“เวียดนาม” เผยส่งออกข้าวพุ่ง หลังวิกฤตขาดแคลนข้าวโลก

จากข้อมูลของกรมศุลกากรเวียดนาม เปิดเผยว่าในไตรมาสแรกของปีนี้ เวียดนามส่งออกข้าว 1.85 ล้านคัน คิดเป็นมูลค่า 981.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 23.4% และ 34.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ตามลำดับ โดยฟิลิปปินส์นำเข้าข้าวจากเวียดนามประมาณ 9 แสนตันในไตรมาสแรกของปีนี้ และคาดว่าจะสั่งซื้อข้าวเพิ่มขึ้นในอนาคตข้างหน้า ทั้งนี้ ฟิทช์ โซลูชันส์ (Fitch Solutions) บริษัทวิจัยด้านการเงินการลงทุน ชี้ว่าปัญหาการขาดแคลนข้าวทั่วโลก เป็นวิกฤตที่รุนแรงที่สุดในรอบ 2 ทศวรรษที่ผ่านมา และคาดการณ์ว่าปริมาณการขาดแคลนข้าวทั่วโลกจะอยู่ที่ 8.7 ล้านตันในปี 2565-2566 ในขณะที่ผู้เชี่ยวชาญมองว่าตลาดข้าวจะอยู่ในทิศทางที่เป็นบวก โดยเฉพาะข้าวของเวียดนามที่ได้รับประโยชน์ เนื่องจากความต้องการอาหารสำรองที่เพิ่มสูงขึ้น ท่ามกลางความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและการเมืองโลก

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/vietnams-rice-exports-surge-on-supply-crunch-post1016127.vov

คาดการค้าทวิภาคี กัมพูชา-กว่างซี ขยายตัว

การค้าทวิภาคีระหว่างกัมพูชาและมณฑลกว่างซีของจีนมีมูลค่ารวมแตะ 1.970 พันล้านหยวน ในปี 2022 เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 88.2 เมื่อเทียบกับปี 2021 รายงานโดยกระทรวงพาณิชย์กว่างซี ซึ่งตัวเลขดังกล่าวคิดเป็นการส่งออกของกว่างซีไปยังกัมพูชาที่ 1.860 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 88.5 ในขณะที่กัมพูชาส่งออกไปยังกว่างซีมูลค่ารวม 110 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 85.3 ผ่านการที่รัฐบาลทั้งสองฝ่ายได้ร่วมมือกันในด้านต่างๆ เช่น โครงสร้างพื้นฐาน การเกษตร การค้า การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ การแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม การท่องเที่ยว และการปกป้องสิ่งแวดล้อม

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501277602/uptrend-in-cambodia-guangxi-bilateral-trade/

Q1 กัมพูชาส่งออกยางพาราขยายตัวเกือบร้อยละ 43

กัมพูชาส่งออกยางพาราเพิ่มขึ้นร้อยละ 42.8 ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2023 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มูลค่า 168 ล้านดอลลาร์ รายงานโดยกรมศุลกากรและสรรพสามิต (GDCE) ซึ่งการส่งออกยางในช่วงเดือนมีนาคมมีมูลค่าแตะ 55 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สำหรับในปีที่แล้ว กัมพูชาส่งออกยางพาราไปยังต่างประเทศที่มูลค่ารวม 541.66 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 28.3 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยตลาดยางพาราที่สำคัญของกัมพูชาประกอบด้วย จีน เวียดนาม มาเลเซีย สิงคโปร์ อินเดีย และสหภาพยุโรป (EU) ซึ่งในปี 2023 แนวโน้มตลาดยางธรรมชาติทั่วโลกคาดว่าจะมีปริมาณการผลิตสูงถึง 14.693 ล้านตัน ขณะที่การบริโภคคาดว่าจะอยู่ที่ 14.738 ล้านตัน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501274657/cambodias-rubber-exports-surge-by-43-in-q1/

“เมียนมา” เผยปี 65-66 ส่งออกถั่วพุ่ง 1.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

ตามข้อมูลสถิติของกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่าในช่วงปีงบประมาณ 2565-2566 เมียนมาส่งออกถั่วพัลส์ (Pulses) ไปยังต่างประเทศกว่า 1.9 ล้านตัน ทำรายได้ราว 1.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และหากพิจารณาช่องทางการค้าของสินค้าดังกล่าว พบว่าในปีที่แล้ว เมียนมาส่วนใหญ่ส่งออกถั่วพัลส์และถั่วชนิดอื่นๆ ผ่านทางทะเล ปริมาณมากกว่า 1,640,777.1 ตัน คิดเป็นมูลค่า 1.26 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ รองลงมาส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้านผ่านด่านพรมแดนทางบก ปริมาณ 1,919,156.1 ตัน มูลค่า 1.47 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ อินเดียมีความต้องการและบริโภคถั่วดำและถั่วแระมากขึ้น โดยอินเดียนำเข้าถั่วดำจากเมียนมา 250,000 ตัน และถั่วแระ 100,000 ตัน เป็นเวลา 5 ปีติดต่อกัน ตั้งแต่ทั้งสองประเทศร่วมลงนาม MOU เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. 2565

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/myanmar-bags-over-1-4-bln-from-pulses-exports-in-past-fy2022-2023/#article-title

“เวียดนาม” ชี้เดือน มี.ค. ส่งออกพุ่ง 13.5%

จากข้อมูลของกรมศุลกากรเวียดนาม เปิดเผยว่าการส่งออกในเดือนมีนาคม มีมูลค่าอยู่ที่ 29.57 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 13.5% จากเดือนก่อนหน้า ในขณะเดียวกัน มูลค่าการการนำเข้าอยู่ที่ 28.92 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 24.4% จากเดือนก่อนหน้า ทั้งนี้ มูลค่าการส่งออกรวมในไตรมาสแรกของปีนี้ อยู่ที่ 79.17 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัว 11.9% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่าที่ 75.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัว 14.7% ส่งผลให้ในไตรมาสแรก เวียดนามเกินดุลการค้า 4.07 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

ที่มา : https://en.nhandan.vn/vietnams-export-revenue-up-135-in-march-customs-data-post123884.html

สปป.ลาว เปิด ด่านค้าชายแดน12 แห่ง หนุนส่งออกผลไม้ไทยไปจีน

ตัวเลขการส่งออกของไทยเดือนแรก (ม.ค.) ปี 2566 ที่ 2.02 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หดตัว 4.5% เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ทั้งยังเป็น การหดตัวต่อเนื่อง 4 เดือนติดต่อกัน นับตั้งแต่เดือน ต.ค. 2565 หากหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัยจะหดตัว 3.0% ทั้งนี้อัตราการหดตัวน้อยลงจากเดือนก่อนหน้า จากผลกระทบการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและค่าเงินบาทผันผวน สอดคล้องกัน ตัวเลขการค้าชายแดนไทย-สปป.ลาว ผ่านด่านพรมแดนหนองคาย เดือนม.ค. 2566 หดตัวทั้งมูลค่าการค้าชายแดน การส่งออกและการค้าผ่านแดน ด้วยตัวเลขมูลค่าการค้าชายแดนรวม 7,149.38 ล้านบาท ลดลง 7.50% แต่ยอดส่งออกยังสูงกว่านำเข้าได้ดุลการค้า 4,156.72 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า จำนวน 91.50 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 2.25%

อีกทั้ง โอกาสนี้ไทยได้ขอให้ สปป.ลาว เร่งรัดหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาเปิดด่านพรมแดนที่ติดกับไทยเพิ่มอีก 12 แห่ง และช่วยอำนวยความสะดวกการขนส่งสินค้าไทย ผ่านแดน สปป.ลาวไปยังจีน เพื่อให้คล่องตัวมากขึ้น โดยเฉพาะสินค้าผลไม้ ซึ่งกำลังเข้าสู่ช่วงฤดูที่ผลผลิตออกสู่ตลาดจำนวนมากเร็วๆ นี้

ที่มา : https://www.thansettakij.com/business/trade-agriculture/559913

“เมียนมา” เผยแนวโน้มราคาข้าวโพดในประเทศปรับตัวลดลง

สภาหอการค้าและอุตสาหกรรมแห่งภูมิภาคย่างกุ้ง เปิดเผยข้อมูล ณ สิ้นเดือน ม.ค. พบว่าราคาข้าวโพดอยู่ในระดับทรงตัวที่ 1,300 จัตต่อ viss และได้ปรับตัวลดลงเหลืออยู่ที่ 1,200 จัตต่อ viss ในเดือน ก.พ. ทั้งนี้ สมาคมอุตสาหกรรมข้าวโพดเมียนมาระบุว่าในปัจจุบัน เมียนมาส่งออกข้าวโพดไปยังจีนและไทยผ่านชายแดน และยังส่งออกไปทางเรือไปยังจีน อินเดีย เวียดนามและฟิลิปปินส์ โดยประเทศไทยได้รับอนุญาตให้นำเข้าข้าวโพดจากเมียนมาภายใต้ภาษีศุลกากรเป็นศูนย์ (แบบ Form-D) ระหว่างวันที่ 1 ก.พ. – 31 ส.ค. อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยได้กำหนดอัตราภาษีสูงสุดที่ 73% สำหรับในกรณีที่มีการนำเข้าข้าวโพดในช่วงฤดูข้าวโพดของไทย นอกจากนี้ อู มิน ข่าย ประธานสมาคมอุตสาหกรรมข้าวโพด เมียนมา กล่าวว่าทิศทางการส่งออกข้าวโพดไปยังต่างประเทศจะเกินกว่า 2 ล้านตัน ในปี 2566

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/corn-price-on-downward-trend-in-domestic-market/#article-title

สหรัฐฯ ยังคงเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดของกัมพูชา แม้ว่าการส่งออกจะลดลงก็ตาม

สหรัฐฯ ยังคงเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดสำหรับกัมพูชา คิดเป็นสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 34.4 แม้ว่าการส่งออกของกัมพูชาไปยังต่างประเทศจะลดลงร้อยละ 20.2 ในช่วง 2 เดือนแรกของปี ที่มูลค่ากว่า 1.12 พันล้านดอลลาร์ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน รายงานโดยกรมศุลกากรและสรรพสามิต (GDCE) ขณะที่ในช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปี 2022 เวียดนามถือเป็นตลาดส่งออกที่ใหญ่เป็นอันดับสองของกัมพูชา ที่มูลค่า 491 ล้านดอลลาร์ ขยายตัวกว่าร้อยละ 36.1 เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งปัจจุบันเวียดนามกินสัดส่วนการส่งออกของกัมพูชาคิดเป็นร้อยละ 15 ของการส่งออก สวนทางกันกับการส่งออกของกัมพูชาไปยังจีน ซึ่งเคยเป็นตลาดส่งออกที่ใหญ่ที่สุดของกัมพูชาในอดีต โดยปัจจุบันครองสัดส่วนร้อยละ 6 ของการส่งออก รองจากญี่ปุ่นและไทย ซึ่งคาดว่าความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP), ข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) กับจีนและเกาหลีใต้ จะเป็นส่วนช่วยให้กัมพูชาขยายตลาดการส่งออกได้มากขึ้น

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501255716/us-remains-cambodias-biggest-market-despite-declining-exports/

เมียนมาตั้งเป้าส่งออกหัวหอม ปีงบฯ 66-67 ทะลุ 100,000 ตัน

กระทรวงพาณิชย์เมียนมาตั้งเป้าในปีงบประมาณ 2566-2567 จะส่งออกหัวหอม 100,000 ตัน ไปยังตลาดต่างประเทศ โดยมีแผนในการส่งออก ดังนี้ เดือนเมษายน-มิถุนายน 2566 จำนวน 300,000 ตัน เดือนกรกฎาคม-กันยายน 2566 จำนวน 15,000 ตัน เดือนตุลาคมและธันวาคม  2566 จำนวน 20,000 ตัน และเดือนมกราคม-มีนาคม 2567 จำนวน 35,000 ตัน ซึ่งตลาดส่งออกสำคัญได้แก่ เวียดนาม ไทย บังกลาเทศ และจีน ด้านราคาหัวหอมในประเทศจะเคลื่อนไหวอยู่ระหว่าง 1,000 ถึง 1,750 จัตต่อ viss จากความต้องการในประเทศลดลงทำให้ราคาตลาดดิ่งลงอย่างมาก ทั้งนี้ จากสถิติของกระทรวงเกษตร ปศุสัตว์ และชลประทาน ในปีงบประมาณ 2561-2562 การเพาะปลูกหัวหอมในเมียนมาครอบคลุมพื้นที่กว่า 170,000 เอเคอร์ มีผลผลิตเฉลี่ย 3,600 viss ต่อเอเคอร์ โดยภาคมัณฑะเลย์มีผลผลิตคิดเป็นร้อยละ 36 ของผลผลิตหัวหอมทั้งประเทศ รองลงมาคือภาคซะไกง์ ร้อยละ 32 และภาคมะกเว ร้อยละ 26

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/myanmar-to-export-100000-tonnes-of-onions-in-fy-2023-2024/#article-title

กัมพูชาส่งออกสินค้ากลุ่มเครื่องแต่งกายไปยังญี่ปุ่นขยายตัวต่อเนื่อง

การส่งออกสินค้ากลุ่มเครื่องแต่งกายของกัมพูชาไปยังญี่ปุ่น เติบโตต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน แม้ว่าการส่งออกจะลดลงในช่วงปี 2020 เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งการส่งออกปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นเป็นมูลค่ารวมกว่า 1,201.698 ล้านดอลลาร์ ในปี 2022 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงไตรมาสที่ 3 (กรกฎาคม-กันยายน) ของปีที่แล้ว ที่มูลค่า 380.611 ล้านดอลลาร์ ขยายตัวกว่าร้อยละ 60 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 2 ตามข้อมูลเชิงลึกของ Fibre2Fashion ซึ่งกางเกงขายาวและกางเกงขาสั้น ถือเป็นกลุ่มสินค้าที่ได้รับความนิยมสูงสุดที่กัมพูชาได้ทำการส่งออกไปยังญี่ปุ่น โดยคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 38.88 ของการส่งออกสินค้ากลุ่มเครื่องนุ่งห่มทั้งหมด ในขณะที่กลุ่มสินค้าสำคัญอื่นๆ ได้แก่ เสื้อเจอร์ซีย์สัดส่วนร้อยละ 13.16, เสื้อยืด ร้อยละ 10.62, เสื้อเชิ้ต ร้อยละ 9.07 และเสื้อผ้าชั้นใน ร้อยละ 5.71

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501252053/cambodias-apparel-exports-to-japan-grow-further-in-2022-to-more-than-1-2-billion/