การส่งออกชายแดนและผ่านแดน 4 เดือนแรกปี 2024 หดตัว 1.5%YoY คาดทั้งปียังโตต่ำ 0.6%

โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

การส่งออกชายแดนและผ่านแดน 4 เดือนแรกปี 2024 หดตัว 1.5%YoY คาดทั้งปียังโตต่ำ 0.6%

  • ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ทั้งปี 2024 การส่งออกชายแดนและผ่านแดนของไทยขยายตัวต่ำที่ 6% หรือมีมูลค่าอยู่ที่ 9.86 แสนล้านบาท แม้มีแรงหนุนจากการฟื้นตัวในตลาดหลัก
  • ในช่วงครึ่งหลังของปี คาดว่า การส่งออกชายแดนและผ่านแดนจะปรับตัวดีขึ้นกว่าครึ่งปีแรก 2024 จากผลของฐานสูงที่ทยอยลดลง การส่งออกไปเมียนมากลับมาดีขึ้นจากการเปิดด่าน การส่งออกทุเรียนไปจีน ได้อานิสงส์จากราคาที่ปรับตัวขึ้น รวมถึงการส่งออกสินค้าสำคัญอย่าง HDDs กับยางพารายังดีได้ต่อเนื่อง

ที่มา : https://www.kasikornresearch.com/th/analysis/k-social-media/Pages/BorderTrade-CIS3498-FB-27-05-2024.aspx

เศรษฐกิจ CLMV เร่งตัวปี 2567 แต่ยังโตช้ากว่าช่วงก่อนโควิด-19

โดย ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (SCB EIC)

เศรษฐกิจ CLMV มีแนวโน้มขยายตัวสูงขึ้นในปี 2024

SCB EIC ประเมินเศรษฐกิจ CLMV มีแนวโน้มขยายตัวสูงขึ้นในปี 2024 ตามการฟื้นตัวของการส่งออกสินค้าและการท่องเที่ยว ซึ่งจะสนับสนุนให้อุปสงค์ในประเทศปรับดีขึ้นผ่านการฟื้นตัวของตลาดแรงงาน ในระยะปานกลางเศรษฐกิจ CLMV มีแนวโน้มได้อานิสงส์จากการย้ายฐานการผลิตของธุรกิจข้ามชาติออกไปลงทุนในประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคตามยุทธศาสตร์ “China +1” เพื่อลดความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่สูงขึ้น ซึ่งจะเป็นปัจจัยบวกต่อการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในระยะต่อไป ในปีนี้ SCB EIC ประเมินว่า เศรษฐกิจกัมพูชาจะขยายตัวต่อเนื่อง 6.0% (จาก 5.6% ในปี 2023) สปป.ลาว 4.7% (จาก 4.5%) เมียนมา 3.0% (จาก 2.5%) และเวียดนาม 6.3% (จาก 5.1%)

อัตราการขยายตัวของแต่ละประเทศใน CLMV ยังคงต่ำกว่าค่าเฉลี่ยช่วงก่อน COVID-19 จากปัจจัยกดดันต่าง ๆ  อาทิ การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ซึ่งเศรษฐกิจภูมิภาค CLMV มีความสัมพันธ์สูงทั้งด้านการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ รวมถึงการท่องเที่ยวและภาคอสังหาริมทรัพย์ ขณะเดียวกัน บางประเทศ เช่น กัมพูชาและเวียดนามมีอัตราส่วนหนี้เสีย (Non-performing loans ratio) สูงขึ้นหลังมาตรการช่วยเหลือในช่วง COVID-19 สิ้นสุดลง ประกอบกับภาวะการเงินในประเทศที่ตึงตัวขึ้น อาจกระทบการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินและการเข้าถึงสภาพคล่องของธุรกิจได้ นอกจากนี้ ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์เป็นปัจจัยที่ต้องจับตาต่อเนื่อง ในระยะสั้นการค้าโลกอาจได้รับผลกระทบจากปัญหาการขนส่งบริเวณทะเลแดงและคลองปานามาที่แห้งแล้งและอาจส่งผลกระทบต่อต้นทุนการขนส่งสินค้าส่งออกของภูมิภาค CLMV ได้ ในระยะยาวเศรษฐกิจ CLMV จะต้องเตรียมความพร้อมรับมือกับโลกที่มีแนวโน้มจะกีดกันการค้าและตั้งกำแพงภาษีมากขึ้น

ความเร็วในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ CLMV แตกต่างกัน

ความเร็วในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ CLMV แตกต่างกัน ขึ้นกับปัจจัยเฉพาะประเทศ โดยเฉพาะในสปป.ลาวที่เผชิญความเสี่ยงจากระดับหนี้สาธารณะซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในรูปสกุลเงินต่างประเทศที่อยู่ในระดับสูงเทียบกับเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่อยู่ในระดับต่ำ ท่ามกลางภาวะการเงินโลกตึงตัว ทำให้เงินกีบอ่อนค่ารวดเร็ว ซ้ำเติมภาระการชำระหนี้ต่างประเทศ และทำให้เงินเฟ้อในประเทศพุ่งสูงขึ้นมากและปรับตัวลดลงได้ช้าในปีนี้ ปัจจัยเหล่านี้กดดันศักยภาพการขยายตัวของเศรษฐกิจในระยะปานกลาง โดยสปป.ลาวกำลังดำเนินการรัดเข็มขัดทางการคลัง ควบคู่กับการเจรจาปรับโครงสร้างหนี้และการหาแหล่งระดมทุนใหม่เพื่อรักษาเสถียรภาพการคลังไว้ ขณะที่เมียนมาเป็นอีกประเทศที่กำลังเผชิญปัจจัยกดดันเชิงโครงสร้าง ซึ่งได้รับผลกระทบจากความไม่สงบทางการเมืองตั้งแต่ปี 2021 และทวีความรุนแรงขึ้นในช่วงปลายปี 2023 ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจและอุปสงค์ในประเทศซบเซา ขณะที่มาตรการคว่ำบาตรจากชาติตะวันตกมีส่วนทำให้อุปสงค์ต่างประเทศอ่อนแอลงมาก ประกอบกับปัญหาอื่น ๆ เช่น การขาดแคลนเงินดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้เงินจัตอ่อนค่าและเงินเฟ้อเร่งตัว ตลอดจนปัญหาระบบขนส่งและโครงข่ายไฟฟ้าหยุดชะงัก การแก้ไขปัญหาเหล่านี้ยังดูเป็นไปได้ยากในระยะสั้น เนื่องจากจำเป็นต้องอาศัยปัจจัยทางการเมืองที่มีเสถียรภาพ

ค่าเงินของกลุ่มประเทศ CLMV จะเผชิญแรงกดดันด้านอ่อนค่าลดลง

ธนาคารกลางประเทศเศรษฐกิจหลักมีแนวโน้มเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายตั้งแต่กลางปีนี้ ซึ่งคาดว่าจะช่วยให้เงินทุนเคลื่อนย้ายไหลกลับเข้าประเทศกำลังพัฒนา รวมถึง CLMV มากขึ้น และจะกระตุ้นการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศตามต้นทุนการระดมทุนที่ลดลง อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเฉพาะประเทศยังคงเป็นปัจจัยหลักที่มีผลต่อแนวโน้มค่าเงิน ส่งผลให้ค่าเงินบางประเทศอาจยังอ่อนค่าต่อ

การค้าและการลงทุนระหว่างไทยกับ CLMV

การค้าและการลงทุนระหว่างไทยกับ CLMV มีแนวโน้มดีขึ้นในปีนี้ หลังจากค่อนข้างซบเซาในปี 2023 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการค้าโลกที่ปรับดีขึ้น โดยเฉพาะในภาคการผลิต และเศรษฐกิจประเทศในภูมิภาคที่ฟื้นตัว นอกจากนี้ ภาวะการเงินโลกและไทยที่คาดว่าจะผ่อนคลายลงบ้างในปีนี้จะเป็นปัจจัยช่วยสนับสนุนให้บริษัทไทยลงทุนใน CLMV ได้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวจะเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป ตามเสถียรภาพเศรษฐกิจของ CLMV บางประเทศที่ยังไม่เอื้อต่อการลงทุนมากนัก ทั้งนี้ในระยะยาว SCB EIC ยังมีมุมมองบวกต่อเศรษฐกิจ CLMV และคาดว่าจะเป็นหนึ่งในภูมิภาคของโลกที่เติบโตสูง และยังได้รับความสนใจจากนักลงทุนไทยและต่างชาติ จากปัจจัยประชากรที่มีอายุเฉลี่ยน้อย การมีข้อตกลงสนธิสัญญาการค้าเสรีต่าง ๆ และแหล่งที่ตั้งที่มีความได้เปรียบทางยุทธศาสตร์ ติดตลาดใหญ่ เช่น จีนและอินเดีย

ที่มา : https://www.scbeic.com/th/detail/product/clmv-outlook-mar24?utm_source=Twitter&utm_medium=Link&utm_campaign=CLMV_OUTLOOK_MAR_2024

 

SCB EIC คาดเศรษฐกิจ CLMV ขยายตัวต่อเนื่องจากแรงส่งการบริโภคและภาคการท่องเที่ยว แม้มีปัจจัยกดดันจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว และความเสี่ยงเฉพาะประเทศ

โดย ปัณณ์ พัฒนศิริ และ ดร.ฐิติมา ชูเชิด จากศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC)

SCB EIC คาดเศรษฐกิจ CLMV มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องในปี 2023

โดยประเมินว่า เศรษฐกิจกัมพูชาจะขยายตัว 5.9% สปป.ลาว 4.0% เมียนมา 3.0% และเวียดนาม 5.0% ตามลำดับ จากภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวต่อเนื่องหลังการเปิดประเทศของจีน ทั้งด้านจำนวนนักท่องเที่ยวและค่าใช้จ่ายต่อคน ตลอดจนการบริโภคภายในประเทศที่ปรับดีขึ้นตามตลาดแรงงานและแรงกดดันเงินเฟ้อที่ลดลง ทั้งนี้เศรษฐกิจ CLMV จะขยายตัวค่อยเป็นค่อยไปและยังต่ำกว่าอัตราการเติบโตเฉลี่ยช่วงก่อน COVID-19 ในปีนี้ ส่วนหนึ่งจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ทยอยฟื้นตัวแต่ยังต่ำกว่าระดับก่อน COVID-19 การส่งออกและการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศที่ค่อนข้างซบเซาตามเศรษฐกิจโลกที่ขยายตัวชะลอลง และปัจจัยกดดันเฉพาะประเทศ

.

ปัจจัยกดดันเฉพาะประเทศทำให้ทิศทางการฟื้นตัวรายประเทศไม่เหมือนกัน

ประเทศที่พึ่งพานักท่องเที่ยวต่างชาติสูง เช่น กัมพูชา มีแนวโน้มฟื้นตัวแข็งแกร่งขึ้นในปีนี้ ช่วยลดทอนผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่ขยายตัวชะลอลงต่อการส่งออกได้ ขณะที่สปป.ลาวได้ประโยชน์จากโครงการโลจิสติกส์ต่าง ๆ อาทิ รถไฟความเร็วสูงจีน – สปป.ลาว และจุดเปลี่ยนถ่ายสินค้าท่าแห้งท่านาแล้ง จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการท่องเที่ยวและการขนส่งภายในภูมิภาค แม้อัตราเงินเฟ้อสูงยังเป็นปัจจัยกดดันเศรษฐกิจอยู่ สำหรับเศรษฐกิจเวียดนามมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลงมาก เนื่องจากพึ่งพาการส่งออกและการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศสูง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่มีแนวโน้มซบเซาในปีนี้ อีกทั้ง ยังเผชิญภาวะการเงินในประเทศตึงตัวขึ้นมาก ส่งผลให้ธุรกิจบางกลุ่ม โดยเฉพาะภาคอสังหาฯ ระดมทุนได้ยาก ส่งผลกระทบความเชื่อมั่นและการลงทุนภาคเอกชนไประยะหนึ่ง

.

ความเปราะบางเชิงโครงสร้างกดดันให้เศรษฐกิจ CLMV บางประเทศขยายตัวต่ำกว่าอดีต

ในระยะปานกลาง SCB EIC คาดว่า กัมพูชาและเวียดนามจะสามารถกลับมาขยายตัวใกล้ค่าเฉลี่ยในอดีต เนื่องจากปัจจัยกดดันเศรษฐกิจในปีนี้เป็นปัจจัยชั่วคราวและคาดว่าจะทยอยคลี่คลายได้ แต่สปป.ลาวและเมียนมามีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตไปอีกระยะ ซึ่งเป็นผลจากปัจจัยเชิงโครงสร้าง โดยสปป.ลาวมีความเสี่ยงด้านเสถียรภาพภาคต่างประเทศและภาคการคลัง จากระดับทุนสำรองระหว่างประเทศที่ไม่สูงนักในภาวะเงินกีบอ่อนค่าเร็ว และหนี้สาธารณะสูง ส่งผลให้ภาครัฐต้องใช้นโยบายการเงินและนโยบายการคลังตึงตัวมากขึ้น เพื่อรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินและอาจพิจารณาเจรจาปรับโครงสร้างหนี้สาธารณะ ซึ่งจะกระทบต่อความสามารถในการใช้จ่ายลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของภาครัฐ สำหรับเมียนมาความไม่สงบทางการเมืองที่ยังไม่คลี่คลายยังเป็นปัจจัยกดดันเศรษฐกิจ ส่งผลให้ฟื้นความเชี่อมั่นของนักลงทุนและผู้บริโภคได้ยาก ขณะที่ชาติตะวันตกขยายมาตรการคว่ำบาตรให้ครอบคลุมบุคคลและนิติบุคคลเพิ่มเติม ส่งผลให้สภาพแวดล้อมการทำธุรกิจในเมียนมาไม่เอื้อต่อการลงทุน และกดดันให้เศรษฐกิจเมียนมาขยายตัวต่ำในระยะปานกลาง

.

แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อของ CLMV

แม้อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลงต่อเนื่อง ทิศทางนโยบายการเงินยังขึ้นกับบริบทเศรษฐกิจรายประเทศ อัตราเงินเฟ้อทยอยชะลอตัวในทุกประเทศตามราคาสินค้าโภคภัณฑ์โลกที่ลดลง แต่ทิศทางนโยบายการเงินจะคำนึงถึงบริบทเศรษฐกิจการเงินในประเทศนั้น ๆ เช่น เวียดนามปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและออกมาตรการสนับสนุนสภาพคล่องในตลาดการเงินเพื่อบรรเทาอุปสรรคการระดมทุนของภาคธุรกิจที่ตึงตัวขึ้นมาก โดย SCB EIC คาดว่านโยบายการเงินเวียดนามจะผ่อนคลายต่อไป เนื่องจากเศรษฐกิจมีแนวโน้มซบเซาในปีนี้ และภาคอสังหาฯ ยังคงอ่อนแอคาดว่าต้องใช้เวลาอีกระยะก่อนจะทยอยฟื้นตัวได้ ขณะที่นโยบายการเงินสปป.ลาวมีแนวโน้มตึงตัวต่อไป เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อยังสูงแม้จะเริ่มชะลอลงบ้าง ซึ่งเป็นผลจากเงินกีบอ่อนค่า ทำให้ราคาสินค้านำเข้าสูงขึ้นมาก ธนาคารกลางสปป.ลาวจึงต้องเน้นดูแลเสถียรภาพด้านราคาในปีนี้

.

แนวโน้มการค้าและการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศระหว่างไทยกับ CLMV

แนวโน้มการค้าและการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศระหว่างไทยกับ CLMV ยังคงซบเซาในปีนี้ สอดคล้องกับการชะลอตัวของการค้าภายในภูมิภาคและความต้องการสินค้าอุตสาหกรรมที่ลดลง อย่างไรก็ดี คาดว่าการส่งออกไทยไป CLMV จะฟื้นตัวได้ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ เนื่องจากเศรษฐกิจ CLMV จะทยอยฟื้นตัวดีขึ้นและฐานส่งออกปีก่อนต่ำกว่าช่วงครึ่งแรกของปี สำหรับการลงทุนโดยตรงจากไทยไป CLMV ยังคงมีแนวโน้มซบเซาจากหลายปัจจัย อาทิ ต้นทุนการระดมทุนในประเทศสูงขึ้น เศรษฐกิจ CLMV ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ และสภาพแวดล้อมการทำธุรกิจในบางประเทศไม่เอื้อต่อการลงทุนและขยายกิจการ ในระยะต่อไป SCB EIC ยังมีมุมมองเชิงบวกต่อเศรษฐกิจ CLMV โดยมองว่า ยังเป็นตลาดสำคัญของธุรกิจไทย เนื่องจากมีความได้เปรียบด้านจำนวนแรงงานและค่าแรง ตลาดในประเทศเติบโตต่อเนื่อง การเข้าร่วมสนธิสัญญาการค้าเสรีต่าง ๆ และทำเลที่ตั้งซึ่งสามารถเชื่อมไทยไปยังตลาดสำคัญในภูมิภาคได้

ที่มา : https://www.scbeic.com/th/detail/product/clmv-190723

วิเคราะห์ก้าวแรกของการพัฒนา CBDC ในภูมิภาค CLMVT

โดย ดร.ปพน เกียรติสกุลเดชา ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์

ในปัจจุบัน การคิดค้นเทคโนโลยีกระจายศูนย์ข้อมูล (Distributed Ledger Technology: DLT) ที่มีความรวดเร็ว ปลอดภัย และสามารถสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้ใช้งานในด้านการชำระเงิน ได้นำไปสู่การพัฒนาสกุลเงินคริปโตเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) อย่างแพร่หลายในภาคเอกชนทั่วโลก เช่นเดียวกับภาคเอกชน ธนาคารกลางต่าง ๆ ทั่วโลกก็ได้เร่งริเริ่มที่จะนำนวัตกรรมเหล่านี้มาใช้ในระบบสถาบันการเงินในประเทศจนเกิดการพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลของธนาคารกลาง (Central Bank Digital Currency: CBDC)

จุดมุ่งหมายของการพัฒนา CBDC โลกที่ผ่านมาเป็นอย่างไร และคาดว่าจะส่งกระทบอย่างไรต่อระบบเศรษฐกิจ?

การพัฒนา CBDC โดยธนาคารกลางต่าง ๆ ปัจจุบันนั้น สามารถแบ่งตามการใช้งานได้เป็น 2 ระดับ ได้แก่

1.ระดับธุรกรรมระหว่างสถาบันการเงิน (Wholesale CBDC) : การสร้างเครือข่ายการโอนทรัพย์สินระหว่างสถาบันการเงินทั้งในและระหว่างประเทศ

2.ระดับธุรกรรมรายย่อย (Retail CBDC) : การใช้สกุลเงินดิจิทัลแทนเงินสดในการทำธุรกรรมระหว่างประชาชนและธุรกิจรายย่อย

ในภาพรวม ทั้ง Wholesale CBDC และ Retail CBDC ได้ถูกพัฒนาขึ้นมา โดยมีเป้าหมายส่งเสริมการทำธุรกรรมทางการเงินให้รวดเร็วและปลอดภัยมากขึ้น ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นประโยชน์หลักที่ได้จากการนำ DLT (โดยเฉพาะในรูปแบบบล็อกเชน) มาใช้โดยธนาคารกลาง ที่จะทำให้สามารถลดต้นทุนในการประมวลผลธุรกรรมทางการเงินลงได้อย่างมีนัย รวมทั้งยังสามารถตรวจสอบตัวตนของคู่สัญญาธุรกรรมต่าง ๆ ได้อย่างรัดกุมมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ CBDC ทั้งสองประเภท หากถูกพัฒนาร่วมกันโดยกลุ่มประเทศในภูมิภาค ยังจะมีแนวโน้มนำไปสู่การเชื่อมโยงแพลตฟอร์ม และสนับสนุนให้ธุรกรรมระหว่างประเทศ (Cross-border Transactions) เป็นไปได้อย่างรวดเร็วมากยิ่งขึ้นและด้วยต้นทุนที่ต่ำลงอีกด้วยเช่นกัน

แต่ทว่าหากมองลึกลงไปกว่าประสิทธิภาพของระบบสถาบันการเงินที่เพิ่มขึ้นนั้น การพัฒนาในระดับ Retail CBDC จะสามารถสร้างประโยชน์เพิ่มเติมได้ในอีกหลายด้าน โดยจะเป็นก้าวสำคัญต่อการสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ ได้แก่

1. การเข้าถึงสถาบันการเงิน (Financial Inclusion) จะเพิ่มมากขึ้น ตามระบบ Retail CBDC ที่จะสามารถเข้าใช้งานได้ง่ายและรวดเร็วเพียงผ่านโทรศัพท์มือถือโดยไม่จำเป็นต้องผูกติดกับบัญชีธนาคาร ซึ่งข้อดีในจุดนี้ โดยเฉพาะสำหรับในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา จะช่วยให้กลุ่มประชาชนที่ไม่สามารถเข้าถึงสถาบันการเงินได้มาก่อนนั้น มีโอกาสหันมาเลือกใช้ Retail CBDC ที่สะดวกกว่าการถือเงินสดเพิ่มมากขึ้น

2. ช่องทางการดำเนินนโยบายทางการคลัง (Fiscal Policy) ของภาครัฐที่จะมีประสิทธิภาพมากขึ้นหลังมีการใช้ CBDC แทนเงินสดอย่างแพร่หลาย ตัวอย่างเช่น ภาครัฐสามารถออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่าน CBDC โดยประชากรสามารถนำเงินช่วยเหลือในรูปแบบดิจิทัลออกมาจับจ่ายใช้สอยได้ทันทีโดยไม่จำเป็นต้องผ่านขั้นตอนการเปิดบัญชีธนาคารหรือเบิกจ่ายกับหน่วยงานของรัฐ นอกจากนี้ ภาครัฐยังสามารถเข้าถึงข้อมูลการจับจ่ายใช้สอยของประชากรในแต่ละกลุ่มสังคมเศรษฐกิจ (socioeconomic group) ซึ่งอาจต้องการความช่วยเหลือที่แตกต่างกัน การมี Retail CBDC platform จะช่วยให้ภาครัฐสามารถเลือกกลุ่มเป้าหมายและตั้งเงื่อนไขของมาตรการช่วยเหลือได้อย่างตรงจุดมากยิ่งขึ้น

3. การเพิ่มประสิทธิภาพของธนาคารกลางในการดำเนินนโยบายทางการเงิน (Monetary Policy) โดยการใช้ Retail CBDC แทนเงินสดนั้น จะช่วยให้ธนาคารกลางสามารถเก็บรวบรวมข้อมูลปริมาณและการไหลเวียนของเงินในระบบได้อย่างแม่นยำมากขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการวางแผนนโยบายการเงินที่เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจ นอกจากนี้ ยังมี CBDC อีกประเภทที่มีการจ่ายอัตราดอกเบี้ยในการถือครอง ซึ่งอาจเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่ธนาคารกลางใช้ส่งผ่านผลของอัตราดอกเบี้ยนโยบายได้โดยตรง

สถานะการพัฒนา CBDC โลกเป็นอย่างไรและภูมิภาค CLMVT อยู่ตรงจุดไหน?

ผลสำรวจล่าสุดโดย Bank of International Settlement พบว่า 86% ของธนาคารทั่วโลกกำลังดำเนินงานวิจัยเทคโนโลยี CBDC โดย 60% อยู่ในขั้นทดสอบระบบ ขณะที่เพียง 14% ได้เริ่มมีการทดลองใช้จริงในกลุ่มประชากรตัวอย่าง แม้ว่ากลุ่มประเทศที่มีการทดลองใช้ CBDC จริงแล้วประกอบด้วยกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลักในโลก เช่น จีน ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร และ สหภาพยุโรป แต่เป็นที่น่าจับตามองอย่างยิ่งว่าภูมิภาค CLMVT อยู่ในจุดที่ล้ำหน้ากว่าหลายชาติอื่นในโลกด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะไทยและกัมพูชา ซึ่งถูกจัดอันดับโดย PwC ว่าอยู่ในอันดับต้น ๆ ของโลกในด้านการพัฒนา Wholesale CBDC และ Retail CBDC ตามลำดับ

สำหรับไทยนั้น โครงการอินทนนท์ซึ่งเป็น Wholesale CBDC ได้ถูกพัฒนาโดยธนาคารแห่งประเทศไทยตั้งแต่ปี 2561 จนถึงในปี 2563 ได้พัฒนาไปถึงจุดที่มีการทดสอบการทำธุรกรรมข้ามพรมแดนโดยเชื่อมต่อกับ Project LionRock ของฮ่องกงได้สำเร็จ นอกจากนี้ ล่าสุดในปีนี้ ทาง ธปท. ยังได้เริ่มทำการศึกษาวิจัยต่อยอดไปสู่การทำ Retail CBDC แล้วเช่นกัน โดยมีเป้าหมายเบื้องต้นว่าจะมีการทดสอบใช้จริงในช่วงไตรมาสที่ 2 ปี 2565

แนวโน้มการพัฒนา Retail CBDC สำหรับประเทศ LMVT (สปป.ลาว, เมียนมา, เวียดนาม และไทย) จะเป็นอย่างไร? บทเรียนล่าสุดที่ได้จากกัมพูชาคือ ประเทศกำลังพัฒนาที่มีการเข้าถึงสถาบันการเงินในระดับต่ำ แต่มีโครงสร้างประชากรที่พร้อมตอบรับเทคโนโลยีใหม่ นับได้ว่าเป็นจุดตั้งต้นที่สำคัญต่อการพัฒนาเงินดิจิทัลให้เข้ามาทดแทนเงินสดและดึงประชากรส่วนมากเข้าสู่ระบบสถาบันการเงินมากขึ้น สำหรับปัจจัยเหล่านี้ทั้ง สปป.ลาว เมียนมา และ เวียดนาม ล้วนมีประชากรน้อยกว่า 30% ที่เข้าถึงบัญชีธนาคาร ในขณะที่ประชากรส่วนใหญ่ยังมีอายุน้อย (ค่ามัธยฐานต่ำกว่า 30 ปี) แต่มีการเข้าถึงบริการโทรศัพท์มือถือในระดับที่สูง (เฉลี่ยมากกว่า 1 เบอร์โทรศัพท์ต่อคน) ด้วยปัจจัยแวดล้อมด้านประชากรที่คล้ายคลึงกับกัมพูชา ทำให้คาดได้ว่าการพัฒนา  Retail CBDC จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับประเทศเหล่านี้เช่นกัน และมีศักยภาพที่จะตามทันกัมพูชามาได้ในเวลาไม่ช้า

ที่มา : https://www.scbeic.com/th/detail/product/7775

EIC CLMV Outlook Q3/2021

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC)

การระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่ในภูมิภาคตั้งแต่ไตรมาส 2 ของปี 2021 สร้างแรงกดดันต่อแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจ CLMV แม้ว่าการส่งออกที่ยังขยายตัวได้สูงอาจจะช่วยลดความรุนแรงของผลกระทบได้บางส่วน

ด้านอุปสงค์ภายในประเทศ การระบาดของ COVID-19 ใน CLMV ตั้งแต่เดือนเมษายน ส่งผลให้ภาครัฐต้องยกระดับความเข้มงวดของมาตรการควบคุมโรค ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจปรับลดลงและสร้างแรงกดดันเพิ่มเติมต่ออุปสงค์ในประเทศที่เปราะบางอยู่เดิมก่อนแล้ว โดยการควบคุมการระบาดระลอกปัจจุบัน นับเป็นความท้าทายครั้งใหญ่ของภูมิภาค โดยเฉพาะเวียดนามที่สามารถควบคุมการระบาดในรอบก่อนหน้าได้ดี แต่ในครั้งนี้ การระบาดของเวียดนามกลับอยู่ในระดับสูง ทำให้รัฐบาลเวียดนามต้องประกาศมาตรการ lockdown เข้มงวด เช่นเดียวกับเมียนมาที่มียอดผู้ติดเชื้อสูง แต่บุคลากรทางการแพทย์กลับไม่เพียงพอจากความไม่สงบทางการเมือง ส่วนจำนวนผู้ติดเชื้อในกัมพูชาและสปป.ลาว ก็มีสูงกว่ารอบก่อนหน้า แต่ยังมีจำนวนต่ำกว่าอีกสองประเทศข้างต้น

สำหรับอุปสงค์ภายนอก ภาคการส่งออกของเศรษฐกิจ CLMV ยังคงส่งสัญญาณการฟื้นตัวแข็งแกร่งท่ามกลางการระบาดของ COVID-19 โดยได้อานิสงส์จากการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจประเทศพัฒนาแล้ว การส่งออกจึงเป็นปัจจัยสนับสนุนการเติบโตของภูมิภาค โดยการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ของเวียดนามขยายตัวได้สูงอย่างต่อเนื่องและเป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลักของภูมิภาค อย่างไรก็ตาม การหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานจากการระบาดของ COVID-19 ในวงกว้างที่อาจทำให้มีการปิดโรงงานเพิ่มขึ้น ยังคงเป็นความเสี่ยงสำคัญ และอาจกลายเป็นปัจจัยฉุดภาคการส่งออกได้ตั้งแต่ไตรมาส 3 ของปี 2021 เป็นต้นไป

ทั้งนี้ปัจจัยหลักที่มีผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ CLMV ในระยะต่อไป ได้แก่

1) มาตรการควบคุมการระบาดที่มีประสิทธิภาพและทันท่วงที รวมถึงความคืบหน้าในการฉีดวัคซีน ซึ่งจะทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจพลิกฟื้นกลับมาได้

2) ขนาดและประสิทธิภาพของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งภาคการคลังและการเงินที่จะช่วยลดผลกระทบต่อการครัวเรือนและภาคธุรกิจ

3) ปัจจัยความเสี่ยงรายประเทศ ได้แก่ ความไม่สงบทางการเมืองของเมียนมา และความสามารถในการชำระหนี้สาธารณะของสปป. ลาว

กัมพูชา

+ภาคการส่งออกฟื้นตัวจากเศรษฐกิจโลกที่ขยายตัวได้แข็งแกร่งและความสำเร็จในการกระจายการส่งออกไปยังหลายสินค้ามากขึ้น (export diversification)

+มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทางการคลังและการฉีดวัคซีนที่ดำเนินการได้ย่างรวดเร็วและสนับสนุนการฟื้นตัวของอุปสงค์ภายในประเทศ

มาตรการ lockdown ที่เพิ่มความเข็มงวดขึ้นเพื่อรับมือกับการระบาดของ COVID-19 สายพันธุ์เดลต้าจะสร้างแรงกดดันต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ

การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวที่ยังซบเซาจะเป็นปัจจัยฉุดการเติบโตของเศรษฐกิจ

สปป.ลาว

+การก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานโครงการขนาดใหญ่และการเปิดตัวใช้รถไฟจีน-สปป.ลาว ในเดือนธันวาคม

+การส่งออกที่ขยายตัวสูงจากการฟื้นตัวของอุปสงค์ภายนอกและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับเพิ่มสูงขึ้น

การยกระดับมาตรการ lockdown และการปิดพรมแดนอย่างเข็มงวดจะกระทบต่อกิจกรรมเศรษฐกิจ

เสถียรภาพการคลังที่น่ากังวล จากภาระหนี้สาธารณะในรูปเงินตราต่างประเทศที่อยู่ในระดับสูง ประกอบกับภาวะเงินกีบอ่อนค่า และทุนสำรองระหว่างประเทศที่อยู่ในระดับต่ำ

เมียนมา

การระบาดระลอกใหม่ของ COVID-19 ทำให้เมียนมาประกาศใช้มาตรการ lockdown ทั่วประเทศ ขณะที่ขีดความสามารถ lockdown ทั่วประเทศ ขณะที่ขีดความสามารถของระบบสาธารณสุขมีจำกัด

การปราบปรามของรัฐบาลทหารและขบวนการอารยะขัดขืน โดยมวลชนจะส่งผลลบต่ออุปสงค์ภายในประเทศ

การหยุดชะงักของระบบโครงสร้างพื้นฐานสาธารณะพื้นฐาน ได้แก่ การขนส่ง ระบบอินเทอร์เน็ต และการให้บริการของธนาคาร

ประชาชนขาดความเชื่อมั่นในรัฐบาล ซึ่งอาจลดประสิทธิภาพของมาตรการต่างๆ รวมถึงแผนการฉีดวัคซีนและความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติที่ลดลง

เวียดนาม

+ การส่งออกสินค้าเทคโนโลยีขั้นสูงที่ขยายตัวได้ดีตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกจะเป็นปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจต่อเนื่อง

+ FDI ที่ลงทุนในเวียดนามยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นตามแนวโน้มศักยภาพเศรษฐกิจในระยะยาว ได้แก่ ความสามารถในการเข้าถึงตลาดใหม่ๆ ผ่านข้อตกลงการค้า และจำนวนแรงงานที่มีมาก รวมถึงฐานผู้บริโภคขนาดใหญ่ในประเทศ

เวียดนามเผชิญความยากลำบากในการควบคุมการระบาดของ COVID-19 รอบที่ 4 ตั้งแต่เดือนเมษายน และส่งผลรุนแรงต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในประเทศ

ความเสี่ยงการหยุดชะงักของอุปทานเนื่องจากปิดโรงงานที่ขยายระยะเวลาออกไปยังประเด็นที่ต้องจับตามอง

ที่มา : https://www.scbeic.com/th/detail/product/7761

บทบาท จีน ใน CLMV หลังโควิด…อิทธิพลทางเศรษฐกิจยังคงเข้มข้น

โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย

บทบาททางเศรษฐกิจของจีนในกลุ่มประเทศ CLMV ในช่วงที่ผ่านมา นับว่าโดดเด่นมาก โดยเฉพาะด้านการค้า   ซึ่งเป็นผลจากยุทธศาสตร์ต่างๆ ที่จีนพยายามเข้ามาสร้างอิทธิพลทางเศรษฐกิจ ทั้งในด้านความเชื่อมโยงทางกายภาพ (Physical connectivity) และความเชื่อมโยงทางสถาบัน (Institutional connectivity) ซึ่งมีส่วนในการกระตุ้นมูลค่าการค้าระหว่างกลุ่มประเทศ CLMV กับจีนให้เร่งตัวขึ้น อิทธิพลของความเชื่อมโยงทางกายภาพ ที่แน่นแฟ้นมากขึ้นระหว่างจีนกับ CLMV เ​กิดจากยุทธศาสตร์ “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” (BRI)   อาทิ โครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม รวมถึงการลงทุนก่อสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษแห่งใหม่  ซึ่งมีส่วนดึงดูด FDI จีนให้มาตั้งคลัสเตอร์อุตสาหกรรมในพื้นที่ รวมถึงอุตสาหกรรมบริการที่ตอบสนองความเป็นเมือง  ในขณะที่อิทธิพลของความเชื่อมโยงทางสถาบัน อาทิ การผ่อนคลายกฎระเบียบที่เอื้อประโยชน์ต่อการค้าระหว่างประเทศ ก็มีส่วนช่วยให้กิจกรรมการค้าระหว่างกลุ่มประเทศ CLMV กับจีนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

นอกจากนี้ การทวนกระแสโลกาภิวัตน์ อันมีจุดเริ่มต้นจากสงครามการค้าและสงครามเทคโนโลยีระหว่างจีนกับสหรัฐฯ  ยังถูกท้าทายด้วยความเปราะบางของห่วงโซ่อุปทานโลกซึ่งเกิดจากปัจจัยที่ไม่อาจคาดเดา  อาทิ การแพร่ระบาดของโควิด19 ซึ่งอาจส่งผลให้จีนรวมถึงบริษัทต่างชาติในจีนหันมาให้ความสำคัญกับประเทศเพื่อนบ้านในฐานะห่วงโซ่อุปทานแห่งใหม่ เพื่อลดและกระจายความเสี่ยงด้านปฏิบัติการจากการที่ฐานการผลิตกระจุกตัวอยู่ในจีน อีกทั้งยังมีส่วนช่วยคานอิทธิพลทางอ้อมในด้านเศรษฐกิจของสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม อิทธิพลของจีนจะมากขึ้นหรือน้อยลงหลังโควิด ยังคงขึ้นอยู่กับยุทธศาสตร์ของจีนและท่าทีของกลุ่มประเทศ CLMV ที่มีต่อจีนภายใต้ความขัดแย้งของสองมหาอำนาจทางเศรษฐกิจโลกอย่างสหรัฐฯ และจีน  โดยคาดว่ากลุ่ม CLMV น่าจะอยู่ในฐานะแหล่งการผลิตสินค้าทางการเกษตร รวมถึงอาหาร ซึ่งตอบโจทย์ความมั่นคงทางด้านอาหารของจีน 

นอกจากนี้ CLMV ยังมีแนวโน้มได้รับการกระจายการลงทุนในอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นในทิศทางที่เร่งตัวขึ้น โดยเวียดนามยังคงมีศักยภาพในการก้าวขึ้นมาเป็นหนึ่งในห่วงโซ่อุปทานใหม่สำหรับอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีเข้มข้นอย่างอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ แต่อาจพยายามปรับสมดุล FDI ให้รองรับนักลงทุนสัญชาติอื่นที่มีศักยภาพสูงมากกว่าดึงดูด FDI จากจีนเป็นหลัก

ที่มา : https://www.kasikornresearch.com/th/analysis/k-social-media/Pages/China-CLMV-01-07-21.aspx

CLMV รับแรงหนุนที่แตกต่าง หลังเศรษฐกิจโลกฟื้น

โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ปรับเพิ่มตัวเลขคาดการณ์เศรษฐกิจโลกปี 2564 เป็น 6.0% จากเดิมที่ 5.5% สะท้อนมุมมองเชิงบวกต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกอย่างแข็งแกร่งหลังวิกฤตโควิด นำโดยเศรษฐกิจขนาดใหญ่อย่างสหรัฐฯ และจีน ซึ่งคาดว่าจะส่งผลบวกต่อกลุ่มประเทศ CLMV ในระดับที่แตกต่างกันตามความเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจโลกในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น การส่งออก รายได้ส่งกลับของแรงงานในต่างประเทศ การลงทุนโดยตรง (FDI) และการท่องเที่ยว

เวียดนามเป็นประเทศที่ได้รับประโยชน์สูงสุดจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก  จากสัดส่วนการส่งออกที่สูงถึง 104% ของ GDP   โดยมีการผลิตและส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ในสัดส่วนสูง นอกเหนือจากอานิสงส์จากรายได้นำส่งกลับของแรงงาน ซึ่งมีสัดส่วนถึง 5.8% ของ GDP

ขณะที่กัมพูชาอาจเป็นอีกประเทศที่ได้รับแรงหนุนจากการฟื้นตัวของตลาดส่งออกหลักอย่างสหรัฐฯ จีน และยุโรป โดยเฉพาะอย่างยิ่งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน เนื่องจากสัดส่วนของการลงทุนโดยตรงสูงถึง 60%​ โดยส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและอสังหาริมทรัพย์ที่เกี่ยวข้องกับโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง

ในส่วนของประเทศสปป.ลาว อาจเป็นประเทศใน CLMV ที่โครงสร้างการส่งออกได้รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกน้อยที่สุด เนื่องจากการส่งออกมีสัดส่วนไม่มากเมื่อเทียบกับขนาดของเศรษฐกิจ    โดยในด้านการลงทุนตรงจากต่างประเทศ น่าจะได้รับอานิสงส์น้อยกว่ากัมพูชา เนื่องจากสัดส่วนการลงทุนตรงมีเพียง 22% 

ขณะที่เมียนมา ปัจจัยการเมืองภายในประเทศน่าจะลดทอนผลบวกจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก   ในขณะที่สัดส่วนการลงทุนตรงโดยรวมอยู่ที่ 13% ต่ำสุดในกลุ่ม CLMV

ในส่วนของภาคการท่องเที่ยว  เนื่องจากประเทศใน CLMV ส่วนใหญ่พึ่งพานักท่องเที่ยวจากจีนและนักท่องเที่ยวในภูมิภาค ซึ่งมีการฉีดวัคซีนล่าช้ากว่าประเทศในตะวันตก ทำให้โอกาสที่จะบรรลุการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ในปี 2564 มีไม่มาก ส่งผลให้การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวน่าจะจำกัดเฉพาะนักท่องเที่ยวจากตะวันตก ซึ่งมีสัดส่วนประมาณ 10% ของจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งหมดใน CLMV

ที่มา : https://www.kasikornresearch.com/th/analysis/k-social-media/Pages/CLMV-FB-28-06-21.aspx

การฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศ CLMVIP : ความเหมือนที่แตกต่าง

โดย ศูนย์วิจัยกรุงศรี

การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 (COVID-19) ทำให้เศรษฐกิจของประเทศกัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา เวียดนาม อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ (ในที่นี้จะเรียกโดยย่อว่า “CLMVIP”) ได้รับผลกระทบอย่างหนักในปี 2020 อย่างไรก็ดี ในปี 2021 หลายประเทศในกลุ่มนี้ มีแนวโน้มเติบโตในอัตราสูงราวร้อยละ 4-7 ปัจจัยสนับสนุนการฟื้นตัวของประเทศ CLMVIP ที่สำคัญ 3 ประการ คือ (i) ผลของมาตรการสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจากทั้งนโยบายการเงินและการคลัง โดยเฉพาะการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน (ii) การส่งออกที่ได้อานิสงส์จากวัฏจักรการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และ (iii) กระแสการรวมตัวกันภายในภูมิภาค (Regionalization) ที่เข้มแข็งขึ้น แม้ว่าประเทศในกลุ่ม CLMVIP จะมีปัจจัยสนับสนุนการเติบโตที่คล้ายคลึงกัน ในรายประเทศอาจมีลำดับการฟื้นตัวที่แตกต่าง เวียดนาม มีโอกาสฟื้นตัวโดดเด่นด้วยพื้นฐานเศรษฐกิจในประเทศที่แข็งแกร่ง และรายรับจากภาคต่างประเทศที่ขยายตัวดี ผนวกกับข้อได้เปรียบจากความตกลงการค้าเสรีสำคัญ อาทิ ความตกลงการค้าเสรีสหภาพยุโรป-เวียดนาม (EVFTA) ความตกลงการค้าเสรีสหราชอาณาจักร-เวียดนาม (UKVFTA) รวมทั้งยังมีการควบคุมการระบาดของโควิด-19 ได้ดี

ขณะที่ประเทศอื่น ๆ ใน CLMVIP มีระดับการฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปกว่าด้วยข้อจำกัดที่แตกต่างกัน โดยอินโดนีเซียและกัมพูชา อาจฟื้นตัวเป็นลำดับถัดจากเวียดนาม แม้อินโดนีเซียมีจำนวนผู้ติดเชื้อสูง แต่คาดว่าภาคส่งออกจะมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ อีกทั้งยังได้ผลบวกจากแผนการขยายมาตรการกระตุ้นของภาครัฐ รวมถึงแผนการฉีดวัคซีนและแผนการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ กัมพูชาอาจได้แรงสนับสนุนจากการส่งออก นำโดยตลาดจีนและสหรัฐฯ ซึ่งอาจช่วยลดผลกระทบจากการถูกระงับสิทธิพิเศษทางภาษีบางส่วนจากสหภาพยุโรป ฟิลิปปินส์ แม้มีปัจจัยหนุนจากขนาดวงเงินกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐมากถึงร้อยละ 4 ของ GDP   แต่การเบิกจ่ายยังเป็นไปอย่างล่าช้า และสถานการณ์การระบาดในประเทศค่อนข้างรุนแรง ส่งผลให้ตลาดแรงงานยังอ่อนแอ และกระทบต่อการฟื้นตัวของการใช้จ่ายเพื่อบริโภคในประเทศ สปป.ลาว มีโครงสร้างเศรษฐกิจที่ค่อนข้างอ่อนแอ อีกทั้งขนาดการกระตุ้นเศรษฐกิจค่อนข้างจำกัด ผลกระทบจากโควิด-19 จึงทำให้ฟื้นตัวล่าช้า ขณะที่เมียนมา เผชิญประเด็นด้านเสถียรภาพทางการเมืองหลังจากผู้นำทางทหารของเมียนมาเข้ายึดอำนาจและประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นเวลาอย่างน้อย 2 ปี ซึ่งส่งผลฉุดรั้งความเชื่อมั่นของนักลงทุนและคู่ค้าในระยะนับจากนี้ และอาจมีผลให้พัฒนาการทางเศรษฐกิจของเมียนมาในระยะยาวหยุดชะงักลงไปได้

อ่านต่อ : https://www.krungsri.com/th/research/research-intelligence/regional-recovery-2021

วิกฤติทางการเมืองในเมียนมาทำให้ประชากรอีก 3.4 ล้านคนต้องเผชิญกับ ‘ความหิวโหย’

โดยโครงการอาหารโลก (World Food Programme, WFP)

ตั้งแต่รัฐประหารในเมียนมาเมื่อกุมภาพันธ์ 2564 ยิ่งทำให้ประเด็น ‘ความไม่มั่นคงทางอาหาร’ ของประเทศที่มีแต่เดิมรุนแรงขึ้น ประมาณว่าอีก 1.5 – 3.4 ล้านคนในเมียนมาจะประสบกับความหิวโหย และ 3 ใน 4 ของประชาชนจะเปราะบางต่อ ‘ความยากจน’ โดยเฉพาะผู้คนในพื้นที่เขตเมืองซึ่งได้รับผลกระทบจากสภาพเศรษฐกิจที่ตกต่ำ และผลกระทบระยะยาวที่มีต่อระบบอาหารในพื้นที่ชนบท

เพราะวิกฤติทางการเมืองทำให้เศรษฐกิจชะลอตัว การค้าขายติดขัด การลงทะเบียนเปิดธุรกิจน้อยลงกว่าปีก่อนหน้า ซึ่งทางธนาคารโลกคาดการณ์ว่า GDP ของเมียนมาร์อาจหดตัวถึง 10% ในปี 2564

นอกจากนี้ วิกฤติทางการเมืองทำให้การดำเนินการภาครัฐ 90% ต้องพักลงชั่วคราว การให้บริการสาธารณสุข สถาบันการศึกษา และโรงงานในย่างกุ้งกว่า 13 แห่ง (มีนาคม 2564) ต้องปิดตัวลง ผู้คนสูญเสียงานและรายได้ขณะที่ราคาข้าวและน้ำมันทำอาหารสูงขึ้น 5% และ 18% ตามลำดับ และสูงมากในบริเวณชายแดนในรัฐยะไข่ คะฉิ่น และฉิ่น ทั้งค่าใช้จ่ายในภาคขนส่งที่แพงขึ้น และธนาคารพาณิชย์ประมาณ 2,000 แห่งทำงานไม่ได้ตามปกติ การชำระเงินระหว่างประเทศ การถอนเงิน การโอนเงินระหว่างธนาคาร รวมถึงการส่งเงินกลับบ้านของชาวเมียนมามากกว่า 4 ล้านคนจากต่างประเทศซึ่งเป็นรายได้หนึ่งแหล่งที่สำคัญ ต้องประสบปัญหา – เหล่านี้เป็นสัญญาณสำคัญต่อประเด็นความยากจน และความหิวโหยในเมียนมา

เมียนมาเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลางค่อนข้างต่ำที่เศรษฐกิจพึ่งพิงอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ อัญมณี เป็นต้น โดยที่ภาคบริการคิดเป็น 42% ของ GDP ภาคอุตสาหกรรมคิดเป็น 36% และภาคเกษตรกรรมคิดเป็น 22% ขณะที่ด้านการค้าขายส่วนมากค้าขายภายในภูมิภาคโดยมีจีนเป็นหุ้นส่วนหลักที่ส่งออก 31% และนำเข้า 34% ตามมาด้วยประเทศไทยและสิงคโปร์ ส่วนในด้านการลงทุนมีสิงคโปร์ลงทุน 34% และฮ่องกง 26%

อย่างไรก็ดี ในภาวะปกติจนถึงมกราคม 2564 ปัจจัยที่ทำให้เกิดปัญหาความไม่มั่นคงทางอาหารในเมียนมามาจาก – ความเปราะบางต่อภัยพิบัติทางธรรมชาติ ความขัดแย้งและความตึงเครียดระหว่างชุมชน และผลกระทบของโควิด-19 ที่มีต่อเศรษฐกิจ

เช่นการศึกษาของ Fill the Nutrient Gap ในปี 2562 ระบุว่าอาหารที่มีโภชนาการและดีต่อสุขภาพยังคงมีราคาสูงจนคนเมียนมาไม่สามารถเข้าถึงได้ 9 ใน 10 ของครัวเรือนสามารถเข้าถึงอาหารที่ให้พลังงาน 4 ใน 10 สามารถเข้าถึงอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ

ขณะที่หลังจากวิกฤติทางการเมือง WFP ประเมินว่าปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อความไม่มั่นคงทางอาหารมาจาก ‘การสูญเสียรายได้และสูญเสียงานของครัวเรือน จากเหตุการณ์ดังที่กล่าวไว้ข้างต้น โดยตั้งฉากทัศน์ไว้ที่ 3 เดือนและ 6 เดือนหลังจากเดือนมีนาคม 2564 โดยเฉพาะว่าในกลางเดือนมีนาคมจะเป็นช่วงเก็บเกี่ยวข้าวบริเวณปากน้ำอิรวดี และเตรียมดินเพื่อทำนาในช่วงพฤษภาคม – มิถุนายน

ทว่าด้วยสถานการณ์ของเมียนมาในตอนนี้ซึ่งกระทบกับภาคการเกษตร แรงงาน และการคมนาคมขนส่ง ย่อมส่งผลทำให้อาจไม่สามารถปลูก-เก็บเกี่ยวพืชผลได้ ทั้งที่จะเป็นอาหารเลี้ยงปากท้องของคนเมียนมาเอง

ที่มา :

/1 https://www.sdgmove.com/2021/06/04/myanmar-after-takeover-face-food-insecurity/

/2 https://www.wfp.org/publications/myanmar-analysis-economic-fallout-and-food-insecurity-wake-takeover-2021

EIC CLMV Outlook Q2/2021

โดย ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC)

แม้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในปี 2021 จะเป็นแรงสนับสนุนสำคัญต่อการฟื้นตัวของภาคส่งออกในกลุ่ม CLMV แต่การระบาดระลอกใหม่ของ COVID-19 ในภูมิภาค ประกอบกับสถานการณ์ความไม่สงบทางการเมืองในเมียนมาจะเป็นแรงกดดันสำคัญต่อเศรษฐกิจ CLMV ในปี 2021 โดยในส่วนของภาคส่งออกของ CLMV คาดว่าจะฟื้นตัวได้ดีตามทิศทางเศรษฐกิจและการค้าโลก โดยเฉพาะจากประเทศพัฒนาแล้ว ซึ่งเวียดนามมีแนวโน้มได้รับประโยชน์จากการส่งออกที่ปรับตัวดีขึ้นมากสุดในภูมิภาค จากความแข็งแกร่งด้านการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ขณะที่ภาคเศรษฐกิจในประเทศ การระบาดระลอกใหม่ของ COVID-19 ในภูมิภาค CLMV ช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2021 จะเป็นแรงกดดันต่อกิจกรรมเศรษฐกิจในประเทศให้ปรับลดลง โดยในส่วนของเวียดนาม ภาครัฐสามารถควบคุมการระบาดในระลอกก่อนได้เป็นอย่างดี ทำให้เศรษฐกิจในประเทศไม่ได้รับผลกระทบมากนัก แต่ยังต้องจับตาการระบาดระลอกล่าสุดช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคมซึ่งเป็นความท้าทายสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเวียดนามในระยะต่อไป ขณะที่ในกรณีของประเทศอื่น พบว่าเมียนมายังต้องเผชิญการระบาดที่ยืดเยื้อมาตั้งแต่เดือนกันยายนปี 2020 ส่วนกัมพูชาและ สปป.ลาวกำลังเผชิญการระบาดระลอกใหม่อย่างรุนแรงเป็นครั้งแรกในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2021 ทำให้รัฐบาลต้องใช้มาตรการ lockdown อย่างเข้มงวด ซึ่งส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศและเป็นตัวแปรสำคัญต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ CLMV ในปี 2021 นอกจากนี้ สถานการณ์การเมืองที่ทวีความรุนแรงขึ้นในเมียนมาก็มีแนวโน้มส่งผลกระทบอย่างหนักและยืดเยื้อต่อเศรษฐกิจ ทำให้ EIC ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจเมียนมาลงอย่างมีนัยสำคัญ

จากการที่ประเทศ CLMV น่าจะยังไม่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ได้ในภายในปี 2021 ดังนั้น การฟื้นตัวของเศรษฐกิจ จึงขึ้นอยู่กับสองปัจจัยหลัก ได้แก่

  1. ขนาดและประสิทธิภาพของมาตรการกระตุ้นทางการคลังและการเงินเพื่อพยุงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและจำกัดผลกระทบจากแผลเป็นทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น และ
  2. ปัจจัยเสี่ยงรายประเทศ ได้แก่ ความรุนแรงทางการเมืองของเมียนมา และปัญหาหนี้สาธารณะใน สปป. ลาว

กัมพูชา : ปัจจัยบวก

  1. ภาคส่งออกจะกลับมาขยายตัวดีตามเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า
  2. รัฐบาลยังมีความสามารถทำนโยบายที่เพียงพอ ทำให้สามารถออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจได้ต่อเนื่อง

กัมพูชา : ปัจจัยลบ

  1. การระบาดระลอกใหม่ที่รุนแรงของ COVID-19 และมาตรการ lockdown ที่กลับมาเข็มงวดจะจำกัดการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ
  2. การฟื้นตัวจะยังคงอยู่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยช่วงก่อนหน้า เนื่องจากภาคการท่องเที่ยวซึ่งเป็นภาคเศรษฐกิจหลักมีแนวโน้มซบเซา

สปป.ลาว : ปัจจัยบวก

  1. การก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานโครงการใหญ่ๆ จะเป็นแรงสนับสนุนหลักของการเติบโตในปีนี้
  2. การส่งออกมีแนวโน้มได้อานิสงค์จากเศรษฐกิจประเทศเพื่อนบ้านที่ฟื้นตัวดีขึ้น และจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่เพิ่มสูงขึ้น

สปป.ลาว : ปัจจัยลบ

  1. การยกระดับมาตรการ lockdown จะสร้างแรงกดดันต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจและทำให้การปิดพรมแดนยืดเยื้อออกไปอีก
  2. หนี้สาธารณะที่อยู่ในระดับสูงจะจำกัดความสามารถในการทำนโยบายการคลังในการกระตุ้นเศรษฐกิจ

เมียนมา : ปัจจัยลบ

  1. การปราบปรามของรัฐบาลทหารและขบวนการอารยะขัดขืนโดยมวลชน (CDM) จะส่งผลต่อการบริโภคภาคเอกชน
  2. ธุรกิจและโรงงานหลายแห่งปิดตัวลง จากปัญหาขาดแคลนแรงงานและแนวโน้มเศรษฐกิจที่ปรับตัวแย่ลง
  3. บริษัทต่างชาติมีแนวโน้มยับยั้งคำสั่งซื้อและเลื่อนโครงการลงทุนออกไป เพราะอาจเสี่ยงต่อชื่อเสียงองค์กร
  4. นโยบายการคลังที่เป็นข้อจำกัดและทิศทางเศรษฐกิจที่ไม่ชัดเจนและสร้างความไม่แน่นอนอย่างต่อเนื่องในระยะกลาง

เวียดนาม : ปัจจัยบวก

  1. ภาคส่งออกเติบโตแข็งแกร่งจากการส่งออกสินค้าเทคโนโลยีขั้นสูง ยังคงเป็นปัจจัยขับปัจจัยขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจ
  2. กระทรวงการคลังสหรัฐฯ ถอดเวียดนามออกจากรายชื่อประเทศผู้บิดเบื่อนค่าเงิน ส่งสัญญาที่ดีต่อการค้าเวียดนาม-สหรัฐฯ
  3. FDI เข้าเวียดนามส่งสัญญาฟื้นตัวแข็งแกร่งตามแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจ และความสามารถในการเข้าถึงตลาดใหม่ๆ ผ่านข้อตกลงการค้า รวมถึงจำนวน/ฐานผู้บริโภคขนาดใหญ่

เวียดนาม : ปัจจัยลบ

  1. การควบคุมการระบาดของ COVID-19 หลานคลัสเตอร์ในเดือนเมษายน-พฤษภาคมยังเป็นประเด็นที่ต้องจับตามอง

อ่านต่อ : https://www.scbeic.com/th/detail/product/7594