคลุม

   ดังนั้นหากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดคลี่คลายลง น่าจะหนุนลงทุนรอบใหม่กลับมาเติบโตอีกครั้ง อย่างไรก็ดี การฟื้นตัวของภาคการบริโภคอาจต้องอาศัยเวลาอีกระยะ เนื่องจากการส่งออกที่ฟื้นตัวในช่วงแรกมาจากการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์เป็นหลัก ขณะที่ส่งออกเครื่องนุ่งห่มซึ่งเกี่ยวเนื่องกับการฟื้นตัวของกำลังซื้อในประเทศมากกว่าอาจต้องรอการฟื้นตัวของความต้องการโดยเฉพาะจากยุโรปที่ยังคงเผชิญกับการระบาดของโควิด

  ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังคงประมาณการการเติบโตของเศรษฐกิจเวียดนามที่กรอบประมาณการที่ 6.8-7.3% โดยการเติบโตของเศรษฐกิจในไตรมาส 1 ที่ออกมาต่ำกว่าคาดอาจส่งผลให้การเติบโตของเศรษฐกิจเวียดนามเข้าใกล้กรอบล่างของประมาณการมากขึ้น ทั้งนี้ ปัจจัยเสี่ยงต่อการเติบโตของเศรษฐกิจเวียดนามที่ต้องติดตาม ได้แก่ พัฒนาการของเศรษฐกิจในยูโรโซนที่กำลังเผชิญกับการระบาดของโควิดรอบใหม่ อาจส่งผลให้การฟื้นตัวของการส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มของเวียดนามมีแนวโน้มที่จะเติบโตน้อยกว่าคาด

  นอกจากนี้ ยังต้องติดตามสถานการณ์การเปิดประเทศของเวียดนาม นอกจากจะมีผลต่อภาคการท่องเที่ยวแล้วยังเป็นปัจจัยที่จะส่งผลต่อจังหวะของกระแสเงินลงทุนตรง ที่นักลงทุนโดยเฉพาะนักลงทุนรายใหม่ยังคงรอคอยการเปิดประเทศก่อนที่จะตัดสินใจลงทุนในขั้นสุดท้าย

ที่มา : /1 https://kasikornresearch.com/th/analysis/k-social-media/Pages/Vietnam-apr-FB-12-04-2021.aspx

/2 https://www.efinancethai.com/LastestNews/LatestNewsMain.aspx?ref=A&id=d1Z2b01wVFVaRVk9

‘เวียดนาม’ ทะยานสู่ ‘เสือเศรษฐกิจแห่งเอเชีย’

โดย SME Go Inter I ธนาคารกรุงเทพ

‘เวียดนาม’ ประเทศในกลุ่มอาเซียนที่มีการจัดการได้ดีที่สุด และดูเหมือนว่าเศรษฐกิจเวียดนามที่ได้รับผลกระทบน้อย ทั้งกลับมาโตได้เร็วโดยในปี 2563 เติบโตอยู่ที่ 2.91% จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ที่ 7% แต่ก็ถือว่าเป็นเพียงไม่กี่ประเทศทั่วโลกที่ GDP โตสวนกระแสเศรษฐกิจโลกที่กำลังดิ่งเหว

ความสำเร็จในการควบคุมโรคอุบัติใหม่ครั้งนี้ คุณธาราบดี ซึ้งอดิชัยวิทย์ ผู้จัดการทั่วไป ธนาคารกรุงเทพ สาขาประเทศเวียดนาม วิเคราะห์ว่า เป็นการตอกย้ำภาพลักษณ์การทำงานของรัฐบาลเวียดนามที่แก้ปัญหาดังกล่าวได้อย่างแข็งแกร่ง ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั่วโลก ทำให้เวียดนามเนื้อหอมสุดๆ ในยามนี้ ที่ทุกประเทศต่างหันหัวรบเข้าไปลงทุนด้วยมากที่สุด และที่สำคัญประเทศเวียดนามไม่ใช่คู่ขัดแย้งสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริการกับจีนเกี่ยวกับเก็บภาษีศุลกากร ทำให้นักลงทุนนานาชาติโยกย้ายฐานการผลิตและลงทุนเพื่อผลิตสินค้าส่งออกไปทั่วโลกได้อย่างไม่เป็นอุปสรรค

ดังนั้นเมื่อมองภาพรวมประเทศเวียดนามหลังจากผ่านพ้นโรคโควิด คุณธาราบดี จึงยกให้ประเทศเวียดนามเป็นเสือเศรษฐกิจตัวใหม่แห่งเอเชีย เนื่องจากเป็นประเทศที่มีศักยภาพในการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ดีที่สุดในภูมิภาคอาเซียน และมีศักยภาพการเติบโตในระยะยาวเพราะความมีเสถียรภาพทางการเมือง เข็มทิศพัฒนาประเทศมีเป้าหมายชัดเจน ที่รัฐบาลเวียดนามเร่งผลักดันการพัฒนาประเทศและเศรษฐกิจคู่ขนาน เพื่อความก้าวหน้าทัดเทียมนานาประเทศ โดยพร้อมให้การสนับสนุนการลงทุนทุกมิติจากต่างประเทศให้เข้ามาเป็นหุ้นส่วนเศรษฐกิจ

ขณะเดียวกันรัฐบาลเวียดนามยังได้ทำข้อตกลงการค้าทั่วโลก ไม่ว่าจะทำข้อตกลง FTA กับยุโรปและสหรัฐฯ รวมถึงเข้าร่วมใน ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ CPTPP (Comprehensive and Progressive Trans-pacific Partnership) ซึ่งทำให้ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีในการส่งออกสินค้าไปยังกลุ่มประเทศสมาชิก สร้างความได้เปรียบให้กับประเทศเวียดนามอย่างมาก

ที่มา : https://www.bangkokbanksme.com/en/vietnam-asian-economic-tiger

เวียดนามไปไกล Foxconn จีบ Vinfast ‘สตาร์ทเครื่อง’ รถ EV

โดย Marketeer

แผนรุกตลาดรถ EV ของ “ยักษ์โรงงาน OEM” มาถึงประเทศที่เศรษฐกิจขยายตัวลำดับต้นๆ ใน ASEAN แล้ว โดย Foxconn เริ่ม ‘เปิดดีล’ สร้างรถ EV ในเวียดนามกับ Vinfast แบรนด์รถเวียดนามใต้ชายคา VinGroup ย้ำความต้องการรุกธุรกิจยานยนต์ของฝ่ายแรกและศักยภาพของฝ่ายหลัง ท่ามกลางของขยายตัวทางเศรษฐกิจของเวียดนามซึ่งโรงงานอุตสาหกรรมมีส่วนสำคัญ

แม้สร้างชื่อจากการเป็นเบอร์ใหญ่ในอุตสาหกรรมรับจ้างผลิต (OEM) และมี iPhone เป็นลูกค้าสำคัญ แต่ Foxconn ก็เริ่มรุกสู่วงการรถ EV แล้ว เพื่อหนี Disruption หลังเทรนด์ตลาด Gadget มุ่งสู่อุปกรณ์สั่งการด้วยเสียง

และเห็นว่ารถ EV เป็นธุรกิจมีอนาคต ตามการหันมาใส่ใจสิ่งแวดล้อมของคนทั่วโลก จนตลาดทวีความคึกคัก มีข่าวคืบหน้าพัฒนารถ EV จากบรรดาแบรนด์รถออกมาไม่ขาดสาย

เพื่อผลักดันแผนรุกตลาดรถ EV ให้เดินหน้า Foxconn เลือกใช้จุดแข็งเรื่องการผลิตอุปกรณ์ IT และ Smart Device รวมถึงการเป็นยักษ์ฌโรงงาน ไปจับมือกับค่ายรถมากมาย ตั้งแต่เบอร์ใหญ่ๆ อย่าง Fiat Chrysler Automobile (FCA) และ Geely ไปจนถึงแบรนด์เล็กที่มีจุดแข็งเรื่อง Design และชื่อเสียงของผู้ก่อตั้งอย่าง Fisker

ล่าสุดแผน ‘ตัดถนน’ สู่วงการรถ EV ของ Foxconn มาถึงเวียดนาม โดย Reuters รายงานอ้างแหล่งข่าวว่า Foxconn อยู่ระหว่างการเจรจาขั้นต้นกับ Vinfast พัฒนารถ EV

แม้ยังต้องติดตามติดกันต่อไปว่าดีลนี้จะคืบหน้าจนนำสู่การผลิตอย่างจริงจังหรือหยุดลงแค่การคุยกันเบื้องต้น แต่ก็เป็นชี้ว่า Foxconn เล็งเห็นถึงศักยภาพของ Vinfast บริษัทยานยนต์อายุเพียง 4 ปีใต้ชายคา Vingroup ของ Pham Nhat Vuong มหาเศรษฐีอันดับ 1 ของเวียดนาม และย้ำถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนามที่โรงงานอุตสาหกรรมมีส่วนสำคัญ

ที่มา : https://marketeeronline.co/archives/212444