บทบาท RCEP ต่อการค้าในกลุ่มประเทศ CLMVT

โดย ดร.ปพน เกียรติสกุลเดชา (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์

เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2020 สมาชิกทั้ง 15 ประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกได้ลงนามความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ปิดฉากการเจรจาที่ยาวนานถึง 8 ปี ของข้อตกลงทางการค้าพหุภาคี (multilateral FTA) ฉบับล่าสุดนี้ ถือเป็นข้อตกลงการค้าเสรีที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก โดยมีขนาดเศรษฐกิจรวมคิดเป็น 29% (25.8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ) ของ GDP โลก ครอบคลุมประชากรโลกราว 30% (2.3 พันล้านคน) และมีปริมาณการค้าสินค้าและบริการรวมกันคิดเป็น 25% (12.7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ) ของทั้งโลก  ซึ่งในการเจรจา RCEP กลุ่มสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศถือเป็นหัวเรือใหญ่ในการรวบรวมข้อตกลงการค้าทวิภาคี ASEAN Plus One  (ซึ่งแต่ละฉบับเป็น FTA ระหว่างกลุ่มอาเซียน 10 ประเทศกับคู่ค้าหลักร่วมกัน) เข้ากับ 5 ประเทศคู่ค้าสำคัญในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์

รูปที่ 1 : RCEP จะช่วยลดภาษีนำเข้าและมาตรการทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี (NTB) ระหว่างสมาชิกในภาคี โดยประเทศที่ได้รับผลบวกจากการลดภาษีมากที่สุดคือญี่ปุ่น จีน และนิวซีแลนด์ ซึ่งได้ประโยชน์จากการลดภาษีได้ในอัตราที่สูง ขณะที่ประเทศกลุ่มอาเซียน โดยเฉพาะ CLMVT จะได้ผลบวกน้อยกว่าเนื่องจากมีภาษีนำเข้าในอัตราที่ค่อนข้างต่ำอยู่แล้ว

สำหรับผลประโยชน์ทางการค้าจากการลดภาษีนำเข้าภายใต้ RCEP นั้น คาดได้ว่าจะเอื้อประโยชน์กับจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ รวมทั้งออสเตรเลียกับนิวซีแลนด์มากที่สุด ในขณะที่ผลประโยชน์ต่อกลุ่มประเทศอาเซียน โดยเฉพาะไทยและประเทศ CLMV นั้น คาดว่าจะอยู่ในวงจำกัด ทั้งหมดนี้เป็นสาเหตุจากการที่ RCEP นับเป็นข้อตกลงการค้าพหุภาคีฉบับแรกระหว่างจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ รวมทั้งยังเป็นข้อตกลงการค้าเสรีแรกระหว่างญี่ปุ่นและนิวซีแลนด์ จึงทำให้อัตราภาษีนำเข้าของประเทศเหล่านี้ลดลงอย่างมากจากการเติมเต็มช่องว่างเครือข่ายทางการค้า ทางฝั่งอาเซียนและประเทศ CLMVT นั้น เผชิญกับระดับภาษีนำเข้าภายในภูมิภาคที่ต่ำอยู่ก่อนแล้ว เนื่องจากกลุ่มอาเซียนมีความเชื่อมโยงกันทั้งภายใต้เขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) และ FTA แบบทวิภาคี ASEAN Plus One กับ 5 ประเทศคู่ค้าหลักที่มีอยู่เดิม

อย่างไรก็ตาม การยกเลิกมาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี (NTB) ภายใต้ RCEP จะส่งผลดีกับสมาชิกทุกประเทศอย่างทั่วถึง ต่างจากมาตรการลดภาษี ซึ่งจะทยอยมีผลบังคับใช้ตามรายการสินค้า โดย NTB ที่มีอยู่ในปัจจุบันมีต้นตอจากความแตกต่างของกฎหมายและระเบียบทางศุลกากร รวมถึงขั้นตอนการผลิตสินค้า ขั้นตอนการจดทะเบียนธุรกิจ และกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาในแต่ละประเทศในภาคี ซึ่งข้อตกลงการค้าสมัยใหม่ รวมถึง RCEP มีเป้าหมายพื้นฐานที่จะลดผลกระทบจาก NTB เหล่านี้ โดยบัญญัติข้อบทใหม่ต่าง ๆ ที่กำหนดหรือส่งเสริมให้ประเทศสมาชิกใช้กฎหมายและระเบียบบนมาตรฐานเดียวกันเพื่อสร้างการแข่งขันที่เท่าเทียม

ข้อบทใหม่ที่สำคัญที่สุดสำหรับการยกระดับ FTA ในภูมิภาครวมกันเป็น RCEP ได้แก่ การทำให้กฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า (Rules of Origin) ครอบคลุมทั้งภูมิภาค โดยก่อนการเจรจา RCEP จะเกิดขึ้นกฎ Rules of Origin ที่มีอยู่เดิมครอบคลุมแค่ประเทศในภาคีเท่านั้น หมายความว่าสินค้าที่ใช้วัตถุดิบจากประเทศนอกภาคีเป็นสัดส่วนใหญ่จะไม่เข้าข่ายว่าเป็นสินค้าที่ผลิตภายในประเทศสมาชิก จึงไม่สามารถใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีจาก FTA ได้ ตัวอย่างเช่น รถยนต์ที่ผลิตในไทยแต่ใช้ชิ้นส่วนจากญี่ปุ่น ไม่สามารถใช้สิทธิประโยชน์จากกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้าภายใต้ FTA ของอาเซียนได้ แต่หลัง RCEP มีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการแล้ว วัตถุดิบผลิตสินค้าจากทั้ง 15 ประเทศในภาคีจะถือรวมเป็นวัตถุดิบท้องถิ่นทั้งหมด ทำให้ผู้ผลิตในประเทศสมาชิกสามารถใช้สิทธิประโยชน์จากกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้าได้ง่ายขึ้น ด้วยเหตุนี้กฎ Rules of Origin ภายใต้ RCEP จะมีแนวโน้มช่วยยกระดับบทบาทของกลุ่มประเทศ CLMVT ในห่วงโซ่อุปทานของภูมิภาค โดยเฉพาะกัมพูชา ลาว และเมียนมา ที่ยังตามหลังด้านการพัฒนาอยู่ ซึ่งสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับแรงจูงใจจากเรื่องตำแหน่งที่ตั้งและค่าแรงที่ต่ำกว่าอาจทำให้อุตสาหกรรมในเอเชียตะวันออกหันมาจ้างผลิตจากกลุ่มประเทศเหล่านี้มากขึ้น

อีกประเด็นสำคัญใน RCEP ได้แก่ ความยืดหยุ่นในข้อตกลงที่มีต่อประเทศในระดับการพัฒนาที่แตกต่างกัน โดยสำหรับกัมพูชา ลาว และเมียนมา นั้น มีข้อปฏิบัติให้ลดภาษีนำเข้าลงเพียง 30% ในปีแรก (เทียบกับ 65% สำหรับประเทศอื่น) รวมทั้งขยายเวลาเป้าหมายลดภาษีนำเข้าให้ได้ 80% ภายใน 15 ปี (เทียบกับ 10 ปีสำหรับประเทศอื่น) นอกจากนี้กัมพูชายังได้รับการยืดระยะเวลาปรับปรุงเทคโนโลยีดิจิทัลที่ด่านศุลกากรออกไปอีกถึง 5 ปี อีกด้วย ข้อกำหนดเฉพาะข้างต้นจะช่วยยกระดับเศรษฐกิจ CLM ให้เข้ามามีส่วนร่วมในเครือข่ายการค้า RCEP ได้มากขึ้น โดยให้เวลาเตรียมความพร้อมกับทั้ง 3 ประเทศเพื่อปรับขั้นตอนและกฎระเบียบภายในประเทศให้เข้ากับมาตรฐานสากล แต่จำกัดผลกระทบทางลบต่อธุรกิจท้องถิ่น การทยอยปฏิรูปและปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจในประเทศ บวกกับแรงผลักดันการปรับตัวจาก RCEP จะเป็นผลดีกับการพัฒนาผลิตภาพแรงงานในกัมพูชา ลาว และเมียนมา เพิ่มเติมจากผลประโยชน์จากการค้าที่จะได้รับ

ท้ายที่สุดนี้ คำถามสำคัญที่ตามมาคือประเทศไทยจะได้อะไรจาก RCEP และภาคธุรกิจไทยควรจะวางจุดยุทธศาสตร์อย่างไร ในระยะข้างหน้า หากมองจากผลประโยชน์ต่อการขยายเครือข่ายทางการค้าในภูมิภาคนั้นไทยจัดว่าได้ประโยชน์น้อยกว่าประเทศเพื่อนบ้านเมื่อเทียบกับกัมพูชา ลาว และเมียนมา ซึ่งได้รับข้อตกลงที่ยืดหยุ่นมากกว่า ในขณะเดียวกันเวียดนามก็ได้ขยายตลาดส่งออกไปกว้างกว่ามากจากสัญญาการค้าพหุภาคีขนาดใหญ่อื่น ๆ นอกเหนือจาก RCEP (EVFTA, CPTPP, EAEU) ซึ่งทางออกสำหรับการค้าของไทยในระยะต่อไปอาจเกิดจาก

1) การเร่งดำเนินการเจรจาเข้าร่วมข้อตกลงการค้าต่าง ๆ เพิ่มเติมเพื่อรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันระยะยาว

2) ประเทศไทยอาจสามารถใช้ประโยชน์จากการเติบโตของประเทศเพื่อนบ้าน CLM ในยุคหลัง RCEP โดยธุรกิจไทยสามารถย้ายฐานการผลิตที่ใช้แรงงานสูงไปยังประเทศเหล่านี้ และหันมาเน้นผลิตสินค้าในประเทศที่สร้างมูลค่าเพิ่มจากแรงงานทักษะสูงแทน ซึ่งกฎ Rules of Origin ภายใต้ RCEP จะเป็นแรงสนับสนุนสำคัญต่อไป

ที่มา : https://www.scbeic.com/th/detail/product/7526

RCEP ยกระดับการส่งออกสินค้าเกษตรเวียดนาม

ความตกลงพันธมิตรทางการค้าระดับภูมิภาค (RCEP) เปิดโอกาสที่ดีให้แก่ผู้ส่งออกสินค้าเกษตรเวียดนามในห่วงโซ่อุปทานระดับโลก นาย Lê Duy Minh ประธานสมาคมฟาร์มและวิสาหกิจการเกษตรเวียดนาม กล่าวว่า RCEP จะช่วยให้ผลผลิตทางการเกษตรของเวียดนาม สามารถเข้าถึงตลาดที่ใหญ่ที่สุดและเปิดโอกาสในการแข่งขันกับคู่แข่ง ซึ่งข้อตกลงการค้าดังกล่าว มีจำนวนประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ รวมถึงออสเตรเลีย จีน ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์และเกาหลีใต้ คิดเป็นสัดส่วน 29% ของ GDP โลก และมีจำนวนประชากรรวม 2.2 พันล้านคน ทั้งนี้ ข้อตกลงการค้าเสรีฉบับนี้จะช่วยยกระดับการส่งออกสินค้าเกษตรของเวียดนาม เนื่องจากกลุ่มประเทศสมาชิกมีความต้องการสินค้าเกษตรและอาหารแปรรูปจำนวนมาก นอกจากนี้ ยังเปิดโอกาสใหม่แก่การค้ากับจีน ได้แก่ การสื่อสาร บริการทางการเงิน โลจิสติกส์และอีคอมเมิร์ซ

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/886346/rcep-offers-opportunity-to-expand-vietnamese-agricultural-exports.html

การส่งออกยังคงเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญของเศรษฐกิจเวียดนาม ปี 64

หลังจากเติบโตไปในทิศทางที่เป็นบวก 6.5% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ในปี 2563 ภาคการส่งออกคาดว่ายังคงเป็นแรงคับเคลื่อนที่สำคัญของเศรษฐกิจเวียดนามในปีนี้ นายเหงียน ซวน ทัญ (Nguyen Xuan Thanh) นักเศรษฐศาสตร์และที่ปรึกษาสำนักงานนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าเครือข่ายตลาดส่งออก จะช่วยให้เวียดนามชดเชยจากการสูญเสียการส่งออกไปยังตลาดดั้งเดิมที่ลดลง อาทิ สหภาพยุโรปหรืออาเซียน อย่างไรก็ตาม การส่งออกไปยังสหรัฐฯ จะเผชิญกับอุปสรรคมากขึ้นในปีนี้ เนื่องจากเวียดนามเกินดุลการค้า 62.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปีที่แล้ว แต่ด้วยข้อตกลงการค้าเสรีสหภาพยุโรป-เวียดนาม (EVFTA) และความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) จะช่วยให้การค้าระหว่างประเทศดีขึ้น ทั้งนี้ ประธานหอการค้าและอุตสาหกรรมเวียดนาม (VCCI) เปิดเผยว่ากระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า ควรมีบทบาทมากขึ้นในการทำกิจกรรมระหว่างช่วงการบังคับใช้ข้อตกลงการค้าเสรีที่เวียดนามเป็นสมาชิกอยู่ รวมถึงส่งเสริมกิจกรรมการค้าให้แก่ตลาดที่มีศักยภาพ และนำเทคโนโลยีมาใช้กับการค้าและอีคอมเมิร์ซ เป็นต้น

  ที่มา : http://hanoitimes.vn/exports-set-to-remain-growth-driver-for-vietnam-in-2021-315931.html

RCEP กระตุ้นภาคการผลิตของเมียนมา

งานวิจัยของ Oxford Business Group ชี้ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) มีส่วนผลักดันการผลิตของเมียนมาโดยกลุ่มการค้าจาก 15 ประเทศที่ใหญ่ที่สุดในโลกเพื่อขยายฐานการผลิต สภาหอการค้าอังกฤษในเมียนมาเผยผู้ผลิตในท้องถิ่นระดับภูมิภาคและระดับโลกที่ต้องเข้าร่วมในตลาดอาเซียนกำลังใช้ประโยชน์จากโอกาสในเมียนมา เพราะเศรษฐกิจเมียนมาร์ยังมีความใหม่มีพื้นฐานทางการเกษตรและการผลิตโดยรวมอยู่ในช่วงเริ่มต้น มีฐานต้นทุนที่ต่ำ โครงสร้างพื้นฐานที่กำลังเติบโตและรัฐบาลที่เปิดกว้าง รัฐบาลใหม่ของนางอองซานซูจี ตอนนี้ถึงเวลาสร้างและเสริมสร้างขีดความสามารถของกระทรวงต่างๆเพื่อสนับสนุนการดำเนินงาน RCEP อย่างมีประสิทธิผลแ 5 ปีที่ผ่านมาธุรกิจจากต่างประเทศมีการลงทุนลงทุนกว่า 6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในธุรกิจการผลิต 711 แห่ง ส่วนใหญ่จากญี่ปุ่นและสิงคโปร์ลงทุน 1.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐใน 50 ธุรกิจในเขตเศรษฐกิจพิเศษ จากรายงานของคณะกรรมการด้านการลงทุนและการบริหารบริษัท (DICA) การลงทุนภาคการผลิตมีมูลค่ามากที่สุดในช่วงปี 2559 ถึง 2563 ด้วยมูลค่า 7.4 พันล้านดอลลาร์  โดย RCEP ได้ลงนามเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 63 ที่ผ่านมาในการประชุมสุดยอดอาเซียน ซึ่งมีประเทศร่วมลงนาม ได้แก่ 10 ประเทศจากอาเซียน จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ RCEP มีประชากรคิดเป็น 30% ของประชากรโลก และขนาดของเศรษฐกิจจะเท่ากับ 28% ของ GDP โลก โดยกลุ่มอาเซียนที่เข้าร่วม ได้แก่ บรูไน กัมพูชา อินโดนีเซีย สปป.ลาว มาเลเซีย เมียนมา ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม

ที่มา: https://www.mmtimes.com/news/new-asean-led-trade-deal-boost-myanmar-manufacturing-sector.html

INFOGRAPHIC : ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศและจำนวนประชากร ในกลุ่มสมาชิกอาร์เซ็ป

จากข้อมูลของ Worldometer และ World Bank เปิดเผยว่าความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) เป็นสนธิสัญญาการค้าที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งครอบคลุมตลาดที่มีประชากรรวมกัน 2.2 พันล้านคน และมี GDP รวมกันกว่า 26.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเกือบ 30% ของ GDP โลก

จำนวนประชากร ณ เดือนพฤศจิกายน 2563 (ล้านคน) และผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศในปี 2562 (ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ)

  1. จีน – จำนวนประชากร 1,441 ล้านคน, GDP 14.34 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ
  2. เกาหลีใต้ – จำนวนประชากร 51.3 ล้านคน, GDP 1.64 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ
  3. ญี่ปุ่น – จำนวนประชากร 126.3 ล้านคน, GDP 5.08 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ
  4. อาเซียน – จำนวนประชากร 669.8 ล้านคน, GDP 2.87 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ
  5. ออสเตรเลีย – จำนวนประชากร 25.6 ล้านคน, GDP 1.39 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ
  6. นิวซีแลนด์ – จำนวนประชากร 4.8 ล้านคน, GDP 0.207 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ

เมื่อวันจันทร์ (4 พฤศจิกายน 2562) อินเดียถอนตัวจากข้อตกลง RCEP

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/gdp-and-population-of-rcep-member-countries/190525.vnp

จุรินทร์ ชี้ไทยได้ประโยชน์จากซีพีทีพีพี หลังร่วมลงนามอาร์เซ็ป-แต่ยังเหลือขั้นตอนทำสัตยาบัน

เมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2563 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายจุรินทร์ ลักษณะวิศิษฏ์​ รองนายกฯและรมว.พาณิชย์ ให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุมครม.ว่า ในที่ประชุมวันเดียวกันนี้ จะยังไม่มีการนำเรื่องความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) เข้าหารือ เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องของความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรืออาร์เซ็ป ซึ่งหลังจากลงนามาร่วมกันเมื่อวันที่ 15 พ.ย.ที่ผ่านมาแล้ว แต่ไม่ได้หมายความว่าจะมีผลบังคับใช้ทันที ขั้นตอนต่อไปจะต้องมีการให้สัตยาบันระหว่างประเทศสมาชิกทั้ง 15 ประเทศ รายละเอียดขึ้นอยู่กับแต่ละประเทศที่กำหนดไว้ สำหรับประเทศไทยต้องขอความเห็นชอบจากรัฐสภาก่อน ถ้ารัฐสภาผ่านความเห็นชอบ จึงจะสามารถแจ้งให้กับทางเลขาธิการอาร์เซ็ปทราบ ซึ่งตนจะเร่งนำเสนอต่อที่ประชุมรัฐสภาโดยเร็ว และให้ทันในสมัยประชุมนี้ มีระยะเวลาอีกเพียง 4 เดือนคือ พ.ย.2563-ก.พ.2564

ที่มา : https://www.naewna.com/business/532311

ลงนามแล้ว! ไทยเซ็นนานาชาติร่วม อาร์เซ็ป เปิดการค้าเสรีใหญ่สุดในโลก

ลงนามแล้ว ! ไทยลงนามร่วม 15 ชาติ อาเซียน จีน ญี่ปุ่น เกาหลี ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ตั้งอาร์เซ็ป เขตการค้าเสรีใหญ่สุดในโลก ขนาดจีดีพี 817 ล้านล้านบาท นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ เปิดเผยภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมสุดยอดความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (อาร์เซ็ป)​ ครั้งที่ 4 ผ่านระบบการประชุมทางไกล ซึ่งเวียดนามเป็นเจ้าภาพจัดขึ้นเมื่อวันที่ 15 พ.ย. 63 ว่า การประชุมครั้งนี้ถือเป็นการประกาศความสำเร็จครั้งประวัติศาสตร์ ของการเจรจาความตกลงอาร์เซ็ป หลังจากมีการเจรจามานานเกือบ 8 ปี ซึ่งช่วยสนับสนุนให้ 15 ชาติสมาชิก ประกอบด้วย อาเซียน 10 ชาติ จีน ญี่ปุ่น เกาหลี ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ มีการเปิดเสรีการค้าและการลงทุนที่ ครอบคลุม เป็นไปตามกฎกติกาของโลก เกิดการจ้างงานและสร้างรายได้ให้กับประชาชน ตลอดจนเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อรับมือกับสถานการณ์โควิด-19 ทั้งนี้ ความตกลงอาร์เซ็ปเป็นเขตการค้าเสรีที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก โดยข้อมูลทางการค้าในปี 62 ความตกลงอาร์เซ็ปครอบคลุมตลาดที่มีประชากรรวมกัน 2,200 ล้านคน หรือเกือบ 30% ของประชากรโลก มี จีดีพี รวมกันกว่า 26.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 817.7 ล้านล้านบาท มีสัดส่วน 30% ของจีดีพีโลก และมีมูลค่าการค้ารวมกว่า 10.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 326 ล้านล้านบาท ผู้นำอาร์เซ็ปได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่เร่งกระบวนการภายในสำหรับให้สัตยาบันเพื่อให้ความตกลงมีผลใช้บังคับโดยเร็ว ซึ่งความตกลงจะมีผลใช้บังคับเมื่อสมาชิกอาเซียน 6 ประเทศและประเทศคู่เจรจา 3 ประเทศให้สัตยาบันความตกลง ในขณะเดียวกัน สมาชิกอาร์เซ็ปยังคงเปิดโอกาสให้อินเดียกลับมาเข้าร่วมความตกลงในฐานะที่เป็นสมาชิกดั้งเดิม และมีบทบาทสำคัญในการเจรจาอาร์เซ็ปตั้งแต่ปี 55 ความตกลงอาร์เซ็ปจะช่วยเสริมสร้างความเป็นแกนกลางของอาเซียนในเวทีระดับภูมิภาค และได้รับผลประโยชน์ร่วมกันจากการเปิดเสรีการค้าสินค้า การค้าบริการ และการลงทุน อีกทั้งมีการเพิ่มความร่วมมือในด้านต่างๆ มากยิ่งขึ้นจากเอฟทีเอของอาเซียนกับคู่เจรจาที่มีอยู่ก่อนหน้า เช่น พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ทรัพย์สินทางปัญญา การแข่งขันทางการค้า ตลอดจนมีเรื่องใหม่ ๆ อาทิ วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ ซึ่งจะสร้างโอกาสครั้งใหญ่ให้กับธุรกิจในภูมิภาคได้

ที่มา: https://www.dailynews.co.th/economic/807023

กัมพูชายังคงต้องการข้อตกลงการค้าเสรีเพิ่มขึ้น

กัมพูชาต้องการการลงนามในข้อตกลงการค้าระหว่างประเทศและเสริมสร้างศักยภาพในการดำเนินการเพิ่มเติม ทั้งเพื่อดำเนินการประเมินผลกระทบทางการค้าโดยละเอียด (TIAs) เนื่องจากกัมพูชากำลังมองหาข้อตกลงการค้าทวิภาคีและพหุภาคีมากขึ้น โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์กล่าวว่านับตั้งแต่กัมพูชาเข้าเป็นสมาชิกขององค์การการค้าโลกในปี 2004 ซึ่งเขตการค้าเสรีทั้งหมดที่กัมพูชาได้เข้าร่วมและกำลังพิจารณาได้ผ่านการประเมินอย่างละเอียดถี่ถ้วนที่สุดเพื่อชั่งน้ำหนักผลกระทบทางสังคมและเศรษฐกิจ ทั้งในด้านการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืน โดยในปัจจุบันกัมพูชาได้เป็นสมาชิกของข้อตกลงการค้าเสรีพหุภาคีหลายฉบับรวมถึงข้อตกลงการค้าเสรีอีกหลายฉบับ นอกจากนี้กัมพูชายังได้เข้าเป็นสมาชิกหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ที่กำลังจะเกิดขึ้น โดยปริมาณการนำเข้าและส่งออกทั้งหมดของกัมพูชาภายใต้ข้อตกลงการค้าเสรีมีมูลค่าอยู่ที่ 36,700 ล้านดอลลาร์ในปี 2019 ตามตัวเลขจากธนาคารแห่งชาติกัมพูชา

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50781402/increased-free-trade-deals-need-many-more-experts/

พาณิชย์เตรียมประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนที่เวียดนาม หวังผลักดันการลงนามข้อตกลง RCEP

กระทรวงพาณิชย์ เตรียมเข้าร่วมประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ (AEM Retreat) ครั้งที่ 26 และการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ณ สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม เร่งพิจารณาเห็นชอบแผนงานด้านเศรษฐกิจที่จะผลักดันให้อาเซียนดำเนินการให้สำเร็จในปี 2563 ติดตามการดำเนินการตาม AEC Blueprint พร้อมเตรียมการประชุมรัฐมนตรี RCEP โดยอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้มอบหมายให้ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ นำคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ (AEM Retreat) ครั้งที่ 26 และการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ณ สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม โดยมีประเด็นหารือที่สำคัญ เช่น การพิจารณาเห็นชอบแผนงานด้านเศรษฐกิจที่เวียดนามในฐานะประธานอาเซียนผลักดันให้อาเซียนดำเนินการให้สำเร็จในปี 2563 การติดตามการดำเนินการตาม AEC Blueprint โดยเฉพาะเรื่องการอำนวยความสะดวกทางการค้าของอาเซียน การเตรียมการประชุมระดับรัฐมนตรี RCEP และการหารือกับสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียนเรื่องการดำเนินงานของอาเซียน เป็นต้น

ที่มา : https://www.trjournalnews.com/16415

EXIM Bank แนะผู้ประกอบการหาลู่ทางลงทุน RCEP พร้อมเตรียมกลยุทธ์รับมือตลาดเปิด มองอินเดียมีโอกาสกลับเข้าร่วมกลุ่ม

ฝ่ายวิจัยธุรกิจ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) ระบุ จบไปแล้วกับการประชุมสุดยอดอาเซียน (ASEAN Summit) ครั้งที่ 35 ที่ประเทศไทยในฐานะประธานและเจ้าภาพการประชุมอาเซียนตลอดทั้งปี 2562 ซึ่งแม้ว่า RCEP จะยังไม่สำเร็จผลอย่างเต็มรูปแบบ แต่ก็เป็นสิ่งที่สามารถคาดการณ์และมีเวลาในการเตรียมพร้อมเพื่อรุกโอกาสการค้าการลงทุนที่กำลังจะเกิดขึ้น ผู้ประกอบการไทยจึงจำเป็นต้องเตรียมกลยุทธ์ให้พร้อม โดยเฉพาะด้านการลงทุนที่เปิดกว้างขึ้นจากความตกลง RCEP ซึ่งสำหรับผู้ประกอบการที่มีความพร้อมในการขยายการลงทุนไปต่างประเทศ ควรศึกษาลู่ทางและแสวงหาโอกาสลงทุนในประเทศสมาชิก RCEP โดยอาศัยจุดแข็งของประเทศนั้น อาทิ ความพร้อมด้านแรงงาน และทรัพยากรทางธรรมชาติ เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งของกิจการ โดยประเทศสมาชิก RCEP (ไม่รวมอินเดีย) มีขนาดเศรษฐกิจรวมกันถึง 24.6 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 29% ของขนาดเศรษฐกิจโลก ขณะที่มีประชากรรวมกันถึงราว 3.6 พันล้านคน หรือคิดเป็นสัดส่วน 30% ของจำนวนประชากรโลก

ที่มา : https://www.ryt9.com/s/iq03/3063988