EIC CLMV Outlook Q2/2021

โดย ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC)

แม้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในปี 2021 จะเป็นแรงสนับสนุนสำคัญต่อการฟื้นตัวของภาคส่งออกในกลุ่ม CLMV แต่การระบาดระลอกใหม่ของ COVID-19 ในภูมิภาค ประกอบกับสถานการณ์ความไม่สงบทางการเมืองในเมียนมาจะเป็นแรงกดดันสำคัญต่อเศรษฐกิจ CLMV ในปี 2021 โดยในส่วนของภาคส่งออกของ CLMV คาดว่าจะฟื้นตัวได้ดีตามทิศทางเศรษฐกิจและการค้าโลก โดยเฉพาะจากประเทศพัฒนาแล้ว ซึ่งเวียดนามมีแนวโน้มได้รับประโยชน์จากการส่งออกที่ปรับตัวดีขึ้นมากสุดในภูมิภาค จากความแข็งแกร่งด้านการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ขณะที่ภาคเศรษฐกิจในประเทศ การระบาดระลอกใหม่ของ COVID-19 ในภูมิภาค CLMV ช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2021 จะเป็นแรงกดดันต่อกิจกรรมเศรษฐกิจในประเทศให้ปรับลดลง โดยในส่วนของเวียดนาม ภาครัฐสามารถควบคุมการระบาดในระลอกก่อนได้เป็นอย่างดี ทำให้เศรษฐกิจในประเทศไม่ได้รับผลกระทบมากนัก แต่ยังต้องจับตาการระบาดระลอกล่าสุดช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคมซึ่งเป็นความท้าทายสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเวียดนามในระยะต่อไป ขณะที่ในกรณีของประเทศอื่น พบว่าเมียนมายังต้องเผชิญการระบาดที่ยืดเยื้อมาตั้งแต่เดือนกันยายนปี 2020 ส่วนกัมพูชาและ สปป.ลาวกำลังเผชิญการระบาดระลอกใหม่อย่างรุนแรงเป็นครั้งแรกในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2021 ทำให้รัฐบาลต้องใช้มาตรการ lockdown อย่างเข้มงวด ซึ่งส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศและเป็นตัวแปรสำคัญต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ CLMV ในปี 2021 นอกจากนี้ สถานการณ์การเมืองที่ทวีความรุนแรงขึ้นในเมียนมาก็มีแนวโน้มส่งผลกระทบอย่างหนักและยืดเยื้อต่อเศรษฐกิจ ทำให้ EIC ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจเมียนมาลงอย่างมีนัยสำคัญ

จากการที่ประเทศ CLMV น่าจะยังไม่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ได้ในภายในปี 2021 ดังนั้น การฟื้นตัวของเศรษฐกิจ จึงขึ้นอยู่กับสองปัจจัยหลัก ได้แก่

  1. ขนาดและประสิทธิภาพของมาตรการกระตุ้นทางการคลังและการเงินเพื่อพยุงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและจำกัดผลกระทบจากแผลเป็นทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น และ
  2. ปัจจัยเสี่ยงรายประเทศ ได้แก่ ความรุนแรงทางการเมืองของเมียนมา และปัญหาหนี้สาธารณะใน สปป. ลาว

กัมพูชา : ปัจจัยบวก

  1. ภาคส่งออกจะกลับมาขยายตัวดีตามเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า
  2. รัฐบาลยังมีความสามารถทำนโยบายที่เพียงพอ ทำให้สามารถออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจได้ต่อเนื่อง

กัมพูชา : ปัจจัยลบ

  1. การระบาดระลอกใหม่ที่รุนแรงของ COVID-19 และมาตรการ lockdown ที่กลับมาเข็มงวดจะจำกัดการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ
  2. การฟื้นตัวจะยังคงอยู่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยช่วงก่อนหน้า เนื่องจากภาคการท่องเที่ยวซึ่งเป็นภาคเศรษฐกิจหลักมีแนวโน้มซบเซา

สปป.ลาว : ปัจจัยบวก

  1. การก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานโครงการใหญ่ๆ จะเป็นแรงสนับสนุนหลักของการเติบโตในปีนี้
  2. การส่งออกมีแนวโน้มได้อานิสงค์จากเศรษฐกิจประเทศเพื่อนบ้านที่ฟื้นตัวดีขึ้น และจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่เพิ่มสูงขึ้น

สปป.ลาว : ปัจจัยลบ

  1. การยกระดับมาตรการ lockdown จะสร้างแรงกดดันต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจและทำให้การปิดพรมแดนยืดเยื้อออกไปอีก
  2. หนี้สาธารณะที่อยู่ในระดับสูงจะจำกัดความสามารถในการทำนโยบายการคลังในการกระตุ้นเศรษฐกิจ

เมียนมา : ปัจจัยลบ

  1. การปราบปรามของรัฐบาลทหารและขบวนการอารยะขัดขืนโดยมวลชน (CDM) จะส่งผลต่อการบริโภคภาคเอกชน
  2. ธุรกิจและโรงงานหลายแห่งปิดตัวลง จากปัญหาขาดแคลนแรงงานและแนวโน้มเศรษฐกิจที่ปรับตัวแย่ลง
  3. บริษัทต่างชาติมีแนวโน้มยับยั้งคำสั่งซื้อและเลื่อนโครงการลงทุนออกไป เพราะอาจเสี่ยงต่อชื่อเสียงองค์กร
  4. นโยบายการคลังที่เป็นข้อจำกัดและทิศทางเศรษฐกิจที่ไม่ชัดเจนและสร้างความไม่แน่นอนอย่างต่อเนื่องในระยะกลาง

เวียดนาม : ปัจจัยบวก

  1. ภาคส่งออกเติบโตแข็งแกร่งจากการส่งออกสินค้าเทคโนโลยีขั้นสูง ยังคงเป็นปัจจัยขับปัจจัยขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจ
  2. กระทรวงการคลังสหรัฐฯ ถอดเวียดนามออกจากรายชื่อประเทศผู้บิดเบื่อนค่าเงิน ส่งสัญญาที่ดีต่อการค้าเวียดนาม-สหรัฐฯ
  3. FDI เข้าเวียดนามส่งสัญญาฟื้นตัวแข็งแกร่งตามแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจ และความสามารถในการเข้าถึงตลาดใหม่ๆ ผ่านข้อตกลงการค้า รวมถึงจำนวน/ฐานผู้บริโภคขนาดใหญ่

เวียดนาม : ปัจจัยลบ

  1. การควบคุมการระบาดของ COVID-19 หลานคลัสเตอร์ในเดือนเมษายน-พฤษภาคมยังเป็นประเด็นที่ต้องจับตามอง

อ่านต่อ : https://www.scbeic.com/th/detail/product/7594

ทิศทาง CLMV หลัง COVID-19

โดย BRD Analysis I ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย

ประเด็นสำคัญ

  • เศรษฐกิจเวียดนามมีแนวโน้มขยายตัวโดดเด่นที่สุดใน CLMV ขณะที่รัฐประหารทำให้เศรษฐกิจเมียนมาซึ่งเคยขยายตัวสูงกลับถดถอยและกลายเป็นประเทศที่มีแนวโน้มเศรษฐกิจเติบโตต่ำที่สุดในกลุ่ม
  • นโยบายภาครัฐของกัมพูชาเน้นพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ส่งผลให้โรงไฟฟ้าเป็นธุรกิจที่มีโอกาสขยายการลงทุนในระยะข้างหน้า พร้อมกับผลักดันอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ทดแทนเสื้อผ้าสำเร็จรูป
  • การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานใหม่ใน สปป.ลาว ต้องอาศัยนักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะจากจีน ซึ่งโรงไฟฟ้าพลังน้ำยังคงเป็นเป้าหมายหลัก ขณะที่การลงทุนภาคการผลิตมีโอกาสเพิ่มขึ้นจากโครงการรถไฟจีน – สปป.ลาว
  • ความขัดแย้งในเมียนมาทำให้ธุรกิจต่างชาติต้องเน้นประคองธุรกิจ และการลงทุนใหม่มีแนวโน้มชะลอตัวรุนแรง

————————————————————————————————————————————————————

ทิศทางเศรษฐกิจของ CLMV

กัมพูชา :เศรษฐกิจยังฟื้นตัวได้จำกัดในระยะสั้น แม้ภาคส่งออกจะได้อานิสงส์จากการฟื้นตัวของตลาดหลักอย่างสหรัฐฯ ขณะที่การลงทุน โดยเฉพาะจากจีน มีแนวโน้มฟื้นตัว แต่ภาคท่องเที่ยว ซึ่งเป็นแหล่งรายได้สำคัญของประเทศยังคงต้องใช้ระยะเวลาฟื้นตัวอีก 1-2 ปี

สปป.ลาว : การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจขึ้นกับปัจจัยสนับสนุนภายนอก เนื่องจากภาครัฐประสบปัญหาหนี้สาธารณะในระดับสูง ทำให้ไม่มีเครื่องมือที่ใช้ สำหรับกระตุ้นเศรษฐกิจ และต้องลดการใช้จ่ายภาครัฐลง จึงต้องหวังพึ่งการลงทุนจากต่างประเทศเป็นหลัก

เมียนมา : ยากต่อการคาดการณ์ทิศทางเศรษฐกิจ เนื่องจากรัฐประหารเปลี่ยนทิศทางของประเทศไปโดยสิ้นเชิง ทั้งนี้ IMF คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวกว่า 4% ตั้งแต่ ปี 2566 จากความคาดหวังว่าความวุ่นวายในประเทศจะคลี่คลายลงได้

เวียดนาม : มีแนวโน้มขยายตัวโดดเด่นที่สุดใน CLMVโดยรัฐบาลตั้งเป้าเศรษฐกิจขยายตัว 6.5-7.0% ระหว่างปี 2564-2568 และจะเป็นประเทศที่มีรายได้ ปานกลางค่อนข้างสูงภายในปี 2573

————————————————————————————————————————————————————

ทิศทางธุรกิจและอุตสาหกรรม

กัมพูชา : การดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่นอกเหนือจากเสื้อผ้าสำเร็จรูป โดยมีอุตสาหกรรมที่น่าสนใจ ดังนี้

ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ : การลงทุนมีแนวโน้มขยายตัว โดยการส่งออกชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ของกัมพูชา (สัดส่วนราว 5% ของมูลค่าส่งออกทั้งหมด) ในปี 2563 ขยายตัวราว 220% เนื่องจากความต้องการอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ของโลกที่เพิ่มขึ้น ซึ่งคาดว่ารัฐบาลจะดึงดูดการลงทุนเพิ่มขึ้นในระยะข้างหน้า

โรงไฟฟ้า : การลงทุนมีแนวโน้มขยายตัว เนื่องจากกัมพูชายังมี Supply ของไฟฟ้าไม่เพียงพอกับความต้องการใช้ โดยโรงไฟฟ้าที่มีศักยภาพการลงทุน ได้แก่ โรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหิน และโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์

สปป.ลาว : การลงทุนใหม่ต้องอาศัยนักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะจากจีน ทั้งนี้ สปป.ลาว ยังคาดหวังกับการลงทุน ดังนี้

ธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังน้ำ : ยังคงเป็นธุรกิจเป้าหมายของรัฐบาล สปป.ลาว แต่โครงการใหม่ในระยะข้างหน้าต้องพึ่งพาการลงทุนจากต่างประเทศทั้งหมด เนื่องจากรัฐบาลเผชิญข้อจำกัดทางการเงิน

ภาคการผลิตที่ได้ประโยชน์จากการเชื่อมโยง สปป.ลาว กับประเทศเพื่อนบ้าน : โครงการรถไฟจีน – สปป.ลาว ที่คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือน ธ.ค. 2564 จะดึงดูดการลงทุนในภาคการผลิตของ สปป.ลาว ได้ในอนาคต

เมียนมา : ธุรกิจต่างชาติในเมียนมาเน้นประคองธุรกิจ ขณะที่การลงทุนใหม่มีแนวโน้มชะลอตัวรุนแรง

ภาคการผลิต : การผลิตเพื่อส่งออก (เสื้อผ้าสำเร็จรูป) หยุดชะงัก เนื่องจากผู้นำเข้า โดยเฉพาะชาติตะวันตก หลีกเลี่ยงการทำธุรกรรมกับเมียนมา จนผู้ประกอบการต่างชาติบางส่วนอาจถอนการลงทุน ขณะที่การผลิตที่เน้นตลาดในประเทศ เผชิญกับความต้องการที่หดตัวตามภาวะเศรษฐกิจเมียนมา

โรงไฟฟ้า : นักลงทุนต่างชาติส่วนใหญ่ชะลอการลงทุน และเป็นโอกาสที่จีนจะมีบทบาทในเมียนมามากขึ้น

เวียดนาม : หลายอุตสาหกรรมในเวียดนามมีแนวโน้มขยายตัวดี โดยอุตสาหกรรมที่เป็นโอกาสการลงทุนของไทย อาทิ

อุตสาหกรรมอาหารแปรรูป : เนื่องจากความต้องการอาหารที่มีความปลอดภัยและถูกสุขอนามัยเพิ่มขึ้น ประกอบกับรัฐบาลให้ความสำคัญกับการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเพิ่มมูลค่าและยกระดับการผลิตสินค้าเกษตร

ธุรกิจบรรจุภัณฑ์ : มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องตามการขยายตัวของภาคการผลิตในเวียดนาม ซึ่งรวมถึงบรรจุภัณฑ์ในอุตสาหกรรมอาหารแปรรูปและเครื่องดื่ม

โรงไฟฟ้า : ยังเติบโตจากความต้องการใช้ ไฟฟ้าที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 8.6% และ 7.2% ในช่วงปี 2564-2568 และ 2569-2573 ตามล าดับ ซึ่งเวียดนามจะลดการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินและเพิ่มพลังงานหมุนเวียน

https://kmc.exim.go.th/detail/hot-issues/20210512113428ที่มา :

“EXIM BANK” ออกสินเชื่อวงเงิน 20 ล.ดอกเบี้ย 3.99% ช่วย SMEs ใน CLMV

นายรักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย หรือ ธสน. (EXIM BANK) เปิดเผยว่า ธสน. ได้ดำเนินการออกมาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอี (SMEs) ใน ตลาด CLMV (กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม) ซึ่งประกอบด้วยมาตรการสินเชื่อ CLMV อุ่นใจ เป็นเงินทุนหมุนเวียนให้แก่ผู้ประกอบการไทยใน CLMV ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 (Covid-19) และสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจ วงเงินสูงสุด 20 ล้านบาทต่อราย อัตราดอกเบี้ยพิเศษ 3.99% ต่อปี ระยะเวลาผ่อนชำระสูงสุด 3 ปี ใช้เพียงหนังสือค้ำประกันของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เป็นหลักประกันร่วมกับบุคคลหรือนิติบุคคลค้ำประกันได้ ทั้งนี้ ตลาด CLMV ไต่อันดับขึ้นมาเป็นตลาดส่งออกสำคัญของไทยอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2563 CLMV เป็นตลาดส่งออกสำคัญอันดับ 4 ของไทย รองจากสหรัฐฯ อาเซียนเดิม 5 ประเทศ และจีน ตามลำดับ อย่างไรก็ดี จากการติดตามสถานการณ์ความไม่สงบภายในเมียนมาอย่างใกล้ชิดและประเมินผลกระทบต่อลูกค้า ผู้ประกอบการไทยเริ่มได้รับผลกระทบจากการชำระเงินล่าช้าและการชะลอคำสั่งซื้อของคู่ค้าในเมียนมา EXIM BANK จึงได้พิจารณาให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการผ่านมาตรการต่าง ๆ ตามความจำเป็นอย่างต่อเนื่อง

ที่มา : https://www.thansettakij.com/content/477549

การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่แข็งแกร่ง ส่งผลต่อเศรษฐกิจ CLMV ได้รับอานิสงส์แตกต่างกัน

โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

ท่ามกลางมุมมองเชิงบวกต่อพัฒนาการการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในปี 2564 ที่เติบโตอย่างแข็งแกร่งหลังวิกฤติโควิดอันสะท้อนผ่านประมาณการเศรษฐกิจของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ที่ปรับคาดการณ์เศรษฐกิจโลกปี 2564 เป็น 6.0% จากคาดการณ์ครั้งก่อนที่ 5.5% นำโดยการฟื้นตัวของเศรษฐกิจขนาดใหญ่โดยเฉพาะสหรัฐฯ และจีน ซึ่งน่าจะส่งผลบวกต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจอินโดจีน (CLMV) ที่มีการพึ่งพิงภาคต่างประเทศสูง อย่างไรก็ดี ภาพการเติบโตของเศรษฐกิจโลกที่สดใสอาจส่งผลบวกต่อพัฒนาการของเศรษฐกิจอินโดจีน (CLMV) ในระดับที่แตกต่างกัน ตามความเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจโลกผ่านช่องทางต่างๆ อาทิ การส่งออก รายได้ส่งกลับของแรงงานในต่างประเทศ การลงทุนทางตรง (FDI) และการท่องเที่ยว นอกจากนี้ ปัจจัยเฉพาะในประเทศก็มีบทบาทสำคัญในการกำหนดทิศทางเศรษฐกิจด้วยเช่นกัน ทำให้เศรษฐกิจ CLMV ในภาพรวมจะได้รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ไม่เท่ากัน

เวียดนามเป็นเศรษฐกิจใน CLMV ที่ได้รับประโยชน์สูงสุดจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก จากโครงสร้างการผลิตและส่งออกที่มีสัดส่วนของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์สูง นอกจากภาคการส่งออกแล้ว การฟื้นตัวของเศรษฐกิจเวียดนามยังได้รับอานิสงส์จากรายได้นำส่งกลับของแรงงาน ซึ่งมีสัดส่วนถึงร้อยละ 5.8 ของจีดีพี เนื่องจากแรงงานเวียดนามที่ส่วนใหญ่กระจายอยู่ในไต้หวัน เกาหลีใต้และญี่ปุ่นซึ่งเป็นประเทศที่ได้รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในระดับสูง ขณะที่กัมพูชาอาจเป็นอีกเศรษฐกิจที่ได้รับแรงหนุนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกเช่นกันเนื่องจากการส่งออกของกัมพูชามีตลาดหลักอยู่ในสหรัฐฯ จีน และยุโรปซึ่งเป็นเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก นอกจากนี้ การลงทุนในกัมพูชาส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและภาคอสังหาริมทรัพย์ที่เกี่ยวข้องกับโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative : BRI) ซึ่งภาพการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนที่แข็งแกร่งย่อมส่งผลให้โครงการดังกล่าวยังเดินหน้าต่อไป ในส่วนของเศรษฐกิจสปป.ลาว คงจะได้รับแรงหนุนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่จำกัดในส่วนของการลงทุนตรงจากจีนเป็นหลัก ขณะที่ภาคการส่งออกอาจได้รับอานิสงส์จำกัด ขณะที่เมียนมา ปัจจัยการเมืองในประเทศคงเป็นปัจจัยที่มีผลในการลดทอนผลบวกจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก​

ที่มา : https://kasikornresearch.com/th/analysis/k-econ/economy/Pages/CLMV-z3213.aspx

EIC CLMV Outlook Q1/2021

โดย ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC)

ภาวะถดถอยของเศรษฐกิจทั่วโลกและการระบาดของ COVID-19 ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อเศรษฐกิจ CLMV ในปี 2020 โดยเวียดนามและเมียนมามีการชะลอตัวลงอย่างชัดเจน ขณะที่เศรษฐกิจลาวและกัมพูชาเผชิญการหดตัวจากปัจจัยด้านลบรายประเทศเพิ่มเติม ในภาพรวมนั้นแม้เศรษฐกิจ CLMV จะมีสัญญาณการฟื้นตัวจากจุดต่ำสุดในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2020 แต่ในช่วงที่ผ่านมาการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังคงเป็นไปอย่างช้า ๆ ยกเว้นเวียดนามซึ่งได้อานิสงส์จากการส่งออกที่แข็งแกร่งและความสำเร็จในการควบคุมการระบาด COVID-19

สำหรับในปี 2021 EIC ประเมินว่าการฟื้นตัวเศรษฐกิจ CLMV ในภาพรวมจะยังคงเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไปและไม่ยังไม่ทั่วถึง โดยขึ้นอยู่กับสามปัจจัยหลักได้แก่

  1. ประสิทธิภาพของมาตรควบคุมการระบาด COVID-19 และความคืบหน้าของการฉีดวัคซีนอย่างทั่วถึง
  2. ขนาดและประสิทธิภาพของมาตรการภาครัฐเพื่อบรรเทาผลกระทบจากแผลเป็นทางเศรษฐกิจ (scarring effects) ระหว่างที่รอการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ภายในภูมิภาค (herd immunity) ซึ่งคาดว่าเกิดขึ้นในปี 2022
  3. ปัจจัยเสี่ยงเฉพาะรายประเทศ เช่น ความเสี่ยงการผิดนัดชำระหนี้ของรัฐบาลลาว และสถานการณ์ความไม่แน่นอนทางการเมืองที่ปะทุขึ้นในเมียนมา

ซึ่งหากเปรียบเทียบกันในภูมิภาคแล้วนั้นเศรษฐกิจของเวียดนามน่าจะขยายตัวได้เร็วที่สุดจากทั้งภาคการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ยังคงขยายตัวและอุปสงค์ภายในประเทศที่ฟื้นตัวได้ดี ในขณะที่เศรษฐกิจของเมียนมายังคงมีแนวโน้มซบเซาต่อเนื่องในปีนี้จากปัจจัยลบทั้งสถานการณ์ระบาดของ COVID-19 ต่อเนื่องและปัญหาความไม่แน่นอนทางการเมือง

กัมพูชา :

  1.  ฟื้นตัวอย่างค่อนเป็นค่อนไปตามเศรษฐกิจโลกและ FDI ที่ทยอยกลับมา โดยเฉพาะจากจีน
  2. ความสำเร็จในการควบคุมการระบาดของ COVID-19 และมาตรการทางการคลังเป็นแรงสนับสนุนหลักต่ออุปสงค์ภายในประเทศ
  3. ข้อตกลงการค้าเสรีจีนกัมพูชาจะช่วยผลักดันการฟื้นตัวของการส่งออกในปี 2021
  4. การท่องเที่ยวที่ยังคงซบเซาต่อเนื่องเป็นความเสี่ยงสำคัญ

สปป.ลาว :

  1. ฟื้นตัวปานกลางด้วยอานิสงส์จากการกลับมาเปิดด่านค้าชายแดนและการคลายมาตรการ Lockdown ในประเทศ
  2. การค้าและ FDI ที่กลับมาฟื้นตัวจะช่วยสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจ ขณะที่อุปสงค์ในประเทศทยอยฟื้นตัว
  3. มาตรการกระตุ้นทางการคลังจะยังมีขนาดเล็กจากขีดความสามารถการทำนโยบายการคลุง (fiscal space) ที่จำกัด
  4. หนี้สาธารณธที่อยู่ในระดับสูงขณะที่เงินกีบอ่อนค่าลงต่อเนื่อง การขาดแคลนเงินสำรองระหว่างประเทศ และการถูกปรับลดอันดับเครดิต ถือเป็นความเสี่ยงหลักต่อการบริหารจัดการหนี้

เมียนมา :

  1. ฟื้นตัวช้าท่ามกลางการระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่และความไม่แน่นอนทางการเมือง
  2. การส่งออกและอุปสงค์ภายในประเทศมีแนวโมฟื้นตัวไปอย่างช้าๆ หลังทยอยผ่อนคลายมาตรการ Lockdown
  3. FDI จะยังซบเซา เนื่องจากนักลงทุนชะลอแผนการลงทุนออกไปหลังเผชิญความไม่แน่นอนทางการเมือง
  4. เหตุการณ์ประท้วงที่ลุกลามในประเทศและแนวโน้วถูกคว่ำบาตรเป็นความเสี่ยงหลักการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ

เวียดนาม :

  1. การส่งออกที่ขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะสินค้าเทคโนโลยีขั้นสูง ยังคงเป็นแรงสนับสนุนหลักของเศรษฐกิจ
  2. เศรษฐกิจภายในประเทศกลับคืนสู่ภาวะปกติหลังภาครัฐใช้มาตรการควบคุม COVID-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  3. เครือข่ายข้อตกลงการค้าเสรีที่กว้างขวางจะช่วยผลักดันการส่งออกและดึงดูด FDI อย่างต่อเนื่องในระยะกลาง
  4. ความเสี่ยงที่ต้องจับตาคือการที่กระทรวงการคลังสหรัฐฯ ขึ้นบัญชีเวียดนามเป็นประเทศผู้บิดเบือนค่าเงิน แม้จะยังไม่มีมาตรการตอบโต้จากสหรัฐฯ อย่างเป็นทางการก็ตาม

อ่านเพิ่มเติมได้ที่ : https://www.scbeic.com/th/detail/product/7392

เจาะเคล็ดลับส่งเครื่องปรุงรสไทยตะลุยตลาด CLMV

โดย ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC)

 

ไทยมีศักยภาพในการผลิตและส่งออกอาหารสดกับอาหารแปรรูปไปต่างประเทศอยู่แล้ว ขณะที่การส่งออกเครื่องปรุงรสก็เป็นอีกสินค้าที่สามารถสร้างรายได้ให้ไทยปีละเกือบ 800 ล้านดอลลาร์ฯ แม้จะมีสัดส่วนการส่งออกค่อนข้างน้อยเพียง 0.4% ของการส่งออกทั้งหมดของไทยไปตลาดโลก ขณะที่ในแง่ของศักยภาพการส่งออกเครื่องปรุงรสของไทยติดอันดับ 6 ของโลก (อันดับหนึ่งคือสหรัฐฯ ตามมาด้วยจีน อิตาลี เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ และไทยตามลำดับ) คิดเป็นสัดส่วน 5.8% ของมูลค่าการส่งออกเครื่องปรุงรสทั่วโลก (มีมูลค่าราว 13,600 ล้านดอลลาร์ฯ) นอกจากนี้ ไทยยังเป็นผู้ส่งออกเป็นอันดับ 2 ของเอเชีย โดยเป็นรองเพียงจีนเท่านั้น ด้วยความที่เครื่องปรุงรสของไทยมีจุดแข็งตรงที่สามารถตอบโจทย์วัฒนธรรมการรับประทานอาหารของชาวเอเชียที่มักจะต้องมีเครื่องปรุงรสประกอบในแต่ละมื้อได้ค่อนข้างดี

 

ทั้งนี้ ในปัจจุบันเครื่องปรุงรสที่ไทยส่งออกมากที่สุดอยู่ในกลุ่มเครื่องปรุงแบบเอเชียที่เป็นจุดแข็งของไทย อาทิผงปรุงรส 24% ตามมาด้วยซอสพริก/ซอสถั่วเหลือง 18% เครื่องแกงสำเร็จรูป 9% น้ำปลา 9% และวัตถุดิบอื่นๆ 41% (อาทิ กะปิ) ซึ่งสินค้าเหล่านี้เป็นคนละประเภทกับเครื่องปรุงรสแบบตะวันตกที่ส่วนใหญ่จะอยู่ในกลุ่มซอสมะเขือเทศ มัสตาร์ด ขณะที่จีนแม้จะมีกำลังผลิตขนาดใหญ่และเป็นผู้ส่งออกหลักในฝั่งเอเชีย แต่ความเชี่ยวชาญของจีนจะอยู่ในกลุ่มซอสถั่วเหลืองเป็นหลัก นอกจากนี้ ด้วยความเชี่ยวชาญดังกล่าวทำให้สินค้าเครื่องปรุงรสของไทยส่วนใหญ่มีปลายทางอยู่ที่ตลาดอาเซียนถึง 31% ของการส่งออกเครื่องปรุงรสทั้งหมดของไทย และครึ่งหนึ่งของจำนวนดังกล่าวล้วนส่งไปประเทศเพื่อนบ้านประกอบด้วยกัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม (CLMV) สำหรับตลาดอื่นๆ ก็จะมีสหภาพยุโรปและสหรัฐฯ 21.5% และ 12.3% ตามลำดับ

.

ธุรกิจเครื่องปรุงรสของ SME ไทยมีโอกาสทำตลาดใน CLMV ได้อีกมากโดยเฉพาะในกลุ่มเครื่องปรุงรสแบบเอเชียที่ไทยมีศักยภาพ ประกอบกับพฤติกรรมการบริโภคที่ใกล้เคียงกับไทย และเครื่องปรุงรสของไทยได้รับการตอบรับที่ดีในประเทศ CLMV อาทิ ผงปรุงรส ซอสพริก น้ำปลา ซอสถั่วเหลือง กะปิ เครื่องแกง ดังจะเห็นได้จากปริมาณการนำเข้าเครื่องปรุงของ CLMV มีมูลค่าราว 144 ล้านดอลลาร์ฯ ในปี 2562 ในจำนวนดังกล่าวไทยครองส่วนแบ่งตลาดเกือบครึ่งหนึ่งมีมูลค่าประมาณ 71 ล้านดอลลาร์ฯ อีกทั้ง ไทยยังเป็นแหล่งนำเข้าหลักอันดับ 1 ในผลิตภัณฑ์เครื่องปรุงรสด้วยสัดส่วนไม่ต่ำกว่า 70% ทั้งของการนำเข้าในประเทศกัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา สำหรับตลาดเวียดนามแม้สินค้าไทยจะได้รับความนิยมครองส่วนแบ่งตลาดการนำเข้าอันดับหนึ่ง 1 แต่มีสัดส่วนเพียง 27% เท่านั้น

 

เวียดนามเป็นตลาดเครื่องปรุงรสที่ใหญ่ที่สุดในกลุ่ม CLMV มีวัฒนธรรมการรับประทานอาหารที่ได้รับอิทธิพลมาจากจีนและฝรั่งเศส อาหารท้องถิ่นของเวียดนามจึงต่างจากไทยทำให้การบริโภคเครื่องปรุงรสของเวียดนามก็แตกต่างกับประเทศกัมพูชา สปป.ลาว และเมียนมา โดยเครื่องปรุงของเวียดนามจะเป็นพริกซอยดองในน้ำส้มสายชู ซอสพริกในรูปแบบเวียดนาม น้ำจิ้มอาหารทะเลที่ใช้ทำจากเกลือ ผสมพริกไทย ผงชูรส และน้ำมะนาว นอกจากนี้ เศรษฐกิจที่น่าจะกลับมาฟื้นตัวได้หลังโควิด-19 ในปี 2564 กำลังซื้อที่เพิ่มขึ้น ด้วยจำนวนประชากรกว่า 97.3 ล้านคน การเข้ามาของนักลงทุนต่างชาติ รวมถึงนักท่องเที่ยวปีละไม่ต่ำกว่า 18 ล้านคน (ในปี 2562) ทำให้เวียดนามเป็นอีกตลาดที่น่าจะมีความต้องการเครื่องปรุงรสตอบโจทย์วัฒนธรรมการรับประทานอาหารนานาชาติทั้งจีน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น จึงเป็นโอกาสให้ SME ไทยในการเจาะตลาดเครื่องปรุงรสแบบเอเชียที่ทำได้ดีอยู่แล้วและเครื่องปรุงรสในกลุ่มอาหารนานาชาติที่น่าจะเป็นโอกาสสำคัญ อย่างไรก็ดี ธุรกิจเครื่องปรุงรสของ SME ไทยที่จะขยายตลาดในกลุ่มอาหารนานาชาติคงต้องแข่งกับแบรนด์เครื่องปรุงรสของจีนและเกาหลีใต้ที่ทำตลาดอยู่ก่อนแล้วโดยมีส่วนแบ่งตลาดการนำเข้าที่ 13% และ 12% ตามลำดับ

 

ดังนั้น ปัจจัยที่จะทำให้ผู้ประกอบการ SME ในธุรกิจเครื่องปรุงรสประสบความสำเร็จต่อเนื่องในตลาด CLMV ได้คือความเข้าใจวัฒนธรรมการรับประทานอาหาร การผสมผสานรสชาติการรับประทานอาหารแบบตะวันออกและตะวันตกเข้าด้วยกัน โดยพัฒนาเครื่องปรุงรสให้ตอบโจทย์ความต้องการครอบคลุมทุกกลุ่มสินค้ โดยเฉพาะเครื่องปรุงรสในแบบเอเชียที่ไทยทำได้ดีอยู่แล้วไม่ว่าจะเป็นผงปรุงรส ซอสพริก น้ำปลา ซอสถั่วเหลือง กะปิ เครื่องแกง ซึ่งผู้ประกอบการ SMEs ไทยควรเน้นไปที่ความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ในแง่ของความสะดวกในการรับประทานที่น่าจะช่วยเพิ่มโอกาสทำตลาดได้ครอบคลุมผู้บริโภคทุกกลุ่ม อาทิ บรรจุภัณฑ์สำหรับรับประทานในครัวเรือน บรรจุภัณฑ์แบบซองที่พร้อมรับประทานเป็นมื้อสำหรับจำหน่ายในร้านสะดวกซื้อบรรจุภัณฑ์แบบซองสำหรับให้ร้านอาหารนำไปใช้จำหน่ายแบบซื้อกลับไปรับประทานที่บ้าน นอกจากนี้เครื่องปรุงรสในกลุ่มที่ตอบโจทย์อาหารนานาชาติก็น่าจะเป็นอีกกลุ่มที่ช่วยขยายโอกาสให้แก่ SME ไทย ทั้งในตลาด CLM ที่ก็น่าจะมีพื้นที่ตลาดให้สินค้าไทยทำตลาดต่อยอดได้มากขึ้นอีก รวมทั้งตลาดเวียดนามที่มีความต้องการบริโภคอีกมาก ให้สินค้าไทยรุกเข้าทำตลาด ซึ่งสินค้ากลุ่มนี้ผู้ประกอบการก็อาจใช้กลยุทธ์เพิ่มความหลากหลายในบรรจุภัณฑ์เช่นเดียวกับสินค้ากลุ่มข้างต้น

ที่มา : https://kasikornbank.com/th/business/sme/KSMEKnowledge/article/KSMEAnalysis/Pages/SMEseasoning_SME.aspx

กิจกรรม “สานสัมพันธ์ Mentor และ Mentee : ตะลุย CLMV ตลาดและโอกาสการลงทุนของนักธุรกิจไทย”

📌 Mentee รุ่นที่ 1 กลุ่มประเทศสปป.ลาว และเมียนมา ได้ร่วมกันจัดกิจกรรม “สานสัมพันธ์ Mentor และ Mentee” ครั้งที่ 2 ขึ้นเพื่อสานสัมพันธ์ระหว่าง Mentor และ Mentee ทุกกลุ่มประเทศ เมื่อวันศุกร์ที่ 30 ตุลาคม 2563 เวลา 15.00–19.00 น. ห้องเอนกประสงค์ อาคาร 24 (อาคารใบเรือ) ชั้น 18 มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย โดยกิจกรรมภายในงานมีการบรรยายให้ความรู้และแบ่งปันประสบการณ์ด้านการค้าการลงทุนซึ่งได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้มีความรู้ความสามารถจากภาครัฐและเอกชนที่เชี่ยวชาญในการทำการค้าและการลงทุนในกลุ่มประเทศ CLMV อาทิ

🔴 “เปิดประสบการณ์การค้า ” โดย คุณพันละคร สีบุญเรื่อง ที่ปรึกษาส่วนตัวรัฐมนตรีกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมสปป.ลาว

ผ่านทาง Video Conference

🔴 “เปิดประสบการณ์การค้า ตลาดเมียนมา” โดย คุณกริช  อึ้งวิฑูรสถิตย์ ประธานสภาธุรกิจไทย-เมียนมา

🔴 “การพัฒนาผู้ประกอบการไทย และสิทธิประโยชน์ BOI”  โดย คุณเลิศชาย เอี่ยมไธสง นักวิชาการส่งเสริมการลงทุน     สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI)

ศุภชัย มั่นใจปีหน้า เศรษฐกิจไทย กลับมาเติบโต

นายศุภชัย  พานิชภักดิ์ อดีตผู้อำนวยการใหญ่องค์การการค้าโลก เปิดเผยภายหลังการปาฐกถาพิเศษเรื่อง “ทิศทาเศรษฐกิจไทยเดินหน้าอย่างไร ในวิกฤตไทย วิกฤตโลก” ภายในงานสัมมนาประจำปีของสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม จากวิกฤติโควิดที่เกิดขึ้นได้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐไทย และทุกประเทศทั่วโลก อย่างไรก็ตาม การที่จีนได้ฟื้นตัวจากภาวะโควิดอย่างรวดเร็ว จะส่งผลดีกับประเทศไทย และภูมิภาคอาเซียน เนื่องจากเศรษฐกิจไทยผูกติดกับห่วงโซ่การผลิตของจีนสูงมาก ประกอบกับไทยรับมือกับปัญหาโควิดได้ดี และประเทศในอาเซียนโดยเฉพาะ CLMV ได้รับผลกระทบจากโควิดไม่รุนแรง ทำให้การส่งออกของไทยจะค่อย ๆ ฟื้นตัว เห็นได้จากตัวเลขทางเศรษฐกิจของไทยปรับตัวดีขึ้นในทุก ๆ ไตรมาส อาจทำให้ GDP ปีนี้ไม่ได้แย่อย่างที่คาดไว้ ส่วนการส่งออกในปีหน้าก็จะดีกว่าปีนี้อย่างแน่นอน สำหรับกรณีที่มีหลายฝ่ายเรียกร้องให้ ธปท. เข้ามาดูแลในเรื่องค่าเงินบาทไม่ให้แข็งค่าเกินไปจนกระทบต่อการส่งออกนั้น ส่วนตัวมองว่าค่าเงินบาทเป็นปัจจัยหนึ่งแต่ไม่ใช่ทั้งหมด หากเศรษฐกิจโลกดีการส่งออกก็จะดีตามไปด้วย แต่ทั้งนี้ภาคอุตสาหกรรมไทยควรจะเร่งปรับตัวขยายหาตลาดใหม่ ๆ การสร้างนวัตกรรม พัฒนาสินค้าให้เป็นที่ต้องการของตลาด จะทำให้แข่งขันได้โดยไม่ต้องพึ่งค่าเงินอ่อน นอกจากนี้ อยากให้รัฐบาลอย่างเพิ่งเร่งเปิดประเทศ ควรจะเปิดแบบค่อยเป็นค่อยไป เปิดทีละนิดแล้วตรวจสอบผลกระทบที่เกิดขึ้น โดยชาวต่างชาติที่ควรเปิดให้เข้าประเทศ คือ กลุ่มนักลงทุน ที่จะเข้ามาดำเนินธุรกิจในไทย เพราะจะทำให้เกิดการลงทุน และการจ้างงาน แก้ปัญหาการว่างงานได้ตรงจุด โดยควรจะแก้ไขกฎระเบียบเข้าประเทศให้ง่ายขึ้น แต่จะต้องผ่านกระบวนการตรวจโควิดที่เข้มงวด

ที่มา :  https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/909828

EIC CLMV Outlook Q4/2020

เศรษฐกิจ CLMV ส่งสัญญาณฟื้นตัวจากจุดต่ำสุดในไตรมาสที่ 2 ของปี 2020 หลังเริ่มผ่อนคลายมาตรการ lockdown ในช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายนปี 2020 แม้กัมพูชาและลาวสามารถควบคุมการระบาดได้สำเร็จ แต่เมียนมาและเวียดนามกลับเผชิญการระบาดระลอกใหม่ของ COVID-19 ในช่วงครึ่งหลังของปี 2020 โดยเวียดนามกลับมาประกาศใช้มาตรการ lockdown ในบางพื้นที่และสามารถควบคุมการระบาดได้สำเร็จในเดือนสิงหาคม ขณะที่เมียนมายังคงได้รับผลกระทบอย่างมากจากจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่เดือนกันยายน ทั้งนี้เศรษฐกิจ CLMV ยังคงฟื้นตัวช้าและไม่ทั่วถึง โดยระดับการฟื้นตัวที่แตกต่างกันมากขึ้นนั้น เป็นผลมาจากการฟื้นตัวแบบช้า ๆ และไม่ทั่วถึงของเศรษฐกิจโลก อัตราว่างงานที่เพิ่มขึ้น ระดับการระบาดระลอกใหม่ของ COVID-19 และประสิทธิภาพของมาตรการรองรับ รวมทั้งปัจจัยเฉพาะในรายประเทศที่มีแนวโน้มยืดเยื้อ เศรษฐกิจเวียดนามกลับมาฟื้นตัวได้ดีด้วยแรงหนุนจากการส่งออกที่แข็งแกร่ง ขณะที่การระบาดของ COVID-19 และการถูกเพิกถอนสิทธิพิเศษทางการค้า EBA บางส่วนจะยิ่งซ้ำเติมการชะลอตัวของอุปสงค์ต่างประเทศในกัมพูชา ในขณะเดียวกัน เศรษฐกิจลาวยังเผชิญแรงกดดันจากข้อจำกัดในการทำนโยบายการคลัง (fiscal space) และความเสี่ยงที่สูงขึ้นในประเด็นการผิดชำระหนี้ สำหรับเมียนมา การระบาดระลอกใหม่ของ COVID-19 และมาตรการ lockdown ที่กลับมาเข้มงวดขึ้นส่งผลให้เศรษฐกิจเมียนมามีแนวโน้มฟื้นตัวต่ำกว่าคาดการณ์ในปีงบประมาณ 2020/2021

  • กัมพูชา  อุปสงค์จากต่างประเทศที่ยังอ่อนแอจะเป็นแรงกดดันต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจกัมพูชา
  • สปป.ลาว ข้อจำกัดในด้านการทำนโยบายการคลังและความเสี่ยงการผิดนัดชำระหนี้ที่เพิ่มสูงขึ้นยังเป็นความท้าทายหลัก
  • เมียนมา การระบาดระลอกใหม่ของ COVID-19 และมาตรการ lockdown ที่กลับมาเข็มงวดขึ้นจะส่งผลลบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเมียนมา
  • เวียดนาม แม้เผชิญการระบาดระลอกใหม่ของ COVID-19 แต่เศรษฐกิจเวียดนามยังขยายตัวได้ดี จากการควบคุมการระบาดได้อย่างรวดเร็วและการส่งออกที่แข็งแกร่ง

ที่มา : SCB EIC

อ่านเพิ่มเติมได้ที่ : https://www.scbeic.com/th/detail/product/7175

เกาะติด CLMV อีกหนึ่งคู่ค้าสำคัญของไทย

หลายฝ่ายปรับประมาณการการส่งออกในปีนี้ว่าอาจจะติดลบน้อยลงมาอยู่ที่ระดับร้อยละ 7 จากเดิมที่คาดว่าจะติดลบร้อยละ 8-10 เนื่องจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของคู่ค้าสำคัญของไทยนั้นปรับตัวดีขึ้นโดยเฉพาะจีน และหลายประเทศในเอเชีย อย่างไรก็ตามอีกตลาดสำคัญของไทยคือ กลุ่มประเทศ (CLMV) กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และ เวียดนาม ก็ต้องใส่ใจและติดตามอย่างใกล้ชิดด้วยเช่นกันว่าภาวะเศรษฐกิจในกลุ่มนี้นั้นฟื้นตัวได้ดีขนาดไหน มีกำลังซื้อสินค้าจากไทยเพิ่มขึ้นหรือยัง ทั้งนี้เศรษฐกิจ CLMV ส่งสัญญาณฟื้นตัวจากจุดต่ำสุดในไตรมาสที่ 2 ของปี 2020 หลังเริ่มคลายมาตรการ lockdown ในช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน ปี 2020 แม้กัมพูชา และ สปป.ลาว สามารถควบคุมการระบาดได้สำเร็จ แต่เมียนมาและเวียดนาม กลับเผชิญการระบาดระลอกใหม่ของ COVID-19 ในช่วงครึ่งหลังของปี 2020 โดยเวียดนาม กลับมาประกาศใช้มาตรการ lockdown ในบางพื้นที่และสามารถควบคุมการระบาดได้สำเร็จในเดือนสิงหาคม ขณะที่เมียนมายังคงได้รับผลกระทบอย่างมากจากจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่เดือนกันยายน ทั้งนี้เศรษฐกิจ CLMV ยังคงฟื้นตัวช้าและไม่ทั่วถึง สำหรับการค้าชายแดนระหว่างไทยกับกัมพูชาลาว และเมียนมา หดตัวน้อยลงทั้ง 3 ประเทศตามมูลค่าการค้าโดยรวมของไทยแม้ว่าจะยังมีข้อจำกัดต่างๆ ในด่านตรวจสินค้าชายแดนของไทย

ที่มา : https://www.naewna.com/business/columnist/45810